xs
xsm
sm
md
lg

ดีเอสไอขีดเส้น “ปูแดง” ส่งหลักฐานพิสูจน์ผุดผ่อง 17 มี.ค.

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ดีเอสไอให้โอกาสธุรกิจขายตรง "ปูแดง ไคโตซาน" ส่งหลักฐานจากบริษัท เบสท์ 59 พิสูจน์ความบริสุทธิ์ ภายใน 17 มี.ค. ชี้ ดีเอสไอยังคงเชื่อ “เบสท์ 59” ไม่ได้ทำธุรกิจให้ผลประโยชน์ตอบแทนกับผู้ร่วมลงทุนได้จริงตามโฆษณาชวนเชื่อ ยันไม่มีธุรกิจใดสามารถสร้างผลกำไร หรือผลประโยชน์ตอบแทนให้ได้มากตามที่อ้าง

วันนี้ (11 มี.ค.) พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยความคืบหน้าคดีบุกตรวจค้นผลิตภัณฑ์ปูแดง ไคโตซาน ซึ่งเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรอเอกสารหลักฐานจากบริษัท เบสท์ 59 จำกัด ซึ่งก่อนหน้านี้ดีเอสไอแจ้งให้นายสมปอง แซ่ตั้ง ประธานบริษัท เบสท์ 59 จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์ปูแดง ไคโตซาน ส่งเอกสารหลักฐานให้พนักงานสอบสวนดีเอสไอ ครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 2552

อย่างไรก็ตาม ดีเอสไอนำหมายของศาลอาญาเข้าตรวจค้นบริษัทฯรวม 4 จุด เมื่อวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่าได้รับการขัดขวางจากสมาชิกของบริษัทมิให้เข้าตรวจสอบเอกสารเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจขายตรง “ปูแดง ไคโตซาน” ถือเป็นการขัดขวางเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 และเมื่อนายสมปองฯ กับพวกรวม 4 ราย เข้ามอบตัว ดีเอสไอก็ได้ให้โอกาสในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ โดยให้เวลาส่งเอกสารหลักฐานในการประกอบธุรกิจ แต่จนบัดนี้นายสมปองฯ ก็ยังไม่สามารถส่งมอบเอกสารหลักฐานให้กับพนักงานสอบสวน จึงได้ออกหมายเรียกให้มอบหลักฐานจากบริษัท เบสท์ 59 จำกัด อีกครั้ง โดยกำหนดให้นายสมปองฯ ส่งเอกสารหลักฐาน ให้เสร็จสิ้น ภายในวันที่ 17 มี.ค.นี้ และจะไม่ยอมให้เลื่อนการส่งอีกไม่ว่าในกรณีใดๆ ทั้งสิ้น หากไม่สามารถนำเอกสารหลักฐานมามอบให้กับคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ หรือส่งเอกสาร แต่ไม่ปรากฏหลักฐานพอที่จะเชื่อได้ว่า เป็นกิจการที่ให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำไปจ่ายให้แก่สมาชิกทั้งหลายได้ก็จะมีความผิดตาม มาตรา 5 ( 2 ) แห่ง พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527

ทั้งนี้ คดีนี้สืบเนื่องจากบริษัท เบสท์ 59 จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์การเกษตร ยี่ห้อปูแดง ได้มีการโฆษณา หรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนทั่วไป ผ่านทางสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ทางหน้าเว็บไซต์ของบริษัทฯ ชื่อ www.poodangthailand.com และ www.poodangbest59.com ทางทีวีดาวเทียมช่อง MVTV 5 อีกทั้งติดป้ายประกาศตามสถานที่ต่างๆ เพื่อชักชวนให้ประชาชนสมัครเข้าเป็นสมาชิก โดยกำหนดให้มีการลงทุนขั้นต่ำเป็นเงินจำนวน 3,800 บาท เป็นค่าสมัครสมาชิก 300 บาท และบังคับให้ซื้อสินค้าเป็นเงิน 3,500 บาท

