xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : “ตร.” ชี้ “3 ทนายแม้ว” ไม่ผิด คดีสินบน 2 ล้าน!?!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพิชิฏ ชื่นบาน 1 ใน 3 ทนายทักษิณ ถูก จนท.นำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ หลังศาลฯ สั่งจำคุก 6 เดือนเมื่อ 25 มิ.ย.(ภาพ-เนชั่น)
อมรรัตน์ ล้อถิรธร...รายงาน

วันแห่งการได้รับอิสรภาพของ “พิชิฏ-ธนา-ศุภศรี” ทีมทนายคดีซื้อที่รัชดาฯ ของ “ทักษิณ ชินวัตร” ใกล้เข้ามาแล้ว (22 ธ.ค.) หลังถูกศาลฎีกาฯ สั่งจำคุก 6 เดือน ฐานละเมิดศาล กรณีหิ้วถุงใส่เงิน 2 ล้าน มอบให้เจ้าหน้าที่ศาลฯ น่าสังเกตว่า ขณะที่โทษทัณฑ์ฐานละเมิดศาลกำลังจะสิ้นสุด แต่โทษอาญา “ฐานติดสินบน” กำลังจะแห้ว เพราะ ตร.ไม่เพียงสอบสวนช้า แต่ล่าสุด ยังสรุปสำนวนส่งอัยการ ว่า ทนายทั้งสามไม่ผิด อย่างไรก็ตาม ต้องรออัยการชี้ขาดอีกครั้ง ว่า จะสั่งฟ้องหรือไม่ ก่อนถึงจุดนั้น ลองมาฟังเหตุผลของตำรวจที่ไม่เอาผิดทนายทั้งสามกันดูว่า น่าฟังหรือไม่ และบทสรุปของตำรวจ จะถือเป็นการ “ตบหน้าศาล” หรือ “ตบหน้าตัวเอง” กันแน่

 คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ 

ในที่สุด 3 ทนายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (นายพิชิฏ ชื่นบาน, นายธนา ตันศิริ, น.ส.ศุภศรี ศรีสวัสดิ์) ที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสั่งจำคุก 6 เดือน ฐานละเมิดอำนาจศาลด้วยการนำถุงใส่เงิน 2 ล้าน ไปมอบให้เจ้าหน้าที่ศาลฎีกาฯ เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.2551 ก็ใกล้จะได้ออกจากคุกแล้ว เพราะโทษที่ได้รับจะครบกำหนดในวันที่ 22 ธ.ค.นี้

แม้จะพ้นโทษในคดีละเมิดศาล แต่ยังมีอีก 1 คดีที่ทนายทั้งสามถูกเจ้าหน้าที่ศาลฎีกาฯ แจ้งความต่อตำรวจ สน.ชนะสงคราม ให้ดำเนินคดี ฐานติดสินบนเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 144 ซึ่งต้องลุ้นว่า ตำรวจและอัยการจะสั่งฟ้องทนายทั้งสามหรือไม่ และจะสาวถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ว่า เป็นผู้บงการให้ทนายติดสินบนเจ้าหน้าที่ศาลหรือไม่ เพราะชัดเจนว่า ทนายทั้งสาม คือ ทนายที่ดูแลคดีซื้อที่รัชดาฯ ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน เป็นจำเลย จึงเป็นไปได้สูงว่า พ.ต.ท.ทักษิณ อาจอยู่เบื้องหลังการติดสินบนครั้งนี้ แต่เมื่อการติดสินบนเจ้าหน้าที่ศาลฯ ไม่สำเร็จ ผลที่ตามมา พ.ต.ท.ทักษิณ จึงถูกศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 2 ปี

แม้องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาฯ จะเห็นว่า พฤติกรรมของทนายทั้งสามที่นำเงิน 2 ล้านไปมอบให้เจ้าหน้าที่ศาลฯ น่าจะเข้าข่ายความผิดติดสินบนตามมาตรา 144 แต่ล่าสุด (17 ธ.ค.)จากการตรวจสอบ พบว่า พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม สรุปผลสอบส่งให้อัยการแล้ว โดยชี้ว่า การกระทำของทนายทั้งสามไม่เข้าข่ายความผิดติดสินบนเจ้าพนักงาน โดยเชื่อคำอ้างของผู้ต้องหาทั้งสามว่า ไม่ได้ต้องการให้เงิน 2 ล้าน แก่เจ้าหน้าที่ศาล ตั้งใจนำขนมไปให้ แต่บังเอิญหยิบถุงผิดให้เท่านั้น

