ดีเอสไอส่งสำนวนคดีคดีแชร์ลูกโซ่ ซื้อขายน้ำมันล่วงหน้า ให้อัยการพิจารณาสั่งฟ้อง พบมีผู้เสียหายจำนวนกว่า 100 คน หลงเชื่อนำเงินไปร่วมลงทุน มูลค่าความเสียหายกว่า 200 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าเอาผิดฐานฟอกเงิน ดำเนินคดีล้มละลาย
วันนี้ (1 เม.ย.) เวลา 14.00 น.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ ผู้อำนวยการสำนักคดีอาญาพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ได้มอบหมายให้ พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ อินทรขาว ผู้อำนวยการส่วนคดีอาญาพิเศษ 3 สำนักคดีอาญาพิเศษ นายทวีวัฒน์ สุรสิทธิ์ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ระดับชำนาญการพิเศษ และ ร.ต.อ.ชยรพ พานิชอัตรา พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ระดับชำนาญการ นำสำนวนการสอบสวนคดีแชร์ลูกโซ่ (แชร์ซื้อขายน้ำมันล่วงหน้า) ของบริษัท แฟคซิลิตี้ เอวิเอชั่น ซัพพอร์ท (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เอฟ เอ เอส ที จำกัด, และบริษัท ซี เอ็น อี รีสอร์ส จำกัด จำนวน 3 กล่อง รวม 12 แฟ้ม ไปส่งพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
สำหรับพฤติการณ์แห่งคดี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2550 สำนักงาน ก.ล.ต. มีหนังสือแจ้งให้กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ ปศท. ให้ดำเนินคดีต่อบริษัท แฟคซิลิตี้ เอวิเอชั่น ซัพพอร์ท (ประเทศไทย) จำกัด โดยนายปฐม ศิริสิน กับพวกร่วมกันกระทำความผิดในการประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ตามพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ.2546 และร่วมกันฉ้อโกงประชาชน โดยร่วมกันประกอบกิจการและแสดงตนให้ผู้เสียหายและประชาชนทั่วไปหลงเชื่อว่าเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับบุคคลอื่นในทางการค้าปกติ โดยไม่ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ.2546 แต่ ปศท. เห็นว่า การกระทำของบริษัทฯ เข้าข่ายเป็นกระทำความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 และจำนวนเงินที่ได้มีการกู้ยืมรวมกันตั้งแต่บาทขึ้นไป ซึ่งอยู่ในอำนาจของกรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงส่งเรื่องมาให้ DSI ดำเนินการสืบสวนสอบสวนตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 DSI ได้รับไว้เป็นคดีพิเศษที่ 79/2551 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2551
พนักงานสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนเรื่อยมาจนพบข้อเท็จจริงว่า นายปฐม ศิริสิน ผู้ต้องหาที่ 4 ได้ร่วมกับ บริษัท แฟคซิลิตี้ เอวิเอชั่น ซัพพอร์ท (ประเทศไทย) จำกัด โดยนางกัญญา ยุชมภู ผู้ต้องหาที่ 1 บริษัท เอฟ เอ เอส ที จำกัด โดยนางกัญญา ยุชมภู ผู้ต้องหาที่ 2 บริษัท ซี เอ็น อี รีซอร์ส จำกัด โดยนางกัญญา ยุชมภู ผู้ต้องหาที่ 3 นางกัญญา ยุชมภู ผู้ต้องหาที่ 5 นางสาวพินิจนันท์ หมื่นโฮ้ง ผู้ต้องหาที่ 6 นายณรงค์ฤทธิ์ เขียวหวาน ผู้ต้องหาที่ 7 นายวีระศักดิ์ อัศวฤทธิกุล ผู้ต้องหาที่ 8 นายพรชัย ไวศยกูลกิจ ผู้ต้องหาที่ 9 นายญาณวรุตต์ หรืออนุศักดิ์ ทองอุบล ผู้ต้องหาที่ 10 นางสาวฤทัยรัตน์ หรือพิชญารัศมิ์ คงชัยยุทธ ผู้ต้องหาที่ 11 นายแสงสูรย์ แก้วเสนีย์ ผู้ต้องหาที่ 12 นางปราณี ศิริสิน ผู้ต้องหาที่ 13 นางสาวเยาวลักษณ์ จำลอง ผู้ต้องหาที่ 14 นายสัมพันธุ์ เน้ยโอชา ผู้ต้องหาที่ 15 และนายแสงชัย แก้วเสนีย์ ผู้ต้องหาที่ 16 ได้ร่วมกันกระทำการโฆษณาชวนเชื่อให้ปรากฏแก่ประชาชนตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป และปกปิดข้อเท็จจริง หรือแสดงข้อความอันเป็นเท็จเพื่อให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่า ผู้ต้องหาที่ 1-3 เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจเป็นตัวแทนในการซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้าในต่างประเทศ มีประสบการณ์ และความชำนาญในการดำเนินธุรกิจดังกล่าว หากร่วมลงทุนด้วยจะสามารถทำกำไรได้มาก
