xs
xsm
sm
md
lg

ตร.สัมมนากลวง เผยธาตุแท้ล่าชื่อถอด 9 ป.ป.ช.ขย่มรัฐบาล!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

เผยธาตุแท้สมาคมตำรวจ จัดสัมมนาถึงบทบาทหน้าที่ของตำรวจในเหตุการณ์การสลายการชุมนุม 7 ตุลาเลือด สุดท้ายสั่งเกณฑ์ตำรวจลงชื่อถอดถอน 9 ป.ป.ช.ที่จะถอนยวงลูกพี่ใหญ่หลายราย

วันนี้ (19 ม.ค.) เมื่อเวลา 08.00 น. ที่สโมสรตำรวจ (ตร.) พล.ต.อ.วิสุทธิ์ กิตติวัฒน์ อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ (รอง อ.ตร.) นายกสมาคมตำรวจ ได้จัดงานสัมมนาวิชาการในหัวข้อ “องค์กรตามรัฐธรรมนูญกับการทำหน้าที่ของตำรวจ” โดยมี พล.ต.อ.สุพาสน์ จีระพันธุ์ อดีตนายกสมาคมตำรวจ และอดีต ก.ตร. ดร.พนา ทองมีอาคม คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ นายพนม ปีย์เจริญ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทเนเจอร์ไลฟ์ จำกัด พล.ต.อ.สุวรรณ สุวรรณเดโช อดีตตุลาการรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ร่วมอภิปราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่เวลา 08.00 น.ได้มีข้าราชการตำรวจทั่วประเทศ รวมทั้งประชาชนทั่วไป คณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ (กต.ตร.) อาสาสมัครตำรวจบ้าน ทยอยเดินทางเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนมากประมาณ 2,000 คน โดยบางส่วนก็มากันเป็นกลุ่มนั่งรถตู้เข้ามา ทยอยมาลงทะเบียนร่วมฟังการอภิปราย มีทั้งกลุ่มมอเตอร์ไซค์
รับจ้าง กลุ่มเสื้อแดง แน่นห้องประชุมจนที่นั่งด้านในห้องไม่พอต้องออกมายืนด้านนอกห้อง ซึ่งทางทีมงานได้จัดจอโทรทัศน์วงจรปิดไว้ให้ชมจากด้านนอก นอกจากนี้ยังมีพล.ต.อ.สล้าง บุญนาค อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ พล.ต.ท.สถาพร หลาวทอง ผู้ช่วย ผบ.ตร. พล.ต.ท.รชต เย็นทรวง ผบช.ภ.6 เข้าร่วมฟังการอภิปรายในครั้งนี้ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณโต๊ะลงทะเบียนได้มีการเตรียมแบบฟอร์มให้ผู้ที่มาร่วมสัมมนาและต้องการลงชื่อถอดถอน ป.ป.ช.ไว้เพื่อให้กรอกแบบฟอร์ม พร้อมแนบสำเนาบัตรข้าราชการตำรวจ และสำเนาบัตรประชาชน ซึ่งมีผู้รวบรวมเก็บไว้ที่โต๊ะลงทะเบียน

พล.ต.อ.วิสุทธิ์ เปิดเผยก่อนการเริ่มสัมมนาว่า การสัมมนาครั้งนี้สืบเนื่องจากวันที่ 7 ต.ค. 51 ทำให้ตำรวจตกเป็นจำเลยสังคม เป็นแพะทางการเมือง จนตำรวจเสียขวัญกำลังใจในการทำงาน แม้ขณะนี้ประชาชนจะเริ่มเข้าใจตำรวจมากขึ้น แต่การตรวจสอบการทำงานของตำรวจยังคงมีอยู่ ซึ่งทางสมาคมตำรวจได้ติดตามข่าวมาตลอด จึงอยากทราบความรู้สึกของตำรวจทั้งหมด และในวันนี้จึงได้เปิดโอกาสให้นายตำรวจทุกคนได้แสดงความรู้สึก

ส่วนกรณีข่าวการจัดสัมมนาเพื่อที่จะมีการล่ารายชื่อถอดถอนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทั้ง 9 คนนั้น พล.ต.อ.วิสุทธิ์ ยอมรับว่า รู้ว่ามีตำรวจบางคนจัดทำรายชื่อมาให้ในวันนี้ แต่ตนยังไม่เห็น และยังไม่ได้รับรายชื่อดังกล่าว ซึ่งก่อนจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ต้องฟังมติจากการจัดสัมมนาครั้งนี้ ซึ่งหากมีการดำเนินการคนที่นำไปดำเนินการต้องเป็นจุดเป้าหมายที่หลายฝ่ายมอง โดยส่วนตัวมองว่า ถ้าทำให้วงการตำรวจดีขึ้น ตนก็ยินดีเป็นตัวแทนดำเนินการ ซึ่งเชื่อว่า การจัดงานจะไม่กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างตำรวจกับป.ป.ช. เนื่องจากทุกคนมีเหตุผลของตัวเอง คงไม่มีการกระทบกระทั่งกัน