พ.ต.ท.สุเมธ จิตต์พานิชย์ รองผู้กำกับการ สน.ชนะสงคราม ให้สัมภาษณ์วิทยุผู้จัดการ (17 ธ.ค.) โดยยอมรับว่า ได้สรุปผลสอบคดีสินบน 2 ล้าน ส่งให้อัยการเมื่อ 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยจากการสอบปากคำ ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ พร้อมยืนยันว่า พวกตนหยิบถุงผิดให้เจ้าหน้าที่ศาล ดังนั้น ในแง่ข้อกฎหมาย พนักงานสอบสวนเห็นว่าไม่มีมูลเหตุจูงใจ จึงไม่สามารถเอาผิดทนายทั้งสามได้ รวมทั้งสาวไม่ถึง พ.ต.ท.ทักษิณ เช่นกัน

“มันไม่มีมูลเหตุจูงใจ มันไม่ถึงน่ะ ไม่ถึงท่านทักษิณ ท่านทักษิณก็โดนตัดสินไปแล้ว ข้อกฎหมายมันเอาไม่ได้ เพราะมันไม่ได้ให้ทำอะไร เพียงแต่ซื้อขนมไปฝาก (ถาม-มันมี 2 ระดับใช่มั้ย ระดับหนึ่ง ไม่ถึงคุณทักษิณ แต่ 3 ทนายที่เจ้าหน้าที่ศาลฟ้องมาตรา 144 (ติดสินบนเจ้าพนักงาน) เข้าข่ายมั้ย?) ตอนที่ศาลแจ้งเข้าข่าย แต่สอบไปสอบมา เจ้าหน้าที่ศาลก็ไม่ยืนยันว่าให้ (เงิน) เพื่ออะไร แต่เชื่อว่ามันเป็นเรื่องเจตนาพิเศษ เชื่อว่าให้ในทางมิชอบ แต่กฎหมายเนี่ย มูลเหตุจูงใจเนี่ย มันเล็งเห็นผลไม่ได้ มันต้อง “เพื่อ” เลย ให้ทำอะไรเลย มีปัญหาข้อกฎหมายตรงนี้ ให้อัยการพิจารณาดูอีกทีจะว่ายังไง (ถาม-แม้ทนายเหล่านี้จะดูแลคดีซื้อที่รัชดาฯ อาจจะหวังผลในคดีนี้ก็ไม่ได้?) อาจจะหวังผล แต่ไม่มีมูลเหตุ นิติกร (เจ้าหน้าที่ศาล)เขาให้การว่า ไม่ได้สั่งให้ทำอะไร (ถาม-ในการสอบปากคำทนายทั้งสามให้การว่าอย่างไรบ้าง?) ให้การปฏิเสธ เขาบอกเป็นสินน้ำใจ อ้างว่า หยิบถุงผิด มันไม่มีมูลเหตุจูงใจ ไม่ได้ให้ทำอะไรนี่ (ถาม-อย่างนี้จะถือว่าตำรวจเห็นไม่ตรงกับศาลมั้ย?) ศาลนั่นเรื่องละเมิดอำนาจศาล ศาลได้ความว่าเป็นเงินจ่ายที่ศาล ละเมิดอำนาจศาลนี่ ไม่เคร่งครัดเหมือนกฎหมายอาญา ถ้ากฎหมายอาญาต้องเคร่งครัด ในศาลเขา “เชื่อว่า” ก็ถือว่านั่นแล้ว แต่เราก็ไม่ได้โต้แย้งศาลนะ ผู้ต้องหาก็ให้การปฏิเสธตั้งแต่ทีแรก แต่เราโต้แย้งข้อกฎหมาย (ถาม-เพราะฉะนั้นตำรวจก็ไม่ต้องอายัดตัวผู้ต้องหาที่เรือนจำที่จะพ้นโทษ 22 ธ.ค.นี้แล้ว?) ฮะ ถ้าอัยการสั่งมา(สั่งฟ้อง) เราก็ส่งตัว เพราะผู้ต้องหามีตัวตนอยู่แล้ว”

พ.ต.ท.สุเมธ ย้ำด้วยว่า ต้องรอให้อัยการพิจารณาอีกครั้งว่า จะสั่งฟ้อง 3 ทนายในคดีนี้หรือไม่ หากสั่งฟ้อง พนักงานสอบสวนก็จะนำตัวผู้ต้องหาส่งให้อัยการ แต่ถ้าอัยการเห็นตามพนักงานสอบสวนว่าผู้ต้องหาไม่ผิดและไม่สั่งฟ้อง ก็ต้องส่งเรื่องให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติชี้ขาดอีกครั้งว่า จะเห็นด้วยหรือเห็นแย้ง

