xs
xsm
sm
md
lg

เปิดคำพิพากษาจำคุกแม้ว เซ็นให้เมียซื้อที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริต ไร้จริยธรรมทางการเมือง!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
เปิดคำพิพากษาย่อ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินจำคุก “ทักษิณ” 2 ปี ฐานผิดกฎหมาย ป.ป.ช.โดยไม่รอลงอาญา เพราะเป็นนายกรัฐมนตรี กลับฝ่าฝืนกฎหมาย ทั้งที่ต้องกระทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดี ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ประพฤติตนในสิ่งที่ดีงามตามจริยธรรมของนักการเมืองให้เหมาะสมกับที่ได้รับความไว้วางใจในตำแหน่งหน้าที่อันสำคัญยิ่ง

 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง องค์คณะผู้พิพากษาศาลฯอ่านคำพิพากษา คดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาฯ 

วันนี้ (21 ต.ค.) เมื่อเวลา 14.00 น.ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง นายทองหล่อ โฉมงาม ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา พร้อมองค์คณะ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษกจำนวน 33 ไร่ มูลค่า 772 ล้านบาทเศษ ที่ อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ร่วมกันเป็นคู่สัญญา หรือมีส่วนได้ส่วนเสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐ ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดีและเป็นเจ้าพนักงาน และผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นฯ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ.ศ.2542 ม.4, 100 และ 122 ประมวลกฎหมายอาญา ม.33, 83, 86, 91, 152 และ 157 ซึ่งท้ายคำฟ้อง อัยการสูงสุด ขอศาลมีคำสั่งให้ยึดที่ดินและเงินที่ซื้อที่ดิน อันเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำผิดให้ตกเป็นของแผ่นดินด้วย

