xs
xsm
sm
md
lg

คำต่อคำ “พัชรวาท” คิดหนีผิดโบ้ย “ชาย-จิ๋ว” สั่งสลาย 7 ตุลาเลือด!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ
เปิดคำให้การ “พัชรวาท วงษ์สุวรรณ” ยืนยันต่อคณะกรรมการสิทธิฯ ชัดเจนทั้งเนื้อหา-หลักฐาน ระบุชัดเป็นฝีมือ “ชายเลือดเย็น-จิ๋ว” สั่งเข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์หน้าสภา วัน 7 ตุลาทมิฬ

วันนี้ (19 ธ.ค.) ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้สรุปรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่ 519/2551 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2551 คำร้องที่ 492/2551 กรณีการสลายการชุมนุมวันที่ 7 ตุลาคม 2551 โดยในกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้ให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 1 ว่า

ในคืนวันที่ 6 ตุลาคม 2551 เวลาประมาณ 23.00 น. นายบุญทรง ไม่ทราบนามสกุล เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ประสานมา เพื่อขอให้ผู้ให้ถ้อยคำเดินทางไปเข้าร่วมประชุมกับคณะรัฐมนตรี ที่อาคารสนามบินดอนเมือง เมื่อผู้ให้ถ้อยคำเดินทางไปถึง คณะรัฐมนตรีพร้อมแล้ว โดยมี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายวราวุธ ศิลปอาชา บุตรชายของนายบรรหาร ศิลปอาชา และบุคคลอื่นๆ อีกหลายคน ผู้ให้ถ้อยคำจำไม่ได้ทั้งหมด ยกเว้นนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ยังมาไม่ถึง พล.อ.ชวลิต สอบถามผู้ให้ถ้อยคำว่ามีวิธีการใดที่คณะรัฐมนตรีจะเข้าไปประชุมรัฐสภาในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ได้ผู้ให้ถ้อยคำแถลงชี้แจงต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า 1.จะดันเข้าไปได้อย่างไร มีประชาชนจำนวนมากมาย หากดันเข้าไป จะมีคนได้รับบาดเจ็บหรือเปล่า

2.เปลี่ยนที่ประชุมได้หรือไม่ เนื่องจากมีสถานที่ที่จะสามารถใช้ในการประชุมเป็นจำนวนมากมาย หากจะยืนยันว่าจะประชุมวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ก็สามารถเปลี่ยนสถานที่ประชุมได้ เนื่องจากก่อนหน้าที่จะเข้ามาประชุม ผู้ให้ถ้อยคำได้โทรศัพท์สอบถามเลขาธิการรัฐสภา ผู้ให้ถ้อยคำจำชื่อและนามสกุลจริงไม่ได้ จำได้เพียงชื่อเล่นว่า “น้าหมู” หรือนางสุวิมล ผู้ให้ถ้อยคำแจ้งขอให้ เสนอแนะต่อรัฐบาลเพื่อขอให้เปลี่ยนสถานที่ประชุมไม่ทราบว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ เลขาธิการรัฐสภาแจ้งกับผู้ให้ถ้อยคำว่า หากจะเปลี่ยนก็ทำได้ง่ายมาก เพียงส่งข่าวผ่านทาง SMS 3.ตามรัฐธรรมนูญ รัฐบาลต้องแถลงนโยบายภายใน 15 วัน ฉะนั้น จึงสามารถประชุมได้ถึงวันที่ 9 ตุลาคม 2551 และรัฐธรรมนูญก็มิได้บัญญัติความผิดได้

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไม่รับข้อเสนอของผู้ให้ถ้อยคำ และยืนยันจะประชุมที่รัฐสภาในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 พล.อ.ชวลิต จึงสั่งการให้ผู้ให้ถ้อยคำปฏิบัติให้ได้ และได้เรียกผู้ให้ถ้อยคำเข้าไปในห้องเล็กอีกห้องหนึ่ง มี พล.ต.อ.โกวิท รองนายกรัฐมนตรีไปด้วย และสั่งการให้ผู้ให้ถ้อยคำไปดำเนินการ ผู้ให้ถ้อยคำได้ออกจากห้องประชุมห้องเล็กนั้น แต่ยังไม่กลับเพราะต้องการพบนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ขณะนั้นนายกรัฐมนตรียังมาไม่ถึง พอนายกรัฐมนตรีมาถึง พร้อมกับ พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ให้ถ้อยคำถามนายกรัฐมนตรีว่า จะเอายังไง “นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ผู้ให้ถ้อยคำรีบไป ผู้ให้ถ้อยคำพยายามอธิบายนายกรัฐมนตรี แต่นายกรัฐมนตรีสั่งผู้ให้ถ้อยคำให้รับไปปฏิบัติ”

จากนั้นคณะรัฐมนตรีได้ดำเนินการประชุมต่อ ส่วนผู้ให้ถ้อยคำกลับไปที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล เนื่องจากผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์อยู่แล้ว ระหว่างนั้นผู้ให้ถ้อยคำได้พยายามติดต่อกับ พล.อ.ปฐมพงษ์ ซึ่งเคยขึ้นพูดบนเวทีของพันธมิตรฯ หลายครั้ง พล.อ.ปฐมพงษ์ พูดกับผู้ให้ถ้อยคำว่า ต้องนำไปปรึกษาแกนนำก่อนแล้วจะโทร.กลับมาแจ้งผู้ให้ถ้อยคำ แต่ก็ไม่ได้โทร.มาหาผู้ให้ถ้อยคำแต่อย่างใด ต่อมา พล.อ.ชวลิต พร้อมด้วย พล.ต.อ.บุญฤทธิ์ พล.ต.ต.สุรพงษ์ ศิริภักดี ผู้บังคับการตำรวจรถไฟ ซึ่งเป็นคณะผู้ติดตามของพล.อ.ชวลิต ได้เดินทางไปที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล พล.อ.ชวลิต เป็นประธานในที่ประชุม พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อยู่ด้วย ในการประชุมทั้งการประชุมคณะรัฐมนตรี และการประชุมที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล

