xs
xsm
sm
md
lg

"พัชรวาท"ให้การหนีผิดแฉ 7 ตุลา"ชาย-จิ๋ว"บงการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เปิดคำให้การ"พัชรวาท" ยืนยันต่อคณะกรรมการสิทธิฯ ชัดเจนทั้งเนื้อหา-หลักฐาน ระบุชัดเป็นฝีมือ "ชายเลือดเย็น-จิ๋ว" สั่งเข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์หน้าสภา วัน 7 ตุลาเลือด ด้าน"สุชาติ"โยนผิดให้ลูกน้อง อ้างวันเกิดเหตุไม่ได้สั่งยิงแก๊สน้ำตา

วานนี้ (19 ธ.ค.) ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้สรุปรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ 519/2551 ลงวันที่ 15 ธ.ค.51 คำร้องที่ 492/2551 กรณีการสลายการชุมนุมวันที่ 7 ต.ค.51 โดยในกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้ให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 1 ว่า ในคืนวันที่ 6 ต.ค.51 เวลาประมาณ 23.00 น. นายบุญทรง ไม่ทราบนามสกุล เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ประสานมา เพื่อขอให้ผู้ให้ถ้อยคำเดินทางไปเข้าร่วมประชุมกับคณะรัฐมนตรี ที่อาคารสนามบินดอนเมือง

เมื่อผู้ให้ถ้อยคำเดินทางไปถึง คณะรัฐมนตรีพร้อมแล้ว โดยมีพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกฯพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.หาดไทย นายวราวุธ ศิลปอาชา บุตรชายของนายบรรหาร ศิลปอาชา และบุคคลอื่นๆอีกหลายคน แต่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ยังมาไม่ถึง

เสนอเปลี่ยนสถานที่ประชุม

พล.ต.อ.พัชรวาท ให้ถ้อยคำว่า พล.อ.ชวลิต สอบถามว่ามีวิธีการใดที่คณะรัฐมนตรีจะเข้าไปประชุมรัฐสภาในวันที่ 7 ต.ค.51 ได้ ผู้ให้ถ้อยคำแถลงชี้แจงต่อที่ประชุมครม.ว่า 1. จะดันเข้าไปได้อย่างไร มีประชาชนจำนวนมากมาย หากดันเข้าไป จะมีคนได้รับบาดเจ็บหรือเปล่า

2. เปลี่ยนที่ประชุมได้หรือไม่ เนื่องจากมีสถานที่ที่จะสามารถใช้ในการประชุมเป็นจำนวนมาก หากจะยืนยันว่าจะประชุมวันที่ 7 ต.ค.51 ก็สามารถเปลี่ยนสถานที่ประชุมได้ เนื่องจากก่อนหน้าที่จะเข้ามาประชุม ผู้ให้ถ้อยคำได้โทรศัพท์สอบถามเลขาธิการรัฐสภา ผู้ให้ถ้อยคำจำชื่อและนามสกุลจริงไม่ได้ จำได้เพียงชื่อเล่นว่า“น้าหมู” หรือนางสุวิมล ผู้ให้ถ้อยคำแจ้งขอให้ เสนอแนะต่อรัฐบาล เพื่อขอให้เปลี่ยนสถานที่ประชุมไม่ทราบว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ เลขาธิการรัฐสภาแจ้งกับผู้ให้ถ้อยคำว่า หากจะเปลี่ยนก็ทำได้ง่ายมาก เพียงส่งข่าวผ่านทาง SMS

3.ตามรัฐธรรมนูญ รัฐบาลต้องแถลงนโยบายภายใน 15 วัน ฉะนั้น จึงสามารถประชุมได้ถึงวันที่ 9 ต.ค.51 และรัฐธรรมนูญ ก็มิได้บัญญัติความผิดได้

