xs
xsm
sm
md
lg

“ป๊อด” เปิดศึก ป.ป.ช. อัดถูกชี้มูล ประชาชนไม่เชื่อมั่น ตร.-ถามหากติกาสลายม็อบ!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.
“เสี่ยป๊อด” ส่งลูกน้องแจงเหตุ ป.ป.ช.ชี้มูลผิดวินัยร้ายแรงเหตุสลายม็อบ 7 ต.ค.51 หวั่นกระทบความเชื่อมั่นของประชาชน และขวัญกำลังใจ ตร.ทุกระดับ ระบุให้ประชาชนเชื่อมั่นการทำหน้าที่ขอ งตร.โดยเจ้าหน้าที่จะปฏิบัติตามกรอบของกฎหมาย ยันสู้ข้อกล่าวหาตามแนวปฏิบัติ ด้าน “อำนวย” เคืองแทนนายไม่ขอออกความเห็นกรณี ป.ป.ช.ชี้มูล แต่เหน็บ ป.ป.ช.ให้เขียนกติกาแผนปฏิบัติเหตุสลายม็อบ ตร.จะได้ทำตามได้ถูกต้อง



วันนี้ (9 ก.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.สุรพล ทวนทอง รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และพล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น. แถลงกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดต่อ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. โดย พล.ต.ต.สุรพล ได้นำประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาอ่าน มีข้อความระบุว่า

ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้แถลงข่าวการประชุมเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2552 เรื่องกล่าวหา นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกับพวก กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีสั่งการให้มีการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 โดยมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สรุปว่า พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมในช่วงเช้าทราบข่าวการบาดเจ็บ ฯลฯ หลายราย แต่กลับเพิกเฉยไม่สั่งการให้หยุดยั้งการกระทำหรือยอมให้กระทำการอันเป็นการเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายต่อประชาชน เป็นการไม่รับผิดชอบต่อตำแหน่งหน้าที่ของตนเองที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนโดยมิได้ยับยั้งการกระทำที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชน ตามวิสัยของข้าราชการตำรวจที่มีหน้าที่พิทักษ์สันติราษฎร์จนเกิดความเสียหาย การกระทำหรือละเว้นการกระทำของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานกระทำการอันได้เชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และฐานละเว้นการกระทำใดๆ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 79(5) (6) และมีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และระบุว่า พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาลทราบข้อเท็จจริงว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งอยู่ในความควบคุมบังคับบัญชาในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ ตามแผนรักษาความสงบ (กรกฎ/48) ได้ปฏิบัติหน้าที่เกินกว่าเหตุทำให้มีผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิต แต่ไม่ดำเนินการทบทวนวิธีการหรือหยุดยั้งการกระทำดังกล่าวการกระทำของ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว จึงมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทำร้ายประชาชนในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ราชการ กระทำการอันได้ชื่อว่าเป็น ผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และกระทำหรือละเว้นการกระทำใดๆ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 79 (3) (5) (6) และมีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เห็นว่าข่าวดังกล่าวอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของพี่น้องประชาชนในอันที่จะได้รับการบริการในการรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ตลอดจนการได้รับการปกป้องในความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงอาจสร้างความสับสนและกระทบต่อการตัดสินใจในการพิจารณาสั่งการให้เป็นไปตามกฎหมายของผู้บังคับบัญชาแต่ละลำดับชั้นตลอดจนขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติภารกิจหน้าที่ของเพื่อนข้าราชการตำรวจในการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะเรื่องที่จะเกิดจากชุมนุมเรียกร้องในเรื่องต่างๆของพี่น้องประชาชน จึงให้นำเรียนพี่น้องสื่อมวลชนเพื่อประกาศให้พี่น้องประชาชนตลอดจนเพื่อนข้าราชการตำรวจทุกนายได้ทราบดังนี้

1.พี่น้องประชาชนย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญ 2.เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนายมีหน้าที่ต้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของพี่น้องประชาชนให้พ้นจากการล่วงละเมิด และต้องอำนวยความยุติธรรมแก่พี่น้องประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน 3.เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนายต้องดูแลให้มีการปฏิบัติและบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างถูกต้อง รวดเร็ว เป็นธรรมและทั่วถึง 4.เจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่ในการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายโดยการกระทำพอสมควรแก่เหตุ ในอันที่จะต้องดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนและสาธารณสมบัติของแผ่นดินให้พ้นภยันตรายที่ใกล้จะถึงซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย

5.ขอให้พี่น้องประชาชนชาวไทยทุกคนมั่นใจว่า “ข้าราชการตำรวจทุกนายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ” จะยืนหยัดปฏิบัติภารกิจหน้าที่ตามกฎหมาย ในอันที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน ตลอดจนรักษาสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายตลอดไป โดยไม่หวั่นไหวต่อความยากลำบากที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ทางการเมืองใดๆ ในปัจจุบัน

6.ขอให้เพื่อนข้าราชการตำรวจทุกนายเข้าใจว่าการชี้มูลของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ตามที่ได้แถลงข่าวเป็นการดำเนินการของคณะกรรมการในองค์กรอิสระ ซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ จึงขอให้เพื่อนข้าราชการตำรวจทุกนายมีขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติภารกิจหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายต่อไป ในส่วนของพลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้ถูกชี้มูลการกระทำความผิดจะต่อสู้คดีตามแนวทางของกฎหมายและระเบียบแบบแผนที่มีอยู่ เพื่อยืนยันว่าในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้รักษากฎหมายนั้นได้ดำเนินการไปตามรัฐธรรมนูญตลอดจนกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องทุกประการ และเชื่อว่าพยานหลักฐานที่ส่งมอบให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.เพิ่มเติมจะเป็นพยานหลักฐานใหม่ที่ทำให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกคนปฏิบัติภารกิจหน้าที่ภายใต้กรอบของกฎหมายที่กำหนด

7.สำหรับการดำเนินคดีของกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งกระทำผิดกฎหมายเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้น พล.ต.อ.พัชรวาท ให้นำเรียนเพิ่มเติมว่าเป็นกรณีเดียวกันกับเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.แถลงข่าวการชี้มูลกรณีการสลายการชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ดังกล่าวข้างต้น แต่ในการพิจารณาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติมิได้พิจารณาเฉพาะกรณีของเหตุการณ์ในการชุมนุมที่เกิดขึ้นในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 แต่ได้สอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานที่ยืนยันพฤติการณ์การกระทำของกลุ่มผู้ชุมนุมมาตั้งแต่การเริ่มชุมนุมเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2551 ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงเป็นที่ประจักษ์ว่าการชุมนุมของกลุ่ม ผู้ชุมนุมมิได้เป็นการชุมนุมที่สงบและปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด โดยก่อนหน้าวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ได้มีการยึดสถานที่ราชการหลายแห่ง รวมทั้งทำเนียบรัฐบาลและยังมีการกระทำในหลายประการตลอดระยะเวลาการชุมนุมที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งการกระทำที่ผิดกฎหมายต่างๆได้กระทำอย่างต่อเนื่องตลอดมาจนถึงวันที่ 7 ตุลาคม 2551 จึงมีการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้กระทำผิดตามสำนวนการสอบสวนคดีอาญา สถานีตำรวจนครบาลดุสิตที่ 395/2551 ในความผิดฐาน “ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ (ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 มาตรา 215 และมาตรา 309 ในการสอบสวนมีการสอบสวนผู้กล่าวหาถึง 31 คนซึ่งรวมทั้ง พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ที่เป็นผู้กล่าวหาในคดีแต่ถูกชี้มูลว่ากระทำความผิดทั้งทางอาญาและทางวินัยด้วย นอกจากนี้พนักงานสอบสวนต้องรวบรวมพยานบุคคล พยานเอกสาร และพยานทางนิติวิทยาศาสตร์อีกเป็นจำนวนมาก คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อเสนอสำนักงานตำรวจแห่งชาติในฐานะผู้สั่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนพิจารณาสั่งคดีเสนอพนักงานอัยการพิจารณา ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะพิจารณาสำนวนการสอบสวนนี้โดยให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกรายตามหลักนิติธรรม และยืนยันว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่กระทำผิดกฎหมายในมาตรฐานเดียวกันมาโดยตลอด

พล.ต.ต.สุรพล กล่าวอีกว่า ผบ.ตร.รู้สึกเป็นห่วงขวัญ กำลังใจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงได้ให้นำประกาศดังกล่าวมาเผยแพร่เพื่อให้ตำรวจและกำลังพลทุกนายทำหน้าที่ต่อไป เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หลังจากที่ ป.ป.ช.มีการชี้มูลแล้วทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจยากขึ้นหรือไม่ พล.ต.ต.สุรพล กล่าวว่า ตำรวจยังมีหน้าที่ในการปฏิบัติภารกิจภายใต้กรอบของกฎหมาย คุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยจะมีขั้นตอนในการปฏิบัติต่างๆซึ่งในเรื่องนี้ พล.ต.ต.อำนวย จะเป็นผู้ชี้แจงว่าสามารถปฏิบัติภายใต้กรอบได้อย่างไรบ้าง เพื่อให้ประชาชนยังมีความมั่นใจในการที่จะรับบริการจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

