xs
xsm
sm
md
lg

เปิดโปง“ทุจริตโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง”ตอนแรก

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

"ยิ่งทำ ยิ่งจน ยิ่งทำ ยิ่งเป็นหนี้ เป็นสิน"

เป็นคำกล่าวของเกษตรกรผู้หนึ่งในอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ที่เล่าให้ฟังทั้งน้ำตาว่า ทำไมมันถึงโกงกันได้ถึงขนาดนี้ พวกเราเป็นชาวบ้านจะเอาอะไรไปสู้กับลานมันได้ แค่ยึกยัก ซักถาม หรือขออ่านเอกสารนิดเดียว มันก็ไม่รับจำนำ หรือหากรับก็กดราคาให้ต่ำกว่าราคาประกัน มันสำปะหลังเมื่อเก็บมาแล้วจะอยู่ได้ประมาณ 2-3 วัน เท่านั้น หากขายไม่ได้ ก็เน่าเสียหายหมด จึงจำเป็นต้องรีบขาย แม้จะขายได้ในราคาต่ำมากเพียงกิโลกรัมละ 80-90 สตางค์เท่านั้น ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลประกันราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 1.80-2.05 บาท โดยที่เกษตรกรได้เคยร้องขอความช่วยเหลือไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด เรื่องก็เงียบหายไป และสุดท้ายก็ตรวจไม่พบการทุจริตใด ๆ

การดำเนินโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลังของรัฐบาลปี 2551/2552 มีกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ดำเนินการโครงการดังกล่าวตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2551 และวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 ที่กำหนดให้มีการแทรกแซงตลาดมัน โดยการรับจำนำมันสำปะหลังสด จำนวน 10 ล้านตัน โดยมีวงเงินรับจำนำรวมทั้งสิ้น 19,625 ล้านบาท ใน 44 จังหวัดทั่วประเทศ

จากการลงพื้นที่ตรวจสอบของคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ในพื้นที่อำเภอน้ำยืน และอำเภอน้ำขุ่น จังหวัดอุบลราชธานี และในพื้นที่จังหวัดลพบุรี ซึ่ง ดีเอสไอ ใช้เป็นจังหวัดนำร่องในการตรวจสอบการทุจริตโครงการฯ ดังกล่าว และพบว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นจริง จึงนำเรื่องเข้าพิจารณาในคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ซึ่ง กคพ.ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 4/2552 เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2552 ให้กรณีการดำเนินการโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง ปี 2551/2552 เป็นคดีพิเศษ


**ขั้นตอนโกงชาติ โกงแผ่นดิน**

จากผลการสืบสวนสอบสวนของ ดีเอสไอ พบว่าการทุจริตในโครงการรับจำนำมันสำปะหลังครั้งนี้ เรียกได้ว่า“โกงชาติ โกงแผ่นดิน โกงกันอย่างไม่อายฟ้าดิน ...”

โดยข้อมูลทางสอบสวน พบนายทุนเจ้าของลานมันเพียงแต่ต้องการความร่ำรวยบนความทุกข์ยากอย่างแสนสาหัสของพี่น้องเกษตรกรไทย หาได้คำนึงถึงความเป็นคนไทย และการได้รับยกย่องว่าเป็น “กระดูกสันหลังของชาติ” แม้แต่น้อย จึงจำเป็นต้องสาธยายถึงเล่ห์เหลี่ยมกลโกงของนายทุนเจ้าของลานมันเท่าที่ ดีเอสไอ ตรวจพบแล้ว นับเป็นการโกงแบบมหาโกงที่เกิดขึ้นในทุกขั้นทุกตอนของโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง ดังต่อไปนี้

เริ่มจากเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการฯ ได้จะต้องขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง แต่พบหลักฐานว่า มีการว่าจ้างบุคคลซึ่งมิได้เป็นเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่แท้จริงมาขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรเกษตรกร โดยว่าจ้างกันในราคาระหว่าง 3,000-5,000 บาท มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับการรับรองบุคคลดังกล่าวว่าเป็นเกษตรกรอันเป็นเท็จ จากนั้น ผู้ดำเนินกิจการลานมันบางแห่งที่เข้าร่วมโครงการ และเปิดเป็นจุดรับจำนำ จะนำมันสำปะหลังที่ซื้อมาจากเกษตรกรในราคาถูก ไปสวมสิทธิเข้าจำนำในโครงการในชื่อของผู้ถูกว่าจ้างทั้งหมด หรือครึ่งหนึ่ง แล้วทำหลักฐานใบรับฝากมัน (มปล.๑) และใบประทวนสินค้าปลอมขึ้นมา ด้วยการทำหลักฐานเท็จขึ้นมาทั้งจำนวนมันที่รับจำนำ ราคามันที่รับจำนำไว้ ซึ่งเป็นการหลอกลวงโดยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ เพื่อให้ได้ไปซึ่งเงินรับจำนำในโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

เกษตรกรจำนวนมากที่ขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง เมื่อนำมันไปจำนำที่จุดรับจำนำปรากฏว่า ลานมันไม่ยอมรับจำนำโดยอ้างว่ารับมันไว้เต็มโครงการแล้ว แต่พบหลักฐานว่ามีการทุจริตด้วยการสวมสิทธิการจำนำมันสำปะหลังของเกษตรกรดังกล่าว อาทิเช่น เกษตรที่ขึ้นทะเบียนแล้วนำมันไปจำนำและลานมันไม่ยอมรับจำนำ แต่ปรากฏว่ามีเงินเข้าในบัญชีของเกษตรกรที่เปิดไว้กับ ธ.ก.ส. เมื่อเกษตรกรพบว่ามีเงินเข้าบัญชี จึงไปถอนเงินจากธนาคาร แต่เมื่อเดินออกมาจากธนาคาร ปรากฏว่ามีคนของลานมันไปเอาเงินของเกษตรกรไปทั้งหมดอ้างว่า ไม่ใช่เงินของเกษตรกร แต่เป็นเงินของลานมัน