ต่อมาเมื่อเวลา 10.00 น. การสัมมนาดังกล่าวได้เริ่มขึ้น โดยมีการเปิดวิดีโอการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ที่กลุ่มพันธมิตรฯ ทำขึ้นในชื่อ “ตำรวจฆ่าประชาชน” จากนั้นก็เป็นสกู๊ปข่าวเหตุการณ์สลายการชุมชุม เมื่อวันที่ 7 ต.ค.51 ของสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ให้นายตำรวจทั้งหมดได้ชมก่อนที่จะเริ่มสัมมนา

พล.ต.อ.สุพาสน์ อภิปรายเป็นคนแรกว่า การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ เหมาะหรือไม่ที่จะถูกตราหน้าว่า เป็นคนฆ่าประชาชน ทั้งที่ตามกฎหมายเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถทำได้ ก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญปี 2540 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา สามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยโดยไม่ต้องมีหมายจับได้ตำรวจทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย ตอนนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่จับ ให้อัยการและศาลฟ้องทำหน้าที่ให้ความยุติธรรม หากผู้ต้องหาไม่ผิดก็ยกฟ้องปล่อยตัว การปล่อยคนที่ถูกจับเป็นเรื่องธรรมดา

พล.ต.อ.สุพาสน์ กล่าวต่อว่า หลังจากมีรัฐธรรมนูญปี 2540 การจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยต้องมีหมายจับจากศาล มีองค์กรอิสระ ตรวจสอบการทำงานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของข้าราชการตำรวจ การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มถูกตำหนิและถูกโจมตี เมื่อผู้ต้องหาถูกยกฟ้องหรือปล่อยตัว ทั้งที่ก่อนหน้านี้การถูกยกฟ้องหรือปล่อยตัวผู้ต้องหาเป็นเรื่องปกติ ตำรวจถูกโจมตีว่าจับแพะ สังคมก็เริ่มเข้ามาจับผิดการทำงานของตำรวจ

อดีต ก.ตร.ผู้นี้กล่าวต่อว่า องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มี 3 องค์กร คือ ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการสิทธิมนุษยชน และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริจแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่ง ป.ป.ช.มีอำนาจมาก สามารถชี้เป็นชี้ตายเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ ตำรวจก็ต้องทำงานโดยพยายามไม่ให้ตกเป็นจำเลยของสังคม อย่างเหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม การสลายการชุมนุมไม่มีกฎหมายป.วิอาญาเขียนไว้ ตำรวจก็สงสัยว่าจะทำอย่างไรในการสลายการชุมนุม

“กลุ่มผู้ชุมนุมปิดถนน กีดขวางไม่ให้เข้ารัฐสภา เป็นการทำผิดกฎหมาย เมื่อมีคนเยอะตำรวจก็ต้องสลายก่อนแล้วค่อยตามจับ ซึ่งตามกฎหมายอาญาก็ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำได้อย่างกว้างขวาง แต่ ป.ป.ช.หรือสังคมไม่คิดถึงกฎหมายข้อนี้ ซึ่งตำรวจสามารถทำได้ เพราะกลุ่มพันธมิตรฯ เผาบ้านเผาเมือง ก็ใช้อำนาจที่เหมาะสมกับสถานการณ์ และตามกฎหมายป.วิอาญามาตรา 17 ก็ให้อำนาจตำรวจสอบสวนตามกฎหมายอาญาทั้งปวง ให้อำนาจในการแสวงหาข้อเท็จจริง แต่ตำรวจทำงานยากเพราะการเอาใครมาสอบสวน ก็อ้างว่าไปกระทบสิทธิ์ของประชาชน การสอบสวนก็มืดมนจะไปสอบใครก็ละเมิดสิทธิ์ไปหมด” พล.ต.อ.สุพาสน์กล่าว

ด้าน ดร.พนา กล่าวว่า องค์การอิสระเป็นกระแสโลกที่ทั่วโลกมี เราก็ต้องยอมรับ ตำรวจก็ต้องยอมรับ ถึงแม้ตำรวจจะได้รับผลกระทบแต่ก็ต้องมั่นใจ ในการใช้อำนาจตามกฎหมาย ต้องเข้าใจว่าองค์กรอิสระเป็นองค์กรที่มีอำนาจมาก เป็นองค์กรใหม่ที่มีการทดลองใช้อำนาจ อย่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนก็สงสัยเรื่องการรับรองสิทธิแค่ไหน อย่างการปฏิวัติที่ผ่านมาก็ถือเป็นการละเมิดสิทธิทางการเมืองของประชาชน ก็มีเพียงนายจรัญ ภักดีธนากุล คนเดียวที่ออกมาคัดค้านจนถูกถอดถอน แต่คนอื่นๆ เห็นดีเห็นงามไปกับ สนช.

