xs
xsm
sm
md
lg

“อัยการ” ร้อนตัวแจงสั่งไม่ฟ้อง 3 คดีดัง!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

แฟ้มภาพ
“โฆษกอัยการ” แถลง 4 ประเด็นรวด ยัน สั่งไม่ฟ้อง “ซานติก้า ผับ” เปิดบริการโดยไม่รับอนุญาต ถูกต้องตามกฎหมาย สั่งไม่ฟ้อง “3 ทนายทักษิณ” เพราะไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานให้สินบนเจ้าพนักงาน ส่วนกรณีศาลแคนาดา ปล่อยตัวราเกซ ทำได้แค่รอ และยังไม่ได้รับประสานจากอัยการญี่ปุ่น ให้ช่วยสอบเรื่องสินบนก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ กทม.

วันนี้ (15 ม.ค.) เมื่อเวลา 14.00 น.ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และ นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษก แถลงข่าวกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง ผู้บริหาร ซานติก้า ผับ จำนวน 45 คดี ในข้อหาเปิดสถานบริการโดยไม่ได้รับอนุญาต ว่า สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดแล้ว ทราบว่า ผู้บริหาร ซานติก้า ผับ ได้แจ้งความประสงค์จะเปิดเป็นสถานบริการ ต่อ ผกก.สน.ทองหล่อ เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2546 แต่ทาง ซานติก้า ผับ ก็เปิดให้บริการเรื่อยมา จึงถูกจับกุมดำเนินคดีรวม 45 ครั้ง เมื่อระหว่างวันที่ 6 มิ.ย.2547 - 17 ก.ย.2549 อัยการจึงพิจารณารวมเป็นสำนวนเดียว แต่เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า ตาม พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 แก้ไข ฉบับที่ 3 พ.ศ.2525 ม.4 วรรค 2 ระบุว่า ผู้ใดตั้งสถานบริการตาม ม.3(4) ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบก่อนไม่น้อยกว่า 15 วัน ซึ่งกฎหมายไม่ได้บัญญัติว่า จะต้องได้รับอนุญาตก่อนจึงจะเปิดบริการได้ ทำให้การเปิดบริการของ ซานติก้า ผับ จึงไม่ผิดกฎหมาย

นอกจากนี้ ทางบริษัท ไวท์ แอนด์บราเธอร์ (2003) จำกัด เจ้าของ ซานติก้า ผับ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง จนศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้เปิดบริการได้ เพราะมีการแจ้งขออนุญาตแล้ว เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2546 ก่อนที่จะมี พ.ร.บ.สถานบริการ (โซนนิง) ฉบับแก้ไขครั้ง 4 ปี พ.ศ.2546 จะบังคับใช้ พยานหลักฐานจึงฟังได้ ว่า การตั้งสถานบริการดังกล่าว จึงไม่เข้าข่ายกระทำผิด อัยการจึงสั่งไม่ฟ้องข้อหาตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งประเด็นนี้ ต่างกับเรื่องความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร เกี่ยวกับทางเข้าออก ประตูหนีไฟ ซึ่งเป็นคดีแยกไปต่างหาก และทางอัยการ ยังมาได้รับสำนวน

โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ยังได้แถลงถึงสาเหตุที่สั่งไม่ฟ้อง นายพิชิฏ ชื่นบาน น.ส.ศุภศรี ศรีสวัสดิ์ และ นายธนา ตันศิริ สามทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ฐานให้สินบนเจ้าพนักงานกรณีหิ้วถุงขนมภายในบรรจุเงินสด 2 ล้านบาท มอบให้เจ้าหน้าที่ธุรการศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.2551 ว่า คณะทำงานพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของผู้ต้องหาทั้งสามไม่ครบองค์ประกอบความผิด พยานหลักฐานไม่เพียงพอที่จะฟ้องคดีได้ เนื่องจากตาม ป.อาญามาตรา 144 ระบุว่า “ผู้ใด ขอให้ รับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงาน เพื่อจูงใจให้กระทำการไม่กระทำการหรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่” แต่การกระทำของผู้ต้องหา ไม่พบว่ามีการจูงใจให้เจ้าหน้าที่กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง และเจ้าหน้าที่คนนั้น ก็ไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจเกี่ยวข้องกับคดี หรือเป็นผู้พิพากษาที่มีหน้าที่พิจารณา แต่เป็นเพียงเจ้าหน้าที่ธุรการ ให้คำแนะนำแก่ผู้มาติดต่อเท่านั้น และ ม.ล.ฐิติพงศ์ ชมพูนุช เจ้าหน้าที่ธุรการคนดังกล่าว ก็ไม่ได้ให้การว่า ผู้ต้องหาให้เงินมาเพื่อให้กระทำการ หรือไม่กระทำการอย่างไร เพียงแต่พูดว่า เห็นพวกเราทำงานกันเหน็ดเหนื่อย เอาไปแบ่งๆ กัน ซึ่งประเด็นนี้เป็นคนละประเด็นกับความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลที่ศาลฎีกาสั่งจำคุกผู้ต้องหาทั้งสามคนละ 6 เดือน ไปแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องประพฤติตัวไม่เรียบร้อยบริเวณศาล

