“จรัญ” ระบุ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมต้องสร้างระบบป้องกันอำนาจนิยม ยึดมั่นจริยธรรม เสียสละใช้หนี้แผ่นดิน ด้านนักวิชาการ ม.มหิดล เผยหลักสูตรสอนกฎหมายเน้นเพียงวิธีใช้ไม่เน้นให้คุณให้โทษ
วันนี้ (19 ส.ค.) ที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายและกระทรวงยุติธรรม ร่วมจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็น เพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย โดย นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการสร้างและพัฒนาคนยุติธรรม ว่า ตอนนี้ค่านิยมในสังคมไทยถูกรุกรานด้วยวัตถุนิยม ธนบัตรนิยม ไม่มีความเสียสละ ในเรื่องของระบบงานยุติธรรม จึงต้องสร้างระบบป้องกันจากอำนาจนิยม ระบบงานยุติธรรมต้องฝึกอบรมบุคลากรและกลุ่มงานยุติธรรม เพราะส่วนใหญ่เป็นนักกฎหมายที่ในโรงเรียนที่มีหลักสูตรสอนกฎหมายในประเทศไทยจะเน้นสอนเนื้อหาวิชาการใช้กฎหมายในแนวทางปฏิบัติ แต่ไม่เน้นถึงประโยชน์ในการนำกฎหมายไปใช้ ดังนั้นจึงได้นักกฎหมายแต่ไม่ได้นักยุติธรรม
นายจรัญ กล่าวอีกว่า นักกฎหมายต้องยึดประโยชน์ของตนเป็นที่ 2 ยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ 1 ทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชนและควรสร้างบุคลิกภาพของนักยุติธรรมที่ต้องมีความมั่นคง ทั้งจริยธรรม และศีลธรรม เพราะจะช่วยค้ำจุนให้กฎหมายเข้มแข็ง ที่ผ่านมา เราได้นักกฎหมายที่ยึดติดว่าใช้กฎหมายเป็นก็ถือเป็นนักกฎหมายแล้ว แต่สิ่งที่อยากให้เสริมในหลักสูตรคือการบริหาร เพราะกฎหมายไม่ใช่เพียงปฏิบัติตามเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องเป็นนักบริหารและนักพัฒนาระบบงานยุติธรรมควบคู่ไปด้วย ไม่ใช่แค่รู้กฎหมาย ควรมีกระบวนการยุติธรรมเป็นอาชีพที่ทรงพลัง ถ้าตัดสินดีก็เป็นสิ่งดี ถ้าตัดสินผิดจะเป็นบาปต้องแยกให้ชัดเจนระหว่างความถูกกับความผิด ความเสื่อมกับความเจริญ บางครั้งการตัดสินคดีความบางคนอาจมองว่าโง่ ทำไมกล้าตัดสินอย่างนี้ แต่ถ้ามีหลักว่าสิ่งไหนผิดสิ่งไหนถูกก็ไม่ต้องกลัว
“หลายครั้งที่ผมทำงานที่ต้องให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม บางครั้งไม่มีพลังขับเคลื่อนถ้าหากใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่ถ้ายึดในหลักจริยธรรม การเสียสละเพื่อใช้หนี้แผ่นดิน ประโยชน์ที่จะนำไปสู่สังคมจะมีพลังมาก” นายจรัญ กล่าว
ด้าน รศ.อัจฉราพรรณ จรัสวัฒน์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมต้องการคนดีคนเก่ง แต่หลักสูตรการเรียนการสอนเน้นเนื้อหาและเทคนิคการใช้กฎหมาย ไม่เน้นการให้คุณให้โทษของกฎหมายที่มีต่อสังคม ทำให้การเรียนขาดการต่อยอดจึงไม่มีความเป็นมืออาชีพ ดังนั้น ควรมีการกำหนดมาตรฐานคุณลักษณะบุคลากรที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
นายประสิทธิ์ โฆวิไลกุล อดีตคณบดีนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การพูดเรื่องจริยธรรมและศีลธรรมของนักกฎหมายเป็นนามธรรม ซึ่งไม่แน่ใจว่าคนที่ออกมาพูดจะทำได้อย่างที่พูดหรือไม่ ที่ผ่านมา หลายฝ่ายระบุว่าโครงสร้างหลักสูตรการสอนวิชากฎหมายของไทยไม่ดีเท่าที่ควร แต่ในหลักความจริงการเรียนกฎหมายและการนำกฎหมายมาใช้เป็นเจตนารมณ์ที่ถูกต้อง ถ้านำมาใช้นอกกรอบก็ผิดชัดเจนในตัวเอง เชื่อว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยไม่มีใครสอนให้นักเรียนทำผิดกฎหมาย