ย้อนรอยคดีดังสัปดาห์นี้ พาท่านกลับไปพลิกแฟ้มคดีสะเทือนขวัญอมตะนิรันดร์กาลของวงการข่าวอาชญากรรม “ คดีฆ่าโหดนายปรีณะ ลีพัฒนะพันธ์ ” อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร ข่าวครึกโครมที่สุดเมื่อปี 2544
บ่ายโมงวันเกิดเหตุ 4 มี.ค.2544 มีคนพบศพพ่อเมืองยโสธร ถูกหมกอยู่ในห้องพักโรงแรมรอยัล แปซิฟิค พลาซ่า ริมพระราม 9 ขณะเดินทางมาร่วมประชุมรับมอบนโยบายของรัฐบาล ร่วมกับข้าราชการระดับสูงของหลายกระทรวง สภาพศพถูกยิงที่ศีรษะและปาดคอซ้ำ เสียชีวิตอย่างน่าอนาถ
ในเบื้องต้น ตำรวจตั้งปมสังหารว่าอาจเป็นคดีฆ่าชิงทรัพย์ แต่ยังไม่ทิ้งประเด็นขัดแย้งโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียที่จังหวัดยโสธร ทางสืบสวนโยงไปถึง พ.ต.เฉลิมชัย มัจฉากล่ำ หรือ“ผู้พันตึ๋ง” นายทหารคนดังผู้กว้างขวางกับลูกน้องว่าเป็นกลุ่มคนร้ายที่ก่อเหตุแต่ยังขาดพยานหลักฐาน
จนเมื่อนางอัญคนางค์ หรือน้อย สุนทรวิภาค สาวคนสนิทของนายปรีณะเข้ามามอบตัวอ้างว่าเป็นผู้ลงมือสังหาร ก่อนมากลับคำให้การซัดทอดว่า “ผู้พันตึ๋ง” กับสมุนเป็นคนลงมือฆ่า แต่ขู่เธอให้ยอมรับผิด คดีที่เขม็งเกลียวแน่นจึงเริ่มคลี่คลายลง และนำไปสู่การจับกุม “ผู้พันตึ๋ง” กับลูกน้องในที่สุด โดยคดีนี้ยังนำไปสู่การแก้ไขข้อตกลงร่วมระหว่างกระทรวงมหาดไทย กับกระทรวงกลาโหม เรื่องการจับกุมและควบคุมตัวทหารที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา
ปลายปี 2544 พนักงานอัยการยื่นฟ้อง น.ส.อัญคนางค์ สุนทรวิภาค, พ.ต.เฉลิมชัย มัจฉากล่ำ หรือ “ผู้พันตึ๋ง”, ส.อ.มานิตย์ ศรีสะอาด และ ส.อ.สุวัฒน์ คำเหง้า สองลูกน้องคนสนิท ต่อศาลอาญาในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และไตร่ตรองไว้ก่อน
ในชั้นพิจารณาคดี อัยการโจทก์นำพนักงานโรงแรมเบิกความยืนยันว่าพวกจำเลยเข้ามาเปิดห้องพักโดยใช้ชื่อปลอม นอกจากนี้ยังนำสืบจากหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่พบว่า DNA จากคราบเลือดที่ก๊อกน้ำห้องพักของพวกจำเลย ร วมทั้งคราบเลือดที่รองเท้าผ้าใบของจำเลยที่ 3 และที่แป้นเบรกของรถยนต์อีซูซุ ทรูเปอร์ ทะเบียน 3965 เชียงใหม่ ของจำเลยที่ 1 ตรงกับ DNAผู้ตาย
นอกจากนี้ยังพบแผนผังห้องพักภายในโรงแรมที่เป็นลายมือของ “ผู้พันตึ๋ง” จำเลยที่ 1 ซึ่งคาดว่าเป็นการวางแผนก่อนลงมือฆ่านายปรีณะ อีกทั้ง น.ส.อังคนางค์ ยังให้การยืนยันว่าขณะที่เธอมาพบผู้ตายที่ห้องพักเพื่อตกลงปัญหาส่วนตัว “ผู้พันตึ๋ง” กับพวกได้บุกเข้ามาแล้วสั่งให้เธอนั่งก้มหน้าแถมยังขู่จะฆ่าหากไม่ปิดปากให้สนิท ทำให้เธอเห็นเพียงปลายเท้าของผู้ตาย ที่ถูกพวกจำเลยจับนอนคว่ำหน้ากับพื้น หลังจากนั้นหนึ่งในพวกจำเลยได้หยิบมีดในกระเป๋าถือของเธอมาเชือดคอผู้ตายหลายครั้ง ก่อนจะใช้ปืนพกของเธอยิงซ้ำที่ศีรษะจนตายสนิท
ฝ่าย “ผู้พันตึ๋ง” เบิกความต่อสู้ว่า ที่เช่าห้องพักโดยใช้ชื่อปลอมเพราะต้องการหนีจากการตามราวีของภรรยาหลวง ส่วนแผนผังโรงแรมที่เขียนนั้นก็เขียนภายหลังเกิดเหตุเพื่อรายงานต่อผู้บังคับบัญชาถึงสถานการณ์ยาเสพติด เนื่องจากสืบทราบว่า บังรอน พ่อค้ายารายใหญ่ที่หลบหนีการติดตามจับกุมของทางการ แอบนัดพบกับภรรยาของ พล.ต.อ.พรศักดิ์ ดุรงควิบูลย์ ผบ.ตร.(ในขณะนั้น) โดยจำเลยเตรียมทำรายงานต่อผู้บังคับบัญชา และเชื่อว่าเป็นมูลเหตุให้ พล.ต.อ.พรศักดิ์ โกรธแค้นจนสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใต้บังคับบัญชาทำสำนวนกลั่นแกล้งให้ตนต้องรับโทษ
