“ดีเอสไอ” ส่งสำนวนคดีแชร์สมัครงาน-แชร์ข้าวสารและกิฟต์เซต ให้อัยการพิจารณาสั่งฟ้อง พร้อมเตือนบริษัทฯหรือบุคคลที่กำลังประกอบธุรกิจอันอาจเข้าข่ายเป็นความผิด ให้ยุติกระทำการ ก่อนดำเนินการขั้นเด็ดขาดทั้งคดีอาญา คดีฟอกเงิน และคดีล้มละลาย
วันนี้ (11 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ได้มอบหมายให้ พ.ต.ท.ภพกานต์ อปานนท์ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ระดับชำนาญการ นำสำนวนการสอบสวนคดีแชร์ลูกโซ่ (แชร์สมัครงาน) ของบริษัท ซีวันนูเทรี้ยน จำกัด จำนวน 7 แฟ้ม เอกสารจำนวนประมาณ 1,800 แผ่น ส่งมอบให้แก่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
พฤติการณ์แห่งคดี สืบเนื่องจากคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ สำนักคดีอาญาพิเศษ ได้สนธิกำลังร่วมกับพนักงานเจ้าหน้าที่จากกลุ่มป้องปรามการเงินนอกระบบ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. เข้าตรวจค้นบริษัท ซีวัน นูเทรี้ยน จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 58/45-46 หมู่ 6 ตำบลเสาธงหิน อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2550 โดยบริษัทดังกล่าวมีพฤติการณ์ในการดำเนินธุรกิจอันมีลักษณะเป็นแชร์ลูกโซ่ และฉ้อโกงประชาชน โดยมีพฤติการณ์หลอกลวงชักชวนให้ประชาชนมาสมัครงาน และเข้าเป็นสมาชิกรวมทั้งลงทุนทำธุรกิจโดยกล่าวอ้างว่าได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจขายตรงจาก สคบ. เมื่อประชาชนหลงเชื่อมาสมัครเป็นสมาชิกจะต้องเสียค่าสมัคร 200 บาท และฟังบรรยายแผนการสมัครเป็นสมาชิก กับต้องลงทุนในการทำธุรกิจเพื่อปิดรหัสอีก 2,700 บาท รวมปิดรหัส 1 รหัส ต้องลงทุน 2,900 บาท และหากหาสมาชิกมาลงทุนเพิ่มได้อีก 2 รหัส เป็นเงิน 5,800 บาท ก็จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนรหัสละ 250 บาท รวม 2 รหัส เป็นเงิน 500 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 8.62 ต่อ 1 ครั้ง โดยจะมีการจ่ายค่าคอมมิชชันทุกวันที่ 10,20 และ 30 ของแต่ละเดือน หรือทุก 10 วัน ซึ่งคิดเป็นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 8.62 ต่อ 10 วัน หรือร้อยละ 25.86 ต่อเดือน หรือร้อยละ 310.32 ต่อปี ซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ มีประชาชนหลงเชื่อไปสมัครเป็นสมาชิกบริษัทฯ ประมาณ 30,000 กว่าคน
จากการสอบสวนปากคำผู้เสียหายซึ่งส่วนใหญ่กระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ทำให้ยากต่อการติดตามตัวผู้เสียหายมาให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ จากการรวบรวมพยานหลักฐานพบว่า คดีนี้มีบุคคลเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดจำนวน 12 คน จึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอออกหมายจับผู้ต้องหาทั้ง 12 คน และสามารถจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับได้จำนวน 3 คน
นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมายังได้มอบหมายให้ พ.ต.ท.ปนัย เปสลาพันธ์ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ระดับชำนาญการ นำสำนวนการสอบสวนคดีแชร์ลูกโซ่ (แชร์ข้าวสารและกิ๊ฟเซท) ของบริษัท สยามคู่ฟ้า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จำนวน 7 แฟ้ม มีเอกสารประมาณ 2,700 แผ่น ส่งมอบให้กับพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
