แม้คดีทุจริตซื้อที่รัชดาฯ จะรู้ผลจากศาลไปเรียบร้อยว่า นายใหญ่อย่าง “พ.ต.ท.ทักษิณ” ถูกสั่งจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา แต่อีกด้านกลับปรากฏว่า คดีที่ลูกน้องเป็นจำเลย (กรณี 3 ทนายของตัวเองในคดีซื้อที่รัชดาฯ พยายามติดสินบน 2 ล้าน จนท.ศาลฎีกาฯ) กลับยังไปไม่ถึงไหน 4 เดือนแล้วยังสอบไม่เสร็จ-สรุปสำนวนไม่ได้ จนน่าสงสัยว่า ความล่าช้าของคดีนี้เกิดจากการประวิงเวลาของทนายทักษิณฝ่ายเดียวจริงหรือ? ลองมาย้อนดูคดีสินบน 2 ล้าน รวมทั้งท่วงท่าของ ตร.และทนายทั้งสามของทักษิณ แล้วตัดสินกันเองว่า พฤติกรรมของ ตร.ที่รับผิดชอบคดีนี้เป็นเช่นไร
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ
กรณี 3 ทนายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่รับผิดชอบคดีทุจริตซื้อที่ดินย่านรัชดาฯ พยายามติดสินบนเจ้าหน้าที่ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ด้วยการนำถุงขนมใส่เงิน 2 ล้านไปให้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.2551 โดยจากการไต่สวนข้อเท็จจริงขององค์คณะผู้พิพากษา พบว่า เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ซึ่งเป็นวันที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะเดินทางไปศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ เพื่อรายงานตัวคดีทุจริตซื้อที่รัชดาฯ ปรากฏว่า ก่อนหน้าที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะเดินทางไปศาล ทางทีมทนายของ พ.ต.ท.ทักษิณจำนวน 3 คนได้เดินทางไปศาลก่อนในเวลาประมาณ 09.30น.ประกอบด้วย นายพิชิฏ ชื่นบาน ทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ,น.ส.ศุภศรี ศรีสวัสดิ์ เสมียนทนายของนายพิชิฏ และนายธนา ตันศิริ ผู้ประสานงานคดี พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน ซึ่งเป็นญาติของคุณหญิงพจมานด้วย
ทั้งนี้ วันดังกล่าว ทั้งสามได้ขึ้นไปยังชั้น 4 ของศาลฎีกาฯ เพื่อยื่นคำร้องการรายงานตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมานในคดีทุจริตซื้อที่รัชดาฯ จากนั้น น.ส.ศุภศรีได้แจ้ง ม.ล.ฐิติพงศ์ ชมพูนุช นิติกรประจำแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกาว่า นายธนาให้ไปพบ เพื่อปรึกษาคดีที่ห้องพักทนายความ เมื่อ ม.ล.ฐิติพงศ์เข้าไปพบ นายธนากลับยื่นถุงกระดาษซึ่งปิดผนึกมิดชิดให้ โดยไม่บอกว่าภายในบรรจุอะไร เพียงแต่บอกว่า “ระยะนี้ต้องมาติดต่อบ่อย เห็นใจเจ้าหน้าที่ เลยเอาของมาฝาก ให้ไปแบ่งกัน” จากนั้น ม.ล.ฐิติพงศ์จึงได้เดินไปหานายรักเกียรติ วัฒนพงษ์ เลขานุการศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ แต่ไม่พบ เนื่องจากนายรักเกียรติเดินทางไปประชุมที่รัฐสภา ม.ล.ฐิติพงศ์จึงไปพบนายอนันต์ วงศ์ประภารัตน์ เลขานุการศาลฎีกา ที่กำลังตรวจความเรียบร้อยในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ซึ่งนายอนันต์ได้สั่งให้เปิดถุง เมื่อพบว่าเป็นเงิน จึงสั่งให้คืนเจ้าของไป เพราะการรับถุงไว้น่าจะเป็นการไม่ชอบ อาจละเมิดอำนาจศาล และเป็นความผิดต่อเจ้าพนักงาน โดยก่อนที่เจ้าหน้าที่ศาลจะนำถุงเงินไปส่งคืนกับมือนายธนา ได้มีการถ่ายรูปเงินและถุงดังกล่าวไว้เป็นหลักฐาน