ดร.พนา กล่าวต่อว่า กรณีวันที่ 7 ตุลาคมก็เช่นเดียวกัน ตำรวจก็เป็นประชาชนคนหนึ่งที่ต้องรักษาสิทธิของตัวเอง ตำรวจต้องเผชิญหน้ากับภาวะวิกฤตในเหตุการณ์เฉพาะหน้า ใครๆ ก็ออกมาว่าตำรวจผิด ก็อยากถามว่าตำรวจผิดอย่างไร ไม่ควรอย่างไร แต่แปลกใจว่าพันธมิตรทำอะไร ทำผิดไหม พันธมิตรนั่งเฉยๆ หรือไม่ มีการกีดขวางการใช้อำนาจรัฐ การชุมนุมมีอาวุธ ตำรวจได้รับความเสียหาย ได้รับบาดเจ็บถูกกล่าวหาว่ากระทำโดยมิชอบ อยากถามว่า ที่ชอบทำอย่างไร ตำรวจต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจะได้ภาคภูมิใจในสิ่งที่ทำ ขอให้ภูมิใจและมั่นใจในการทำงานและการให้อำนาจตามกฎหมายไม่ว่าใครจะว่าอย่างไรก็ตาม

ขณะที่ นายพนม กล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้เป็นการต่อสู้ระหว่างสองกลุ่ม ซึ่งทั้งสองกลุ่มมีความกลัวทั้งคู่ คือกลัวที่จะเสียผลประโยชน์ การชุมนุมทำได้แต่ต้องอยู่ในกรอบ แต่เมื่อไม่สามารถควบคุมกลุ่มผู้ชุมนุมได้ก็เลยกรอบ เพราะการต้องการชัยชนะสูง การปิดสนามบินเป็นเรื่องที่โง่ที่สุดเหมือนจับตัวประชาชนเป็นตัวประกัน และสุดท้ายก็หาผู้ที่มารับผิดชอบกับความเสียหายไม่ได้

“สุดท้ายตำรวจก็ตกเป็นจำเลยของสังคม ตำรวจถูกรังแก ถูกดูหมิ่นศักดิ์ศรีอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ตำรวจไม่สามารถอยู่ฝั่งไหนได้เพราะอยู่ฝั่งไหนก็ผิดหมด ตำรวจต้องทำงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ประกาศขั้นตอนอย่างถูกต้อง ถ้าเราทำตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง สื่อและประชาชนก็จะเข้าใจ” ดร.พนากล่าว

ด้าน พล.ต.อ.สุวรรณ กล่าวว่า การทำหน้าที่ขององค์กรอิสระที่ผ่านมามักลืมไปว่า ตำรวจนั้นเป็นข้าราชการที่ถูกจ้างมาเพื่อระงับยับยั้งสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยมีอาวุธ แต่พอตำรวจเข้าไประงับยับยั้งการใช้สิทธิของประชาชนที่เกินขอบเขตตำรวจกลับถูกตำหนิเสียเอง อีกต้องตั้งคำถามว่าการที่ผู้บังคับบัญชาของตำรวจสั่งลูกน้องให้ปลอดอาวุธเพื่อไปดูแลความสงบในการชุมนุมที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งนั้น เป็นการละเมิดสิทธิการป้องกันตนเองของลูกน้องหรือไม่ หรือว่านายเห็นชีวิตของตำรวจชั้นผู้น้อยเป็นผัก ปลา ที่จะทำอย่างไรก็ได้

