“ดีเอสไอ” ขอออกหมายจับผู้ต้องหาคดีฉ้อโกงหลอกลวงต้มตุ๋นประชาชนลงทุนเก็งกำไรแชร์น้ำมันเพิ่ม เตือนผู้ประกอบธุรกิจเข่าข่ายแชร์ลูกโซ่ให้เลิกกิจการทันที หลังศาลตัดสินจำคุก 20 ปี เจ้าของบริษัทแชร์ยางพารา ปรับอีกกว่า 100 ล้าน
วันนี้ (27 ก.พ.) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ ผบ.สำนักคดีอาญาพิเศษ เปิดเผยว่าพนักงานสอบสวนคดีแชร์น้ำมัน ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา เพื่อขอให้ศาลออกหมายจับ นายแสงสูรย์ แก้วเสนีย์ ร่วมเป็นผู้ต้องหาในคดีฉ้อโกงประชาชนจากการหลอกลวงให้นำเงินมาร่วมลงทุนเก็งกำไรราคาน้ำมันในตลาดโลกกับบริษัท แฟคซิลิตี้ เอวิเอชั่น ซัพพอร์ท (ประเทศไทย) จำกัด หรือ F.A.S.T. เนื่องจากพยานในคดีกว่า 40 คน ยืนยันว่านายแสงสูรย์มีพฤติการณ์แสดงตนเป็นผู้จัดการบริษัท F.A.S.T. และเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจในการดำเนินกิจการแทนบริษัททั้งหมด เช่น อำนาจในการรับพนักงานเข้าทำงาน และเลิกจ้างพนักงานที่ไม่สามารถหา หรือชักชวนลูกค้าให้มาร่วมลงทุนกับทางบริษัท โดยนายแสงสูรย์มีอำนาจสั่งการรองลงมาจากนายปฐม เสริมสิน ผู้ต้องหาตามหมายจับอีกราย
พ.อ.ปิยะวัฒก์ กล่าวอีกว่า แนวทางการสืบสวนพบว่า นายแสงสูรย์จะทำหน้าที่ประชุมพนักงานของบริษัททุกวัน รวมทั้งการประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ให้กับเจ้าหน้าที่ของบริษัท ซี เอ็น อี รีสอร์ซ จำกัด ในเวลาประมาณ 11.00 น. รวมทั้งมอบนโยบายและให้ข่าวสารเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของบริษัทไปสรุปข้อมูลให้กับลูกค้าตลอดจนชักจูง โน้มน้าวให้พนักงานบริษัทหาลูกค้าใหม่ และชักจูงลูกค้าเดิมมาร่วมลงทุนกับทางบริษัทเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้สำนักคดีอาญาพิเศษได้ส่งสำเนาหมายจับให้ส่วนสืบสวนสะกดรอยของดีเอสไอ ดำเนินการติดตามจับกุมตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
พ.อ.ปิยะวัฒก์ กล่าวถึงความคืบหน้าของคดีแชร์น้ำมันว่า ขณะนี้ได้มีการสอบปากคำพยานไปแล้วจำนวนประมาณ 100 ปาก มีผู้เสียหายเข้าพบพนักงานสอบสวนคดีพิเศษแล้วกว่า 50 คน โดยคดีนี้มีมูลค่าความเสียหายประมาณ 100 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถสรุปสำนวนส่งพนักงานอัยการได้เสร็จสิ้นภายในเดือนมีนาคมนี้ และขอให้ประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากคดีแชร์น้ำมัน เร่งเข้าพบพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อสิทธิประโยชน์ในการร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคืนเงินที่ได้ร่วมลงทุนไป
พ.อ.ปิยะวัฒก์ ยังเปิดเผยถึงการดำเนินคดีฉ้อโกงประชาชนหรือแชร์ลูกโซ่ต่างๆว่า กรณีคดีแชร์ยางพารา บริษัท ธานินทร์อนันต์ จำกัด ซึ่งเหตุเกิดในพื้นที่ จ.ขอนแก่นนั้น ศาลตัดสินลงโทษ นายอมรเอก เพ็ชรลือชัย กระทำผิดจำนวน 711 กรรม เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 แต่จำเลยให้การรับสารภาพ จึงลดโทษกึ่งหนึ่งโดยให้บริษัท ธานินทร์อนันต์ จำกัด และนายอมรเอก ร่วมกันคืนเงินแก่ผู้ร่วมลงทุนพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี และให้จ่ายค่าปรับเป็นเงิน 177,750,000 บาท และลงโทษจำคุกนายอมรเอก 20 ปี ดังนั้นจึงขอเตือนผู้ที่ประกอบธุรกิจอันเข้าข่ายเป็นแชร์ลูกโซ่ ให้หยุดประกอบธุรกิจดังกล่าวในทันที เนื่องจากผู้กระทำความผิดจะต้องโทษจำคุกและโทษปรับแล้วยังต้องรับผิดชดใช้เงินคืนให้กับผู้เสียหาย และจะถูกดำเนินคดีอาญาฟอกเงิน รวมทั้งถูกดำเนินคดีล้มละลายอีกส่วนหนึ่งด้วย