xs
xsm
sm
md
lg

“สมคิด” แจงต่อศาลยิบ อนุมัติเงินกล้ายางตามระเบียบ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์
“สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” อดีตประธาน คชก. จำเลยทุจริตกล้ายาง เบิกความแจงยิบอนุมัติโครงการตามระเบียบหลักการราชการ ยันที่ประชุมไม่ค้านการอนุมัติวงเงิน ส่วน “อุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม” ยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรต่อศาล เนื่องจาก “สมคิด” เบิกความครอบคลุมทุกประเด็นแล้ว นัดไต่สวนพยานจำเลยครั้งต่อไป 22 พ.ค.

วันนี้ (19 พ.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น.ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง นายบุญรอด ตันประเสริฐ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดีหมายเลขดำที่ อม.4/2551 ทุจริตจัดซื้อต้นกล้ายางพารา 90 ล้านต้น ของกรมวิชาการเกษตร มูลค่า 1,440 ล้านบาท พร้อมองค์คณะรวม 9 คน ไต่สวนพยานจำเลย คดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.), นายวราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง ในฐานะ คชก., นายสรอรรถ กลิ่นปทุม อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์, นายเนวิน ชิดชอบ อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะผู้ริเริ่มโครงการ และนายอดิศัย โพธารามิก อดีต รมว.พาณิชย์ ในฐานะ คชก.กับพวก รวม 44 คน ประกอบด้วย กลุ่ม คชก., กลุ่มคณะกรรมการบริหารโครงการกำหนดทีโออาร์ และคณะกรรมการพิจารณาผลประกวดราคา, บริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด ในเครือซีพี, บริษัท รีสอร์ทแลนด์ จำกัด และบริษัท เอกเจริญการเกษตร จำกัด เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ จัดการ ทรัพย์สินใดใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตเสียหายแก่รัฐ, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157, 341 พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ.2542 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502

โดยวันนี้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ในฐานะประธาน คชก. จำเลยที่ 1 เป็นพยานขึ้นเบิกความสรุปว่า ได้ทราบโครงการพิพาทคดีนี้ เมื่อครั้งสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ไปตรวจเยี่ยมสำนักงานสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ซึ่งได้ให้นโยบายช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการพัฒนายางพาราซึ่งราคากำลังดี โดยมีการเสนอให้ขยายพื้นที่ปลูกยางพารา ต่อมา สกย.และกระทรวงเกษตรฯ ได้ทำเรื่องเสนอพยาน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกลั่นกรอง พิจารณาความเหมาะสม เหตุผลความจำเป็นว่ามีประโยชน์ต่อบ้านเมืองหรือไม่ ก่อนส่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ โดยการประชุมอนุฯ กลั่นกรองครั้งแรก มีมติให้ตีกลับไปให้ สกย.และ กระทรวงเกษตรฯ จัดทำรายละเอียดให้ชัดเจน และ 2 สัปดาห์ต่อมาได้รับเรื่องมาพิจารณาอีกครั้งเห็นว่าเหมาะสม จึงนำเรื่องเสนอ ครม.พิจารณา โดยเนื้อหาแล้วให้ความเห็นชอบอนุมัติรับหลักการ ก่อนส่งเรื่องต่อยัง คชก.ซึ่งตั้งมาเพื่อให้ความช่วยเหลือภาคเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน พิจารณาดำเนินโครงการ โดยยืนยันว่าเป็นการทำไปตามขั้นตอนระบบราชการ

นายสมคิดยังเบิกความอีกว่า คชก.ไม่ได้มีเฉพาะข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ แต่ยังมีข้าราชการและเจ้าหน้าที่อื่นๆ อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นกรรมการด้วย และเมื่อได้พิจารณาโครงการดังกล่าวประกอบแผนการจ่ายเงินคืนให้ คชก.แล้ว จึงเห็นว่าโครงการมีประสิทธิภาพและมีประโยชน์ที่จะช่วยยกระดับรายได้เกษตรกรได้ อีกทั้งได้พูดคุยกับผู้บริหารบริษัทผลิตยางรถยนต์รายใหญ่แห่งหนึ่งแล้ว เชื่อว่าตลาดยางพาราจะยังคงมีราคาดีไปอีกประมาณ 6-7 ปี ที่ประชุม คชก.จึงมีมติอนุมัติเงินจำนวน 1,440 ล้านบาท เพื่อดำเนินการจัดซื้อกล้ายางแจกจ่ายเกษตรกร ซึ่งที่ประชุมไม่มีใครคัดค้านว่า การใช้เงิน คชก.จะเป็นการผิดระเบียบหรือกฎหมายแต่อย่างใด และเชื่อมั่นในการจัดการของ คชก.ว่ามีประสิทธิภาพและมีโอกาสที่จะได้รับเงินคืนเมื่อจ่ายไปแล้ว ยืนยันไม่ได้ทำผิดพลาดระเบียบเรื่องการใช้เงิน คชก.ที่ระบุว่าห้ามนำเงินไปอุดหนุนสินค้าทางการเกษตร แต่เข้าลักษณะในข้ออื่น

เมื่อศาลถามว่า รายได้ คชก.มาจากที่ใด นายสมคิดตอบว่ารายได้ คชก.มาจากงบประมาณของรัฐบาลก้อนหนึ่งเพื่อช่วยเหลือเกษตรที่ได้รับความเดือดร้อน เพราะบางครั้งเมื่อมีความเดือดร้อนไม่สามารถตั้งเรื่องของบประมาณได้ทัน คชก.ก็จะเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งไม่ได้กำหนดว่าเมื่อช่วยเหลือแล้วจะต้องได้รับเงินกลับคืนมา ที่ผ่านมาก็เคยเข้าไปช่วยเกษตรกรในหลายโครงการ เช่น เงาะ ลำไย หอม กระเทียม ซึ่งการเบิกจ่ายเงินไม่ได้เป็นหน้าที่ของ คชก. แต่จะมีหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบอยู่แล้ว คชก.เป็นเพียงผู้พิจารณารายละเอียดโครงการว่าเข้าหลักเกณฑ์และมีความเหมาะสมมีประโยชน์จริงหรือไม่