พล.ต.อ.สุวรรณ กล่าวว่า การทำหน้าที่ของตำรวจแต่ละครั้งนั้นต้องมีความสมดุลทั้งความยุติธรรม และความเป็นธรรม ตำรวจต้องทำจริงใช้ดุลยพินิจจริง แต่กลับถูกคนที่นั่งอยู่แต่ในห้องแอร์มายกมือตัดสิน นั้นถูกต้องหรือไม่ อย่างเช่นเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม ตำรวจก็เข้าไปทำหน้าที่โดยไร้การป้องกันตน แต่พอมีปัญหาขึ้นมาก็ฝ่ายหนึ่งมาตัดสินว่าผิด ทั้งนี้ ที่ผ่านมาต้องตั้งคำถามว่า ผู้บังคับบัญชาระดับสูงใน ตร.ได้ใส่ใจที่จะช่วยเหลือตำรวจที่ถูกกระทำจากอำนาจองค์กรอิสระบ้างหรือไม่ อย่างเช่นกรณีของ พล.ต.ต.มานิตย์ วงษ์สมบูรณ์ อดีตผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 ซึ่งถูก ป.ป.ช.ชี้มูลว่ามีความผิดจากกรณีม็อบหน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์

“องค์กรอิสระบางคนไม่เข้าใจการทำหน้าที่ตำรวจ แต่จู่ๆ มาปากพล่อยหาว่าตำรวจผิดอย่างนั้นอย่างนี้ เอาอะไรมาตัดสิน ไม่ทราบว่าใช้ดุลพินิจอะไร แต่ทำไมกรณี พล.ต.ต.มานิตย์ ที่ทำหน้าที่โดยดุลยพินิจบ้างก็ชี้ว่าใช้ผิด ไม่เข้าใจว่าองค์กรอิสระอยู่เหนือกฎเกณฑ์หรืออย่างไร ทำไม่ท่านทักคนอื่นได้ แต่คนอื่นทักท่านไม่ได้ ผมเคยอยู่ในวงการผู้พิพากษาและได้เห็นพฤติกรรมบางอย่าง จึงอยากสะท้อนว่า ผู้พิพากษาศาลฎีกาไม่ได้เก่งถนัดไปเสียทุกอย่าง ขับเรือรบได้ใช่ว่าจะขับเครื่องบินได้ ดังนั้นการไปทำหน้าที่อื่นที่ไม่ถนัดอาจไม่เข้าใจจริง” พล.ต.อ.สุวรรณ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงที่เปิดใช้แสดงความคิดเห็น พล.ต.ต.มานิตย์ วงษ์สมบูรณ์ ซึ่งร่วมฟังการสัมมนาด้วย ขึ้นแสดงความคิดเห็นว่า รู้สึกห่วงใยเพื่อนตำรวจนครบาลที่จะถูก ป.ป.ช.ชี้มูลในเร็ววันนี้ว่าอาจต้องโทษร้ายแรงถึงขึ้นติดคุก เพราะแค่ตนซึ่งถือว่าทำผิดเล็กน้อยยังต้องออกจากราชการ แล้วกรณีวันที่ 7 ตุลาคม ที่มีคนขาขาด คนตาย จะต้องถูกชี้มูลกันขนาดไหน

อดีต ผบก.น.6 กล่าวอีกว่า กรณีของตนแม้จะมี พ.ร.บ.ล้างมลทินแล้ว ตนก็ยังไม่สามารถขอกลับเข้ารับราชการได้ ทั้งที่ผู้บังคับบัญชาใน ตร.ก็เข้าใจดี แต่ก็ติดปมการเมือง เพราะเรื่องนี้มันเป็นเรื่องการเมืองตนเข้าใจ ต้องรอพึ่งดุยพินิจของศาล อย่างไรก็ตาม ตนต้องการชี้ให้เห็นว่า ตำรวจควรออกมาเทกแอ็กชันในเรื่องที่ถูกกดดันโดยองค์กรอิสระอย่างไม่เป็นธรรม หรือไม่ก็ควรมีองค์กร สมาคมใด ออกมาขับเคลื่อนเรื่องนี้