เมื่อฟังความเห็นของตำรวจแล้ว โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า “ไม่มีมูลเหตุจูงใจ”ว่าผู้ต้องหาติดสินบนเจ้าหน้าที่ศาล โดยเชื่อว่า ทนายทั้งสามหยิบถุงผิด แทนที่จะหยิบถุงขนมกลับหยิบถุงเงินให้เจ้าหน้าที่ศาลนั้น หลายคนอาจรับไม่ได้ เพราะขนาดองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาฯ เองยังเห็นว่าพฤติกรรมของทนายทั้งสามน่าจะเข้าข่ายติดสินบนเจ้าพนักงาน ไม่ใช่การหยิบถุงผิดตามที่ทนายทั้งสามกล่าวอ้างแต่อย่างใด

เพื่อให้สาธารณชนช่วยกันตัดสินเรื่องนี้(ก่อนที่อัยการจะสรุปผลว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องทนายทั้งสาม) จะขอนำข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่ทนายทั้งสามของ พ.ต.ท.ทักษิณนำถุงเงิน 2 ล้านไปมอบให้เจ้าหน้าที่ศาลฎีกาฯ เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.มาเล่าสู่กันฟังอีกครั้ง โดยเพื่อความน่าเชื่อถือ ขอนำข้อเท็จจริงจากผลการไต่สวนและคำวินิจฉัยของศาลฎีกาฯ ที่นำไปสู่การสั่งจำคุก 3 ทนายดังกล่าวเป็นเวลา 6 เดือนฐานละเมิดอำนาจศาล พร้อมเห็นว่าพฤติการณ์ดังกล่าวน่าจะเข้าข่ายความผิดฐานติดสินบนเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 144 จึงได้แจ้งความต่อตำรวจให้ดำเนินคดีทนายทั้งสามในที่สุด

ทั้งนี้ จากการไต่สวนข้อเท็จจริงขององค์คณะผู้พิพากษา พบว่า เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ซึ่งเป็นวันที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะเดินทางไปศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ เพื่อรายงานตัวคดีทุจริตซื้อที่รัชดาฯ ปรากฏว่า ก่อนหน้าที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะเดินทางไปศาล ทางทีมทนายของ พ.ต.ท.ทักษิณจำนวน 3 คนได้เดินทางไปศาลก่อนในเวลาประมาณ 09.30 น.ประกอบด้วย นายพิชิฏ ชื่นบาน ทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณ,น.ส.ศุภศรี ศรีสวัสดิ์ เสมียนทนายของ นายพิชิฏ และนายธนา ตันศิริ ผู้ประสานงานคดี พ.ต.ท.ทักษิณ และ คุณหญิงพจมาน ซึ่งเป็นญาติของคุณหญิงพจมานด้วย

เมื่อถึงศาล ทนายทั้งสามได้ขึ้นไปยังชั้น 4 ของศาลฎีกาฯ เพื่อยื่นคำร้องการรายงานตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ในคดีทุจริตซื้อที่รัชดาฯ จากนั้น น.ส.ศุภศรี ได้แจ้ง ม.ล.ฐิติพงศ์ ชมพูนุช นิติกรประจำแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกาฯ ว่า นายธนา ให้ไปพบ เพื่อปรึกษาคดีที่ห้องพักทนายความ เมื่อ ม.ล.ฐิติพงศ์ เข้าไปพบ นายธนา กลับยื่นถุงกระดาษซึ่งปิดผนึกมิดชิดให้ โดยไม่บอกว่าภายในบรรจุอะไร เพียงแต่บอกว่า “ระยะนี้ต้องมาติดต่อบ่อย เห็นใจเจ้าหน้าที่ เลยเอาของมาฝาก ให้ไปแบ่งกัน” จากนั้น ม.ล.ฐิติพงศ์ จึงได้เดินไปหานายรักเกียรติ วัฒนพงษ์ เลขานุการศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ แต่ไม่พบ เนื่องจากนายรักเกียรติ เดินทางไปประชุมที่รัฐสภา ม.ล.ฐิติพงศ์ จึงไปพบนายอนันต์ วงศ์ประภารัตน์ เลขานุการศาลฎีกาฯ ที่กำลังตรวจความเรียบร้อยในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ซึ่ง นายอนันต์ ได้สั่งให้เปิดถุง เมื่อพบว่าเป็นเงิน จึงสั่งให้คืนเจ้าของไป เพราะการรับถุงไว้น่าจะเป็นการไม่ชอบ อาจละเมิดอำนาจศาล และเป็นความผิดต่อเจ้าพนักงาน โดยก่อนที่เจ้าหน้าที่ศาลจะนำถุงเงินไปส่งคืนกับมือนายธนา ได้มีการถ่ายรูปเงินและถุงดังกล่าวไว้เป็นหลักฐาน

