ถือเป็นข่าวดีของประชาชนผู้รักความเป็นธรรม...หลัง"นายกรัฐมนตรี"อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตัดสินใจปฎิบัติตามกฎหมาย ด้วยการลงนามคำสั่งให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.ไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้ พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รอง ผบ.ตร.รักษาราชการแทน โดยมีผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป(9 ก.ย.2552)
สำหรับ"พัชรวาท วงษ์สุวรรณ"ก่อนที่เขาจะถูกคำสั่งปลด...เขาได้มอบหมายให้"พล.ต.ต.สุรพล ทวนทอง รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น."แถลงตอบโต้ ป.ป.ช.กรณีชี้มูลความผิดเหตุ 7 ตุลาเลือด โดยที่ 2 นายตำรวจที่ได้รับมอบหมายจากนาย เขาย้ำว่า ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในการปฎิบัติหน้าที่ของตำรวจ
และที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้น เขากลับไม่สำนึกในผลกรรมที่ได้กระทำลงไป ด้วยการคิดการใหญ่ หาหลักฐานเอาผิดกับแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รวม 31 คน โดยที่ตำรวจกล่าวว่า...
"ยืนยันพฤติการณ์การกระทำของกลุ่มผู้ชุมนุมมาตั้งแต่การเริ่มชุมนุมเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2551 ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงเป็นที่ประจักษ์ว่าการชุมนุมของกลุ่ม ผู้ชุมนุมมิได้เป็นการชุมนุมที่สงบและปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด โดยก่อนหน้าวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ได้มีการยึดสถานที่ราชการหลายแห่ง รวมทั้งทำเนียบรัฐบาลและยังมีการกระทำในหลายประการตลอดระยะเวลาการชุมนุมที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งการกระทำที่ผิดกฎหมายต่างๆได้กระทำอย่างต่อเนื่องตลอดมาจนถึงวันที่ 7 ตุลาคม 2551 จึงมีการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้กระทำผิดตามสำนวนการสอบสวนคดีอาญา สถานีตำรวจนครบาลดุสิตที่ 395/2551 ในความผิดฐาน “ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ (ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 มาตรา 215 และมาตรา 309 ในการสอบสวนมีการสอบสวนผู้กล่าวหาถึง 31 คนซึ่งรวมทั้ง พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ที่เป็นผู้กล่าวหาในคดีแต่ถูกชี้มูลว่ากระทำความผิดทั้งทางอาญาและทางวินัยด้วย นอกจากนี้พนักงานสอบสวนต้องรวบรวมพยานบุคคล พยานเอกสาร และพยานทางนิติวิทยาศาสตร์อีกเป็นจำนวนมาก คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อเสนอสำนักงานตำรวจแห่งชาติในฐานะผู้สั่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนพิจารณาสั่งคดีเสนอพนักงานอัยการพิจารณา"
ส่วนตัวเป็นๆของ"พัชรวาท"เวลา 10.45 น.เขาได้ไปร่วมชมการสาธิตการปฏิบัติชุดเคลื่อนที่เร็ว และควบคุมฝูงชน ณ ลานพระราชวังดุสิต โดยงานนี้มี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน...
แต่งานนี้แปลกเมื่อพบว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เขากลับไม่ใส่ใจที่จะพูดคุยกับ"พัชรวาท วงษ์สุวรรณ" เหมือนกับ "สุเทพ" รับรู้ล่วงหน้า ก่อนเดินทางร่วมงานว่า "พัชรวาท" ถูกปลดแล้ว....ทำให้ภาพข่าว ณ เวลานั้น "พัชรวาท"เครียดอย่างเห็นได้เด่นชัด
ส่วนการใช้ชีวิตประจำวันของ"พัชรวาท"หลังถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด เมื่อเวลาประมาณ 15.20 น.วันที่ 7 ก.ย.2552 และก่อนถูกปลด เขาได้มีการเคลื่อนไหว อย่างไรบ้าง?