ด้าน นายธนา ได้ให้การต่อศาลระหว่างไต่สวนว่า มีการหยิบถุงผิดให้เจ้าหน้าที่ศาล โดยอ้างว่า มีถุงที่ห่อในลักษณะเดียวกัน 2 ใบอยู่ในรถ ห่อหนึ่งเป็นเงินอยู่กระโปรงท้ายรถ ซึ่งตั้งใจจะนำไปฝากธนาคาร อีกห่อหนึ่งเป็นขนมช็อกโกแลตอยู่ที่เบาะหลังรถ ซึ่งตนได้หยิบถุงผิดไป แต่คำอ้างของนายธนาไม่มีน้ำหนักพอที่จะทำให้ศาลเชื่อได้ โดยศาลมองว่า หากนายธนาหยิบถุงผิดจริง ทำไมจึงไม่เอะใจตอนที่เจ้าหน้าที่ศาลนำถุงเงินดังกล่าวมาคืน เพราะเจ้าหน้าที่ได้ถามนายธนาว่า “รู้หรือไม่ว่าข้างในมีอะไร” ซึ่งนายธนาก็ตอบว่ารู้ และเดินกลับไป ไม่ได้มีการตรวจสอบถุงดังกล่าวแต่อย่างใด พร้อมกันนี้ ศาลยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า หากมีของ 2 สิ่งลักษณะห่อเหมือนกัน นายธนาย่อมต้องใช้ความระมัดระวังมากกว่าปกติเพื่อไม่ให้มีการหยิบผิด อีกทั้งหากนายธนาต้องการมอบช็อคโกแลตให้เจ้าหน้าที่จริง ก็ควรนำไปให้ที่เคาน์เตอร์อย่างเปิดเผย เพื่อความบริสุทธิ์ใจ ศาลจึงเชื่อว่านายธนารู้อยู่แล้วว่าถุงกระดาษที่มอบให้เจ้าหน้าที่ศาลนั้นมีเงิน 2 ล้าน
ส่วน นายพิชิฏ และ น.ส.ศุภศรีนั้น ศาลชี้ว่า เป็นตัวการร่วมกับนายธนา จะบอกว่าไม่รู้ไม่เห็นไม่ได้ เนื่องจากทั้งสองร่วมอยู่ในเหตุการณ์ด้วย โดย น.ส.ศุภศรี เป็นผู้ที่บอก ม.ล.ฐิติพงศ์ให้ไปพบนายธนาที่ห้องพักทนายความ และขณะที่ น.ส.ศุภศรีบอก ม.ล.ฐิติพงศ์ ทางนายพิชิตก็อยู่ในเหตุการณ์ด้วย และหลังจากการเข้าพบ ทั้งนายพิชิฏและ น.ส.ศุภศรีก็เห็น ม.ล.ฐิติพงศ์เดินออกมาพร้อมถุงกระดาษ หากทั้งสองไม่ทราบเรื่องถุงเงิน 2 ล้าน ก็ควรจะต้องสอบถามและซักไซ้หรือบอกกล่าวให้รู้ว่าจะนำช็อกโกแลตมาให้เจ้าหน้าที่ศาลโดยไม่ต้องปิดบัง และว่า การกระทำของนายธนา นอกจากจะเป็นเรื่องร้ายแรงแล้ว ยังก่อให้เกิดความเสียหายต่อรูปคดีและกระทบต่อวิชาชีพทนายความ แทนที่นายพิชิฏจะซักไซ้ไล่เรียงให้เกิดความชัดเจนหรือนำถุงสิ่งของที่ถูกต้องมาเปลี่ยนมอบให้ หรือต่อว่านายธนา แต่นายพิชิฏกลับทำตามคำร้องขอของนายธนา โดยโทรศัพท์มากล่าวขอโทษ ม.ล.ฐิติพงศ์ พร้อมทั้งสอบถามความคืบหน้าเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว พฤติการณ์ของนายพิชิฏและ น.ส.ศุภศรี จึงชัดแจ้งว่า มีส่วนร่วมรู้เห็นกับนายธนา และแบ่งหน้าที่กันทำ