ด้าน นายธนา ได้ให้การต่อศาลระหว่างไต่สวน ว่า มีการหยิบถุงผิดให้เจ้าหน้าที่ศาล โดยอ้างว่า มีถุงที่ห่อในลักษณะเดียวกัน 2 ใบอยู่ในรถ ห่อหนึ่งเป็นเงินอยู่กระโปรงท้ายรถ ซึ่งตั้งใจจะนำไปฝากธนาคาร อีกห่อหนึ่งเป็นขนมช็อกโกแลตอยู่ที่เบาะหลังรถ ซึ่งตนได้หยิบถุงผิดไป แต่คำอ้างของนายธนาไม่มีน้ำหนักพอที่จะทำให้ศาลเชื่อได้ โดยศาลมองว่า หาก นายธนา หยิบถุงผิดจริง ทำไมจึงไม่เอะใจตอนที่เจ้าหน้าที่ศาลนำถุงเงินดังกล่าวมาคืน เพราะเจ้าหน้าที่ได้ถาม นายธนา ว่า “รู้หรือไม่ว่าข้างในมีอะไร” ซึ่ง นายธนา ก็ตอบว่ารู้ และเดินกลับไป ไม่ได้มีการตรวจสอบถุงดังกล่าวแต่อย่างใด พร้อมกันนี้ ศาลยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า หากมีของ 2 สิ่งลักษณะห่อเหมือนกัน นายธนาย่อมต้องใช้ความระมัดระวังมากกว่าปกติเพื่อไม่ให้มีการหยิบผิด อีกทั้งหาก นายธนา ต้องการมอบช็อกโกแลตให้เจ้าหน้าที่จริง ก็ควรนำไปให้ที่เคาน์เตอร์อย่างเปิดเผยเพื่อความบริสุทธิ์ใจ ด้วยเหตุนี้ศาลจึงเชื่อว่า นายธนา รู้อยู่แล้วว่าถุงกระดาษที่มอบให้เจ้าหน้าที่ศาลนั้นมีเงิน 2 ล้าน!

ส่วน นายพิชิฏ และ น.ส.ศุภศรี นั้น ศาลชี้ว่า เป็นตัวการร่วมกับ นายธนา จะบอกว่าไม่รู้ไม่เห็นไม่ได้ เนื่องจากทั้งสองร่วมอยู่ในเหตุการณ์ด้วย โดย น.ส.ศุภศรี เป็นผู้ที่บอก ม.ล.ฐิติพงศ์ ให้ไปพบ นายธนา ที่ห้องพักทนายความ และขณะที่ น.ส.ศุภศรี บอก ม.ล.ฐิติพงศ์ ทาง นายพิชิตก็อยู่ในเหตุการณ์ด้วย และหลังจากการเข้าพบ ทั้ง นายพิชิฏ และ น.ส.ศุภศรี ก็เห็น ม.ล.ฐิติพงศ์ เดินออกมาพร้อมถุงกระดาษ หากทั้งสองไม่ทราบเรื่องถุงเงิน 2 ล้าน ก็ควรจะต้องสอบถามและซักไซ้หรือบอกกล่าวให้รู้ว่าจะนำช็อกโกแลตมาให้เจ้าหน้าที่ศาลโดยไม่ต้องปิดบัง และว่า การกระทำของ นายธนา นอกจากจะเป็นเรื่องร้ายแรงแล้ว ยังก่อให้เกิดความเสียหายต่อรูปคดีและกระทบต่อวิชาชีพทนายความ แทนที่ นายพิชิฏ จะซักไซ้ไล่เรียงให้เกิดความชัดเจนหรือนำถุงสิ่งของที่ถูกต้องมาเปลี่ยนมอบให้ หรือต่อว่า นายธนา แต่ นายพิชิฏ กลับทำตามคำร้องขอของ นายธนา โดยโทรศัพท์มากล่าวขอโทษ ม.ล.ฐิติพงศ์ พร้อมทั้งสอบถามความคืบหน้าเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว พฤติการณ์ของ นายพิชิฏ และ น.ส.ศุภศรี จึงชัดแจ้งว่า มีส่วนร่วมรู้เห็นกับนายธนา และแบ่งหน้าที่กันทำ

