“พีระพันธุ์” ไฟเขียวตรวจสอบ กบข. นัดประชุมผู้บริหารทบทวนแนวทางดำเนินการ 3 มิ.ย. ยันการเมืองไม่เคยแทรกแซง และพยายามเปลี่ยนตัวเลขาธิการ กบข. แต่ตรงกันข้ามมีการจ้องสอดแทรกผ่านการเมือง เพื่อให้ ป.ป.ท.ยุติการตรวจสอบการบริหารงาน กบข.
วันนี้ (27 พ.ค.) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงผลการตรวจสอบการบริหารขาดทุนของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ว่า ในวันที่ 3 มิ.ย.นี้ ตนได้เรียกนายธาริต เพ็งดิษฐ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) พร้อมคณะทำงานตรวจสอบกบข.เข้าประชุม เพื่อสรุปแนวทางดำเนินการต่อไปของกระทรวงยุติธรรม โดยจะดูว่ามีประเด็นบ้างที่กระทรวงยุติธรรมต้องดำเนินการต่อ และส่วนใดที่จะต้องประสานต่อไปยังกระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยืนยันว่าการตรวจสอบกบข. ครั้งนี้ไม่มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เป็นความเดือดร้อนของสมาชิก กบข. ที่ร้องเรียนเข้ามา ซึ่งถ้าผลตรวจสอบเบื้องต้นพบสิ่งไม่ถูกต้องกระทรวงยุติธรรมต้องเข้าไปแก้ไข และดำเนินการให้ถูกต้อง
นายพีระพันธุ์กล่าวอีกว่า การเมืองไม่เคยแทรกแซง กบข. และไม่มีความพยายามจะเปลี่ยนตัวเลขาธิการกบข. และตนก็ไม่เคยแทรกแซงการตรวจสอบของป.ป.ท. แต่ในทางตรงกันข้ามเชื่อว่ามีความพยายามแทรกแซงผ่านการเมือง เพื่อให้ ป.ป.ท.หยุดการตรวจสอบ กบข. สำหรับ กบข. ตามหลักการถือเป็นองค์กรที่ดี เป็นหลักประกันที่ดีสำหรับข้าราชการ เลียนแบบมาจากกองทุนข้าราชการของสิงคโปร์ ตามกฎหมายการตั้ง กบข.กำหนดให้มีอำนาจหน้าที่สำคัญ 2 เรื่อง คือ เป็นแหล่งออมทรัพย์ และเป็นแหล่งจัดสวัสดิการ แต่ที่ผ่านมา กบข. ของไทยมีบทบาทเฉพาะเป็นแหล่งออมทรัพย์ และนำเงินไปลงทุนในที่ต่างๆ ใช้เงินของสมาชิกไปในทางไม่ถูกต้อง ที่สำคัญ กบข.ไม่ดำเนินการจัดสวัสดิการให้กับสมาชิกตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ดังนั้น ถ้า กบข.ไม่สามารถดำเนินการให้สมบูรณ์ก็ไม่จำเป็นต้องมี กบข. ขณะนี้ตนทราบว่า นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีแนวทางจะตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ซึ่งอาจเป็นการยุบ กบข.มารวมไว้
รมว.ยุติธรรม กล่าวต่อว่า ครูเป็นสมาชิกกลุ่มใหญ่ใน กบข.โดยครูทั่วประเทศมีปัญหาเรื่องหนี้สิน แต่ กบข.ไม่เคยมีบทบาทช่วยเหลือ หรือตั้งโครงการมาเพื่อช่วยครู ก่อนหน้าที่จะมีปัญหาภาวะขาดทุน ตนได้รับเรื่องร้องเรียนทั้งจากครู ทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือน สมัยที่ตนเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เคยเสนอให้กองทัพแยกออกจาก กบข. ไปจัดตั้งเป็นกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการทหาร แต่ช่วงนั้น กบข. กลับพยายามเสนอให้เปลี่ยนแปลงอำนาจหน้าที่ของ กบข. โดยให้คงเฉพาะเป็นแหล่งออมทรัพย์แล้วให้ตัดทิ้งเรื่องการจัดสวัสดิการให้สมาชิก
ดังนั้น กรณีการตรวจสอบ กบข.จะเดินหน้าต่อไป ส่วนประเด็นที่ กบข.ยังสงสัยในอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ท.นั้น ทุกคนมีสิทธิ์สงสัย แต่คนที่เข้าไปตรวจสอบอย่าง ป.ป.ท.ย่อมต้องรู้ในอำนาจหน้าที่ของตนเองดีแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการ กบข.ควรแสดงสปิริตอย่างไรกับข้อมูลที่พบว่ามีการซื้อหุ้นดักหน้า กบข. นายพีระพันธุ์กล่าวว่า ตนไม่แสดงความเห็นประเด็นนี้ เพราะเป็นเรื่องที่กระทรวงการคลังน่าจะต้องพิจารณา
ทางด้าน นายธาริต เพ็งดิษฐ์ เลขาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เปิดเผยว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นัดประชุมคณะทำงานชุดตรวจสอบกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ในวันที่ 3 มิ.ย.นี้ เวลา13.30 น. เพื่อพิจารณาถึงความถูกต้องในเอกสารข้อมูลจากการตรวจสอบรวม 44 หน้า ทั้งนี้ตนยืนยันว่าคณะทำงานตรวจสอบพบผู้บริหารระดับสูงของ กบข.มีความผิด กรณีใช้ข้อมูลภายใน (อินไซเดอร์เทรด) ทำการซื้อขายหุ้นดักหน้า และหลังการขายหุ้นของกองทุน กบข.
อย่างไรก็ตาม หากการประชุมร่วมกับรมว.ยุติธรรม มีมติไปในทิศทางเดียวกัน ก็จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาชี้มูลความผิดต่อไป ซึ่งตนยอมรับว่า มีความหนักใจ หากผลสอบของคณะกรรมการชุดที่กระทรวงการคลัง แต่งตั้งขึ้น ออกมายืนยันว่ากองทุนและผู้บริหารของ กบข.ไม่มีความผิด