ดีเอสไอเดินหน้าสอบคดีบุกรุกที่ดินพังงา-ภูเก็ต หลังพบมีข้าราชการและนักการเมืองท้องถิ่นกว่า 10 ราย เกี่ยวข้องออกเอกสารสิทธิที่ดิน 500 ไร่ บนเขาหน้ายักษ์ จ.พังงา ขายนักลงทุนต่างชาติราคาสูงกว่าหมื่นล้าน
วันนี้ (8 ม.ค.) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.ท.ประวุฒิ วงศ์สีนิล ผอ.ส่วนคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการตรวจสอบกรณีการบุกรุกครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ภาคใต้ว่า ในระหว่างวันที่ 19-30 ม.ค.นี้ ดีเอสไอจะลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต และ จ.พังงา เพื่อตรวจสอบการบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลน ชายฝั่งทะเล และที่ธรณีสงฆ์ โดยจะเรียกพยานบุคคลเข้าให้การต่อพนักงานสอบสวน ในเบื้องต้นพบว่ามีการบุกรุกและนำไปขอออกเอกสาร สค.1 เป็นจำนวนมาก โดยขั้นตอนการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ดีเอสไอจะร่วมมือกับภาคประชาสังคม ใช้รัฐธรรมนูญว่าด้วยสิทธิชุมชน เป็นเครื่องมือในการเพิกถอนที่ดิน ซึ่งเป็นช่องทางด้านการปกครองที่รวดเร็วกว่าการยื่นเรื่องให้กรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิ ซึ่งขั้นตอนของทางราชการต้องใช้เวลานาน โดยที่ดินบางแปลงใช้เวลาตรวจสอบเพื่อเพิกถอน เวลาผ่านไป 3-4 ปีก็ยังไม่มีความคืบหน้า
พ.ต.ท.ประวุฒิ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการบุกรุกพื้นที่เขาหน้ายักษ์ ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาลำปี อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ทางดีเอสไอเตรียมเสนอขออนุมัติให้คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) รับเป็นคดีพิเศษ เนื่องจากผลการสอบสวนที่มีความคืบหน้ากว่า 70% บ่งชี้ว่า มีข้าราชการและนักการเมืองท้องถิ่น 12-13 ราย เกี่ยวข้องกับการบุกรุก โดยพื้นที่ดังกล่าวเดิมเป็นพื้นที่ไม่มีผู้อยู่อาศัย แต่มีนายทุนร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐร่วมกันขอออกเอกสารสิทธิ หลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ จนกระทั่งปี 2543 มีการทำเอกสารเท็จและยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง จนศาลอนุญาตให้ออกเอกสารสิทธิเนื้อที่ 500 ไร่ จากนั้นได้มีนายหน้านำเอกสารสิทธิที่ดินไปเสนอขายให้กับนักลงทุนชาวต่างชาติในราคาไร่ละ 21 ล้านบาท คิดเป็นเงินกว่า 10,000 ล้านบาท คดีนี้ดีเอสไอกับอุทยานแห่งชาติเขาลำปี จะร่วมกันฟ้องต่อศาลปกครองให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาคดีใหม่อีกครั้ง ภายหลังมีการตรวจสอบพบพยานหลักฐานใหม่ โดยคดีนี้มีความจำเป็นต้องเร่งสอบสวนเนื่องจากนายหน้าค้าที่ดินพยายามจะนำนักลงทุนชาวต่างชาติเข้าไปดูพื้นที่เพื่อตกลงซื้อขาย แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าไปในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ
พ.ต.ท.ประวุฒิ กล่าวต่อไปว่า ดีเอสไอจะเข้าพิสูจน์เอกสารสิทธิที่ดินใน ต.โคกลอย และ ต.ตะกั่วทุ่ง ซึ่งมีการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติกว่า 100 แปลง โดยกลุ่มนายทุนชาวไทยจะนำที่ดินไปขอออกเอกสาร สค.1 ทั้งนี้ ในเดือน ก.พ.นี้ กรมที่ดินได้ออกประกาศงดการออกเอกสาร สค.1 ที่ดินใน ต.โคกลอย และ ต.ตะกั่วทุ่ง เพื่อไม่ให้มีการบุกรุกเพิ่มเติม ซึ่งดีเอสไอจะร่วมกับภาคประชาสังคมในการสร้างศูนย์การเรียนรู้ให้ประชาชนมีความรู้เรื่องการออกเอกสารสิทธิเพื่อป้องกันไม่ให้นายทุนเข้ามาหลอกลวง