ทั้งนี้ ศาลเห็นว่า การกระทำของบุคคลทั้งสาม ถือเป็นเหตุจูงใจให้เจ้าหน้าที่ของศาลฎีกาฯ กระทำการอันมิชอบต่อตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งอาจเชื่อมโยงเป็นประโยชน์ต่อคดีทุจริตซื้อที่รัชดาฯ ศาลยังชี้ด้วยว่า การกระทำของบุคคลทั้งสามนอกจากจะเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 31(1), 33 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 แล้ว ยังน่าจะมีมูลความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 หรือความผิดอื่นต่อเจ้าพนักงานด้วย และว่า การกระทำของบุคคลทั้งสามเป็นการกระทำที่อุกอาจท้าทายและเกิดขึ้นที่ศาลฎีกาฯ ซึ่งเป็นศาลยุติธรรมสูงสุดของประเทศ อีกทั้งบุคคลทั้งสามประกอบอาชีพทนายความและที่ปรึกษากฎหมาย ย่อมตระหนักดีว่าการกระทำของบุคคลทั้งสามจะก่อให้เกิดความเสื่อมเสียแก่สถาบันศาลยุติธรรมและจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือศรัทธาในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรในอำนาจตุลาการ จึงเห็นสมควรลงโทษสถานหนักเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างอีกต่อไป ให้จำคุกบุคคลทั้งสามคนละ 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ส่วนความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 หรือความผิดอื่นต่อเจ้าพนักงานนั้น ศาลให้นายอนันต์ เลขานุการศาลฎีกา ดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมายกับบุคคลทั้งสามและผู้เกี่ยวข้องต่อไป

ฟังข้อเท็จจริงจากทางศาลฎีกาฯ คงได้คำตอบกันแล้วว่า เหตุผลที่พนักงานสอบสวนสรุปว่า 3 ทนายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่มีมูลเหตุจูงใจหรือไม่ได้ตั้งใจที่จะติดสินบนเจ้าพนักงานนั้น ฟังขึ้นหรือไม่? แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ต้องบอกว่า ผลสรุปของพนักงานสอบสวน ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมายแต่อย่างใด เพราะคงยังจำกันได้ว่า หลังจากเจ้าหน้าที่ศาลฎีกาฯ เข้าแจ้งความต่อตำรวจให้ดำเนินคดีทนายทั้งสามฐานติดสินบนเจ้าพนักงานนั้น พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 (ผบก.น.1) ในขณะนั้น รีบออกมาส่งสัญญาณทันที (27 มิ.ย.) ว่า การให้เงินดังกล่าวไม่ถึงกับเป็นการจ้างล้มคดี และไม่เข้าข่ายให้สินบนเจ้าหน้าที่ฝ่ายตุลาการ เพราะเป็นเพียงการให้เงินเจ้าหน้าที่ธุรการ โดยอาจจะเพื่อความสะดวกในการทำคดี ไม่ถึงกับเป็นการล้มคดี พล.ต.ต.อำนวย ยังคุยโวด้วยว่า คดีนี้น่าจะใช้เวลาไม่เกิน 30 วัน เช่นเดียวกับ พ.ต.อ.รังสรรค์ ประดิษฐผล ผู้กำกับการ สน.ชนะสงครามในขณะนั้น ที่ออกมาการันตีเช่นกันว่า คดีนี้ต้องชัดเจนใน 30 วัน!

แต่สุดท้ายก็แค่ราคาคุย เพราะคดีนี้ กว่าตำรวจจะเริ่มสอบปากคำทนายทั้งสามก็ปล่อยให้เวลาผ่านไปประมาณ 4 เดือนแล้ว เนื่องจากทนายของผู้ต้องหาทั้งสามประวิงเวลาซ้ำแล้วซ้ำอีกด้วยเหตุผลที่ไม่น่าจะฟังได้ เช่น ทนายความติดภารกิจดูแลคดีอื่นๆ อยู่ จึงยังไม่มีเวลาดูคดีนี้ให้ผู้ต้องหาทั้งสาม ,ทนายติดภารกิจเดินทางไปต่างประเทศ ฯลฯ ซึ่งตำรวจก็ใจดียอมให้เลื่อนการสอบปากคำผู้ต้องหาได้ครั้งแล้วครั้งเล่า เบ็ดเสร็จแล้วกว่าตำรวจจะได้สอบปากคำผู้ต้องหาและสรุปสำนวนส่งให้อัยการ ก็ใช้เวลาไปเกือบ 6 เดือน(พอๆ กับโทษจำคุก 6 เดือนที่ทนายทั้งสามได้รับในคดีละเมิดอำนาจศาลเลยทีเดียว)

