“ สมคิด – เนวิน กับพวก 44 คน ” ขึ้นศาลฎีกานักการเมืองปฏิเสธ คดีทุจริตจัดซื้อกล้ายาง 90 ล้านต้น 1,440 ล้านบาท ศาล ให้เวลาจำเลย 2 เดือนตรวจเอกสารกว่าหมื่นแผ่นของ คตส. เพื่อเตรียมยื่นบัญชีพยาน - แนวทางสู้คดี นัดตรวจพยานหลักฐาน 16 – 18 ธ.ค.นี้ “ สมคิด ” ให้กำลังใจ ครม.ชุดใหม่ ระบุ รมว.คลังคนใหม่ ต้องประสานได้ทุกฝ่าย “ยี้ห้อย” ปิดปากเงียบ ด้าน ด้าน“ สุดารัตน์” มายื่นขอประกันคดีหวยบนดิน ปัด ไม่มีเอี่ยวร่วมจัดโผ ครม. ระบุถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองแล้ว
วันนี้ ( 23 ก.ย.) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง นายบุญรอด ตันประเสริฐ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาเจ้าของสำนวนคดีหมายเลขดำที่ อม.4/2551 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์แทน คตส. ยื่นฟ้อง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) นายวราเทพ รัตนากร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะ คชก. นายเนวิน ชิดชอบ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะผู้ริเริ่มโครงการ นายสรอรรถ กลิ่นปทุม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายอดิศัย โพธารามิก อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะ คชก. กับพวก รวม 44 คน ประกอบด้วย คณะกรรมการกลั่นกรองเสนอโครงการต่อคณะรัฐมนตรีคณะที่ 2 , กลุ่ม คชก. ,กลุ่มคณะกรรมการบริหารโครงการกำหนดทีโออาร์ , คณะกรรมการพิจารณาผลประกวดราคา , บริษัทเจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์จำกัด ในเครือซีพี ,บริษัทรีสอร์ทแลนด์จำกัด และ บริษัทเอกเจริญการเกษตรจำกัด เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ จัดการ หรือรักษาทรัพย์สินใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต ผู้ใดทุจริตหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จเพื่อให้ได้ไปทรัพย์สินอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.151, 157, 341, ประกอบ มาตรา 83, 84, 86, 90 และ 91 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ.2542 มาตรา 4, 9-13 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11
โดยองค์คณะได้อ่านสรุปคำฟ้องโจทก์จากจำนวน 63 หน้า ระบุว่า ในส่วนของจำเลยที่ 1-3 และ 5-18 ซึ่งเป็นกลุ่ม คชก. ว่าเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2546 จำเลยร่วมกันมีมติอนุมัติยกเว้นมติของ คชก.ครั้งที่ 1/2534 ลงวันที่ 15 ต.ค. 2534 และมีมติอนุมัติเงินจำนวน 1,440 ล้านบาท เพื่อให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการกำหนดเขตปลูกยางพาราใหม่ในพื้นที่ 1 ล้านไร่ โดยให้การดำเนินจัดหาต้นกล้ายางพารา 90 ล้านต้นมาเพื่อดำเนินโครงการ ซึ่งให้สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ( สกย.) นำต้นกล้าแจกให้เกษตรกร โดยการดำเนินโครงการนั้นให้ใช้เงินของกองทุนรวมเกษตรกรที่ให้มีการผ่อนชำระเงินคืนภายในระยะเวลา 15 ปี อันเป็นมติที่ขัดต่อข้อ 19 (5) ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยกองทุนรวมของเกษตรกร พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 5 พ.ศ.2543 และ พ.ร.บ.กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง พ.ศ.2503 มาตรา 18 ซึ่งเป็นมติที่มิชอบทำให้กองทุนรวมเกษตรกรได้รับความเสียหายจากการปล่อยเงินเป็นจำนวน 1,440 ล้านบาท โดยการกระทำของจำเลยที่ 1-3 และ 5-18 ทำผิด ป.อาญา ม.151, 157, พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรรัฐฯ
จำเลยที่ 4 และ 19-26 ในฐานะเป็นกรรมการบริหารโครงการและกรรมการพิจารณาผลประกวดราคา และจำเลยที่ 27-44 ซึ่งเป็นกลุ่มผู้เสนอราคาและผู้ชนะประมูลราคา โดยระหว่างวันที่ 27 มี.ค. – 6 พ.ย. 2549 จำเลยที่ 4 ซึ่งได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 3 ได้ขออนุมัติโครงการดังกล่าวต่อคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอ ครม. ที่มีจำเลยที่ 1 เป็นประธาน เพื่อยกระดับและความมั่นคงของเกษตรกร โดยให้มีการปล่อยเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยจำนวน 1,440 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการซื้อต้นกล้ายางแจกให้กับเกษตรกร โดยการเสนอดังกล่าวไม่ชอบและจำเลยที่ 4 ยังได้อนุมัติให้จำเลยที่ 30 ดำเนินโครงการดังกล่าวแล้วเบิกเงินล่วงหน้าจำนวน 200 ล้านบาท ให้กับจำเลยที่ 30 ซึ่งเป็นการขัดต่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 โดยการกระทำของจำเลย 19-26 ในฐานะเป็นกรรมการบริหารโครงการและกรรมการพิจารณาผลประกวดราคายังได้ร่วมกันมุ่งเอื้อผลประโยชน์ให้กับจำเลยที่ 30-32 ได้เป็นผู้เสนอราคาทั้งที่ขาดคุณสมบัติเพราะมีความสัมพันธ์กันในเชิงบริหารและทุนธุรกิจ อีกทั้งไม่ได้เป็นผู้มีประสบการณ์หรือเกี่ยวข้องกับการจัดทำต้นกล้ายาง จงใจยื่นหลักฐานประกวดราคาอันเป็นเท็จมีเจตนาปกปิดแปลงเพาะกล้ายาง รวมทั้งยังได้มีการกำหนดเงื่อนไขและเปลี่ยนแปลงวันประกวดราคา จนได้เปรียบเอกชนผู้เสนอราคารายอื่น ไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้ จึงเป็นการกีดกัน สร้างความไม่เป็นธรรมในการเสนอราคากับหน่วยงานของรัฐ การกระทำของจำเลยที่ 4 , 9-26 และ30-32 เป็นการทำผิดตาม ป.อาญา ม.157 และ 341 พ.ร.บ.ฮั้วประมูลฯ ม.4, 9-12
การกระทำของจำเลยที่ 1-44 เป็นการทำให้จำเลยที่ 30 ได้รับเงินจากกองทุนรวมจำนวน 1,168 ล้านบาทเศษ ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหมดตามกฎหมาย และให้นับโทษจำเลยที่ 1-5 ต่อจากคดีหมายเลขดำที่ อม.1/2551 คดีทุจริตโครงการออกสลากเลขท้ายพิเศษ 2 และ 3 ตัว (หวยบนดิน) และให้จำเลยทั้ง 44 รวมกันหรือใช้แทนเงินจำนวน 1,168 ล้านบาทเศษ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 30 ได้รับเงินไป คิดเป็นเงินจำนวน 248 ล้านบาทเศษ นับแต่วันฟ้อง และต่อไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จากนั้นศาลได้สอบคำให้การจำเลยทั้ง 44 คนว่าจะให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธ จำเลยทั้ง 44 คน ได้ให้การปฏิเสธและยื่นคำให้การปฏิเสธเป็นลายลักษณ์อักษร โดยจำเลยที่ 1-5 ได้รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 3, 10, 13, 14 และ 21 ในคดี อม.1/2551 (หวยบนดิน) ของศาลนี้ ส่วนที่จำเลยทั้ง 44 คน ยกเว้นจำเลยที่ 7 และ 13 ที่ยังไม่ได้แต่งตั้งทนายความ ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตให้ศาลพิจารณาคดีลับหลังจำเลยนั้น ศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้พิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2543 ข้อ 10