“กรณีที่จะมีการยื่นรายชื่อถอดถอน ป.ป.ช.นั้น ผมไม่ขอออกความเห็น และคงไม่ร่วมลงชื่อด้วย” พล.ต.ต.มานิตย์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ต่อมาเวลาประมาณ 12.00 น. พล.ต.ต.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผบก.ตปพ. ได้นำเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติการพิเศษประมาณ 300 นายมาตั้งแถวบริเวณด้านหน้าห้องประชุม เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งหมดทยอยลงรายชื่อร่วมรับฟังการสัมมนา และเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ลงรายชื่อเพื่อถอดถอน ป.ป.ช.หรือไม่ พล.ต.ต.ศรีวรา กล่าวว่า ตำรวจมาลงรายชื่อเข้าร่วมสัมมนาเฉยๆ แต่ถ้าจะมีตำรวจคนไหนต้องการลงรายชื่อถอดถอนก็เป็นสิทธิทำได้ตามรัฐธรรมนูญซึ่งไม่เกี่ยวกับผู้บังคับบัญชา ซึ่งที่ผ่านมามีตำรวจกว่า 2,000 นายในสังกัดที่ไม่มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ วันที่ 7 ตุลาคม 2551 ได้แสดงความคิดเห็นว่าตำรวจไม่ได้รับความเป็นธรรมและเตรียมเอกสารเพื่อลงชื่อถอดถอน ป.ป.ช. ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้จะใกล้เวลาปิดการสัมมนาแล้วยังมีตัวแทนเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำซองสีน้ำตาลขนาดใหญ่ซึ่งคาดว่า เป็นซองบรรจุรายชื่อตำรวจที่ลงชื่อถอดถอน ป.ป.ช.มายื่นให้เจ้าหน้าที่ประจำหน้างานที่ตั้งโต๊ะไว้ว่าเป็นจุดลงทะเบียนเข้าร่วมสัมมนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการจะลงทะเบียนเข้าร่วมสัมมนาก็น่าจะทำตั้งแต่ก่อนการเข้าร่วมงานช่วงเช้า แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงทยอยมาลงลายมือชื่อเรื่อยๆ และบอกว่ามาลงทะเบียนเข้าร่วมงานฟังสัมมนาทั้งที่การสัมมนาจะจบลงแล้ว

ต่อมา พล.ต.อ.วิสุทธิ์ กล่าวภายหลังการสัมมนาว่า สมาคมตำรวจเป็นสมาคมในเชิงวิชาการไม่ใช่สมาคมที่จะออกมากระโดดโลดเต้น การที่จะนำเดินขบวนหรือเรียกร้องสิทธิอย่างที่บางท่านให้ทำไม่มีความชำนาญในด้านนี้ เพราะเป็นข้าราชการประจำ สำหรับข่าวที่มีการระบุว่า จะมีการล่ารายชื่อตำรวจในการยื่นถอดถอนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทราบข่าว และสื่อก็ซักถามมาโดยตลอด จนบัดนี้ก็ยังไม่มีใครส่งรายชื่อดังกล่าว ถึงมีตนก็จะไม่รับ ถ้ารับหมายความว่าผมจะต้องสรุปมติการอภิปรายเสียงส่วนใหญ่ ต้องปรากฏตัวต่อประธานวุฒิสภาด้วย ตัดสินใจตอนนี้ยังไม่ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะรอผลการพิจารณาก่อนหรือไม่ถึงจะเคลื่อนไหว พล.ต.อ.วิสุทธิ์ กล่าวว่า ต้องรวบรวมข้อมูลหลังการสัมมนาในครั้งนี้ไปศึกษาวิเคราะห์ก่อน ถ้ามีหลักฐานที่เป็นรูปธรรมก็ยอมเจ็บตัว แต่ยังไม่มีใครมาส่งให้ ส่วนการที่จะขอให้มีคนกลางมาทำความเข้าใจร่วมกันในส่วนนี้ ก็เป็นเรื่องที่ดี ถ้า ป.ป.ช.พร้อมก็ยินดีเพราะทางเราก็พร้อมเพราะมีความบริสุทธิ์ใจอย่างเหตุการณ์วันที่ 7 ต.ค. 51 ตำรวจมีหน้าที่รักษากฎหมายก็ทำไปตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ ถ้าตำรวจฆ่าประชาชนร่างไม่มีชีวิตคงเกลื่อนไปหมดเลือดก็จะนองลานพระบรมรูปทรงม้า แต่เหตุการณ์ไม่ได้เป็นอย่างนั้น ทั้งที่มีคนมากขนาดนั้นการปะทะกันใกล้ชิดขนาดนั้นถือว่าตำรวจใช้ความอดทนมากที่สุด

ผู้สื่อข่าวถามว่า ตำรวจที่มาร่วมในวันนี้เป็นไปตามเป้าหรือไม่ พล.ต.อ.วิสุทธิ์ กล่าวว่า ไม่ได้ตังเป้าอะไร เตรียมไว้ 1,000 คนก็จัดที่นั่งเท่านั้น ทั้งที่มีอยู่ด้านนอกรวมแล้วเกือบ 2,000คน ส่วนการที่มีตำรวจเตรียมเอกสารมายื่นถอดถอน ป.ป.ช.นั้น คงเป็นเพียงการดูเหตุการณ์ แต่ไม่มีความรุนแรง แต่ส่วนตัวก็แนะนำว่าเอาไว้ก่อน ถ้ามีความตั้งใจจริง มีเหตุมีผลผมก็ทำให้ ต้องมีหลักฐาน ไม่ใช่เพียงนำชื่อมาให้เฉยๆ