หลังจากนี้ นอกจากต้องลุ้นว่า อัยการจะสั่งฟ้อง นายพิชิฏ-นายธนา-น.ส.ศุภศรี หรือไม่ในคดีติดสินบนเจ้าหน้าที่ศาล ยังต้องลุ้นด้วยว่า สภาทนายความจะลบชื่อทนายทั้งสามออกจากทะเบียนทนายความหรือไม่? เพราะพฤติกรรมของบุคคลทั้งสามที่นำถุงใส่เงิน 2 ล้านไปมอบให้เจ้าหน้าที่ศาลฯ นั้น ถือเป็นความผิดร้ายแรง ซึ่งนายสิทธิโชค ศรีเจริญ ประธานกรรมการมรรยาทสภาทนายความ เคยบอกแล้วว่า การกระทำดังกล่าวมีโทษสถานเดียว คือ ลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความของสภาความ อย่างไรก็ตาม เมื่อการลบชื่อเป็นเรื่องใหญ่ ทางสภาทนายความจึงให้โอกาสเจ้าตัวได้ชี้แจง ซึ่งที่ผ่านมา ทนายทั้งสามก็ได้ส่งคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรให้สภาทนายความแล้ว แต่ดูเหมือนเจ้าตัวคิดว่ายังไม่น่าจะพอ จึงขอโอกาสเข้าชี้แจงต่อสภาทนายความด้วยตัวเองอีกครั้งหลังได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำวันที่ 22 ธ.ค.นี้ ซึ่งทางสภาทนายความก็อนุญาต เพื่อความเป็นธรรมแก่ทนายทั้งสาม

และเมื่อได้รับฟังคำชี้แจงของทนายทั้งสามแล้ว ขั้นตอนต่อไป กรรมการมรรยาทสภาทนายความก็จะนำคำชี้แจงหรือคำให้การดังกล่าวมาพิจารณาประกอบข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาศาลฎีกาฯ(ที่ได้ตัดสินจำคุกทนายทั้งสามเป็นเวลา 6 เดือน) ก่อนตัดสินว่าจะลบชื่อบุคคลทั้งสามออกจากทะเบียนทนายความหรือไม่ หากตัดสินลบชื่อออก จะส่งผลให้ทั้งสามไม่มีสิทธิว่าความได้เป็นเวลา 5 ปี และเมื่อพ้น 5 ปีแล้ว ผู้ถูกลบชื่อสามารถยื่นคำร้องขอต่อทะเบียนประกอบวิชาชีพทนายความได้ใหม่ แต่ นายสิทธิโชค ศรีเจริญ ประธานกรรมการมรรยาทสภาทนายความ เผยว่า ที่ผ่านมา สภาทนายความยังไม่เคยอนุญาตให้ผู้ที่กระทำผิดร้ายแรงและถูกลบชื่อรายใดได้ต่อทะเบียนเพื่อประกอบวิชาชีพทนายความอีกครั้งแต่อย่างใด!!

น.ส.ศุภศรี ศรีสวัสดิ์ เสมียนทนายของนายพิชิฏ เป็น 1 ใน 3 ผู้ต้องหาคดีสินบน 2 ล้าน
นายธนา ตันศิริ(ในวงกลม) 1 ใน 3 ผู้ต้องหาคดีสินบน 2 ล้าน ซึ่งเป็นญาติกับคุณหญิงพจมานด้วย
พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น.และอดีต ผบก.น.1ส่งสัญญาณตั้งแต่แรกว่า พฤติกรรมของ 3 ทนายทักษิณไม่ได้เป็นการจ้างล้มคดีซื้อที่รัชดาฯ
นายสิทธิโชค ศรีเจริญ ประธานกรรมการมรรยาทสภาทนายความ อยู่ระหว่างพิจารณาว่า จะลบชื่อทนายทักษิณทั้งสามออกจากทะเบียนทนายความหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น