ทั้งนี้ ศาลเห็นว่า การกระทำของบุคคลทั้งสาม ถือเป็นเหตุจูงใจให้เจ้าหน้าที่ของศาลฎีกาฯ กระทำการอันมิชอบต่อตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งอาจเชื่อมโยงเป็นประโยชน์ต่อคดีทุจริตซื้อที่รัชดาฯ ศาลยังชี้ด้วยว่า การกระทำของบุคคลทั้งสามนอกจากจะเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและพานิชย์ มาตรา 31(1), 33 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 แล้ว ยังน่าจะมีมูลความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 หรือความผิดอื่นต่อเจ้าพนักงานด้วย และว่า การกระทำของบุคคลทั้งสามเป็นการกระทำที่อุกอาจท้าทายและเกิดขึ้นที่ศาลฎีกาฯ ซึ่งเป็นศาลยุติธรรมสูงสุดของประเทศ อีกทั้งบุคคลทั้งสามประกอบอาชีพทนายความและที่ปรึกษากฎหมาย ย่อมตระหนักดีว่าการกระทำของบุคคลทั้งสามจะก่อให้เกิดความเสื่อมเสียแก่สถาบันศาลยุติธรรมและจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือศรัทธาในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรในอำนาจตุลาการ จึงเห็นสมควรลงโทษสถานหนักเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างอีกต่อไป ให้จำคุกบุคคลทั้งสามคนละ 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ส่วนความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 หรือความผิดอื่นต่อเจ้าพนักงานนั้น ศาลให้นายอนันต์ เลขานุการศาลฎีกา ดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมายกับบุคคลทั้งสามและผู้เกี่ยวข้องต่อไป
หลังอ่านคำพิพากษา นายพิชิฏและ น.ส.ศุภศรี ได้ถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวไปคุมขังทันที เนื่องจากคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ถือเป็นที่สุด ไม่สามารถอุทธรณ์ใดใดได้ ส่วนนายธนานั้นไม่ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษา โดยอ้างว่าป่วยปวดหัว จึงขอเลื่อนฟังคำพิพากษาออกไป 7 วัน แต่ศาลเห็นว่าเหตุผลไม่เพียงพอ จึงได้ออกหมายจับนายธนามาฟังคำพิพากษา โดยภายหลังพบว่า นายธนาพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ซึ่งนายธนาขอพักรักษาตัวถึงวันที่ 1 ก.ค.
ด้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แม้จะไม่ได้ออกมาพูดเรื่องสินบน 2 ล้านด้วยตัวเอง แต่ก็ได้ออกแถลงการณ์โดยให้นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา โฆษกส่วนตัวนำมาเผยแพร่ต่อสื่อมวลชน โดยระบุว่า เสียใจที่ทีมทนายของตนถูกกล่าวหาว่านำเงิน 2 ล้านไปมอบให้เจ้าหน้าที่ศาลฎีกา พร้อมยืนยันว่า ตนไม่ได้ประโยชน์จากการกระทำดังกล่าว เพราะเจ้าหน้าที่ธุรการของศาลไม่มีอำนาจในการพิจารณาคดี
ขณะที่ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชน และรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น ก็ออกมาป้อง พ.ต.ท.ทักษิณ โดยบอก (26 มิ.ย.) ว่า คิดว่ากรณีสินบน 2 ล้านไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณเพียงแค่จ้างทนายให้ทำคดีให้เท่านั้น