ต่อข้อถามที่ว่า หากมีการวางกรอบเอาไว้สูงเกินไปจะทำอย่างไร ในเรื่องนี้คือต่างคนต่างมีหน้าที่ มีหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายมีหน้าที่ที่จะต้องสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่าเขาจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไม่เช่นนั้นในกรณีถ้าการชุมนุมเป็นผลกระทบต่อภาคเอกชน มีการชุมนุมเพื่อเรียกร้องค่าแรงงานแล้วทางภาคเอกชนขอให้ส่งกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ และทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถหยุดยั้งการชุมนุมได้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง ซึ่งนำไปสู่การเผาโรงงานหรือเผาสถานที่ทำกรหรือที่ประกอบการของภาคเอกชน เกรงว่าถ้ากระทำการอย่างใดไปแล้วจะกระทบต่อตัวเอง ดังนั้น ตำรวจทุกคนจะต้องยืนยันการปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบของกฎหมายที่กำหนด ส่วนความเห็นที่มีความแตกต่างกันในวิธีปฏิบัตินั้นนั้นนี้ยังไม่เป็นที่ยุติ ว่าถูกผิดอย่างไร ซึ่งทาง สตช.จะช่องทางหรือแนวทางตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ในการที่จะนำเสนอข้อมูลต่างๆ ซึ่งอาจจะเป็นพยานหลักฐานใหม่ที่ยังไม่มีในสำนวนของปปช. เพื่อให้นำไปพิจารณาว่าสิ่งที่เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ไปตลอดระยะเวลา 100 กว่าวันที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 7 ตุลาคมเราได้ปฏิบัติหน้าที่ไปตามขั้นตอนหยุดยั้งความรุนแรงต่างๆพยายามที่จะทำให้ความรุนแรงต่างๆ มันไม่เกิดขึ้น ส่วนสิ่งที่มีการนำไปพิจาณากันในวันที่ 7 ก็เป็นเรื่องที่ต้องมีพยานหลักฐานอื่นๆ เพิ่มเติมประกอบ ซึ่ง ผบ.ตร.ในฐานะเป็นผู้ที่ถูกชี้มูลท่านจะดำเนินการในเรื่องนี้เฉพาะตัวของท่านเอง

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องที่ท่านนายกกดดันแล้วจะปลดให้ไปปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่สำนักนายกรัฐมนตรี รองโฆษกกล่าวว่า เรื่องนี้ผมไม่ทราบต้องเป็นเรื่องของ ผบ.ตร.ท่านคงจะมีแนวทางของท่าน เรายืนยันว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป และต้องสร้างความเชื่อมั่นขอให้ประชาชนมีความเชื่อมั่น เราจะปฏิบัติหน้าที่ต่อทุกฝ่ายโดยเสมอภาคกันตามหลักนิติธรรมทุกประการ

ด้าน พล.ต.ต.อำนวย กล่าวว่า ตนจะตอบคำถามเมื่อสักครู่ด้วย อีกทั้งตนและท่านรองสุรพลอยู่ในเหตุการณ์ด้วย ในวันที่ 7 ต.ค.ติดตามเหตุการณ์ตลอดเวลา รอความเห็น ป.ป.ช.จนกระทั่งวันนี้ถ้าจะถามตนว่าเห็นด้วยกับมติของป.ป.ช.หรือไม่ตนคงไม่ตอบขอให้มันอยู่ในใจ จะไม่พูดย้อนปึงเรื่องที่ ป.ป.ช.ชี้มูล ผบ.ตร.และอดีต ผบช.น.มีส่วนผิด แต่จะพูดไปถึงอนาคตว่าตำรวจจะทำอะไรอย่างไร ต่อไป ป.ป.ช.คงไม่มีหน้าที่ที่ 2 คือ ให้คำแนะนำ เสนอแนะให้กรอบการปฏิบัติ แนวมาตรฐานว่าควรจะเป็นอย่างนี้แล้วจะไม่ทุจริต หน้าที่ที่ 1 และ 2 ไม่ได้แตกต่างกันเลย มีน้ำหนักพอๆ กัน ป.ป.ช.มีหน้าที่ต้องแนะนำหน่วยงานของรัฐให้ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องด้วย ตนได้อ่านมติของ ป.ป.ช.แล้วเห็นด้วยอยู่ในใจและเอามติของป.ป.ช.ฉบับเต็มๆมาศึกษามาแล้วตั้งเป็นคณะทำงานแล้วถามกลับไปยัง ป.ป.ช.ว่าในอนาคตจะใกล้หรือไกลแล้วแต่ ว่าหากมีกลุ่มผู้ชุมนุมมาชุมนุมปิดล้อมสถานที่ราชการ ปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลหรือไปปิดล้อมป.ป.ช.เอง แล้วมีท่าทีจะก่อความวุ่นวาย ใช้รั้วลวดหนาม ใช้ยางรถยนต์ ใช้น้ำมันราดพื้น ใช้กุญแจไปปิดคล้องประตูสถานที่ราชการ ขู่ว่า “ฆ่ามัน ฆ่ามัน” ที่ไหนก็แล้วแต่ และเป็นม็อบไหนก็แล้วแต่ ถามว่า ป.ป.ช.จะให้ตำรวจทำได้แค่ไหน เพราะขณะนี้บ้านเรายังไม่มีกฎหมายควบคุมหรือจัดระเบียบการชุมนุม จำเป็นจะต้องเขียนกรอบการปฏิบัติหน้าที่โดยองค์การที่เกี่ยวข้อง จะให้ตำรวจทำได้อย่างไรบ้างซึ่งถ้าหากเกินไปจะไม่ทำ กรอบชัดเจนตำรวจจะได้ไม่กล้าทำ