โดยศาลพิเคราะห์แล้ว มีปัญหาที่จำเลยที่ 1-2 โต้แย้งว่า ประกาศ คณะปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 30 เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ลงวันที่ 30 ก.ย.49 ข้อ 2 และข้อ 5 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4, 100 และ 122 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ปี 2540, รัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2549, รัฐธรรมนูญปี 2550 ศาลเห็นว่า เรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 5/2551 แล้วว่า ประกาศ คปค. ฉบับที่ 30 ไม่ขัดหรือแย้งต่อ รธน.ปี 2550 และมีคำวินิจฉัยที่ 11/ 2551 ว่า ม.4, 100 และ ม.122 ว่า ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐบธรรม 2550 ม.26-29 ม.39 และ 43 เช่นกัน องค์คณะจึงมีมติเอกฉันท์ว่าข้อต่อสู้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อว่า พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.ถูกยกเลิกโดยประกาศ คปค.ฉบับที่ 3 หรือไม่ซึ่งที่จำเลยทั้งสองโต้แย้งว่าเมื่อประกาศ คปค.ฉบับที่ 3 ให้รัฐธรรมนูญ 2540 สิ้นสุดลงวันที่ 19 ก.ย.49 มีผลทำให้ พ.ร.บ.ดังกล่าวสิ้นสุดลงตามไปด้วย โดยต่อมาวันที่ 22 ก.ย.49 คปค.ได้ออกประกาศ คปค.ฉบับที่ 19 ให้ พ.ร.บ.ดังกล่าวใช้บังคับต่อไป แต่การใช้บังคับก็ต้องเป็นเฉพาะกรณีที่เป็นความผิดที่เกิดขึ้นตั่งแต่วันที่ 22 ก.ย.49 เป็นต้นไปเท่านั้น ศาลเห็นว่า การทำรัฐประหารเป็นการยึดอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการมารวมเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหรือคณะหนึ่งคณะใดใช้อำนาจนั้น แต่ไม่ได้เป็นการประสงค์ล้มล้างการใช้อำนาจแต่อย่างใด โดยเมื่อ คปค.ยึดอำนาจแล้วออกประกาศ คปค.ฉบับที่ 3 ที่ให้รัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรี และศาลรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง แต่ศาลอื่นยังคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดีได้ จึงแสดงให้เห็นว่า กฎหมายที่ยังใช้อยู่ในขณะนั้นไม่ได้ถูกยกเลิกไปด้วย ดังนั้น แม้ พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.จะเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งตราขึ้นใช้โดยชอบแล้ว ดังนั้น ย่อมมีสถานะภาพเทียบเท่ากับกฎหมายทั่วไป ถือว่าไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญและยังสามารถใช้บังคับใช้ได้ โดยไม่เกี่ยวว่ารัฐธรรมนูญจะมีอยู่หรือไม่ ดังนั้นการสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญ 2540 จึงไม่มีผลทำให้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงด้วยแต่อย่างใด ส่วนที่ คปค.ออกประกาศฉบับที่ 19 ให้ พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.ใช้บังคับต่อไปก็เป็นการยืนยันว่ากฎหมายดังกล่าวไม่ได้ถูกยกเลิก องค์คณะจึงมีมติเอกฉันท์ว่า พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.ยังมีผลบังคับใช้อยู่ไมได้ถูกยกเลิกโดยประกาศ คปค.ฉบับที่ 3 ข้อโต้แย้งของจำเลยทั้งสองจึงฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อว่า คตส.มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบไต่สวน และศาลฎีกาฯมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ตามความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.2542 ม.100 และ 122 จำเลยทั้งสองโต้แย้งว่ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน ไม่ใช่ผู้เสียหาย และไม่ได้มีการร้องทุกข์ที่ชอบด้วยกฎหมาย คตส.ไม่ใช่พนักงานสอบสวนตาม ป.อาญา และไม่มีอำนาจสอบสวนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.และจำเลยที่ 2 ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ศาลเห็นว่า ก่อนการยึดอำนาจ ในการดำเนินคดีอาญาต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.ม.19 ที่กำหนดให้ ป.ป.ช.มีอำนาจหน้าที่ไต่สวนข้อเท็จจริงสรุปสำนวนส่งอัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทาการเมือง แต่หลังการยึดอำนาจแล้วมีประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 เรื่อง คตส.แต่งตั้ง คตส.ซึ่งข้อ 5 ของประกาศดังกล่าวให้ คตส.มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบสัญญา สัญญาสัมปทาน การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานของรัฐที่เห็นว่าอาจมิชอบด้วยกฎหมายหรือน่าจะมีการใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐประพฤติมิชอบ หรือการตรวจสอบการหลีกเลี่ยงภาษีอากรโดยให้ คตส.มีอำนาจตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.และข้อ 9 ประกาศดังกล่าวกำหนดว่ากรณีที่ตรวจสอบแล้ว คตส.มีมติว่า มีบุคคลกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการให้ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดดำเนินการต่อไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 คือ การยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาฯ ดังนั้น สถานะภาพของ คตส.จึงมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบตามที่เป็นไปตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 เรื่อง คตส.ซึ่งไม่ได้บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ ซึ่งแม้ คตส.ไม่ใช้พนักงานสอบสวนตาม ป.วิอาญา แต่ก็มีอำนาจสอบสวนได้ตามกฎหมาย

