xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนคำให้การ 7 ตุลาเลือด"บิ๊กจิ๋ว"ต้องรับผิดชอบ!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

การเอาผิดกับกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องต่อการสลายการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่บริเวณหน้ารัฐสภา และหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 โดยที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้นำเสนอรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ด้วยการสรุปชี้มูลทั้งฝ่ายการเมืองนำโดยนายสมชาย วงษ์สวัสดิ์ สมัยเป็นนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ สมัยเป็นรองนายกรัฐมนตรี และนายตำรวจระดับสูงในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พล.ต.ท.จงรัก จุฑานนท์ รองผบ.ตร. พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผบช.น. เข้าข่ายมีความผิดตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณา

วันที่ 14 ม.ค.เวลา 08.50 น. พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หนึ่งในผู้ที่เข้าให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการสิทธิฯและยังเป็นผู้หนึ่งที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายต้องได้รับโทษเข้าข่ายทำผิดกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้เดินทางเข้าชี้แจงในฐานะพยานต่อ ป.ป.ช. เป็นคนแรก ครั้งแรก ซึ่ง พล.อ.ชวลิต ก็ยังยืนยังตนเองบริสุทธิ์ไม่มีเอี่ยวกับการชี้นำให้เกิดเหตุการณ์ 7 ตุลาทมิฬ

อย่างไรก็ตาม สำหรับ"บิ๊กจิ๋ว"ถือว่า ยากที่จะปัดความรับผิดชอบ ต่อเหตุการนองเลือดที่เกิดขึ้น เนื่องจากเขาคือ บุคคลสำคัญ ที่ถูกกล่าวขานไว้ในคำให้การของ พยานหลายต่อหลายคน ที่ให้การต่อ คณะกรรมการสิทธิฯโดยระบุ ขั้นตอน ก่อนนำไปสู่ปฎิบัติการนองเลือด....

เริ่มจากหลักฐานการให้ถ้อยคำของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)ที่ให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 1 ว่า ในคืนวันที่ 6 ตุลาคม 2551 เวลาประมาณ 23.00 น. นายบุญทรง ไม่ทราบนามสกุล เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ประสานมา เพื่อขอให้ผู้ให้ถ้อยคำเดินทางไปเข้าร่วมประชุมกับคณะรัฐมนตรี ที่อาคารสนามบินดอนเมือง เมื่อผู้ให้ถ้อยคำเดินทางไปถึง คณะรัฐมนตรีพร้อมแล้ว โดยมี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายวราวุธ ศิลปอาชา บุตรชายของนายบรรหาร ศิลปอาชา และบุคคลอื่นๆ อีกหลายคน โดย พล.อ.ชวลิต สอบถามว่ามีวิธีการใดที่คณะรัฐมนตรีจะเข้าไปประชุมรัฐสภาในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ได้ ผู้ให้ถ้อยคำชี้แจงต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า 1.จะดันเข้าไปได้อย่างไร มีประชาชนจำนวนมากมาย หากดันเข้าไป จะมีคนได้รับบาดเจ็บหรือเปล่า

2.เปลี่ยนที่ประชุมได้หรือไม่ เนื่องจากมีสถานที่ที่จะสามารถใช้ในการประชุมเป็นจำนวนมากมาย หากจะยืนยันว่าจะประชุมวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ก็สามารถเปลี่ยนสถานที่ประชุมได้ เนื่องจากก่อนหน้าที่จะเข้ามาประชุม ผู้ให้ถ้อยคำได้โทรศัพท์สอบถามเลขาธิการรัฐสภา ผู้ให้ถ้อยคำจำชื่อและนามสกุลจริงไม่ได้ จำได้เพียงชื่อเล่นว่า “น้าหมู” หรือนางสุวิมล ผู้ให้ถ้อยคำแจ้งขอให้ เสนอแนะต่อรัฐบาลเพื่อขอให้เปลี่ยนสถานที่ประชุมไม่ทราบว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ เลขาธิการรัฐสภาแจ้งกับผู้ให้ถ้อยคำว่า หากจะเปลี่ยนก็ทำได้ง่ายมาก เพียงส่งข่าวผ่านทาง SMS 3.ตามรัฐธรรมนูญ รัฐบาลต้องแถลงนโยบายภายใน 15 วัน ฉะนั้น จึงสามารถประชุมได้ถึงวันที่ 9 ตุลาคม 2551 และรัฐธรรมนูญก็มิได้บัญญัติความผิดได้

หลักฐานสำคัญ พล.ต.อ.พัชรวาท ให้การว่า เมื่อผู้ให้ถ้อยคำถามนายกรัฐมนตรีว่า จะเอายังไง “นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ผู้ให้ถ้อยคำรีบไป ผู้ให้ถ้อยคำพยายามอธิบายนายกรัฐมนตรี แต่นายกรัฐมนตรีสั่งผู้ให้ถ้อยคำให้รับไปปฏิบัติ”