อีกทั้ง ได้แนะนำสมาชิกด้วยว่า รายได้หลักจะมาจากการสร้างเครือข่ายขยายองค์กร ทั้งนี้อยู่ที่สมาชิกว่าจะเลือกสมัครตามแผนการตลาดแบบใด เช่น หากเลือกสมัครแบบ 2 สาย จะมีรายได้สูงสุดต่อวันต่อรอบคือ 8 คู่ เป็นเงิน 4,400 บาทต่อวันต่อรอบ จะได้รายได้ 132,000 บาทต่อเดือน แต่หากสร้างเครือข่ายแบบเปิด 4 รหัส จะได้รายได้ 17,600 บาทต่อวันต่อรอบ (4,400 x 4 = 17,600 บาท) เดือนหนึ่งจะได้รายได้ 528,000 บาท และหากสมัครแบบ 3 สาย จะได้รายได้สูงสุดต่อวันต่อรอบ คือ 12 คู่ เป็นเงิน 8,400 บาท เดือนหนึ่งจะได้รายได้ 252,000บาท แต่หากเปิดธุรกิจสร้างเครือข่ายแบบ 4 รหัส จะได้รายได้ 33,600 บาทต่อวันต่อรอบ เดือนหนึ่งจะได้รายได้มากถึง 1,008,000 บาท โดยที่ไม่ต้องรักษายอดขาย และจะจ่ายเงินทุกวันที่ 10 ของเดือนถัดไป

ดังนั้น พนักงานสอบสวนคดีพิเศษเชื่อว่า บริษัท เบสท์ 59 จำกัด มิได้ประกอบธุรกิจใดที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนให้กับผู้ร่วมลงทุนในอัตราดังกล่าวข้างต้นได้ แต่เป็นการนำเงินจากสมาชิกรายนั้นหรือรายอื่นมาจ่ายหมุนเวียนให้แก่สมาชิก และขอยืนยันว่าไม่มีธุรกิจใดที่จะสามารถสร้างผลกำไรหรือผลประโยชน์ตอบแทนให้ได้มากมายเช่นนี้ จึงต้องอาศัยอำนาจตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 ที่บัญญัติให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ สั่งให้บุคคลใดที่พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่การตรวจสอบมาให้ถ้อยคำ สั่งให้รายงานสภาพกิจการของตนตลอดจนสินทรัพย์และหนี้สินทั้งหมดของบริษัทฯ รวมทั้งนำบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานอื่นอันเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของบริษัทฯ ไปตรวจสอบดังกล่าว หากไม่สามารถนำเอกสารหลักฐานไปมอบให้กับคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ หรือส่งเอกสาร แต่ไม่ปรากฏหลักฐานพอที่จะเชื่อได้ว่า เป็นกิจการที่ให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำไปจ่ายให้แก่สมาชิกทั้งหลายได้ ก็จะมีความผิดตามมาตรา 5 (2) แห่งพ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 ซึ่งคณะพนักงานสอบสวนดีเอสไอ เตรียมออกหมายเรียก ตัวแทนสมาชิกหรือ “แม่ทีมปูแดง” ไปให้ปากคำที่ดีเอสไอภายใน 1-2 สัปดาห์นี้

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบของกรมวิชาการเกษตร พบว่าสารแคลเซียม-โบรอน ที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและผงชูรสอินทรีย์ ตราปูแดง จัดว่าเป็นปุ๋ยอินทรีย์ แต่เนื่องจากบริษัท เบสท์ 59 จำกัด ไม่มีใบอนุญาตขายปุ๋ยอินทรีย์ และบริษัท ปูแดงไคโตซาน จำกัด ไม่มีใบอนุญาตผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อการค้า กรมวิชาการเกษตรจึงได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษขอให้ดำเนินคดีต่อบริษัท เบสท์ 59 จำกัด และบริษัท ปูแดงไคโตซาน จำกัด ในความผิดฐานผลิตและขายปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งดีเอสไอได้รับคำร้องทุกข์กล่าวโทษไว้เป็นความผิดต่อเนื่องกันกับความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 แล้ว จึงขอแจ้งเตือนสมาชิกตามศูนย์จำหน่ายปูแดงที่ตั้งอยู่ทั่วประเทศว่าการขายแคลเซียม-โบรอน เครื่องหมายการค้าตราปูแดง เบสท์ 59 และผงชูรสอินทรีย์ตราปูแดง โดยไม่มีใบอนุญาตเป็นความผิดตามกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3 ผู้บริหาร “ปูแดง ไคโตซาน” มอบตัวสู้คดีแชร์ลูกโซ่
ดีเอสไอบุก4 จุดค้น"ปูแดง ไคโตซาน"ระดมทุนแชร์ค้าปุ๋ย!
ภาพในวันที่พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ นำเจ้าหน้าที่บุกตรวจค้นบริษัท เบสท์ 59 จำกัด
นายสมปอง แซ่ตั้ง ประธานกรรมการ บริษัทเบสท์ 59 จำกัด
พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ
กำลังโหลดความคิดเห็น