xs
xsm
sm
md
lg

พาณิชย์ฟัน ฟิลลิปมอร์ริส 2 คดีซ้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ฟิลลิป มอร์ริส ซวยซ้ำ! “พาณิชย์”ฟันธงทำผิดกฎหมายต่างด้าว เหตุประกอบธุรกิจต่างจากที่แจ้งไว้ ตามที่ดีเอสไอร้องขอให้ตรวจสอบ หลังฟ้องดำเนินคดีเลี่ยงภาษีบุหรี่ 6.8 หมื่นล้าน ที่อัยการนัดฟังคำสั่ง 19 ม.ค.นี้ ส่วนจะถูกยกเลิกสิทธิตามสนธิสัญญาไมตรีหรือไม่ หลักฐานยังไม่ชัด ต้องสอบสวนต่อ

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้แจ้งผลการตรวจสอบฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด ไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แล้วว่าจะไม่ได้รับการคุ้มครองตามสนธิสัญญาทางไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับสหรัฐฯ พ.ศ.2511 หากปรากฏหลักฐานชัดเจนว่ามีการดำเนินการใดๆ ที่ผิดไปจากเงื่อนไขที่ได้แจ้งไว้ในการเข้ามาทำธุรกิจในไทยหรือมีรายได้อื่นนอกเหนือจากที่ได้ระบุไว้ภายใต้สนธิสัญญาฯ โดยจะเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 37 แห่งพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542

“จากการตรวจสอบมีการดำเนินธุรกิจต่างจากที่ระบุไว้ในสนธิสัญญาฯ จริง โดยฟิลลิปฯ แจ้งไว้ในการประกอบธุรกิจว่า ประกอบธุรกิจสำรวจภาวะตลาดในประเทศไทย เพื่อนำสินค้าที่ผลิตในสหรัฐฯ เข้ามาจำหน่าย รวมทั้งสำรวจสินค้าที่ผลิตในไทย เพื่อนำไปจำหน่ายในสหรัฐฯ แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้ประกอบธุรกิจนำเข้าบุหรี่จากต่างประเทศและจัดจำหน่ายบุหรี่ยี่ห้อมาร์ลโบโร และแอลแอนด์เอ็มในไทยตั้งแต่ปี 2541 ถึงปัจจุบัน ตามที่ดีเอสไอได้แจ้งมา”

ส่วนการพิจารณาว่ากระทำผิดเงื่อนไขในสนธิสัญญาฯ หรือไม่ กรณีฟิลลิปฯ มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นหรือผู้ควบคุม พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงจริงในช่วงปี 2548 กรรมการ คือ Mr.Paul Dean Riley สัญชาติออสเตรเลีย และปี 2549 กรรมการ คือ Mr.Ashok Rammohan สัญชาติอินเดีย แต่ก็ไม่มีหลักฐานระบุชัดว่ากรรมการเป็นคนชาติที่ 3 ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ขอหลักฐานเพิ่มเติมไปยังดีเอสไอเพื่อดำเนินการตรวจสอบในเรื่องนี้ต่อไปแล้ว

สำหรับการตรวจสอบบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของฟิลลิปฯ นั้น ถือว่าเป็นนิติบุคคลไทย ไม่ได้อยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และยังไม่ได้เริ่มดำเนินธุรกิจ

กรณีฟิลลิปฯ ถูกดีเอสไอฟ้องดำเนินคดีรวมกับผู้บริหารซึ่งเป็นชาวไทยและต่างชาติจำนวนรวม 14 ราย ว่ากระทำผิดตามพ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 และพ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ.2509 กรณีร่วมกันแสดงราคานำเข้าบุหรี่ราคาต่ำกว่าปกติ เพื่อชำระภาษีบุหรี่ต่อกรมสรรพสามิตที่น้อยกว่าความเป็นจริง ทำให้รัฐเสียหายกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท และได้ขอให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าตรวจสอบว่ากระทำผิดสนธิสัญญาฯ หรือไม่ และกระทำผิดพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวหรือไม่ ทั้งนี้ อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 ได้นัดฟังคำสั่งคดีดังกล่าวในวันที่ 19 ม.ค.2553 เวลา 10.00 น. หลังจากที่ได้เลื่อนสั่งคดีมาแล้ว 3 ครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น