ส่วนการไต่สวนจะเป็นไปโดยชอบหรือไม่ ตามฟ้องโจทก์ ระบุว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำผิดในการทำสัญญาจะซื้อจะขายกับกองทุน โดยโจทก์เห็นว่าเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.ม.100 ซึ่งกฎหมายดังกล่าวมีเจตนารมณ์ในการที่จะป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำผิดในการขัดประโยชน์ส่วนตัวกับผลประโยชน์ของรัฐ โดยการทำสัญญากับรัฐ ซึ่งอาจเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และยังอาจเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ของจำเลยที่ 1 การกระทำดังกล่าวจึงอยู่ในอำนาจที่ คตส.จะตรวจสอบตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.และประกาศ คปค.ฉบับที่ 3 ข้อ 5 และตามฟ้องโจทก์ยังระบุว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตาม ป.อาญา ม.152 และ 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.ม.100 ซึ่งจำเลยที่ 2 แม้จะไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐแต่เป็นคู่สมรส ศาลเห็นว่า ประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 เรื่อง คตส.ข้อ 5 วรรคท้าย ให้ คตส.มีอำนาจตรวจสอบเรื่องที่อยู่ระหว่างดำเนินการของหน่วยงานอื่นใด และศาลได้ความจากการไต่สวน นายวีระ สมความคิด ผู้ร้องทุกข์กับ คตส.พยานโจทก์ ว่า เคยร้องทุกข์เรื่องนี้กับกองบังคับการกองปราบปราม แต่ไม่เป็นผล เมื่อ คปค.ทำการยึดอำนาจและแต่งตั้ง คตส.พยานจึงได้ร้องทุกข์กล่าวโทษกับ คตส.ขณะที่ นายนาม ยิ้มแย้ม ประธาน คตส.พยานโจทก์เบิกความว่า คตส.ดำเนินการเรื่องนี้ตามที่มีผู้ร้องเรียนมาซึ่งการดำเนินการของ คตส.เป็นการดำเนินการตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ข้อ 5 ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีผู้เสียหายมาร้องทุกข์ตามที่จำเลยทั้งสองโต้แย้ง ซึ่งหลังจากการไต่สวนแล้ว คตส.เห็นว่า มีมูลจึงแจ้งให้ผู้เสียหายมาร้องทุกข์ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.ม.66 และทำหนังสือถึงกระทรวงการคลัง ต่อมากองทุนฯมีหนังสือกล่าวโทษแจ้งไปยัง คตส.ซึ่งได้ความจากคำเบิกความของ นายไพโรจน์ เฮงสกุล อดีตผู้จัดการกองทุนฯ เบิกความว่า การซื้อที่ดินอาจทำให้กองทุนได้รับความเสียหายจึงมีมติให้ยื่นคำร้องทุกข์กล่าวโทษกับ คตส.โดยเห็นว่า หากมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.ม.100 อาจทำให้สัญญาจะซื้อจะขายเป็นโฆฆะ ที่จำเลยทั้งสองอ้างว่า กองทุนฯไม่ได้รับความเสียหายนั้น ได้ความจากคำเบิกความของ นายชาญชัย บุญฤทธิ์ไชยศรี ผอ.อาวุโสฝ่ายกฎหมายและคดี ธปท.ว่า เป็นเพียงความเห็นของพยาน ว่า เป็นการซื้อขายโดยเป็นธรรมและเปิดเผยและกองทุนฯได้กำไร ซึ่งเป็นคนละกรณีกับการที่กองทุนฯ เป็นผู้ได้รับความเสียหายโดยตรง กองทุนฯจึงมีสิทธิยื่นร้องทุกข์ องค์คณะจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า คตส.มีอำนาจตรวจสอบดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสองและมีการร้องทุกข์โดยชอบถูกต้องตามกฎหมาย โดยศาลฎีกาฯมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 ม.9(1) และ (2)

คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันทำผิดฝ่าฝืน พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.ม. 100 อนุ 1 หรือไม่ จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่ากองทุนฯไม่ใช่ผู้เสียหาย และไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจกำกับควบคุมดูแลกองทุนฯ และไม่ใช่เรื่องกันขัดกันของประโยชน์ส่วนบุคคลกับผลประโยชน์ส่วนรวม ศาลเห็นว่า ที่จำเลยทั้งสองต่อสู้ว่ากองทุนฯไม่ใช่หน่วยงานของรัฐตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.ม.100 นั้น ศาลเห็นว่า พ.ร.บ.ดังกล่าว ม.4 ไม่ได้บัญญัติคำว่าหน่วยงานของรัฐไว้เป็นการเฉพาะ แต่ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ.2542 ม.3 ได้บัญญัติว่าหน่วยงานรัฐ คือ กระทรวง ทบวง กรม ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นใดที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐดังนั้นซึ่งกฎหมายดังกล่าวมีเจตนารมณ์สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.ในการป้องกันการใช้อำนาจรัฐกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่และกฎหมายทั้งสองฉบับยังตราขึ้นในปีเดียวกัน ดังนั้นคำว่าหน่วยงานของรัฐจึงมีความหมายเป็นไปทำนองเดียวกัน ซึ่งจากการไต่สวนได้ความว่ากองทุนถูกตั้งขึ้นโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 ม.29 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูสถาบันการเงิน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีอำนาจดูแลและพิจารณาส่งเงินเข้าสนับสนุนเป็นครั้งๆ ดังนั้น องค์คณะจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่ากองทุนฯเป็นหน่วยงานของรัฐตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.ม.100 อนุ 1