“ทุกวันนี้ให้ตำรวจไปสู้กับไอ้เสือฝ้าย เสือใบ เสือดำ เสือดาวหรือเสืออะไรก็แล้วแต่ ตำรวจเลือกที่จะทำอย่างนั้นเพราะกติกาชัดเจน แต่ตรงนี้ไม่มีกติกา ป.ป.ช.ช่วยหน่อยเถอะ ผมเคยทำหนังสือเชิญ ป.ป.ช.ไป ว่าวันนี้ม็อบจะมาก็เชิญไปร่วมสังเกตการณ์ มาบอกเราสิว่าทำได้แค่ไหนจะได้ไม่บกพร่องแต่ท่านไม่มาผมจึงเรียกร้องให้ท่านเขียนกติกามาให้ผม ถ้าท่านไม่เขียนผมจะเอามติของท่านมาศึกษาแล้วถามกลับไปว่าจะให้ทำอย่างไรแล้วผมจะทำตามนั้น หากทำตามนั้นแล้วท่านจะมากล่าวหาไม่ได้ว่าทำเกินกว่าเหตุ และอย่าว่าตำรวจเกียร์ว่างนะคำว่าเกียร์ว่างคือมีเกียร์ให้เข้าแต่ไม่เข้า แต่นี่ไม่มีเกียร์ ไม่มีเกียร์คือไม่มีกติกา แผนกรกฎท่านบอกว่าใช้ไม่ได้ท่านบอกว่าเกินกว่าเหตุ ท่านก็เขียนมาให้ผมสิแล้วผมจะทำตามที่ท่านเขียน หรือให้ผมเขียนแล้วเสนอท่านไปแล้วแก้ไขมา เราจะทำตามนั้น สิ่งนี้คือสิ่งที่เราจะปฏิบัติต่อไปผมจะเอามติมาแล้วรีบเขียน และวันที่ไปส่งที่ ป.ป.ช. ผมจะบอกกับสื่อมวลชนด้วยว่าผมเขียนเสร็จแล้ว ผมจะทวงถามคำตอบท่านด้วย” พล.ต.ต.อำนวย กล่าว

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากกลุ่มเสื้อแดงที่นัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 19 ก.ย.นี้ หากลักษณะการชุมนุมเหมือกับกลุ่มเสื้อเหลืองตำรวจจะทำอย่างไร พล.ต.ต.อำนวย กล่าวว่า ต้องดูว่ารัฐบาลประกาศใช้กฎหมายใกล้เคียงอะไรหรือเปล่า ขณะนี้กฎหมายตรงๆ ในการจัดระเบียบการชุมนุมยังไม่มี ส่วนแก๊สน้ำตาจะมีการใช้หรือไม่ต้องพิจารณา แก๊สน้ำตาเขาใช้กันทั่วโลก ที่บราซิลยิงกัน 9 ชั่วโมง แต่ที่เมืองไทยยิงแล้วถือว่าทำเกินกว่าเหตุ และหากมีความรุนแรงเกิดขึ้นก็จะไม่ผลักภาระไปให้ทหาร หากมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงทุกคนที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพนักงานตามพระราชบัญญัติเท่ากันหมดทั้งทหารและตำรวจ ไม่มีใครเดินนำหน้าใคร

ศาลรู้ทัน ไม่รับฟ้อง “อำนวย” กล่าวหา 9 ป.ป.ช.!
“สุรพล” กราบขอบคุณแม่ “น้องโบว์” ไม่เอาความกล่าวหาพกระเบิด!
“ตานวย” กลัวคุก! ร้องค้านตั้ง “วิชา มหาคุณ” สอบ 7 ตุลาเลือด
กำลังโหลดความคิดเห็น