xs
xsm
sm
md
lg

“จรัญ” หนุน ป.ป.ท.สอบ กบข.ปลูกจิตสำนึกเลิกแนวคิดชื่นชมคนโกงแม้ทำกำไรให้องค์กร

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

“จรัญ” หนุน ป.ป.ท.ตรวจสอบ กบข.ปลุกจิตสำนึกเลิกแนวคิดชื่นชอบคนโกงแม้ทำกำไรให้องค์กร อย่ามองคอร์รัปชันเป็นสินน้ำใจ ด้าน “ธาริต” ไม่สนกฤษฎีกาตีความกรอบอำนาจ ลุยสอบเพื่อสรุปผลเสนอ รมว.ยุติธรรม ขณะที่ “วิสิฐ” ส่งหนังสือตอบกลับ ป.ป.ท.ว่าไม่สามารถส่งมอบเอกสารข้อมูล ที่ ป.ป.ท.ร้องขอได้ เพราะลาออกจาก กบข.แล้ว และไม่แจ้งว่าจะเข้าชี้แจงข้อมูลต่อ ป.ป.ท.เมื่อใด

วันนี้ (19 มิ.ย.) ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ บรรยายพิเศษเรื่อง ทุจริตคอร์รัปชันปัญหาสำคัญของสังคมไทย ว่าบทบาทที่สร้างผลงานให้กับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) คือการเข้าไปดูแลปัญหาในกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ที่กระทบกระเทือนความเชื่อมั่นของข้าราชการทั้งประเทศ เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและสังคม จึงควรนำไปเป็นแนวปฏิบัติในเรื่องอื่นๆ แม้ ป.ป.ท.จะมีอำนาจตรวจสอบเพียงแค่ข้าราชการระดับ 7 ลงมา แต่การทุจริตทุกเรื่องย่อมต้องมีข้าราชการตั้งแต่ระดับ 1-7 ไปเกี่ยวข้อง ผลการตรวจสอบของ ป.ป.ท.ทำให้สังคมตื่นตัว ผู้บริหารในหน่วยงานต่างๆ เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น

นายจรัญกล่าวด้วยว่า วิกฤต 6 ด้านที่ส่งผลให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทย ได้แก่ 1.การทุจริตซื้อสิทธิขายเสียงทั้งการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่น เมื่ออำนาจสูงสุดได้มาด้วยการซื้อ จึงต้องมีการสะสมกระสุนดินดำสำหรับซื้อเสียงครั้งต่อไป โดยการทุจริตเลือกตั้งถือเป็นรากเหง้าของการทุจริตทุกด้านในสังคมไทย

2.การประมูลซื้อขายตำแหน่งหน้าที่ราชการในระบบงานของรัฐ การเข้าสู่ตำแหน่งที่สูงกว่าใหญ่กว่าก็ต้องจ่ายแพงกว่า 3.การสมยอมคบคิดกันในการประกวดราคาก่อสร้างและจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ของหน่วยงานของรัฐ เป็นที่มาของเงินเถื่อนเงินสกปรกที่ใหญ่ที่สุด ดังนั้น จึงไม่ไว้ใจเมกกะโปรเจ็กหมื่นล้าน เพราะเศษเงินของโครงการ 3-5% เป็นการรั่วไหลอย่างมหาศาลของงบประมาณชาติ

4.การยักยอกเงินราชการลับ และเงินนอกงบประมาณ 5.การหลบเลี่ยงการเสียภาษีอากร 6.เจ้าหน้าที่ของรัฐจงใจใช้อำนาจไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ลุแก่อำนาจ

“มะเร็งร้ายเหล่านี้ถูกมองเป็นเรื่องธรรมดาในสายตาของคนไทย จำเป็นต้องปลูกฝังให้ผู้คนในทุกองค์กร มีอุดมการณ์ต่อสู้กับการทุจริต” นายจรัญ กล่าว