ที่จำเลยที่ 1 ต่อสู้ว่าไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่กำกับควบคุมดูแลกองทุนฯนั้น ศาลเห็นว่า พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.มีเจตนาป้องกันและปราบปรามเจ้าหน้าที่ของรัฐมีให้ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์จากหน่วยงานที่อยู่ในกำกับดูแลของตน เพราะการมีอำนาจอาจส่งผลกระทบต่อการสั่งการและอาจก่อให้เกิดผลประโยชน์ขัดกันระหว่างส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวม และก่อให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยในการปฎิบัติหน้าที่ได้ โดย พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ได้ใช้บังคับกับตำแหน่งราชการทั่วไป แต่ใช้บังคับกับผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตำแหน่งราชการระดับสูง โดยขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินร่วมกับรัฐมนตรีตามที่ได้แถลงนโยบายไว้ต่อรัฐสภา และตาม พ.ร.บ.บริหารระเบียบราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 นายกรัฐมนตรีมีอำนาจบริหารราชการ 3 ส่วน คือ ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น โดย ม. 11 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล มีอำนาจหน้าที่กำกับโดยทั่วไปทั้ง 3 ส่วนราชการ มีอำนาจบังคับบัญชาข้าราชการทั้งในกระทรวง ทบวง กรม เพื่อให้เป็นไปตามนโยบาย และ ม.40 กำหนดให้แต่ละกระทรวงมีรัฐมนตรีกำหนดนโยบายและเป้าหมายการดำเนินงานของกระทรวงให้สอดคล้องกับนโยบายที่ ครม.แถลงต่อรัฐสภา จึงมีอำนาจการบริหารเหนืออำนาจข้าราชการทุกกระทรวง ทบวง กรม ขณะที่ ธปท.เป็นนิติบุคคล ตาม พ.ร.บ.ธปท.โดยกองทุนฯ ก่อตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งมีวัตถุประสงค์ฟื้นฟูสถาบันการเงินเหมือน ธปท.กองทุนฯจึงเป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งแม้กรรมการจัดการกองทุน จะมีอิสระ แต่ก็มีผู้ว่าฯ ธปท.เป็นประธาน และปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานล้วนมีความเกี่ยวข้องที่จะให้คุณให้โทษได้ โดย รมว.คลัง ซึ่งได้ความจากคำเบิกความของ ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าฯ ธปท.และอดีต รมว.คลัง เบิกความว่า กองทุนมีหนี้จำนวนมาก ซึ่งในยุครัฐบาลของนายชวน หลีกภัย นั้น นายธารินทร์ นิมมาเหมินท์ รมว.คลัง ขณะนั้น ได้มีการเสนอต่อรัฐบาลเพื่อขอออกพันธบัตรจำนวน 5 แสนล้านบาท เพื่อล้างหนี้ให้กองทุนฯ นอกจากนึ้พยานยังเคยเสนอรัฐบาลออกพันธบัตรจำนวน 7.8 แสนล้านบาทอีกด้วย ขณะที่ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เบิกความว่า เงินที่สนับสนุนกองทุนฯได้มาจากการอุดหนุนของรัฐบาล โดย รมว.คลัง มีอำนาจเข้ามากำกับดูแลผ่านปลัดกระทรวงการคลังที่เป็นรองประธานกรรมการจัดการกองทุนฯ โดย นายสมใจนึก เองตระกูล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง นายไพโรจน์ เฮงสกุล นางสว่างจิตต์ จัยวัฒน์ อดีต ผจก.กองทุน พยานโจทก์ต่างก็เบิกความไปในทำนองเดียวกันว่า กองทุนฯจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ธปท.และเป็นการตั้งขึ้นเฉพาะกิจเพื่อช่วยเหลือผู้ฝากเงินว่าจะได้รับเงินคืนหากสถาบันการเงินเกิดปัญหาล้มละลาย ซึ่งจากคำเบิกความของพยานโจทก์แสดงให้เห็นว่าในทางปฏิบัติ นายกรัฐมนตรีจะใช้อำนาจกำกับดูแลกองทุนได้โดยผ่าน รมว.คลังตามลำดับชั้น ดังนั้นองค์คณะจึงมีมติ 6 ต่อ 3 ว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมีอำนาจกำกับควบคุมดูแลกองทุนฯ ข้อต่อสู่ของจำเลยทั้งสองจึงฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อว่าการทำสัญญาซื้อขายของจำเลยที่ 1 เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.ม.100 อนุ 1 หรือไม่ เห็นว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวบัญญัติเรื่องการขัดกันของผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่รู้กันอย่างชัดแจงรวมทั้งจำเลยที่ 1 และเหตุที่ต้องมีการตั้งกองทุนฯเกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจ หากปล่อยให้สถาบันการเงินล้มจะทำให้ประชาชนเดือดร้อน เศรษฐกิจประเทศชาติเสียหาย จึงจำเป็นต้องนำเงินส่วนหนึ่งไปช่วยเหลือ อาทิ นำเงินไปซื้อที่ดินหรือทรัพย์สินซึ่งมีมูลค่าสูงเกินกว่าความเป็นจริงเพื่อให้สถาบันการเงินได้กำไร นำเงินไปชำระหนี้ ให้ดำรงอยู่ได้ ซึ่งที่ดินพิพาทคดีนี้กองทุนฯ ซื้อมาจากบ.เงินทุนหลักทรัพย์เอราวัณ ทรัสต์ จำนวน 13 โฉนด เนื้อที่ 35 ไร่เศษ มูลค่า 2,140 ล้านบาทเศษ และอีกหนึ่งแปลงซึ่งอยู่บริเวณศูนย์วัฒนธรรม มูลค่า 2,749 ล้านบาทเศษ เนื่องจากเกิดวิกฤตสถาบันการเงินปี 38 ต่อมาปี 44 กองทุนฯ ได้มีการปรับปรุงบัญชีเพื่อปรับมูลค่าหนี้ให้ลดน้อยลง เพื่อให้เกิดสภาพคล่องโดยปรับลดราคาที่ดินเหลือ 700 กว่าล้านบาท แต่การที่กองทุนมีทรัพย์สินจำนวนมาก หากขายได้ราคาสูงมากเท่าใด กองทุนก็ย่อมขาดทุนน้อยลง รัฐเสียหายน้อยลง โดยต่อมากองทุนฯ นำที่ดินออกประมูลทางอินเตอร์เน็ตตั้งราคาขั้นต่ำ 870 ล้านบาท กำหนดวางมัดจำ 10 ล้าน มีผู้เสนอตัวแต่ถึงเวลาไม่มีการเสนอราคาจึงเลิกประมูลเปิดประมูลใหม่โดยไม่กำหนดราคาขั้นต่ำ และเพิ่มการวางมัดจำเป็น 100 ล้านบาท อันเป็นการกีดกันทำให้มีผู้เข้าประมูลน้อยลง จำเลยที่ 2 เข้าร่วมประมูลด้วย แม้ว่าจะมีอีก 2 บริษัท คือ บ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ และบ.โนเบิล ดีเวลลอปเมนต์ ร่วมเสนอแต่รู้ว่าต้องแข่งขันกับภริยานายกรัฐมนตรี จึงไม่กล้าสู้ราคา ซึ่งแม้กองทุนฯ จะเห็นว่าราคาที่จำเลยที่ 2 เสนอ 772 ล้านบาท เป็นราคาสูงสุด แต่ก็ยังต่ำกว่าราคาขั้นต่ำในการประมูลครั้งแรกซึ่งอาจจะขายได้ราคาที่สูงและเหมาะสมกว่า อีกทั้งขณะนั้นจำเลยที่ 1 เป็นนายกรัฐมนตรีมีอำนาจบารมีเหนือรัฐมนตรีและมีอำนาจทางการเมืองสูงอีกทั้งฐานะการเงินมั่งคั่ง ตามหลักธรรมาภิบาลนายกรัฐมนตรี ภริยา หรือบุตรไม่สมควรเข้าไปประมูลซื้อเพราะการซื้อได้ราคาต่ำก็เป็นผลทำให้กองทุนฯ มีรายได้น้อยลง ขณะที่จำเลยที่ 2 มีผู้รู้จักจำนวนมาก ประกอบกับข้าราชการมีค่านิยมจำนนต่อผู้มีบารมีสูง นอกจากนั้น ยังอาจให้คุณให้โทษทางราชการได้