นอกจากนั้นยังมี พล.ต.อ.วิโรจน์ พหลเวชช์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ฝ่ายความมั่นคง ซึ่งดูแลการปฏิบัตตามแผนกรกฎ 48 พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัตร รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.อ.ชวลิต แจ้งว่า คณะรัฐมนตรีมีมติว่า พรุ่งนี้จะต้องไปประชุมเพื่อแถลงนโยบายที่รัฐสภาให้ได้ ผู้ให้ถ้อยคำยืนยันว่า “พล.อ.ชวลิต เน้นว่าเป็นมติคณะรัฐมนตรี และจะต้องประชุมรัฐสภาให้ได้” การสั่งให้ปฏิบัติหรือไม่จะอยู่ที่ผู้บัญชาการเหตุการณ์ โดยตกลงกันว่าจะเข้าทางประตูทางออกรัฐสภาตรงสามแยกพิชัย โดยต้องเป็นเส้นทางให้มีการประชุมให้ได้ ซึ่งผู้ให้ถ้อยคำรู้สึกเป็นห่วงมากขั้นตอนการปฏิบัติจริงๆ แล้ว อยู่ที่ผู้บัญชาการเหตุการณ์ คือ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และพล.ต.อ.ปานศิริ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.สุชาติ ผู้บัญชาการเหตุการณ์ได้ไปประชุมวางแผนกันในกลุ่มเล็ก ซึ่งตามแผนกรกฎ 48 หากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นก็สามารถดำเนินการตามแผนกรกฎได้ทันที

พล.อ.ชวลิต ได้สั่งการให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 05.00 น. เมื่อ พล.อ.ชวลิต กลับแล้วยังคงทิ้ง พล.ต.อ.บุญฤทธิ์ ไว้ควบคุมกำกับดูแลผู้ให้ถ้อยคำด้วย ในลักษณะคอยเฝ้าผู้ให้ถ้อยคำจนกระทั่งเวลาประมาณ 05.00 น. พล.ต.อ.บุญฤทธิ์ ได้กลับไปก่อน ส่วนผู้ให้ถ้อยคำกลับตอนสายๆ ผู้ให้ถ้อยคำดูเหตุการณ์ทางโทรทัศน์ ส่วนการรายงานยังไม่มีการดำเนินการตามที่ พล.อ.ชวลิต สั่งให้เข้าดำเนินการในเวลา 05.00 น. เพื่อเปิดช่องทางให้คณะรัฐมนตรีเข้าประชุมให้ได้ การสนธิกำลังจากหน่วยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกำลังจากหน่วยใดก็ตาม ผู้บัญชาการเหตุการณ์จะเป็นผู้ควบคุมกำกับดูแลกำลังพลทุกหน่วยที่เข้าปฏิบัติงานตามแผนกรกฎ ผู้ให้ถ้อยคำดูจากโทรทัศน์ในช่วงเช้า ผู้ให้ถ้อยคำไม่เห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจถือกระบองแต่อย่างใด

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 พ.ย.2551 นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งสำนักนายรัฐมนตรี ที่ 305/2551 ให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มาปฏิบัติงานสำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้ได้รับเงินเดือนของสังกัดเดิมไปก่อน และให้ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ เจรตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้รักษาราชการแทน ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2551 เป็นต้นไป

คำสั่งดังกล่าวระบุว่า “คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องให้ข้าราชการปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ความว่า อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (9) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และมาตรา 72 (1) แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้ได้รับเงินเดือนจากสังกัดเดิมไปพลางก่อน และให้ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสิรฐ จเรตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้รักษาราชการแทน ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2551 ลงชื่อ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี”

สำหรับสาเหตุการสั่งย้ายฟ้าผ่าครั้งนี้ เหตุผลหลักน่าจะมาจากกรณีที่ พล.ต.อ.พัชรวาท ไม่สนองนโยบายรัฐบาล ในการแก้ไขปัญหาการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร ขั้นเด็ดขาด ปล่อยให้มีการยึดสนามบินสุวรรณภูมิ และทำเนียบรัฐบาลชั่วคราว สนามบินดอนเมือง ขณะเดียวกันการแต่งโยกย้ายนายตำรวจระดับรอง ผบก.-สว.วาระประจำปี ที่ผ่านมา นายตำรวจหลายนายซึ่งเป็นเด็กเส้นสายนักการเมืองพรรคพลังประชาชน ไม่ได้รับการแต่งตั้ง โดยเฉพาะสาย “เจ๊แดง” ซึ่งสาเหตุทั้งสองข้อที่กล่าวมาเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ พล.ต.อ.พัชรวาท ถูกสั่งให้ช่วยราชการ ทั้งที่ยังเหลืออายุราชการเกือบ 1 ปี

ทั้งนี้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เป็นน้องชายสายเลือดเดียวกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการทหารบก ที่เป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติเกือบทั้งคณะ โดย พล.อ.ประวิตร เป็นแคนดิเดตจ่อนั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในรัฐบาล ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี
กำลังโหลดความคิดเห็น