เหยื่อโคบอลต์ ซึม ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำสั่งศาลชั้นต้น สั่งบริษัท กมลสุโกศล จ่ายเงินเหยื่อโคบอลต์แค่ 5 แสนเศษ จากที่ยื่นอุทธรณ์ขอให้ชดใช้ค่าเสียหายเพิ่มจำนวน 12,676,942 บาท
วันนี้ (20 ต.ค.) ที่ห้องพิจารณาคดี 408 ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีที่ น.ส.จิตราภรณ์ เจียรอุดมทรัพย์, ด.ญ.ศศิกาญจน์ ทรงศรีพิพัฒน์, นางถวิล แซ่เจี่ย, นายเสถียร พันธุขันธ์ บิดา นายนิพนธ์ พันธุขันธ์, นางนงค์ พันธุ์ขันธ์ มารดา นายนิพนธ์, น.ส.สุรีย์น้อย อยู่เจริญ, น.ส.จันทร์ทิพย์ เพชรรัตน์, น.ส.สมใจ แก้วประดับ, นายจิตร์เสน จันทร์สาขา, นายสนธยา สระประทุม, นายบุญถึง ศิลา และ น.ส.พัฒนา ธรรมนิยม ที่ได้รับผลกระทำจากรังสีโคบอลต์-60 เป็นโจทก์ที่ 1-12 ตามลำดับ ยื่นฟ้อง บริษัท กมลสุโกศล อิเลคทริค จำกัด, บริษัท กมลสุโกศล จำกัด, นางกมลา สุโกศล กรรมการผู้จัดการบริษัท, น.ส.เลียบ เธียรประสิทธิ์ กรรมการบริษัท และ นายเชวง สุวรรณรัตน์ ผู้จัดการฝ่ายเครื่องมือแพทย์ เป็นจำเลยที่ 1-5 ตามลำดับ เรื่องละเมิด เรียกค่าเสียหายรวม 109,264,360 บาท ทั้งนี้โจทก์ที่ 12 ถอนฟ้องไปก่อน ส่วนโจทก์ที่ 5 พบว่า เป็นภรรยาของโจทก์ที่ 4 จึงรวมค่าเสียหายเข้าด้วยกัน
โจทก์ระบุฟ้องว่า เมื่อเดือน ม.ค.2543 พวกจำเลยเป็นผู้ครอบครองเครื่องฉายรังสีโคบอลต์-60 โดยมิได้รับอนุญาตจากสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติแห่งชาติ (พปส.) ตามกฎหมาย และยังกระทำประมาทเลินเล่อไม่จัดเก็บเครื่องฉายดังกล่าวให้ปลอดภัยตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติกำหนด โดยนำเครื่องฉายรังสีโคบอลต์-60 ทิ้งไว้ในโรงรถเก่าของบริษัท กมลสุโกศล ตั้งอยู่ย่านพระโขนง กทม.ส่งผลมีคนภายนอกนำเอาชิ้นส่วนของเครื่องฉายรังสี คือ แท่งตะกั่วบรรจุสารโคบอลต์ ไปขายให้โจทก์ที่ 9 และ 10 พ่อค้าเร่ ซึ่งนำเอาชิ้นส่วนดังกล่าวไปขายต่อให้กับโจทก์ที่ 1 เจ้าของร้านรับซื้อของเก่าใน ต.สำโรงใต้ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ จากนั้นมีการตัดแยกแท่งตะกั่ว ทำให้กัมมันตรังสีแพร่ออกมาในปริมาณสูง เป็นอันตรายแก่สุขภาพร่างกายของโจทก์ทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง
การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์และบุคคลอื่นได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตและร่างกาย จึงต้องนำคดีมาฟ้องศาลขอให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ค่ารักษาพยาบาล ค่าปลงศพ ค่าขาดไร้ผู้อุปการะ และขาดความสามารถในการประกอบอาชีพทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมเป็นเงิน 109,264,360 บาท
คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 18 มี.ค.2547 เห็นว่า จำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานละเมิดจริง จึงเห็นควรให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายเพิ่มเติมจากจำนวนที่ศาลปกครองกลางพิพากษาให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติชดใช้ไปแล้ว รวม 640,270 บาท โดยให้ชำระพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ.43
โจทก์ยื่นอุทธรณ์ขอให้พวกจำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพิ่มจำนวน 12,676,942 บาทด้วย
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันโดยละเอียดรอบคอบแล้ว เห็นว่า อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษาแก้ โดยให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 4 (ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจำนวน 111,000 บาท ให้โจทก์ที่ 4) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
ภายหลัง นายสนธยา สระปทุม โจทก์ที่ 10 ซึ่งเดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เพียงคนเดียว กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ศาลปกครองมีคำสั่งให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติจ่ายค่าชดใช้ให้แก่เหยื่อผู้เสียหาย 5 ล้านบาทเศษ แต่ภาครัฐกลับไม่ไปเรียกคืนค่าเสียหายดังกล่าวจากบริษัท กมลสุโกศลฯ ซึงควรจะรับผิดชอบในเรื่องนี้ พวกตนจึงนำคดีมาฟ้อง ส่วนจะฎีกาคำพิพากษาหรือไม่จะขอกลับไปปรึกษากันก่อน
ด้าน นายสุรชัย ตรงงาม ทนายจากสภาทนายความและ ตัวแทนจากโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวภายหลังว่าคดีนี้ถือเป็นคดีแรกๆ ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้รู้ถึงข้อจำกัดเกี่ยวกับการเรียกร้องชดใช้ค่าเสียหายและขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ผู้เสียหายได้ยืนยันที่จะยื่นฏีกาต่อสู้คดีต่อไป แต่หลังจากนี้จะต้องนำเรื่องเข้าพิจารณาหารือกับทางสภาทนายความอีกครั้ง เพื่อเตรียมสำนวนยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายชดเชยจำนวน 12 ล้านบาทเศษในชั้นศาลฏีกาและเพื่อต้องการให้เป็นบรรทัดฐานคำพิพากษาศาลฎีกา เกี่ยวกับการเยียวยา ชดใช้ค่าเสียหาย หรือแนวคิดการจัดตั้งกองทุนเยียวยาเหยื่อคดีสิ่งแวดล้อมในอนาคตต่อไป