ส่วนคราบเลือดที่พบบริเวณก๊อกน้ำห้องพัก “ผู้พันตึ๋ง”อ้างว่าอาจติดมากับพนักงานโรงแรมที่เข้ามาล้างมือหลังจากทำความสะอาดห้องพักผู้ตาย หรือหากจำเลยถูกกลั่นแกล้ง ตำรวจก็สามารถนำคราบเลือดมาใส่ที่อ่างน้ำในห้องจำเลย ส่วนคราบเลือดที่แป้นเบรกรถยนต์ของจำเลยนั้นก็เพราะจำเลยไปเตะสุนัขแล้วขึ้นมาขับรถ
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายแล้วเห็นว่าโจทก์มีผลตรวจพิสูจน์คราบเลือดตามหลักนิติวิทยาศาสตร์ สอดคล้องกับพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุและผลการชันสูตรพลิกศพผู้ตาย ส่วนคำให้การของ น.ส.อังคนางค์ แม้จะเป็นจำเลยร่วม แต่ก็รับฟังได้ เชื่อว่าจำเลยเป็นคนร้ายจริง ข้ออ้างของจำเลยเป็นนั้นเลื่อนลอย ไม่มีน้ำหนักหักล้างงพยานโจทก์
ศาลชั้นต้นลงโทษ จำคุก น.ส.อัญคนางค์ 3 ปี 8 เดือน ฐานรับของโจรและพกพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วน “ผู้พันตึ๋ง” ถูกพิพากษาให้สั่งประหารฐานร่วมฆ่าผู้ตาย แต่ให้ยกฟ้องลูกน้องคนสนิท 2 คน
อุทธรณ์ศาลเห็นตามศาลชั้นต้นในส่วนของ น.ส.อัญคนางค์ และผู้พันตึ๋ง แต่พิพากษาแก้ให้ประหารชีวิต 2 นายทหารคนสนิท ก่อนที่ศาลฎีกาจะมีคำพิพากษาเป็นที่สิ้นสุด เมื่อวันที่ 29 ก.ย.2549 ยืนตามศาลอุทธรณ์ ให้ประหารชีวิตจำเลยทั้ง 3 คน ปิดตำนานนายทหารผู้กว้างขวางในวงการนักเลงอย่าง “ผู้พันตึ๋ง”
ประวัติชีวิตของ “ผู้พันตึ๋ง” เกิดเมื่อวันที่ 2 ส.ค.2496 จบการศึกษาระดับ ปวส.จากวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ โดยระหว่างที่เป็นนักเรียนอาชีวะ เกิดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ทางการเมือง 14 ต.ค.2516 ผู้พันตึ๋งถูก พล.ต.สุตสาย หัสดิน ชักนำเข้าสู่กลุ่ม “กระทิงแดง” เพื่อต่อต้านและคอยปั่นป่วนยุยงกลุ่มพลังนิสิตนักศึกษาในขณะนั้น
เสร็จสิ้นภารกิจในคราวนั้นจึงได้เข้าทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน หรือ กอ.รมน. จนสอบบรรจุได้เป็นทหารได้ ติดยศว่าที่ร้อยตรี ประจำ ศรภ. หรือศูนย์รักษาความปลอดภัยกองบัญชาการทหารสูงสุด
จากนั้นรับราชการเรื่อยมาจนได้เลื่อนยศเป็นพันตรี เมื่อปี 2531 และตั้งแต่นั้นมาชื่อ “ผู้พันตึ๋ง” ก็ปรากฏตามข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ เป็นประจำ ทุกครั้งที่มีข่าวเกี่ยวข้องกับเรื่องราวในวงการนักเลง - มาเฟีย - ผู้มีอิทธิพล ซึ่งเส้นทางสายนักเลงที่ “ผู้พันตึ๋ง” เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องเป็นที่รู้กันว่านายพันผู้นี้ไม่ได้เดินอย่างเดียวดาย แต่มีนายระดับ “บิ๊ก” หนุนหลัง จนเชื่อกันว่า “ผู้พันตึ๋ง” หลงและเหลิงไปกับอำนาจวาสนาที่ได้รับ จนไม่เกรงกลัวแม้กระทั่ง “กฎหมาย”
ปัจจุบัน “ผู้พันตึ๋ง” ยังคงถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำบางขวาง แต่ที่น่ายินดีคือหลังจากใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญของนักโทษประหารในการยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.50 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ลดโทษประหารเหลือจำคุกตลอดชีวิต
“ ผู้พันตึ๋ง ” ถือเป็นบทเรียนสำหรับนายทหารรุ่นหลังที่กำลังเอาเวลาราชการไปรับงานนอกรีต ไม่ว่าจะเป็นคุมผับ คุมบ่อน ทวงหนี้ ไล่ที่ รื้อตลาด และแม่สุดท้ายนายพันนักฆ่าผู้นี้จะรอดชีวิตจากแท่นประหาร แต่เขาก็ต้องดักดานอยู่ในคุกไปตลอดชีวิต สาสมแล้วกับผลกรรมที่ได้ทำเอาไว้