"สมชาย"ไล่ให้ไปปฎิบัติ

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมครม.ไม่รับข้อเสนอของผู้ให้ถ้อยคำ และยืนยันจะประชุมที่รัฐสภาในวันที่ 7 ต.ค.51 พล.อ.ชวลิต จึงสั่งการให้ผู้ให้ถ้อยคำปฏิบัติให้ได้ และได้เรียกผู้ให้ถ้อยคำเข้าไปในห้องเล็กอีกห้องหนึ่ง มีพล.ต.อ.โกวิท อยู่ด้วย และสั่งการให้ผู้ให้ถ้อยคำไปดำเนินการ ผู้ให้ถ้อยคำได้ออกจากห้องประชุมห้องเล็กนั้น แต่ยังไม่กลับเพราะต้องการพบ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ขณะนั้นนายกรัฐมนตรี ยังมาไม่ถึง แต่พอนายกรัฐมนตรีมาถึงพร้อมกับ พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รอง ผบ.ตร. ผู้ให้ถ้อยคำถามนายกรัฐมนตรีว่า จะเอายังไง "นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ผู้ให้ถ้อยคำรีบไป ผู้ให้ถ้อยคำพยายามอธิบายนายกรัฐมนตรี แต่นายกรัฐมนตรีสั่งผู้ให้ถ้อยคำให้รับไปปฏิบัติ"

"จิ๋ว-จงรัก"ประชุมวางแผน

จากนั้นครม.ได้ดำเนินการประชุมต่อ ส่วนผู้ให้ถ้อยคำกลับไปที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล เนื่องจากผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์อยู่แล้ว ระหว่างนั้นผู้ให้ถ้อยคำได้พยายามติดต่อกับ พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ ซึ่งเคยขึ้นพูดบนเวทีของพันธมิตรฯหลายครั้ง พล.อ.ปฐมพงษ์ พูดกับผู้ให้ถ้อยคำว่า ต้องนำไปปรึกษาแกนนำก่อน แล้วจะโทร.กลับมาแจ้งผู้ให้ถ้อยคำ แต่ก็ไม่ได้โทร.มาหาผู้ให้ถ้อยคำแต่อย่างใด

ต่อมา พล.อ.ชวลิต พร้อมด้วย พล.ต.อ.บุญฤทธิ์ พล.ต.ต.สุรพงษ์ ศิริภักดี ผู้บังคับการตำรวจรถไฟ ซึ่งเป็นคณะผู้ติดตามของพล.อ.ชวลิต ได้เดินทางไปที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล พล.อ.ชวลิต เป็นประธานในที่ประชุม พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รอง ผบ.ตร. อยู่ด้วย ในการประชุมทั้งการประชุมคณะรัฐมนตรี และการประชุมที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล

อ้างเป็นมติ ครม.สั่งสลาย

นอกจากนั้นยังมี พล.ต.อ.วิโรจน์ พหลเวชช์ รองผบ.ตร. ฝ่ายความมั่นคง ซึ่งดูแลการปฏิบัติตามแผนกรกฎ 48 พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัตร รองผบ.ตร. พล.อ.ชวลิต แจ้งว่า ครม.มีมติว่าพรุ่งนี้จะต้องไปประชุมเพื่อแถลงนโยบายที่รัฐสภาให้ได้ ผู้ให้ถ้อยคำยืนยันว่า "พล.อ.ชวลิต เน้นว่าเป็นมติคณะรัฐมนตรี และจะต้องประชุมรัฐสภาให้ได้" การสั่งให้ปฏิบัติหรือไม่จะอยู่ที่ผู้บัญชาการเหตุการณ์ โดยตกลงกันว่าจะเข้าทางประตูทางออกรัฐสภาตรงสามแยกพิชัย โดยต้องเปิดเส้นทางให้มีการประชุมให้ได้ ซึ่งผู้ให้ถ้อยคำรู้สึกเป็นห่วงมาก ขั้นตอนการปฏิบัติจริงๆแล้ว อยู่ที่ผู้บัญชาการเหตุการณ์ คือ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผบช.น. และพล.ต.อ.ปานศิริ รองผบ.ตร. พล.ต.ท.สุชาติ ผู้บัญชาการเหตุการณ์ได้ไปประชุมวางแผนกันในกลุ่มเล็ก ซึ่งตามแผนกรกฎ 48 หากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้น ก็สามารถดำเนินการตามแผนกรกฎได้ทันที

"จิ๋ว"สั่งสลายก่อน 05.00 น.