ส่วนท่าทีของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1(ผบก.น.1) ในขณะนั้น ก็รีบออกมาด่วนสรุปทั้งที่ยังไม่มีการสอบกรณีสินบน 2 ล้าน (เมื่อ 27 มิ.ย.)ว่า การให้เงินดังกล่าวไม่ถึงกับเป็นการจ้างล้มคดี และไม่เข้าข่ายให้สินบนเจ้าหน้าที่ฝ่ายตุลาการ เพราะเป็นเพียงการให้เงินเจ้าหน้าที่ธุรการ โดยอาจจะเพื่อความสะดวกในการทำคดี ไม่ถึงกับเป็นการล้มคดี จึงแจ้งความร้องทุกข์ตามมาตรา 144 (ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัดหรือสมาชิกสภาเทศบาล เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ) ไม่ใช่มาตรา 167 เพราะไม่ได้ให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายตุลาการ
พล.ต.ต.อำนวย ยังคุยโวด้วยว่า คดีนี้เป็นคดีที่ง่ายมาก เพราะศาลได้วางแนวทางไว้ให้ทั้งหมดแล้ว ไม่น่าจะมีประเด็นที่แตกอะไรมาก เจ้าหน้าที่คงยืนตามคำพิพากษาศาล และพนักงานสอบสวนก็สอบตามที่ผู้ต้องหาเบิกความไว้กับศาล ผู้สื่อข่าวถามว่า จะต้องเชิญ พ.ต.ท.ทักษิณมาสอบปากคำหรือไม่ พล.ต.ต.อำนวย บอกว่า ต้องสอบสวนนายธนาก่อน เนื่องจากเป็นกุญแจสำคัญ และต้องดูว่าหลักฐานสามารถเชื่อมโยงได้หรือไม่ พร้อมย้ำว่า คดีนี้ไม่น่าจะใช้เวลาเกิน 30 วัน
ด้าน นายสาธิต ปิตุเตชะ รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาตั้งข้อสังเกต (29 มิ.ย.) ว่า การที่ตำรวจออกมาพูดว่า ทนายของ พ.ต.ท.ทักษิณขาดเจตนาของการกระทำผิดนั้น ชี้ให้เห็นว่า ระบอบทักษิณยังวนเวียนอยู่ในกระบวนการยุติธรรมขั้นต้น ไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรืออัยการ ซึ่งพนักงานสอบสวนควรจะหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม และใช้อำนาจสอบสวนว่าเส้นทางเงินสินบนดังกล่าวมาจากไหน มาจากบัญชีของใคร และที่สำคัญ พนักงานสอบสวนไม่มีหน้าที่ออกมาให้สัมภาษณ์ ต้องดำเนินการเป็นความลับ และสาวไปถึงต้นตอให้ได้ เพราะคดีนี้มี พ.ต.ต.ทักษิณและภริยาเป็นจำเลย การปฏิบัติหน้าที่ต้องตั้งข้อสงสัยว่าผู้ได้รับประโยชน์จากกรณีสินบนดังกล่าวคือใคร
ขณะที่ พ.ต.อ.รังสรรค์ ประดิษฐผล ผู้กำกับการ สน.ชนะสงคราม พูดถึงคดีสินบน 2 ล้าน (29 มิ.ย.) ว่า ตำรวจไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยพนักงานสอบสวนได้นัดพยานฝ่ายผู้กล่าวหา (เจ้าหน้าที่ศาลฎีกาฯ) ทั้งหมด 5 คนมาสอบปากคำ หากคำให้การของพยานมีน้ำหนักเพียงพอ พนักงานสอบสวนก็จะไปสอบปากคำผู้ต้องหาทั้ง 3 คน หากผู้ต้องหามีการเชื่อมโยงหรือพาดพิงถึงใคร ก็พร้อมเรียกทุกคนมาสอบปากคำ ไม่มีข้อยกเว้นเด็ดขาด พ.ต.อ.รังสรรค์ ยังพูดสอดคล้องกับ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน ผบก.น.1 ในขณะนั้นด้วยว่า คดีนี้ต้องชัดเจนใน 30 วัน!
วันต่อมา (30 มิ.ย.) ตำรวจ สน.ลุมพินี ได้เข้าควบคุมตัวนายธนา ตันศิริ หนึ่งในทีมทนายของ พ.ต.ท.ทักษิณกรณีสินบน 2 ล้านที่พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์และอาการดีขึ้นแล้ว ไปฟังคำพิพากษาศาลฎีกาฯ คดีละเมิดอำนาจศาล จากนั้นได้นำตัวนายธนาไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพเช่นเดียวกับนายพิชิฏที่ถูกคุมขังตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.