“ผมไม่ได้อยู่ข้างนอกเห็นเพียง 1-2 คน เท่านั้นเอง ส่วนการจัดงานจะมีผลต่อการชี้มูลของ ป.ป.ช. หรือไม่นั้นเรื่องนี้ไม่ทราบ แต่งานนี้จะมีผลต่อกำลังใจของตำรวจที่ได้ทางระบายแสดงความคิดเห็น ไม่แตกสามัคคี ซึ่งอาจรวบรวมเป็นหนังสือส่งไปร้องขอความยุติธรรมจาก ป.ป.ช. ต่อไป” พล.ต.อ.วิสุทธิ์ กล่าวเมื่อถูกถามว่า การสัมมนาครั้งนี้มีกลุ่มคนเสื้อแดงมาร่วมฟังสัมมนา และเตรียมเอกสารมายื่นถอดถอน ป.ป.ช.ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้พยายามสอบถามนายตำรวจที่มาร่วลงชื่อในงานสัมมนาดังกล่าวหลายนาย แต่ปรากฏว่าไม่มีตำรวจรายใดยอมเปิดเผยถึงการมารวมลงชื่อในครั้งนี้แม้แต่รายเดียว ขณะที่ นายมนัส ประชาชนจากเขตบางบอน กทม.กล่าวว่า มาร่วมงานในวันนี้เพื่อร่วมฟังการสัมมนา และนำใบแสดงความจำนงร่วมถอดถอน ป.ป.ช.มาให้ โดยตนได้รับแบบฟอร์มการลงชื่อและแบบฟอร์มการถ่ายสำเนาบัตรประชาชนเพื่อร่วมลงชื่อ จากเพื่อนบ้านมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา จึงนำมามอบให้หน้างานวันนี้ พร้อมกับรวบรวมสำเนาบัตรประชาชน และแบบฟอร์มลงรายชื่อจากเพื่อนๆ กว่า 10 คน มาให้ด้วย

“ผมมาเพราะอยากมาเอง ไม่ได้มีตำรวจหรือใครจ้างวาน หรือบังคับใช้มา แต่อยากมาเพราะทราบว่าจะได้ร่วมลงชื่อถอดถอน ป.ป.ช.” นายมนัส กล่าว

นางพรวิภา เรืองนก อาสาสมัครตำรวจบ้าน สภ.ราชาเทวะ ที่มาร่วมงานสัมมนากล่าวว่า ที่มาร่วมงานเนื่องจากได้รับข้อมูลมาจากสารวัตร ที่ สภ.ราชาเทวะ ทราบเพียงเป็นการสัมมนาทางวิชาการ แต่ไม่ทราบรายละเอียดมากนัก แต่โดยส่วนตัวมองว่า การทำงานตำรวจเป็นการช่วยเหลือประชาชน การถูกโจมตีจึงเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม เนื่องจากเหตุการณ์วันที่ 7 ต.ค. มีการปะทะกันตำรวจทำหน้ารักษากฎหมาย ส่วนจะมีการยื่นถอดถอน ป.ป.ช. หรือไม่ตนไม่ทราบและไม่ขอแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้

ด้าน นางกัญนภา บุญหลง กลุ่ม นปช.ที่ใส่เสื้อแดงมาร่วมฟังสัมมนา กล่าวว่า ทราบข่าวจากวิทยุชุมชนคนแท็กซี่ 92.75 จึงตั้งใจมายื่นรายชื่อเพื่อถอดถอน ป.ป.ช. โดยมากันหลายคนและจะพยายามหารายชื่อให้ได้จำนวนมากที่สุด เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้ตำรวจ

สำหรับการล่ารายชื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อถอดถอนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ( ป.ป.ช.)ทั้ง 9 คน นั้น มีเนื้อหาดังนี้ คือ เรื่อง "ขอให้ถอดถอนกรรมการ ป.ป.ช. ออกจากตำแหน่ง" ถึง "นายกสมาคมตำรวจ" ระบุเขียนที่"สโมสรตำรวจ ถนนวิภาวดีรังสิต เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร" เดือน "มกราคม 2552 " มีเนื้อหาดังนี้

ป.ป.ช. มีอำนาจหน้าที่ในฐานะองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ แต่ได้ปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย อันก่อให้เกิดปัญหาและอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจและองค์กรตำรวจในภาพรวม ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม ในสถานการณ์แห่งความขัดแย้ง ทำให้ไม่มั่นใจในความสุจิริต วินิจฉัยชี้ขาดตรวจสอบการทำงานของตำรวจ ทำให้กระทบการทำงานของตำรวจ ขวัญและกำลังใจ ภาพลักษณ์ ความน่าเชื่อถือของตำรวจ และการบังคับใช้กฎหมาย