พล.อ.ชวลิต ได้สั่งการให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 05.00 น. เมื่อพล.อ.ชวลิต กลับแล้วยังคงทิ้งพล.ต.อ.บุญฤทธิ์ ไว้ควบคุมกำกับดูแลผู้ให้ถ้อยคำด้วย ในลักษณะคอยเฝ้าผู้ให้ถ้อยคำจนกระทั่งเวลาประมาณ 05.00 น. พล.ต.อ.บุญฤทธิ์ ได้กลับไปก่อน ส่วนผู้ให้ถ้อยคำกลับตอนสายๆ ผู้ให้ถ้อยคำดูเหตุการณ์ทางโทรทัศน์ ส่วนการรายงานยังไม่มีการดำเนินการตามที่ พล.อ.ชวลิต สั่งให้เข้าดำเนินการในเวลา 05.00 น. เพื่อเปิดช่องทางให้คณะรัฐมนตรีเข้าประชุมให้ได้ การสนธิกำลังจากหน่วยต่างๆไม่ว่าจะเป็นกำลังจากหน่วยใดก็ตาม ผู้บัญชาการเหตุการณ์จะเป็นผู้ควบคุมกำกับดูแลกำลังพลทุกหน่วยที่เข้าปฏิบัติงานตามแผนกรกฎ ผู้ให้ถ้อยคำดูจากโทรทัศน์ในช่วงเช้า ผู้ให้ถ้อยคำไม่เห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจถือกระบองแต่อย่างใด

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 พ.ย.51 นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 305/2551 ให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. มาปฏิบัติงานสำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้ได้รับเงินเดือนของสังกัดเดิมไปก่อน และให้ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ เจรตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้รักษาราชการแทน ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย.51 เป็นต้นไป

"สุชาติ"ปากแข็งไม่ได้สั่งยิง

ด้าน พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผบช.น. ได้ให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สรุปว่าในการควบคุมฝูงชนและการปราบจลาจลที่เกิดขึ้นในพื้นที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล เป็นไปตามแผนกรกฎ 48 และแผนตุลา 50 แผนการปฏิบัติปกติ กองบัญชาการตำรวจนครบาล จะเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ และมี รองผบช.น.เป็นผู้ช่วย หมุนเวียนกัน

ต่อมาในช่วงเช้า เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการจนสามารถเปิดประตูทางเข้ารัฐสภา ที่ถนนพิชัยได้ เมื่อประชุมสภาเสร็จบรรดาส.ส.-ส.ว. ไม่สามารถออกจากรัฐสภาได้ เพราะผู้ชุมนุมปิดล้อมรัฐสภาไว้

เวลา 15.00 น. มีการเตรียมการเพื่อเปิดทางที่ประตูรัฐสภา ที่ถนนพิชัย พล.ต.ต.เอกรัฐ ได้เจรจาต่อรองกับแกนนำ ขอเปิดทางเกือบ 1 ชั่วโมง แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงต้องใช้กำลังเปิดทาง ได้รับรายงานว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายราย มีผู้ได้รับบาดเจ็บขาขาดจากการควบคุมฝูงชนด้วย

สำหรับแก๊สน้ำตาหน่วยงานที่ปฏิบัติงานในวันดังกล่าว เป็นไปตามคำสั่งและแผนที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จัดทำไว้ โดยหน่วยผู้ใช้แก๊สน้ำตามี 3 หน่วย คือ นเรศวร อรินทราช กองปราบ

วันที่ 7 ต.ค.51 เวลา 08.00 น. พล.ต.ต.ลิขิต กลิ่นอวล เป็น รองผบ.เหตุการณ์ พล.ต.ต.เอกรัฐ มีปรีชา รองผบ.เหตุการณ์ เป็นผู้ช่วยของผู้ให้ถ้อยคำ ในการควบคุมดูแล ตั้งแต่เวลา 08.00-20.00 น. ผู้ให้ถ้อยคำไม่ได้เป็นผู้สั่งยิงแก๊สน้ำตา ทั้งนี้การปฏิบัติแล้วแต่สถานการณ์ในพื้นที่ขณะนั้น โดยมีผู้ควบคุมกำลังของหน่วยนั้นๆ เป็นผู้สั่งการ

ภายหลังการควบคุมการชุมนุมในช่วงเช้าของวันที่ 7 ต.ค.51 ที่บริเวณสามแยกพิชัยตรงข้ามประตูทางออกของรัฐสภาแล้ว ผู้ควบคุมดูแลกำลังของ ตปพ. เป็นผู้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังและอาวุธระเบิดแก๊สน้ำตา เข้าควบคุมการชุมนุมอีกครั้งหนึ่ง ในช่วงเย็นของวันที่ 7 ต.ค. 51 ที่บริเวณรัฐสภา
กำลังโหลดความคิดเห็น