ด้าน นายวันชัย รุจนวงศ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ พูดถึงระเบียบปฏิบัติหากเจ้าหน้าที่ตำรวจจะสอบปากคำผู้ต้องขัง รวมถึงผู้ต้องขังทั้ง 3 รายกรณีสินบน 2 ล้านว่า หากได้รับการประสานจากตำรวจ ทางเรือนจำพร้อมจะเตรียมสถานที่ให้พนักงานสอบสวนมาสอบในเรือนจำ แต่จะไม่อนุญาตให้นำผู้ต้องขังไปสอบข้างนอก เนื่องจากเป็นกฏของทางเรือนจำและเกรงว่าผู้ต้องขังอาจหลบหนีได้
ต่อมา 3 ก.ค.ได้เกิดความไม่ชอบมาพากลในการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะแทนที่จะประสานไปยังเรือนจำเพื่อขอเข้าสอบปากคำนายพิชิฏ-นายธนาและ น.ส.ศุภศรี ตามที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้เคยแจ้งไว้แล้ว แต่พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม กลับไปขอศาลอาญาอนุมัติหมายจับผู้ต้องหาทั้งสาม ซึ่งในที่สุด ศาลได้ยกคำร้อง โดยให้เหตุผลว่า จำเลยทั้งสามยังอยู่ในเรือนจำ และต้องรับโทษนานถึง 6 เดือน ช่วงเวลาดังกล่าวพนักงานสอบสวนสามารถเข้าไปสอบข้อเท็จจริงในเรือนจำได้
การที่ศาลยกคำร้องขอออกหมายจับ ไม่เพียงทำให้ตำรวจที่รับผิดชอบคดีสินบน 2 ล้านหน้าแตก แต่พฤติกรรมของตำรวจยังทำให้สังคมกังขาด้วยว่า ตำรวจมีเจตนาใดกันแน่ที่ขอศาลออกหมายจับผู้ต้องหาทั้งสามแทนการเข้าไปสอบสวนภายในเรือนจำ!?!
9 ก.ค. พ.ต.อ.รังสรรค์ ประดิษฐผล ผกก.สน.ชนะสงคราม ออกมาเผยความคืบหน้าคดีสินบน 2 ล้านว่า พนักงานสอบสวนได้สอบปากคำเจ้าหน้าที่ศาลฎีกาซึ่งเป็นฝ่ายผู้กล่าวหาเรียบร้อยแล้วทั้งหมด 6 ปาก แต่ยังไม่ได้สอบปากคำผู้ต้องหาทั้ง 3 คน เนื่องจากทนายความของผู้ต้องหาได้ขอเลื่อนการให้ปากคำของลูกความออกไป 1 เดือน โดยให้เหตุผลว่า จำเป็นต้องขอสำเนาคำสั่งศาลมาเพื่อประกอบสำนวน ดังนั้นพนักงานสอบสวนก็ต้องรอ พร้อมยืนยัน การขอเลื่อนการให้ปากคำของผู้ต้องหา ไม่ได้เป็นการดึงเกมให้ช้า (น่าสงสัยว่า เหตุใดทนายของผู้ต้องหาไม่ขอคำสั่งศาลตั้งแต่หลังฟังคำพิพากษา 25 มิ.ย. กลับปล่อยให้เวลาผ่านไปถึงครึ่งเดือน แล้วจึงยกมาเป็นเหตุในการขอเลื่อนการให้ปากคำของผู้ต้องหา)
พ.ต.อ.รังสรรค์ ยังยืนยันด้วยว่า ตำรวจไม่เคยคิดเตะถ่วงหรือดึงเรื่องให้คดีนี้สรุปช้า แต่ต้องรอสอบผู้ต้องหา เมื่อทนายเขาทำเรื่องขอเลื่อน ก็ต้องให้เค้า แต่ถ้าขอเลื่อนอีก ตามกฎหมายไม่มีเรื่องเร่งด่วนใดจะมาอ้างได้อีก (โปรดจำคำพูดที่ขีดเส้นใต้ให้แม่น แล้วติดตามว่า ตำรวจทำตามที่พูดหรือไม่?)
เป็นที่น่าสังเกตว่า การที่ตำรวจอนุญาตให้นายพิชิฏ-นายธนา-น.ส.ศุภศรี เลื่อนการให้ปากคำออกไปได้นานถึง 1 เดือน นับเป็นการ “ตบหน้าตัวเอง” ของตำรวจ ทั้ง พ.ต.อ.รังสรรค์ และ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน ที่คุยโวก่อนหน้านี้ว่า คดีนี้จะสรุปได้ภายใน 30 วัน!