**รับจำนำมันเส้น ผิดวัตถุประสงค์โครงการ**

โครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง จะรับจำนำเฉพาะมันสำปะหลังสดเท่านั้น แต่ปรากฏว่าลานมันหลายแห่งมีการประกาศรับซื้อมันเส้น ซึ่งเป็นมันที่แปรรูปแล้ว รัฐบาลให้ค่าแปรรูปมันในราคาตันละ 300 บาท ซึ่งไม่มีเกษตรกรผู้ใดทราบข้อเท็จจริงเรื่องค่าแปรรูปมันเลยแม้แต่เพียงคนเดียว การกระทำเช่นนี้ผิดวัตถุประสงค์ของโครงการ และเป็นการเอารัดเอาเปรียบเกษตรกรอย่างสกปรกที่สุด โดยใช้แรงงานเกษตรกรแต่พวกลานมันรับค่าแปรรูปไปทั้งหมด

นอกจากนั้น เมื่อเกษตรกรนำมันเส้นไปจำนำ ลานมันจะออกใบแจ้งน้ำหนักมันและราคาที่รับจำนำไว้ให้กับเกษตรกร ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาประกันของรัฐบาล จากนั้นอีกประมาณ 1-3 เดือน ลานมันจึงจะเรียกเกษตรกรไปลงชื่อในใบรับฝากมัน (มปล.๑) และใบประทวนสินค้า เกษตรกรแต่ละคนส่วนมากจะอ่านหนังสือไม่ออก บางรายที่สามารถอ่านหนังสือได้ จะขออ่าน ก็ไม่ยอมให้อ่าน ให้เซ็นชื่ออย่างเดียวเท่านั้น เมื่อเกษตรกรได้รับใบประทวนแล้ว จะนำใบประทวนสินค้าไปรับเงินจากธนาคาร เมื่อรับเงินมาแล้ว ลานมันจะให้คนไปรอรับเงินจากเกษตรกรทั้งหมด แล้วนำไปที่ลานมันเพื่อหักเงินส่วนต่างที่เกิดจากการลงรายการเท็จในใบประทวนสินค้าทั้งน้ำหนักมันและราคามันเกินกว่าจำนวนมันที่เกษตรกรนำไปจำนำไว้จริงออก และมอบเงินให้กับเกษตรกรเท่ากับจำนวนมันในราคามัน ณ วันที่เกษตรกรนำมันไปจำนำ ซึ่งบางรายได้รับเงินน้อยกว่าจำนวนมันที่นำไปจำนำ เพราะถูกกดราคาให้ต่ำกว่าราคาประกันมาก และยังถูกหักเปอร์เซ็นต์เรื่องของน้ำหนักมันเพราะมีดินและทรายที่ติดมากับมันออกด้วย

เกษตรกรรายหนึ่งบอกว่า นำมันเส้นไปจำนำ 4 ตัน ก็จะได้เงินประมาณ 10,000 กว่าบาท แต่เมื่อนำใบประทวนไปขึ้นเงินกับธนาคาร ได้รับเงินมาประมาณ 200,000 บาท เมื่อนำเงินออกมาจากธนาคาร คนของลานมันก็เข้าไปเก็บเงินจากเกษตรกรรายนั้น จากนั้นพาไปที่ลานมัน และหักเงินส่วนต่างออก ปรากฏว่าเกษตรกรได้รับเงินเพียง 10,000 กว่าบาท เงินส่วนต่างอีก 190,000 บาท ก็ตกเป็นของลานมัน เช่นเดียวกับเกษตรกรอีกรายหนึ่ง นำมันทั้งมันเส้นและมันสดไปจำนำ ประมาณ 40 ตัน ลานมันจะลงหลักฐานรับฝากเป็นมันสดแทนมันเส้นทั้งหมด แต่เมื่อนำใบประทวนไปขึ้นเงินจากธนาคาร ได้รับเงินมามากถึง 200,000 กว่าบาท แต่ถูกคนของลานมันเก็บเงินจากเกษตรกรไปทั้งหมด แล้วนำเกษตรกรไปที่ลานมันเพื่อหักค่าใช้จ่ายและเงินส่วนต่างออก ปรากฏว่าเกษตรกรรายนั้นได้รับเงินค่ามันประมาณ 30,000 กว่าบาท ที่เหลืออีก 170,000 กว่าบาท ตกเป็นของลานมัน ท่านผู้อ่านที่เคารพ เห็นหรือยังว่า “มันโกงกันหนักหนาสาหัสเพียงใด”

นั่นคือการโกงกันซึ่งหน้า ส่วนการโกงชาติ โกงแผ่นดิน แบบมหาโกง นำเสนอในตอนต่อไป
 ยิ่งทำ ยิ่งจน ยิ่งทำ ยิ่งเป็นหนี้ เป็นสิน

ดีเอสไอ ลงพื้นที่อ.น้ำยืน อ.น้ำขุ่น จ.อุบลราชธานี และในพื้นที่จ.ลพบุรี ซึ่ง ดีเอสไอ ใช้เป็นจังหวัดนำร่องในการตรวจสอบการทุจริตโครงการมันสำปะหลัง พบว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นจริง
กำลังโหลดความคิดเห็น