เมื่อศาลถามว่า โครงการนี้มีมูลค่า 6,800 ล้านบาท โดยช่วงแรก คชก.จ่ายเงิน 1,440 ล้านบาท และที่เหลืออีก 5,360 ล้านบาท โดยให้กู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทราบหรือไม่ว่าเมื่อนำเงิน คชก.ไปจัดซื้อกล้ายางแล้วจะได้รับเงินคืนได้อย่างไร และส่วนที่กู้ ธ.ก.ส.นั้นมีวิธีการอย่างไร

นายสมคิดตอบว่า เมื่อมีการตั้งโครงการครั้งแรกเสนอระยะเวลา 15 ปี ซึ่งพยานและ คชก. เห็นว่าเป็นระยะเวลาที่นานเกินไป จึงขอให้ลดระยะเวลาลงมาให้สอดคล้องกับระเบียบของ คชก.ที่ไม่ให้เกิน 10 ปี โดยเมื่อเกษตรกรปลูกต้นกล้าแล้วจะสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ในปีที่ 6 ซึ่งจะเริ่มมีการทยอยจ่ายเงินคืนให้กับ คชก. นอกจากนี้ สกย.และกระทรวงเกษตรที่เสนอโครงการระบุว่าสามารถนำเงินในส่วนของ สกย. ส่วนหนึ่งจ่ายคืนได้ ส่วนวิธีการที่จะกู้จาก ธกส.นั้นไม่ทราบเป็นอย่างไร เพราะ คชก.มีหน้าที่พิจารณารายละเอียดเนื้อหา แต่คาดว่ากระทรวงเกษตรต้องดำเนินการเมื่อ ธ.ก.ส.อนุมัติแล้ว จึงจะแจ้งให้เกษตรกรมาขอกู้ต่อไป อย่างไรก็ตาม ตนเคยพูดคุยกับ ธ.ก.ส.ขอให้คิดอัตราดอกเบี้ยในราคาถูกเพราะทราบว่า ธ.ก.ส.เองก็มีปัญหาที่จะต้องกู้เงินทุนจากแหล่งอื่น

เมื่อศาลถามว่าตามหลักฐานบันทึกการประชุมมีเจ้าหน้าที่ทักท้วงเรื่องการใช้เงิน คชก.จัดซื้อกล้ายางเป็นการผิดระเบียบ เพราะเป็นการขยายพื้นที่ปลูกยางพาราใหม่ ไม่ได้เป็นการปลูกทดแทน นายสมคิดตอบว่า ไม่ได้เป็นการทักท้วง แต่เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็น ซึ่งถ้าศาลพิจารณารายละเอียดจากเอกสารการถอดเทปบันทึกการประชุมจะทราบเนื้อหาในการประชุมทั้งหมดและจะทราบว่าในการพิจารณาอนุมัติไม่มีผู้ใดคัดค้านหรือตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้เงิน คชก. และถ้ามีการทำผิดระเบียบเชื่อว่า ข้าราชการที่เป็น คชก.คนอื่นๆ คงไม่เห็นด้วย แม้โครงการนี้จะได้รับการอนุมัติจาก ครม.ก็ตาม

ภายหลังศาลไต่สวนนายสมคิดแล้ว ส่วนนายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ประธานกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรแห่งประเทศไทย จำเลยที่ 13 ที่ทนายจำเลยเตรียมนำเข้าไต่สวนนั้น ปรากฏว่าเมื่อนายสมคิด เบิกความครบคลุมทุกประเด็นแล้ว ทนายความจำเลยได้ยื่นคำให้การของนายอุบลศักดิ์เป็นลายลักษณ์อักษรต่อศาล โดยศาลนัดไต่สวนพยานจำเลยครั้งต่อไปในวันที่ 22 พ.ค. เวลา 09.30 น.
กระทรวงเกษตรประเมินผลกล้ายางฉาว ส่งต่ำเป้า-อมโรค-โตตกเกณฑ์
กระทรวงเกษตรประเมินผลกล้ายางฉาว ส่งต่ำเป้า-อมโรค-โตตกเกณฑ์
ASTVผู้จัดการรายวัน – กระทรวงเกษตรฯ ประเมินโครงการกล้ายางล้านไร่ผลงานสุดฉาวสมัยรัฐบาลทักษิณ ทำรัฐเสียหายเหตุบริษัทคู่สัญญาขาดประสบการณ์ทำให้ไม่บรรลุผลตามเป้าหมาย เผยพื้นที่ปลูกต่ำเป้ากว่า 2 แสนไร่ สูญรายได้จากประมาณการปีละหลายสิบล้าน กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางชี้อัตราเติบโตต้นยางผ่านเกณฑ์เพียง 68% อีกกว่า 30% ตายในปีแรกต้องปลูกซ่อมใหม่ ซ้ำอมโรค เกษตรกรเข้าร่วมโครงการเห็นควรแก้ไขปรับปรุงการจัดหากล้ายางให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นทั้งระยะเวลา จำนวน และคุณภาพของกล้ายางที่ส่งมอบ สศก.เห็นควรให้ซีพีชดเชยค่าใช้จ่ายให้เกษตรกรที่ได้รับต้นยางชำถุงล่าช้า รอวัดผล “เผาจริง” อีกทีตอนเปิดกรีดจะรุ่งริ่งหรือร่ำรวย
กำลังโหลดความคิดเห็น