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม จะมีความเห็นสมควรสั่งไม่ฟ้อง และคณะทำงานอัยการก็มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องเช่นกัน ซึ่งคณะทำงานอัยการได้ส่งสำนวนพร้อมความเห็นให้ ผบ.ตร.ทำความเห็นกลับมาตามกฎหมาย หาก ผบ.ตร.เห็นตามความเห็นของคณะทำงานอัยการคดีก็เป็นที่ยุติ แต่หาก ผบ.ตร.มีความเห็นแย้งสมควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสามแล้ว ก็จะต้องส่งสำนวนและความเห็นทุกฝ่ายให้ นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด เป็นผู้พิจารณาชี้ขาดว่าจะสั่งฟ้องผู้ต้องหาหรือไม่

ผู้สื่อข่าวถามว่าสำนวนสอบสวนของ สน.ชนะสงคราม ไม่ครบถ้วน สมบูรณ์อัยการจึงสั่งไม่ฟ้องใช่หรือไม่ นายธนพิชญ์ ตอบว่า สำนวนสอบสวนสมบูรณ์ดีแล้ว แต่อัยการสั่งไม่ฟ้องเอง ต่อข้อถามว่า การให้สินบนอาจเป็นการโยนหินถามทางใช่หรือไม่ โฆษกกล่าวว่า เป็นเรื่องที่ไม่อาจคาดเดาได้

ถามว่า ศาลเป็นผู้เสียหายเอง หรือถ้ามีหลักฐานใหม่ให้อัยการพิจารณา จะสามารถดำเนินการฟ้องเองได้หรือไม่ นายธนพิชญ์ กล่าวว่า ศาลจะฟ้องเองก็ทำได้หรือหากมีข้อเท็จจริงใหม่ ก็อาจขอให้อัยการรื้อคดีได้

โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ยังกล่าวถึงกรณีศาลแคนาดา มีคำสั่งให้ปล่อยตัว นายราเกซ สักเสนา อดีตที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้ต้องหาหาคดียักยอกทรัพย์ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) หรือ บีบีซี หลังจากควบคุมตัวที่ถูกกักบริเวณมานาน 12 ปี ว่า อัยการไทยเคยประสานขอตัว นายราเกซ ต่อศาลมาหลายครั้ง และเน้นย้ำมาตลอดว่าคดีนี้จะขาดอายุความในปี พ.ศ.2553 ซึ่งคดีนี้อยู่ในอำนาจศาลแคนาดา เราไปก้าวก่ายไม่ได้ แต่อัยการไทยเคยประสานไปยังอัยการแคนาดาขอให้เร่งรัดดำเนินคดีด้วย เพราะคดีนี้จะขาดอายุความการลงโทษในไทยในปี พ.ศ.2553 หากไม่ได้ตัวมาภายในอายุความก็ไม่สามารถฟ้องได้ แต่หากได้ตัว นายราเกซ มา กลับมาอัยการพร้อมจะยื่นฟ้องทันที อย่างไรก็ดี การดำเนินคดีชั้นนี้ยังอยู่ในอำนาจของศาลแคนาดา ต้องยอมรับว่า กระบวนการของศาลแคนาดามีความล่าช้า เนื่องจากใช้เวลานานถึง 12 ปีแล้ว ยังไม่สามารถส่งตัวนายราเกซ กลับมาดำเนินคดีได้

ส่วนกรณีที่มีข่าวผ่านสื่อมวลชน ว่า อัยการญี่ปุ่น ประสานมายังอัยการไทย เพื่อขอให้สอบสวนหาข้อเท็จจริงในคดีสินบนการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร ในยุคของนายสมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ว่าฯ กทม.นั้น ตามหลักการขอความร่วมมือทางอาญา อัยการไทยสามารถดำเนินการให้ได้ แต่เท่าที่ตรวจสอบตอนนี้ยังไม่มีการประสานมายังแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น