ข้อที่ 1 ป.ป.ช.เลือกปฏิบัติ เร่งพิจารณาเรื่องที่มีตำรวจเข้าไปเกี่ยวข้อง เช่นการปะทะกันของกลุ่มผู้ชุมนุมทั้ง 2 ฝ่าย มีการชี้มูลว่าตำรวจมีส่วนเกี่ยวข้องปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ทั้งที่มีเรื่องคั่งค้างอยู่อีกมาก เช่นการตรวจสอบบ้านหลังละ 40 ล้าน ของ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เกี่ยวกับการร่ำรวยผิดปกติ ควรเป็นไปตามลำดับก่อนหลัง

ข้อที่ 2 การแถลงข่าวของ ป.ป.ช. ที่มีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงขึ้นมาตรวจสอบ เหตุสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลา โดยนำพยานหลักฐานจากสื่อมวลชนมาแถลงข่าว กล่าวหา พล.ต.อ.พัชวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และพล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมโดยใช้อาวุธร้ายแรงเกินกว่าเหตุ เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมากและถึงแก่ความตายจำนวน 2 คน เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามที่กล่าวหา ส่วนนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี และพล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาตินั้น ยังไม่ปรากฎข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่ามีส่วนร่วมในการสั่งการดังกล่าว

"ป.ป.ช. มิได้ไต่สวนข้อเท็จจริงตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดแต่อย่างใด และเป็นการชี้นำให้สังคมเห็นไปในแนวทางว่าการที่มีผู้บาดเจ็บและถึงแก่ความตายนั้น เป็นผลของการกระทำที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ และการกระทำของตำรวจนั้นเป็นการใช้อาวุธร้ายแรงและใช้ความรุนแรง"

มิได้คำนึงถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบของตำรวจในสถานการณ์ดังกล่าวว่า เป็นการปฏิบัติหน้าที่พอสมควรแก่เหตุหรือเป็นการกระทำที่เกินเลยไปกว่ากรณีแห่งความจำเป็นหรือกรณีแห่งการที่จะต้องกระทำหรือไม่

ข้อที่ 3 คุณสมบัติของ ป.ป.ช. มีการนำประเด็นที่นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ได้รับจ้างเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยศรีปทุม คุณสมบัติอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ไม่ดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจ โดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้าง ของบุคคลใด จึงย่อมเป็นผลให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.

อีกทั้งคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 19 ลงวันที่ 22 กันยายน 2549 มิได้กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับยกเว้นขั้นตอนการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด แม้จะได้มีประกาศ คปค.ฉบับที่ 31 ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 ให้ถือว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 19 ได้รับการสรรหาและแต่งตั้งโดยชอบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ก็หามีผลให้การออกประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่มิชอบด้วยกฎหมายไปแล้ว

ป.ป.ช. จงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือมีพฤติการณ์ที่เป็นการเสื่อมเสียแห่งเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่งอย่างร้ายแรง

"ข้าพเจ้ากับพวกจึงขอใช้สิทธิ์เข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภา (ผ่านสมาคมตำรวจ) เพื่อนำเสนอเรื่องต่อวุฒิสภาพิจารณามีมติให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. และกรรมการ ป.ป.ช. พ้นจากตำแหน่ง ตามในมาตรา 248 ตามบทบัญญติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ดังมีรายชื่อข้างท้ายนี้"


มีรายงานว่า การจัดสัมมนาของสมาคมตำรวจในครั้งนี้ มีนายตำรวจ 2 กลุ่ม ที่อยู่เบื้องหลังการไฟเขียวให้การจัดสัมมนาครั้งนี้เป็นไปอย่างสมบูรณ์และเรียบร้อย ประกอบด้วยกลุ่มนายตำรวจระดับสูงภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติในปัจจุบัน ที่ฝักใฝ่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่สามารถลงมาดำเนินการ หรือสั่งการได้ด้วยตนเอง จึงอาศัยสมาคมตำรวจเป็นตัวขับเคลื่อน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้ป.ป.ช.ดำเนินการชี้มูลความผิดนายตำรวจทั้งหมดที่อยู่ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 ซึ่งเบื้องต้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชี้มูลความผิดและส่งเรื่องให้ป.ป.ช.ดำเนินการไปแล้ว และด้วยการไฟเขียวจากนายตำรวจระดับสูงภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติดังกล่าวเป็นอย่างดี จึงทำให้มีกำลังตำรวจสังกัดหน่วยต่างๆ เข้าร่วมลงชื่อถอดถอนป.ป.ช.จำนวนมากในครั้งนี้ ด้วยจุดประสงค์ทีค่จะไม่ให้นายตำรวจเหล่านั้น ถูกให้ออกจากราชการ และอาจถูกดำเนินคดีอาญาซ้ำด้วย