ทั้งนี้ ศาลยังได้ชี้แจงให้จำเลยและทนายความทราบถึงระบบการพิจารณาคดี ว่าเนื่องจากคดีมีความซับซ้อนและมีเอกสารจำนวนมากกว่า 1 หมื่นแผ่น ซึ่งศาลใช้ระบบไต่สวนที่องค์คณะเป็นผู้ดำเนินการสอบถามหาข้อเท็จจริง เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาและให้ทุกคนได้รับความเป็นธรรมในการต่อสู้คดี ศาลจึงจะให้เวลาจำเลยทั้ง 44 คน เป็นเวลา 2 เดือน ในการตรวจสอบหลักฐานเอกสารของโจทก์ก่อนนัดตรวจสอบพยานหลักฐานเพื่อยื่นบัญชีรายชื่อพยานจำเลยทั้ง 44 คนประสานกับเจ้าหน้าที่ธุรการศาลในการเข้าตรวจสอบ ซึ่งถือเป็นเรื่องจริงจังที่จะให้จำเลยทั้ง 44 ตรวจสอบเอกสารหลักฐานของโจทก์ให้เสร็จสิ้นเพื่อพร้อมยื่นบัญชีระบุจำนวนพยานว่าประสงค์จะนำเข้าไต่สวนกี่ปากพร้อมเหตุผล และแนวทางการสู้คดีว่าจะต่อสู้ในประเด็นใดบางเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในประเด็นที่ปรากฏในสำนวนแล้ว และหากพยานเอกสารหรือพยานวัตถุใดอยู่ในความครอบครองของบุคคลอื่น ให้คู่ความขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานมาจากบุคคลนั้นให้ทันก่อนวันนัดตรวจสอบพยานหลักฐานในวันที่ 16-18 ธ.ค. นี้ เวลา 10.00 น. และให้คู่ความยื่นบัญชีพยานและแนวทางต่อสู้คดีก่อนวันนัดตรวจสอบพยานหลักฐานไม่น้อยกว่า 7 วัน
ภายหลัง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายก ฯ กล่าวถึงการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ว่าต้องการให้กำลังใจทุกคนในการทำงาน เพราะประเทศเรากำลังได้รับผกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดีหากไม่ประมาทคิดว่าประเทศไทยน่าจะผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ เพราะประเทศไทยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี และมีประสบการณ์จากเมื่อครั้งวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ส่วน รมว.คลังนั้นตนเห็นว่า ผู้ที่จะมาเป็นต้องมีคุณสมบัติที่จะประสานงานได้กับทุกฝ่ายเพื่อจะนำประเทศไปสู่จุดมุ่งหมายให้ได้
ส่วน นายเนวิน ชิดชอบนั้น ภายหลังที่เสร็จสิ้นกระบวนพิจารณาคดีแล้ว ได้เดินฝ่ากองทัพผู้สื่อข่าวกลับออกไปทันทีโดยไม่ได้ให้สัมภาษณ์ใด ๆ
ขณะเดียวกันเช้าวันนี้ นางสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ อดีต รมว.สาธารณสุข ก็ได้เดินทางมายื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เพื่อขอประกันตัวในคดีที่ตกเป็นจำเลยร่วม 47 คน คดีหวยบนดินด้วย โดยนางสุดารัตน์ ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการแต่งตั้ง ครม.ชุดใหม่ ยืนยันว่าไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะถูกตัดสิทธิ์ทางเมืองแล้ว เหมือนอยู่บ้านคนละหลัง เพียงแต่ที่ผ่านมามีสื่อมวลชนมาสอบถามเกี่ยวกับความเหมาะสมที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งตนยืนยันว่านายสมชายเป็นผู้ที่มีความเหมาะสม ส่วนที่มีการระบุว่า ส.ส.กทม. ที่มีความใกล้ชิดกับตนได้ต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีนั้นตนยืนยันว่าไม่เป็นความจริง อย่างไรก็ดีในเวลานี้ตนต้องการให้บ้านเมืองได้เดินต่อไปข้างหน้าหลังจาที่ติดหล่มมาถึง 3 ปี