เริ่มจากเวลาหลัง ป.ป.ช.ชี้มูล"พัชรวาท"เขาเก็บตัวเงียบท่ามกลางบรรยากาศที่อึมครึมอยู่ในห้องทำงานชั้น 7 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยวันนั้นเขาไม่มีหมายออกไปปฏิบัติภารกิจข้างนอกแต่อย่างใด ท่ามกลางการรอคอยของสื่อมวลชนจำนวนมากที่ถูกจำกัดพื้นที่ให้เข้าไปได้เฉพาะห้องโถงชั้นล่างของตัวอาคาร โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลคอยตรวจตราบุคคลเข้าออกและขึ้นลงอาคารอย่างต่อเนื่อง และจะอนุญาตได้เฉพาะนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่เท่านั้น
ต่อมาเวลา 18.20 น."พัชรวาท"ได้ลงมาจากสำนักงาน โดยทันทีที่พบหน้าผู้สื่อข่าว เขาพยายามยิ้มทักทาย และไม่มีสีหน้าเคร่งเครียด หรือเป็นกังวลแต่อย่างใด โดยเขาตอบสื่อ เมื่อถามถึงหนังสือ ป.ป.ช.ชี้มูลว่า... อะไรจะเร็วขนาดนั้น พร้อมระบุว่า ป.ป.ช.เป็นองค์กรอิสระ มีหน้าที่ตรวจสอบการทำหน้าที่ของข้าราชการ ทุกกระทรวง ทบวง กรม ส่วนข้อถามที่ว่าจะหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ "พัชรวาท"ตอบว่า ทำไมจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปไม่ได้ ก็ทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีคำสั่งตามกฎหมายออกมา ไม่มีข้อห้ามที่ไม่ให้ทำหน้าที่"
วันที่ 8 ก.ย.เวลา 10.00 น.เขาเดินทางมาปฎิบัติหน้าที่ตามปกติ พร้อมกับพูดแบบไม่เกรงกลัวผลชี้มูลของ ป.ป.ช.ว่า"วันนี้ผมเข้ามาทำงานตามปกติ ผมอยู่ที่นี่โดยตลอด เว้นแต่จะมีภารกิจไปประชุมข้างนอก ก่อนที่จะเดินขึ้นลิฟท์ไปยังสำนักงาน ผบ.ตร.ชั้น 7 ทันที"
วันเดียวกันช่วงเย็น....เขาดิ้นชี้แจงข้อกล่าวหา แต่งตั้งตำรวจปี 2551 มิชอบ ด้วยการมอบหมายให้ พล.ต.ต.สัญชัย สุนทรบุระ ผู้บังคับการกองสารนิเทศ (สท.) นำเอกสารชี้แจงกรณีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจระดับ สว.- รองผบก.วาระประจำปี 2551 ที่ดำรงตำแหน่งไม่ครบ 2 ปี ที่คณะอนุกรรมการ ก.ตร.ชุดพิเศษ ตรวจสอบข้อเท็จจริงการซื้อขายตำแหน่ง ระบุว่า มีจำนวน 2,912 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นจำนวนที่มากผิดปกติและส่อเค้าทุจริตนั้น
เอกสารของ"พัชรวาท"แก้ตัวพร้อมโยนความผิดให้"พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส"ผบ.ตร.ขณะนั้นว่า... คำสั่งดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจของกฎ ก.ตร.เพื่อแก้ไขปัญหาการแต่งตั้งในห้วงระยะเวลาตั้งแต่เดือน ก.พ.2550 - ก.พ.2551 โดย ผบ.ตร.(พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส) ในขณะนั้น ได้มีคำสั่งแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับ สว.-รอง ผบก.นอกวาระประจำปีอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการแต่งตั้งโดย ผบ.ตร.แต่เพียงผู้เดียว โดยใช้อำนาจตามนัยมาตรา 56 แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 โดยเว้นกฎ ก.ตร. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจระดับ สว.-จตช.และ รอง ผบ.ตร. พ.ศ.2549 ซึ่งการแต่งตั้งดังกล่าว มีข้าราชการส่วนหนึ่งได้รับความเดือดร้อน ไม่ได้รับความเป็นธรรม ส่งผลให้เกิดปัญหาในการบริหารและประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน
ดังนั้น ในวาระการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรระดับรอง ผบก.-สว.ประจำปี 2551 ซึ่งมี พล.ต.อ.พัชรวาท เป็น ผบ.ตร.แล้วนั้น ผบช.หน่วยต่างๆ จึงได้เสนอขอแต่งตั้งภายในอำนาจของตนรวมประมาณ 5,300 ราย เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับข้าราชการตำรวจบางส่วน ซึ่งเป็นตัวบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งเดิมไม่ครบ 2 ปี และได้รับผลกระทบจากการแต่งตั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โดยได้พิจารณาในรูปคณะกรรมการประกอบด้วย ผบ.ตร.ร่วมกับ ผบช.และ ผบก.ที่เกี่ยวข้อง ส่วนการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับรอง ผบก.-สว.ในหน่วยงานต่างๆ นั้น กำหนดให้เป็นอำนาจของ ผบช.หรือ ผบก.แล้วแต่กรณี สำหรับการดำเนินการแต่งตั้งผู้ที่ดำรงตำแหน่งครั้งสุดท้ายไม่ครบ 2 ปี มีกฎ ก.ตร.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งและโยกย้ายตำรวจระดับสารวัตร ถึง จตช. และรอง ผบ.ตร. พ.ศ.2549 ข้อ 14 กำหนดให้เป็นอำนาจของ ผบ.ตร.ในการให้ความเห็นชอบ
ทั้งนี้ เอกสารชี้แจงระบุว่า การให้ความเห็นชอบของ ผบ.ตร.ในวาระประจำปี 2551 จำนวน 2,909 ราย จึงเป็นการใช้อำนาจในทางบริหารตามกฎ ก.ตร.เพื่อแก้ไขปัญหาตามเสนอของ ผบช.หน่วยต่างๆ
ซึ่งประเด็นนี้ ถือเป็นการร้อนรนของ "พัชรวาท"อย่างเห็นได้ชัด...
แต่สำหรับชีวิตของ"พัชรวาท"หลังครบ 47 ชั่วโมง นับจาก ป.ป.ช.ชี้มูล(เวลา 15.20 น.วันที่ 7 ก.ย.52) จนถึงวินาที นายกรัฐมนตรี ลงนามคำสั่ง(เวลา 13.39 น.วันที่ 9 ก.ย.52)ถือว่าเขาจบแล้วสำหรับชีวิตข้าราชการตำรวจ ที่เขามั่นใจมาตลอดในช่วงของการเรียกร้องให้ปลดเขาพ้น ผบ.ตร.ว่า....พี่ชายเขา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะสามารถปกป้องเขาให้อยู่ในตำแหน่งจนถึงเกษียน 30 ก.ย.2552