xs
xsm
sm
md
lg

“พีระพันธุ์” แจงกฤษฎีกายัน ป.ป.ท.ส่อง กบข.ทำตาม กม.

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรม
“พีระพันธุ์” ชี้แจงกฤษฎีกายืนยัน ป.ป.ท.ตรวจสอบ กบข.เป็นการทำตามกฎหมาย ยกระเบียบกฤษฎีกาแย้งการตีความ เพราะยังไม่ผ่านการหารือของรัฐมนตรี 2 กระทรวง

วันนี้ (1 ก.ค. ) ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยภายหลังเข้าให้ข้อมูลกับคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 กรณีที่กรมบัญชีกลางส่งเรื่องให้กฤษฎีกาตีความสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) มีอำนาจตรวจสอบการบริหารงานของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ว่า การทำงานของ ป.ป.ท.ที่ผ่านมา ในการตรวจสอบ กบข.ไม่มีอะไรที่ผิดกฎหมาย เป็นการทำงานในลักษณะเดียวกับการตรวจสอบกรณีเจ้าหน้าที่บ้านเมืองปล่อยปละละเลยจนมีการลักลอบเปิดตู้ม้า หรือบ่อนพนันผิดกฎหมาย เพียงแต่กรณี กบข.เป็นการตรวจสอบหน่วยงานของรัฐตามที่มีข้าราชการร้องเรียน ซึ่งเป็นการตรวจสอบเบื้องต้น เพื่อเตรียมไว้ให้คณะกรรมการ (บอร์ด) ป.ป.ท.ได้ตัดสินชี้ขาด

“เมื่อมีบอร์ดไม่เช่นนั้น ข้าราชการ ป.ป.ท.ก็ไม่ต้องทำงานอะไร รับเงินเดือนที่มาจากเงินภาษีของประชาชนไปฟรีๆ การตรวจสอบเบื้องต้นของ ป.ป.ท.เป็นลักษณะการทำงานเช่นเดียวกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เคยมีปัญหาไม่มีบอร์ดอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ในส่วนงานเลขาธิการ ป.ป.ช.ก็ยังตรวจสอบคดีต่างๆรอไว้ให้บอร์ดพิจารณาได้ ทั้งนี้ นอกจากคดี กบข.ที่ ป.ป.ท.ตรวจสอบแล้ว ยังมีอีกหลายเรื่องที่รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรี และหลายเรื่องนายกรัฐมนตรีสั่งการให้ ป.ป.ท.ตรวจสอบก็มี” นายพีระพันธุ์ กล่าว

นายพีระพันธุ์ กล่าวอีกว่า หากพิจารณาระเบียบของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ระบุว่า การตีความกรณีอำนาจหน้าที่หน่วยงานของรัฐ กฤษฎีกาจะรับตีความต่อเมื่อหัวหน้าหน่วยงานที่มีข้อสงสัยตกลงหารือกันก่อนว่า จะส่งเรื่องให้ตีความ ซึ่งเรื่อง กบข.ก็คือ หัวหน้าหน่วยราชการ คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่เรื่องนี้รัฐมนตรีทั้ง 2 กระทรวง ยังไม่ได้หารือกัน ขณะที่กรมบัญชีกลาง ซึ่งยื่นเรื่องให้กฤษฎีกาตีความ ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องและไม่ใช่หน่วยงานต้นสังกัดโดยตรงของ กบข.จึงไม่น่าอยู่ในข่ายกรมที่จะยื่นเรื่องให้กฤษฎีกาตีความอำนาจของ ป.ป.ท.ดังนั้น ประเด็นนี้จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าคณะกฤษฎีกาจะมีอำนาจตีความได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ตนไม่ทราบว่าผลการวินิจฉัยของกฤษฎีกาจะออกมาอย่างไร แต่ก็ถือว่าได้ขอให้บันทึกการให้ข้อมูลของตนไว้แล้ว ในส่วนของ ป.ป.ท.ก็จะยังทำงานตรวจสอบคดีที่มีการทุจริตไปได้เพื่อเตรียมไว้ให้บอร์ดพิจารณา
กำลังโหลดความคิดเห็น