รายงานข่าวระบุด้วยว่า นายตำรวจอีกกลุ่ม ที่สนับสนุนการจัดการสัมมนาในครั้งนี้ เป็นกลุ่มนายตำรวจนอกราชการ ซึ่งผู้ที่มีบทบาทสำคัญและออกมาดำเนินการอย่างเปิดเผยคือพล.ต.อ.วิสุทธิ์ กิตติวัฒน์ นายกสมาคมตำรวจ ร่วมกับอดีตนายตำรวจที่เคยเรืองอำนาจในสมัยรัฐบาลของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ว่าจะเป็นอดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ พล.ต.อ.(ส.) อดีตรองผบ.ตร.พล.ต.อ.(อ.) อดีตผบช.ก. พล.ต.ท.(ช.) เป็นต้น ที่เป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลังการสัมมนาครั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ นอกจากจะช่วยนายตำรวจรุ่นน้องที่จะถูกป.ป.ช.ชี้มูลความผิดแล้ว ยังจะชี้ให้ตำรวจจำนวนมากเห็นว่า ตำรวจถูกรังแก เป็นการให้กำลังพลกดดัน และต่อต้านรัฐบาลไปในตัว

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ มีการดำเนินการในรูปแบบต่างๆ เพื่อหวังผลไม่ให้ป.ป.ช.สามารถชี้มูลความผิดกับนายตำรวจที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการสั่งการในเหตุการ 7 ตุลาเลือดได้ อาทิ การให้ทนายความไปฟ้องร้องดำเนินคดีกับนายตำรวจที่เกี่ยวข้องต่อศาลอาญา เพื่อต้องการให้ป.ป.ช.หยุดปฏิบัติหน้าที่ การดำเนินการฟ้องร้องคณะกรรมการป.ป.ช.ทั้ง 9 คน ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ หรือแม้แต่การจัดสัมมนาดังกล่าวขึ้น เพื่อล่ารายชื่อตำรวจในการถอดถอนป.ป.ช. โดยก่อนหน้านี้ นายกสมาคมตำรวจออกมาปฏิเสธโดยตลอดว่า ไม่มีการล่ารายชื่อดังกล่าว แต่ในที่สุด การสัมมนาในครั้งนี้ ก็สั่งให้ตำรวจในหลายสังกัด ไปลงชื่อเพื่อยื่นถอดถอนป.ป.ช.ดังกล่าว

โฆษก ตร.โบ้ย “นวย เชิญยิ้ม” ตอบถอด 9 ป.ป.ช.ชัดเจนกว่า!
“สุชาติ” แบ่งรับแบ่งสู้ล่าชื่อตำรวจถอดถอน 9 อรหันต์ ป.ป.ช.!
ตำรวจกลัวคุก! จัดฉากสัมมนาล่าชื่อถอดถอน 9 ป.ป.ช.
“โฆษก ตร.” ระบุไม่ได้กดดันรัฐบาล ปล่อยองค์กรตำรวจถกเรื่องหน้าที่
ศาลรู้ทัน ไม่รับฟ้อง “อำนวย” กล่าวหา 9 ป.ป.ช.!
แฉเล่ห์"อำนวย"ล่าชื่อตำรวจพวกแม้วถอด ป.ป.ช.ขวางสอบ7ตุลาเลือด
แฉเล่ห์ฉ้อฉล “อำนวย” ส่งคนแสร้งฟ้องศาล สกัด ป.ป.ช.เชือดคดี 7 ตุลาเลือด
ตำรวจนำสำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการ ร่วมลงชื่อถอดถอนป.ป.ช.

บรรยากาศหน้าห้องสัมมนา
หลักฐานที่นำมาใช้ในการถอดถอนป.ป.ช.

พล.ต.ต.ศรีวรา รังสิพราหมณกูล ผบก.ตปพ. นำลูกน้องมาร่วม 300 นาย
ตำรวจจากบก.ตปพ.
กลุ่มคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งเข้าร่วมลงชื่อถอดถอนด้วย
บรรยากาศภายในห้องสัมมนาที่สโมสรตำรวจ
แบบฟอร์มการยื่นถอดถอนป.ป.ช.ที่ถูกนำมาแจกจ่ายให้ตำรวจลงชื่อ
กำลังโหลดความคิดเห็น