xs
xsm
sm
md
lg

ผู้การกองปราบเทียบตัวอย่างคดีพันธมิตรฯอาจไม่เข้าข่ายก่อการร้าย

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พล.ต.ต.พงษ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผบก.ป.
ผู้บังคับการกองปราบปราม ให้ความเห็นแก๊งไข่แม้วแจ้งจับพันธมิตรฯข้อหาก่อการร้าย สตช.คงต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการ แต่ยกตัวอย่างเป็นนัย อาจไม่เข้าข่ายการก่อการร้าย

วันนี้ (4 ธ.ค.) ที่กองปราบปราม พล.ต.ต.พงษ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผบก.ป.กล่าวถึงความคืบหน้ากรณี นพ.เหวง โตจิราการ นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ประธานสมาพันธ์ประชาธิปไตย แจ้งจับแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ทั้งรุ่น 1 และรุ่น 2 รวม 12 คน ในความผิดฐาน “ผู้ใดกระทำการอันเป็นความผิดอาญา กระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ระบบการขนส่งสาธารณะ ระบบโทรคมนาคม หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ การกระทำนั้นมีความมุ่งหมายเพื่อขู่เข็ญ หรือบังคับรัฐบาลไทยให้กระทำการหรือไม่กระทำการใดอันจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ยแรง หรือสร้างความปั่นป่วนโดยให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน ผู้นั้นกระทำความผิดฐานก่อการร้าย” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1(2) ว่า คดีนี้พนักงานสอบสวนได้รายงานให้ตนทราบแล้ว และก็ได้สั่งการให้ดำเนินการทันที ตามขั้นตอนและระเบียบปฏิบัติของกองปราบปราม คดีนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้น ก็จำต้องมีการพิจารณากันหลายด้าน นอกจากนี้ ยังทราบว่า มีผู้เสียหายเข้าแจ้งความไว้ที่ สน.ดอนเมือง และ สภ.ราชาเทวะ จ.สุมทราปราการ อีกด้วย จึงคาดว่า ทางผู้บังคับบัญชาระดับสูง คงมีคำสั่งแต่งตั้งพนักงานสอบสวนขึ้นมาเป็นรูปคณะกรรมการพิจารณากันต่อไป

“ส่วนตัวแล้วสำหรับคดีนี้ ตนในฐานะพนักงานสอบสวน คงให้ความเห็นอะไรไม่ได้ เพราะอาจทำให้ไปมีส่วนต่อความคิดเห็นของคณะกรรมการได้” ผบก.ป.กล่าว

พล.ต.ต.พงษ์พัฒน์ กล่าวต่อถึงคำว่าการก่อการร้ายด้วยว่า ตามหลักสากล หรือว่าตามหลักวิชาการ คำว่า การก่อการร้าย ก็คือ “การกระทำของคนกลุ่มใดๆ ที่จะทำให้เกิดความหวาดกลัว เกิดขึ้นในสังคม ไม่ว่าจะใช้วิธีการใดๆ ก็ตาม เช่น หากเป็นคดีฆาตกรรมธรรมดา ก็อาจเป็นเรื่องการฆ่าคนตายแล้วนำศพไปทิ้งหรือฝัง เพื่ออำพรางคดี ส่วนการก่อการร้ายก็จะใช้วิธีการฆ่าแล้วตัดคอนำไปทิ้งไว้ในกลางตลาด ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะสร้างความหวาดกลัวให้กับคนทั่วไป แต่พฤติกรรมของกลุ่มพันธมิตรฯที่พาผู้ชุมนุมบุกยึดสนามบินนั้น ตนคงไม่สามารถให้ความเห็นในเรื่องนี้ได้

แหล่งข่าวจากพนักงานสอบสวน บก.ป.กล่าวว่า หากดูตามตัวบทกฎหมายแล้ว พบว่า การกระทำดังกล่าวของกลุ่มพันธมิตรฯนั้น น่าจะเข้าข่ายความผิดมาตราดังกล่าวจริง แต่ทั้งนี้ ศาลต้องดูที่เจตนา เพราะกลุ่มพันธมิตรฯไม่ได้ทำลายทรัพย์สินของทางสนามบินแต่อย่างใด และยังไม่มีหลักฐานว่ากลุ่มแกนนำสั่งการให้ยึดสนามบินอีกด้วย

“การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เป็นการชุมนุมที่รัฐธรรมนูญให้สิทธิเสรีภาพไว้ ซึ่งมีตัวอย่างคำพิพากษายกฟ้องพันธมิตรฯบุกทำเนียบ เมื่อปี 2549 แล้ว และที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ยกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว คดีสำนักงานเลขาธิการนายกฯ ฟ้องพันธมิตรฯให้ออกจากทำเนียบ อย่างไรก็ตาม ต้องรวบรวมพยานหลักฐานทั้งภาพถ่ายและสอบสวนผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งจะดำเนินการตามกฎหมายว่ากันไปตามหลักฐานที่ปรากฏ” แหล่งข่าวคนเดิม กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น