เมื่อปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ได้ให้บัตรประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีลงนามยินยอมให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินย่อมถือได้ว่าเป็นการเข้าทำสัญญาด้วยตัวเอง ตาม พ.ร.บ.ปปช.2542 ม.100(1) วรรคสาม ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าการลงชื่อยินยอมเป็นเพียงทำตามระเบียบราชการ แต่จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีหลักฐานมาแสดงให้เห็นได้ว่าไม่มีส่วนรู้เห็นต่อการซื้อขาย องค์คณะจึงมีมติ 5 ต่อ 4 เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ปปช.ม.100 (1) วรรคสาม และต้องรับโทษตาม ม.122 ขอต่อสู้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ส่วนจำเลยที่ 2 องค์คณะมีมติ 7 ต่อ 2 เห็นว่า ไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ปปช.ม.100 (1) วรรคสาม ไม่ต้องรับโทษตาม ม.122 เพราะ พ.ร.บ.ปปช.ม.100 ไม่ได้กำหนดบทลงโทษสำหรับคู่สมรสที่กระทำความผิด มีแต่บทลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงต้องมีการตีความกฎหมายอย่างเคร่งครัดตามหลักกฎหมายอาญาเมื่อมีกฎหมายให้ลงโทษศาลจึงไม่อาจลงโทษได้

สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.152, 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานของรัฐและผู้สนับสนุนเข้ามีส่วนได้เสียกับหน่วยงานของรัฐเพื่อประโยชน์ตน องค์คณะ 8 ต่อ 1 เห็นว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ไม่มีความผิด เพราะการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำในฐานะเป็นเจ้าพนักงานของรัฐที่ดูแลกองทุนฯ แต่จำเลยได้ดำเนินการในฐานะคู่สมรสของจำเลยที่ 2 ให้ความยินยอมทำสัญญาซื้อขายที่ดินอันผิดต่อ พ.ร.บ.ปปช. จึงไม่ผิดต่อประมวลกฎหมายอาญาม. 152 ม.157

เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีความผิด จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน

ส่วนที่โจทก์ขอให้ริบทรัพย์สินซึ่งเป็นที่ดินและเงินซื้อที่ดินจำนวน 772 ล้านบาท องค์คณะมีมติ 7 ต่อ 2 เห็นว่า ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง จึงมิใช่ทรัพย์อันพึงริบตามประมวลฎหมายอาญา ม.33(1) (2) ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายให้บริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ทางราชการและประชาชน แต่จำเลยที่ 1 กลับฝ่าฝืนกฎหมายทั้งที่เป็นหัวหน้ารัฐบาล ต้องกระทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดี ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ประพฤติตนในสิ่งที่ดีงามตามจริยธรรมของนักการเมืองให้เหมาะสมกับที่ได้รับความไว้วางใจในตำแหน่งหน้าที่อันสำคัญยิ่งจึงไม่สมควรรอการลงโทษ

พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ปปช.ม.100 (1) วรรคสาม และ ม.122 วรรคหนึ่งให้ลงโทษจำคุก 2 ปี ส่วนความผิดฐานอื่นและคำขออื่นให้ยกฟ้อง เนื่องจากจำเลยที่ 1 หลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษาจึงมีคำสั่งให้ออกหมายจับจำเลยที่ 1 เพื่อมาปฏิบัติตามคำพิพากษาต่อไป ส่วนจำเลยที่ 2 พิพากษายกฟ้องจึงให้เพิกถอนหมายจับเฉพาะคดีนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น