21 ก.ค. พ.ต.อ.รังสรรค์ บอกว่า เร็วๆ นี้จะเรียกทนายฝ่ายผู้ต้องหามาแจ้งขอเข้าสอบปากคำผู้ต้องหาทั้งสามในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ
26 ก.ค. พ.ต.ท.สุเมธ จิตต์พานิชย์ รอง ผกก.สน.ชนะสงคราม ออกมาเผยว่า ผู้ต้องหาทั้งสามได้ส่งทนายประสานมาขอเลื่อนการให้ปากคำออกไปอีกครั้ง (เป็นครั้งที่ 2 หลังครั้งแรกขอเลื่อนได้ 30 วันแล้ว) โดยให้เหตุผลว่า ตัวทนายที่ดูแลคดีสินบน 2 ล้าน ติดภารกิจต้องเตรียมข้อมูลหลักฐานการสู้คดีทุจริตซื้อที่ดินรัชดาฯ จึงไม่สะดวกที่จะว่าความให้ผู้ต้องหาทั้งสามในช่วงเวลานี้ จำเป็นต้องขอขยายเวลาไปเป็นช่วงประมาณเดือน ส.ค.
พ.ต.ท.สุเมธ ยังยืนยันด้วยว่า พนักงานสอบสวนไม่ได้เตะถ่วงเวลาหรือเข้าข้างฝ่ายใดเป็นพิเศษ แต่เป็นสิทธิของผู้ต้องหาที่จะเลือกทนายเอง ไม่เอาทนายที่เราจัดหาให้ และว่า หลังจากนี้ ถ้าทนายของผู้ต้องหายังขอเลื่อนต่ออีก พนักงานสอบสวนก็ต้องรายงานให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงพิจารณา ซึ่งเรื่องนี้มีคณะกรรมการระดับ บช.น.ดูแลด้วย ยืนยันว่า ทุกอย่างเป็นธรรม ไม่มีลำเอียงแน่นอน แต่ต้องรอทนายของผู้ต้องหามาว่าความสู้คดีก่อน
6 ส.ค. พ.ต.อ.รังสรรค์ ประดิษฐผล ผกก.สน.ชนะสงคราม ให้สัมภาษณ์ถึงคดีสินบน 2 ล้านว่า ผู้ต้องหาทั้งสามได้ส่งทนายประสานขอเลื่อนการให้ปากคำออกไปอีก 30 วัน เนื่องจากทนายต้องเตรียมข้อมูลเอกสารต่อสู้ในหลายคดีที่อยู่ในชั้นศาล พ.ต.อ.รังสรรค์ ยืนยันด้วยว่า ไม่ใช่เราจะให้เวลาฝ่ายผู้ต้องหาเป็นกรณีพิเศษ แต่ต้องดูเหตุและผลประกอบกันด้วย ผู้สื่อข่าวถามว่า คดีนี้จะเกี่ยวข้องกับอดีตผู้นำประเทศหรือไม่ พ.ต.อ.รังสรรค์ บอกว่า ยังตอบไม่ได้ว่าเกี่ยวพันกับใครหรือไม่ ตราบใดที่ยังไม่ได้สอบปากคำผู้ต้องหา
8 ส.ค. พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน ผบก.น.1 ในขณะนั้น พูดถึงคดีสินบน 2 ล้านว่า ได้รับรายงานจาก ผกก.สน.ชนะสงครามว่า ทางทนายของผู้ต้องหาขอเลื่อนไปอีก 30 วัน โดยอ้างว่าต้องเตรียมการสู้คดีในหลายๆ เรื่อง ตนจึงได้สั่งให้ ผกก.สน.ชนะสงคราม ทำหนังสือแจ้งไปทางทนายของผู้ต้องหาเป็นครั้งสุดท้าย ให้ยื่นหลักฐานมา พล.ต.ต.อำนวย ยังทำเป็นขึงขังด้วยว่า คราวต่อไปหากขอเลื่อนอีกจะพิจารณาไม่ให้เลื่อนแล้ว ถือว่าเป็นการประวิงเวลาทำให้คดีล่าช้า และถือว่าเป็นคนละเรื่องกัน ระหว่างการแจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหาในเรือนจำกับการที่ทนายของผู้ต้องหาไปเตรียมการต่อสู้คดีอื่น หรือไม่ก็ให้ผู้ต้องหาเปลี่ยนทนายเสีย
