“ดีเอสไอ” รวบ 3 ผู้ต้องหาเครือข่ายแชร์ข้าวสาร เปิดบริษัทฉ้อโกงประชาชนหลอกให้ร่วมลงทุนซื้อ ข้าวสาร ปุ๋ย เครื่องอุปโภคบริโภค แล้วจะได้ผลตอบแทนในราคาสูง โดยขณะเข้าจับกุมบริษัทมีพิธีทำบุญเลี้ยงพระเปิดกิจการใหม่ เผยเป็นเครือข่ายเดียวกับ บ.อีซี่ เน็ตเวิร์ค กลุ่มแชร์ข้าวสารที่ถูกจับกุมไปก่อนหน้านี้ พบเสียหายกว่าหลายร้อยล้านบาทถูกหลอกอีกเป็นหมื่นคน
วันนี้ (25 ก.ค.) เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรมสอบสวนคดีพิเศษ และกลุ่มป้องปรามการเงินนอกระบบ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง ลงพื้นที่ตรวจค้น อาคารพาณิชย์ ของบริษัท สยามไลน์ เทรดดิ้ง จำกัด เลขที่ 1144/27 ซ.พัฒนาการ 30 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กทม. พร้อมจับกุมผู้ต้องหา 3 ราย คือ นายสุวิทย์ สินธุนาวา นายสุรสิทธิ์ สินธุนาวา และนายกฤษกร ทองเผือก กรรมการผู้จัดการบริษัท สยามไลน์ ฯ ผู้ต้องหาในความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินด้วยการฉ้อโกงประชาชน พร้อมอายัดเอกสารประกอบด้วยแฟ้มรายชื่อสมาชิก โบรชัวการจัดโปรโมชัน คอมพิวเตอร์ แฟ้มลงทุน และแผ่นซีดีไปตรวจสอบที่ดีเอสไอ
พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ ผบ.สำนักคดีอาญาพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า บ.บริษัท สยามไลน์ เทรดดิ้ง จำกัด ดำเนินธุรกิจในลักษณะชักชวนประชาชนให้เข้าร่วมลงทุนกับบริษัท โดยชักชวนให้ประชาชนซื้อสินค้าประเภทข้าวสาร ปุ๋ย และสินค้าประเภทอุปโภคบริโภคอื่น โดยระบุจะจ่ายผลตอบแทนให้ในอัตราสูง ซึ่งจารการสอบสวนพบว่ากรรมการบริษัทและแม่ข่ายบางคนเคยเปิดบริษัทไทย เน็ตเวิร์ค จำกัดในลักษณะดังกล่าวโดยเปิดเพียง 6 เดือน และปิดบริษัทแล้วเปิดใหม่ในชื่อ บ.ไทยมาร์ท อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จากการสอบสวนทราบว่าเป็นเครือข่ายเดียวเดียวกับ บ. อีซี่ เน็ตเวิร์ค กลุ่มแชร์ข้าวสารที่ถูกจับกุมไปก่อนหน้านี้ ซึ่งปราฏข้อเท็จจริงว่า บ.ไทยเน็ตเวิร์คกับ บ.ไทยมาร์ท ได้โฆษณาหรือประกาศให้บุคคลตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปเพื่อชักชวนให้ประชาชนเข้าร่วมลงทุนกับบริษัทและมีการโฆษณาผ่านทางสื่อโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ พร้อมทำวีซีดีแจกจ่ายกับผู้ลงทุน โดยมีการชักชวนระดมเงินฝากจากประชาชนมีลักษณะเป็นการให้หรือสัญญาว่าจะให้ ผลตอบแทนจากการลงทุน ที่สูงกว่าสถาบันการเงินกำหนด โดยผลตอบแทนจะจ่ายอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง เพื่อเรียกความสนใจจากประชาชน ให้หลงเชื่อโดยชักชวนให้ประชาชนซื้อสินค้าในลักษณะขายตรง อ้างว่าให้ลงทุนเพียง 2,800 บาท จะได้ผลตอบแทนถึง 9,000 บาทเป็นเครื่องบังหน้า ทั้งที่ในความเป็นจริงเป็นเพียงการใช้เทคนิคหลอกลวง ทั้งสองบริษัทไม่มีเงินจ่ายให้ผู้ลงทุนเป็นเหตุให้ประชาชนได้รับความเสียหายจำนวนมาก จึงเข้าข่ายลักษณะความผิดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 สำหรับคดีนี้มีมูลค่าความเสียหายหลายร้อยล้านบาท มีผู้เสียหายประมาณหมื่นราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ต้องหาในพื้นที่ภาคใต้โดยเฉพาะที่จังหวัดภูเก็ต และตรัง นอกจากนี้ยังมีรายชื่อพระสงฆ์ร่วมลงทุนด้วย โดยดีเอสไอจะทำการอายัดเงินและทรัพย์สินอื่นของบณิษัทดังกล่าวไปตรวจสอบ
พ.อ.ปิยะวัฒก์ กล่าวต่อว่า คดีนี้ดีเอสไอได้ออกหมายจับผู้ต้องหาอีก 2 ราย คือ นายรัชเดช เจริญสุข และนายอภิภู จันทรงาม ซึ่งขณะเข้าจับกุมตรวจค้นทางบริษัทกำลังทำพิธีทำบุญเลี้ยงพระเปิดกิจการของบริษัท โดยเจ้าหน้าที่ดีเอสไอต้องรอให้พระฉันท์เพลเสร็จและให้พรก่อนนิมนต์กลับวัดทันที เจ้าหน้าที่จึงเข้าตรวจค้นและจับกุม สำหรับผู้ต้องหาที่จับกุมได้ทั้ง 3 คน วันนี้เจ้าหน้าที่จะควบคุมตัวไปสอบสวนต่อที่ดีเอสไอและควบคุมต่อใน 48 ชม. ก่อนส่งตัวขออำนาจศาลจังหวัดพระโขนงฝากขังในวันพรุ่งนี้