ศาลเลื่อนสั่งคดี กก.ผจก.แคนน่อน แปซิฟิค “หลานชายวิชา มหาคุณ” กับพวกเลี่ยงภาษีนำเข้าไวน์ เหตุรอสอบสวนเพิ่มเติม นัดสั่งคดีอีกครั้ง 29 ก.ย.นี้ สิบโมง ขณะเดียวกัน ศาลรับฟ้องคดีแชร์ลูกโซ่ “กองทุนต่างชาติ” นัดสอบพยาน 29 ก.ย. เก้าโมงเช้า
วันนี้ (25 ส.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 นัดสั่งคดีที่บริษัท แคนน่อน แปซิฟิค จำกัด และ นายเอกชัย มหาคุณ กรรมการผู้จัดการบริษัท ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานนายวิชา มหาคุณ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จำกัด ตกเป็นผู้ต้องหาคดีกระทำผิด พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 และ 99 ซึ่งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มีความเห็นสมควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสอง ข้อหาสำแดงเท็จเพื่อหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากร นำเข้าไวน์จากต่างประเทศ จำนวน 312,214,873 บาท ตั้งแต่ปี 2546-2549 รวม 84 ครั้ง โดยสำแดงภาษีต่ำกว่าความเป็นจริง
โดย นายรุจ เขื่อนสุวรรณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 เปิดเผยว่า วันนี้อัยการยังไม่สามารถมีความเห็นสั่งคดีได้ เนื่องจากพิจารณาสำนวนการสอบสวนแล้ว อัยการสั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมบางประเด็น ดังนั้นจึงนัดผู้ต้องหาฟังคำสั่งอีกครั้งในวันที่ 29 ก.ย.นี้ เวลา 10.00 น.
ทั้งนี้ นายรุจ ซึ่งรับผิดชอบสำนวนแชร์ลูกโซ่กองทุนต่างชาติ ยังเปิดเผยด้วยว่า อัยการ ได้มีความเห็นสั่งฟ้อง น.ส.จุฬาพร ฤทธาภัย ผู้ต้องหาตามสำนวนพยานหลักฐานที่ดีเอสไอ ส่งมาให้อัยการเมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ระบุได้ว่ามีการแอบอ้างว่าได้รับเงินจาก “เงินกองทุนเพื่อชนกลุ่มน้อย” ที่เป็นกองทุนจากต่างประเทศมาลงทุนแล้วหลอกลวงให้ประชาชนมาร่วมลงทุน ไปแล้วและได้นำตัวผู้ต้องหาไปยื่นฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลอาญา ในความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันฉ้อโกงประชาชน เมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยศาลอาญาประทับรับคำฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำ อ.3073/2551 ซึ่งจะนัดตรวจสอบพยานหลักฐานในวันที่ 29 ก.ย.นี้ เวลา 09.00 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคำฟ้องอัยการคดีดังกล่าว สรุปว่า ระหว่างต้นเดือน พ.ค.48 ถึงปลายเดือน ม.ค.51 จำเลยกับนายเอกรินทร คำศรี (ผู้ต้องหาร่วม ซึ่งเสียชีวิตในระหว่างถูกควบคุมตัวที่เรือนจำจังหวัดราชบุรี) ได้สมคบร่วมกันหลอกลวงประชาชน โดยวิธีการให้มาร่วมลงทุน ผู้ร่วมลงทุนจะต้องนำเงินมามอบให้จำเลย เพื่อให้จำเลยกับพวกนำเงินไปแปลงเป็นตราสารเพื่อให้ธนาคารออกตราสาร การโฆษณาชักชวนประชาชนของจำเลยเป็นความเท็จ ความจริงแล้วจำเลยมิได้ประกอบกิจการให้ได้รับผลตอบแทนคืนให้แก่ประชาชน การกระทำของจำเลยเป็นการฉ้อโกงประชาชนและเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน รวม 46 กรรม เหตุเกิดที่แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และ 343