นายจรัญกล่าวอีกว่า ขอให้ผู้บริหารทุกหน่วยงานพึงระวัง 4 ประการ 1.อย่าหลงผิดว่า ใครๆ ก็เป็นผู้บริหารได้ จึงเลือกตั้งคนที่เราพอใจมาเป็นผู้รับผิดชอบองค์กร เพราะคนที่ขาดอุดมการณ์จะทำลายองค์กร การคัดคนขึ้นสู่ตำแหน่งบริหารต้องพิถีพิถัน 2.อย่าหลงผิดว่าคนโกงที่ทำกำไรทำผลประโยชน์ให้ มีคุณค่ากว่าคนที่ทำผลประโยชน์ได้น้อย ซึ่งความคิดนี้แพร่หลายในสังคมไทยทั้งภาครัฐและเอกชน ขอให้ตะหนักว่าคนโกงเมื่อมีโอกาสเขาพร้อมจะโกงทุกคน 3.อย่ามุ่งหมายทำกำไรสูงสุด หรือผลงานโดดเด่นจนลืมคนรอบข้าง สังคมและประเทศชาติ และ 4.อย่าคิดว่าทุจริตคอรัปชั่นเป็นเพียงสินน้ำใจ

ด้าน นายธาริต เพ็งดิษฐ์ เลขาธิการ ป.ป.ท.กล่าวว่า นายวิสิฐ ตันติสุนทร อดีต กบข.ได้ทำหนังสือตอบกลับมายัง ป.ป.ท.ว่า ไม่สามารถส่งมอบเอกสารข้อมูลที่ ป.ป.ท.ร้องขอได้ เนื่องจากได้ลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการกบข.แล้ว โดยแจ้งว่าเอกสารทั้งหมดอยู่ที่ กบข. อย่างไรก็ตาม นายวิสิฐไม่ได้แจ้งว่าจะชี้แจงข้อมูลต่อ ป.ป.ท.เมื่อใด ทั้งที่ก่อนหน้านี้นายวิสิฐเป็นฝ่ายทำหนังสือแจ้งความจำนงจะขอเข้าชี้แจงความบริสุทธิ์ของตัวเอง

ส่วนกรณีที่คณะกรรมการกฤษฎีกากำลังตีความอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ท.นั้น นายธาริตกล่าวว่า จะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อการทำงานตรวจสอบ กบข. เนื่องจากเป็นการทำหน้าที่ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ ป.ป.ท. ดังนั้น ตนจะเร่งสรุปรายงานการตรวจสอบทั้งหมดเสนอต่อนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

รายงานข่าวเปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีมติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของป.ป.ท.ในการตรวจสอบกบข.ในสัปดาห์หน้า โดยคาดว่า อาจมีการชี้ว่า ป.ป.ท.ไม่มีอำนาจตรวจสอบ เนื่องจากไม่มีคณะกรรมการ ป.ป.ท. ซึ่งนายวิสิฐจึงมีท่าทีเปลี่ยนไป ทั้งนี้ จากการตรวจสอบรายชื่อคณะกรรมการกบข. พบว่า เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และอธิบดีกรมบัญชีกลาง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ส่งเรื่องให้กฤษฎีกาตีความประเด็นอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ท.ก็ร่วมเป็นบอร์ด กบข.เช่นกัน

ต่อมาเมื่อเวลา 17.00 น. นายธาริต กล่าวว่า ภายหลังจากที่นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ทราบเรื่องที่กรมบัญชีกลางทำหนังสือขอหารือไปยังกฤษฎีกาให้ตีความอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ท.โดยตนได้มอบหมายให้ พท.กรทิพย์ ดาโรจน์ ผอ.สำนักปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 3 พร้อมทีมกฎหมายเข้าชี้แจงต่อกฤษฎีกาไปแล้วเมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยนายพีระพันธุ์ ขอเข้าชี้แจงต่อกฤษฎีกา เพื่อยืนยันต่ออำนาจหน้าที่ด้วยตนเอง และคาดว่าจะนัดเข้าชี้แจงในวันที่ 24 มิ.ย.
นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
นายวิสิฐ ตันติสุนทร อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
กำลังโหลดความคิดเห็น