ขณะที่ พล.อ.ชวลิต สั่งการให้ผู้ให้ถ้อยคำปฏิบัติให้ได้ และได้เรียกผู้ให้ถ้อยคำเข้าไปในห้องเล็กอีกห้องหนึ่ง มี พล.ต.อ.โกวิท รองนายกรัฐมนตรีไปด้วย และสั่งการให้ผู้ให้ถ้อยคำไปดำเนินการ ต่อมาผู้ให้ถ้อยคำกลับไปที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล เนื่องจากผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์อยู่แล้ว ระหว่างนั้นผู้ให้ถ้อยคำได้พยายามติดต่อกับ พล.อ.ปฐมพงษ์ ซึ่งเคยขึ้นพูดบนเวทีของพันธมิตรฯ หลายครั้ง พล.อ.ปฐมพงษ์ พูดกับผู้ให้ถ้อยคำว่า ต้องนำไปปรึกษาแกนนำก่อนแล้วจะโทร.กลับมาแจ้งผู้ให้ถ้อยคำ แต่ก็ไม่ได้โทรมาหาผู้ให้ถ้อยคำแต่อย่างใด ต่อมา พล.อ.ชวลิต พร้อมด้วย พล.ต.อ.บุญฤทธิ์ พล.ต.ต.สุรพงษ์ ศิริภักดี ผู้บังคับการตำรวจรถไฟ ซึ่งเป็นคณะผู้ติดตามของพล.อ.ชวลิต ได้เดินทางไปที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล พล.อ.ชวลิต เป็นประธานในที่ประชุม พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อยู่ด้วย ในการประชุมทั้งการประชุมคณะรัฐมนตรี และการประชุมที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล

พล.อ.ชวลิต ยังได้สั่งการให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 05.00 น. เมื่อ พล.อ.ชวลิต กลับแล้วยังคงทิ้ง พล.ต.อ.บุญฤทธิ์ ไว้ควบคุมกำกับดูแลผู้ให้ถ้อยคำด้วย ในลักษณะคอยเฝ้าผู้ให้ถ้อยคำจนกระทั่งเวลาประมาณ 05.00 น. พล.ต.อ.บุญฤทธิ์ ได้กลับไปก่อน

อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปดูการให้ถ้อยคำของ พล.อ.ชวลิต ที่เคยให้ถ้อยคำไว้กับ คณะอนุกรรมการสิทธิฯระบุว่า"ตามที่ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยสรุปก็คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามจะเข้าไปข้างในแต่เข้าไม่ได้ จึงต้องรอการปฏิบัติการต่อไป นายกรัฐมนตรีหันไปสั่ง พล.อ.ชวลิต ซึ่ง พล.อ.ชวลิต เสนอว่าควรไปประชุมที่อื่น นายกรัฐมนตรีก็เห็นด้วย และบอกว่าน่าจะไปประชุมที่หอประชุมกานตรัตน์ และยังมีการพูดถึงสถานที่อื่นด้วย และในท้ายที่สุดก็มีหลายคนพูดเหมือนกันว่า ควรจะใช้ที่เดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่ พล.อ.ชวลิต เห็นว่า เป็นข้อพิจารณาเบ็ดเสร็จเด็ดขาดคือพิจารณาคำกล่าวของประธานรัฐสภาว่า ต้องการประชุมที่รัฐสภา ซึ่งทุกคนไม่ทราบจะว่าอย่างไร เพราะท่านต้องเป็นคนจัดประชุม ท่านต้องเป็นคนรับผิดชอบในการจัดที่ประชุม จึงตกลงให้มีการประชุมที่รัฐสภา นายกรัฐมนตรีหันไปถาม พล.อ.ชวลิต ได้มีผู้เสนอให้พล.อ.ชวลิต เป็นผู้รับผิดชอบทั้ง ๆ ที่ พล.อ.ชวลิต มิได้ดูแลความมั่นคง นายกรัฐมนตรีจึงสั่งให้ พล.อ.ชวลิต รับผิดชอบ ซึ่ง พล.อ.ชวลิต ก็มิได้ว่าอะไรในตอนนั้น ก็ให้ไปดูแลอารักขาไม่ให้รัฐสภาถูกเผา แล้วก็ให้มีการประชุม ให้มีการผลักดันออกไปให้มีการประชุมให้ได้ในวันรุ่งขึ้น จากนั้น พล.อ.ชวลิต ได้ไปที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล มีผู้ติดตามไปด้วยหลายคน เมื่อเดินทางไปถึงก็จัดให้มีการประชุม พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติก็อยู่ด้วย และมีนายตำรวจอีกหลายนาย แต่ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผบช.น.ไม่อยู่ ติดภารกิจรับเสด็จฯ

ถ้อยคำของ พล.ต.อ.พัชรวาท ระบุ ชัดเจนว่า พล.อ.ชวลิต เป็นผู้สั่งการให้ปฎิบัติตามแผน ขณะที่ พล.อ.ชวลิต ให้การปัดความรับผิดชอบ โดยโยนบาปให้กับ ประธานสภาผู้แทนราษฎร

ดังนั้น จากคำให้ถ้อยคำของกลุ่มบุคคลที่อยู่ในข่ายต้องรับผิดชอบ ถือเป็น ภาระหน้าที่ของ ป.ป.ช.ที่จะต้องเร่งรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม เพื่อชี้มูล ว่าใคร มีความผิด ส่วนท้ายสุด...ขบวนการยุติธรรมจะศักดิ์สิทธิ์ จนนำไปสู่การลงโทษผู้ร่วมกระทำความผิด หรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี
พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.
ตำรวจยิงปืนไฟใส่กลุ่มประชาชนหน้ารัฐสภา 7 ต.ค. 51
สิ่งที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส ยากเยียวยาทางจิตใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น