ต่อมา 22 ส.ค. พ.ต.ท.สุเมธ จิตต์พานิชย์ รอง ผกก.สน.ชนะสงคราม พูดถึงคดีสินบน 2 ล้านว่า คาดว่าภายในต้นเดือน ก.ย.นี้คงจะสอบปากคำได้ และว่า การสอบปากคำจะเน้นไปที่ที่มาเส้นทางของเงิน 2 ล้าน เพื่อชี้ชัดในรายละเอียดต่อไป
10 ก.ย. ผู้สื่อข่าวติดตามความคืบหน้าจาก พ.ต.ท.สุเมธอีกครั้งเพราะเคยบอกว่าจะสอบปากคำผู้ต้องหาทั้งสามได้ในต้นเดือน ก.ย. ประกอบกับเป็นช่วงที่ครบกำหนด 30 วันที่ทนายของผู้ต้องหาขอเลื่อนการให้ปากคำเป็นครั้งที่สองแล้ว โดย พ.ต.ท.สุเมธ บอกว่า ได้เร่งรัดเตรียมขอเข้าสอบปากคำผู้ต้องหาทั้งสามที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพในเดือน ก.ย.นี้แน่นอน(โปรดสังเกต เงื่อนเวลาที่เคยบอกว่า “ต้นเดือน ก.ย.” เปลี่ยนไปเป็น “ภายในเดือน ก.ย.”) พ.ต.ท.สุเมธ บอกอีกว่า ที่ผ่านมายอมรับว่าทนายของผู้ต้องหาได้ขอเลื่อนการเข้าสอบปากคำ ซึ่งทางตำรวจก็ได้อนุโลมให้ แต่จนถึงขณะนี้ไม่มีเหตุอันใดจะขอเลื่อนได้อีก ตำรวจจะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
22 ก.ย. พ.ต.ท.สุเมธ เผยถึงคดีสินบน 2 ล้านว่า ตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหาทั้งสามไปแล้ว ในข้อหาให้สินบนเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 และความผิดอื่นต่อเจ้าพนักงาน
เป็นที่น่าสังเกตว่า ตำรวจใช้เวลานานถึง 3 เดือนกว่าจะเข้าแจ้งข้อหาผู้ต้องหาทั้งสาม และแม้ พ.ต.ท.สุเมธ จะบอกว่า ตำรวจได้แจ้งข้อหาผู้ต้องหาทั้งสามแล้ว แต่กลับปรากฏว่าตำรวจยังไม่ได้สอบปากคำผู้ต้องหาแต่อย่างใด โดย พ.ต.ท.สุเมธ บอกเพียงว่า ปลายเดือน ก.ย.นี้ ตำรวจจะเริ่มสอบปากคำผู้ต้องหาทั้งสาม เพื่อหาเส้นทางที่มาที่ไปของเงินสินบนดังกล่าว
แต่ในที่สุด ตำรวจก็ไม่ได้สอบปากคำผู้ต้องหาทั้งสามในช่วงปลายเดือน ก.ย.ตามที่ได้ลั่นวาจาไว้ก่อนหน้านี้ ผู้สื่อข่าวจึงสอบถามความชัดเจนจาก พ.ต.อ.รังสรรค์ ประดิษฐผล ผกก.สน.ชนะสงคราม เมื่อวันที่ 30 ก.ย. และได้คำตอบว่า ผู้ต้องหาทั้งสามได้ให้ทนายประสานมายังเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อที่จะกำหนดวันให้ปากคำแล้ว คาดว่าประมาณต้นเดือน ต.ค.นี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเดินทางเข้าสอบปากคำผู้ต้องหาในเรือนจำพิเศษกรุงเทพได้
พ.ต.อ.รังสรรค์ ผู้ซึ่งเคยประกาศว่าคดีนี้จะต้องชัดเจนใน 30 วัน ยังพูดกับผู้สื่อข่าวหลังเวลาผ่านไป 3 เดือนกว่าด้วยว่า “อย่าห่วงกังวลกันเลย ตำรวจสอบสวนผู้ต้องหาทั้งสามคนแน่ แม้จะเหลือเวลาติดคุกอีก 2 เดือนก็จะครบ 6 เดือนตามโทษที่ได้รับ ผมก็มั่นใจผู้ต้องหาไม่หนีเมื่อพ้นโทษ ทางเราจะสอบปากคำให้แล้วเสร็จก่อน 2 เดือนอยู่แล้ว เพราะได้ประสานไปทางเรือนจำแล้ว รอแค่ทนายฝ่ายผู้ต้องหานัดวันมาในช่วงต้นเดือน ต.ค.นี้ว่าเป็นวันไหนเท่านั้น เพราะทนายเขาต้องร่วมฟังคำให้การด้วย”