นอกจากนั้น ผู้ต้องหาหลายคนยังได้กระทำการปกปิดชื่อ-สกุลที่แท้จริงของตนเองในการติดต่อชักชวนผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก ให้นำเงินไปร่วมลงทุนในสัญญาซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้าในต่างประเทศ ด้วยการเสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ซึ่งคำนวณได้สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ มีผู้เสียหายจำนวนกว่า 100 คน หลงเชื่อนำเงินไปร่วมลงทุน แต่ที่เข้าพบพนักงานสอบสวนคดีพิเศษมีเพียง 56 คน เท่านั้น คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 95,976,340 ล้านบาท (จากการตรวจสอบเชื่อว่า คดีนี้มีมูลค่าความเสียหายไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท) การกระทำของผู้ต้องหาที่ 1-16 เข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4, 5,12 (มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 5-10 ปี และปรับตั้งแต่ 500,000-1,000,000 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาท ตลอดเวลาที่มีการฝ่าฝืนอยู่) และฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343, 83 (มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 1,000-14,000 บาท) อีกบทหนึ่ง
หลังจากส่งสำนวนให้พนักงานอัยการในวันนี้แล้ว พนักงานสอบสวนคดีพิเศษจะดำเนินคดีอาญาฐานฟอกเงินกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดทุกคน พร้อมกับส่งเรื่องให้กลุ่มป้องปรามการเงินนอกระบบ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง ดำเนินคดีล้มละลาย ตามมาตรา 8 และมาตรา 10 แห่งพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 อีกด้วย ฉะนั้น ผู้เสียหายที่ยังมิได้เข้าพบพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ หลังจากวันนี้เป็นต้นไป ขอให้ท่านเร่งรีบติดต่อกับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษหรือพนักงานเจ้าหน้าที่กลุ่มป้องปรามการเงินนอกระบบ เพื่อส่งเอกสารหลักฐานที่ท่านได้รับความเสียหายให้กับพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อสิทธิประโยชน์ของท่านเองในการขอเฉลี่ยทรัพย์คืนภายหลังที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว มิฉะนั้น ท่านอาจจะมิได้รับการชดใช้ความเสียหายในครั้งนี้แต่ประการใด
สรุปสถานการณ์แชร์ลูกโซ่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน DSI ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดไปแล้วทั้งสิ้น จำนวน 22 คดี ส่งสำนวนให้พนักงานอัยการแล้วประมาณ 18 คดี อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาลประมาณ 10 คดี ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว จำนวน 3 คดี มีผู้เสียหายที่เข้าพบพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ จำนวน 6,470 คน (จากการประเมินเชื่อว่ามีผู้เสียหายไม่น้อยกว่า 100,000 คน) รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 1,500 ล้านบาท (จากการประเมินเชื่อว่ามีมูลค่าความเสียหายไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาท) มีผู้ต้องหาที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ออกหมายจับ จำนวน 164 คน จับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับได้แล้วไม่น้อยกว่า 70 คน