สำหรับพฤติการณ์แห่งของบริษัท สยามคู่ฟ้า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ถือว่าเป็นคดีแชร์ลูกโซ่ (แชร์ข้าวสาร) ที่เข้าข่ายเป็นคดีพิเศษอีกคดีหนึ่ง โดยมีข้อเท็จจริงและพฤติการณ์การกระทำความผิดที่คล้ายคลึงกับแชร์ข้าวสารที่ DSI ได้จับกุมและสั่งฟ้องไปแล้วจำนวน 5 คดี มีผู้ต้องหารวมกันถึง 71 คน กล่าวคือ มีการโฆษณาต่อประชาชนว่าประกอบธุรกิจขายข้าวสารและกิฟต์เซต และชักชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมลงทุนหน่วยละ 800 บาท เมื่อครบ 20 วันแรกภายหลังที่ลงทุนไปแล้วจะได้รัยปันผลตอบแทนเป็นเงิน 500 บาท ต่อมาอีก 20 วัน จะได้รับผลตอบแทนอีก 500 บาท และต่อมาอีก 20 วันสุดท้ายจะได้รับเงินต้นคืน 800 บาท โดยสรุปแล้วหากลงทุนซื้อข้าวสาร 1 หน่วย ราคา 800 บาท (ไม่ได้รับสินค้าไป) ภายในระยะเวลา 60 วัน จะได้รับเงินปันผลตอบแทนรวมกับเงินต้นเป็นเงิน 1,800 ซึ่งคำนวณเป็นผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราร้อยละ 225 ต่อ 60 วัน หรือร้อยละ 1,365.75 ต่อปี ทำให้มีประชาชนหลงเชื่อเข้ารับฟังการบรรยายแผนการตลาดที่ห้องประชุมของบริษัทฯ และหลงเชื่อร่วมลงทุนเป็นจำนวน 94 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมทั้งสิ้น 8,183,590 บาท ต่อมาเมื่อถึงกำหนดที่จะได้รับค่าตอบแทน ปรากฏว่าบริษัทฯ ไม่ยอมจ่ายค่าตอบแทนใดๆ ให้แก่ผู้เสียหาย และยกเลิกการจ่ายเงินปันผลแบบเก่า แต่ได้ชักชวนผู้เสียหายให้โอนหุ้นข้าวสารมาเป็นหุ้นเรือสำราญ โดยบริษัทฯ อ้างว่าได้นำเงินที่สมาชิกระดมทุนกันมาไปซื้อเรือสำราญในราคา 180 ล้านบาท โดยวางมัดจำค่าเรือไว้แล้ว 35 ล้านบาท หากเรือเสร็จจะนำเรือไปให้โรงแรมที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เช่าวันละ 2 ล้านบาท เพื่อนำเงินค่าเช่ามาแบ่งปันเพื่อนสมาชิกด้วยกัน โดยกำหนดเป็นหุ้นๆ ละ 100 บาท หากซื้อ 10 หุ้น เป็นเงิน 1,000 บาท ภายในระยะเวลา 14 รอบ/30 วัน บริษัทฯ จะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนรวมเงินต้นทั้งหมดเป็นเงิน 2,100 บาท คำนวณเป็นผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราร้อยละ 180 ต่อปี ซึ่งการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนดังกล่าวข้างต้นสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ ซึ่งอยู่ในอัตราร้อยละ 4.50 ต่อปี
ต่อมาบริษัทฯ ได้ปิดกิจการและผู้บริหารของบริษัทฯ ได้หลบหนีไป บริษัท สยามคู่ฟ้า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นบริษัทเดียวกับบริษัท สยามเน็ตเวิร์ค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้ในครั้งแรก และยังไม่ได้จดทะเบียนการค้า แต่ต่อมาได้จดทะเบียนการค้าเป็นบริษัท สยามคู่ฟ้า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด พฤติการณ์ของผู้บริหารบริษัทดังกล่าว เข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4, 5, 12, 15 และร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343, 83
อย่างไรก็ตาม พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ กล่าวว่า DSI ใคร่ขอเตือนบริษัท หรือบุคคลที่กำลังประกอบธุรกิจอันอาจเข้าข่ายเป็นความผิดเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน หรือแชร์ลูกโซ่ ขอจงได้ยุติการกระทำที่เป็นการหลอกลวงฉ้อโกงประชาชนนั้นเสียก่อนที่ DSI จะเข้าดำเนินการขั้นเด็ดขาดทั้งคดีอาญา คดีฟอกเงิน และคดีล้มละลาย และจะดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำตนเป็นแม่ทีมหรือแม่ข่าย รวมทั้งวิทยากรที่บรรยายแผนการตลาดให้กับประชาชนที่ถูกหลอกลวงด้วย