แต่ปรากฏว่า ช่วงต้นเดือน ต.ค.ก็ไม่มีข่าวความคืบหน้าของคดีสินบน 2 ล้านออกมาจากตำรวจ กระทั่งวันที่ 15 ต.ค. พ.ต.ท.สุเมธ จิตต์พานิชย์ รอง ผกก.สน.ชนะสงคราม จึงออกมาบอกว่า พนักงานสอบสวนได้สอบปากคำผู้ต้องหาไปแล้ว 2 ปาก คือ นายพิชิฏ และ น.ส.ศุภศรี ส่วนนายธนายังไม่ได้สอบ เนื่องจากทนายของผู้ต้องหาแจ้งว่าตัวทนายติดภารกิจต้องเดินทางไปต่างประเทศ ดังนั้นต้องรอให้ทนายกลับจากต่างประเทศก่อน พ.ต.ท.สุเมธ บอกด้วยว่า พนักงานสอบสวนจะเร่งรัดดำเนินการให้เรียบร้อยโดยเร็ว คาดว่าประมาณปลายเดือน ต.ค.จะสรุปสำนวนคดีนี้ส่งให้คณะกรรมการระดับ บช.น.พิจารณาได้
ไม่น่าเชื่อว่า คดีสินบน 2 ล้าน ซึ่งเป็นคดีสำคัญและอยู่ในความสนใจของประชาชน เพราะผู้เสียหายเป็นถึงสถาบันตุลาการ เป็นกระบวนการยุติธรรมสูงสุดของประเทศ(ศาลฎีกา) และผู้ต้องหาเป็นถึงทีมทนายของอดีตผู้นำประเทศอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณที่เป็นจำเลยในคดีทุจริตหลายคดี ตำรวจจะใช้เวลาสอบสวนมากมายถึงเพียงนี้ ทั้งที่คดีไม่ได้มีความยากหรือซับซ้อน ตำรวจยังบอกเองว่าเป็นคดีที่ง่ายมาก เพราะศาลวางแนวทางไว้แล้ว ผู้ต้องหาก็เบิกความต่อศาลไว้แล้ว ประกอบกับผู้ต้องหาก็ไม่ได้หลบหนี ที่จะต้องใช้เวลาในการติดตามตัว แต่ผู้ต้องหาอยู่ระหว่างถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ(ฐานละเมิดศาล) ตำรวจจะเข้าไปสอบปากคำเมื่อไหร่ก็ย่อมได้ แต่ตำรวจของไทยในยุครัฐบาลแฟมิลี่ของทักษิณ กลับมิได้ใส่ใจที่จะทำงานให้สมกับความเป็นกระบวนการยุติธรรมชั้นต้น ปล่อยให้ผู้ต้องหาและทนายประวิงเวลาการเข้าสอบปากคำซ้ำแล้วซ้ำเล่า กระทั่งเวลาผ่านไป 4 เดือน ยังไม่สามารถสอบผู้ต้องหาได้แล้วเสร็จ
ขนาดนายใหญ่ของผู้ต้องหาเหล่านี้(พ.ต.ท.ทักษิณ)ถูกศาลสั่งจำคุก 2 ปีในคดีซื้อที่รัชดาฯ ไปแล้ว ก็ยังไม่มีวี่แววว่า คดีสินบน 2 ล้านที่หลายฝ่ายเชื่อว่าเพื่อล้มคดีซื้อที่รัชดาฯ จะสามารถสรุปสำนวนและสั่งฟ้องได้เมื่อใด ...อยากรู้จริงๆ ว่า ตำรวจที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะ พ.ต.อ.รังสรรค์ ประดิษฐผล ผกก.สน.ชนะสงคราม และ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน ที่ดูคดีนี้มาตั้งแต่ยังเป็น ผบก.น.1 จนเดี๋ยวนี้เลื่อนชั้นมาเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(รอง ผบช.น.)แล้ว จะรู้สึก “หน้าชา” กับผลงานความล่าช้าที่ตบหน้าตัวเองตลอด 4 เดือนที่ผ่านมาบ้างหรือไม่?