xs
xsm
sm
md
lg

สตช.ยันไม่ได้อมเบี้ยเลี้ยงตำรวจคุมม็อบ!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พล.ต.ต.สุรพล ทวนทอง รองผบช.ก.
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยืนยันไม่มีนโยบายสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ระบุตกใจกันไปเอง เพราะเป็นเพียงการสับเปลี่ยนกำลังเท่านั้น พร้อมยันตำรวจไม่ได้อมเบี้ยเลี้ยงผู้ใต้บังคับบัญชาที่ไปรักษาความสงบเรียบร้อย แต่ทุกอย่างมีขั้นตอนตามกฎหมาย

วันนี้ (26 มิ.ย.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ต.สุรพล ทวนทอง รอง ผบช.ก. ในฐานะรองโฆษกประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวสรุปสถานการณ์ของกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ปักหลักชุมนุมกันที่บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ว่ายอดการชุมนุมเมื่อคืนที่ผ่านมา บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ มีกลุ่มผู้มาร่วมชุมนุมทั้งสิ้น 3,000 คน ส่วนที่บริเวณสนามหลวง มีประมาณ 500-800 คน ซึ่งสถานการณ์ถือว่าเป็นปกติด้วยความเรียบร้อยดี ยกเว้นเพียงเรื่องเดียวที่มีข่าวออกไปจากแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยว่าจะมีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสลายกลุ่มผู้ชุมนุม โดยตรงจุดนี้ขอยืนยันว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่มีนโยบายที่จะใช้กำลังเข้าทำการปราบปรามและสลายการชุมนุมแต่อย่างใด โดยเมื่อวานเป็นเพียงแค่การสับเปลี่ยนกำลังเจ้าหน้าที่ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความตกใจ และยิ่งในช่วงนี้เป็นช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลด้วย คงไม่ใช่เวลาที่จะไปทำเช่นนั้นได้

พล.ต.ต.สุรพล กล่าวต่ออีกว่า ในกรณีที่มีพิธีกรบนเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยคนหนึ่ง เมื่อคืนวานที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้บังคับบัญชาระดับสูง อมเบี้ยเลี้ยงของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยความปลอดภัยกลุ่มผู้ชุมนุม โดยบอกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เพียง 180 บาทต่อวัน ทั้งที่มีการออกข่าวรัฐบาลอนุมัติให้ 300 บาท สำหรับเบี้ยเลี้ยง และ 100 บาทสำหรับค่าอาหาร ซึ่งในความเป็นจริงนั้น เรื่องดังกล่าว ทาง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.ได้มอบหมายให้ พล.ต.ท.วัชรพล ประสารราชกิจ ผช.ผบ.ตร.ประสานงานโดยส่งเอกสารไปยังกรมบัญชีกลาง ตั้งแต่วันที่ 4 มิ.ย.ฉบับหนึ่ง และวันที่ 6 มิ.ย. อีกฉบับเรื่องขอการสนับสนุนอนุมัติวงเงินที่จะดูแลผู้ใต้บังคับบัญชา ในวงเงินเบี้ยเลี้ยง 300 บาทต่อวัน และค่าอาหาร 100 บาทต่อวัน รวมแล้วทั้งสิ้น 400 บาทต่อวัน ให้กรมบัญชีการพิจารณาให้เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งเรื่องดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาของกรมบัญชีกลางไปบางส่วนแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างขอความเห็นชอบจากผู้บังคับบัญชาตามลำดับขั้น ก่อนส่งต่อเพื่อขอความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง ซึ่งคาดว่าเรื่องจะส่งกลับมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติเร็วๆ นี้ เพราะฉะนั้น เรื่องที่กล่าวหาว่าอมเบี้ยเลี้ยงถือว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

พล.ต.ต.สุรพล กล่าวต่ออีกว่า ในความจริงแล้ว เงินเบี้ยเลี้ยง 180 บาทต่อวันนั้น เป็นอัตราเบี้ยเลี้ยงที่ใช้ปัจจุบัน สำหรับตำรวจภูธรที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในกรุงเทพฯ ตามหนังสือของกระทรวงการคลัง ตั้งแต่ตำรวจยศ จ.ส.ต.ลงไป ส่วนระดับ ด.ต.-พ.ต.อ.จะได้เบี้ยเลี้ยงอยู่ที่ 210 บาท แต่หากเป็นตำรวจนครบาลแล้วจะได้เพียงค่าอาหาร 120 บาทต่อวัน นอกจากนี้ บางกองบัญชาการที่มาไกลจากต่างจังหวัดก็อาจมีการเบิกค่าที่พัก ลักษณะเหมาจ่ายให้ข้าราชการบางส่วนไม่เกิน 1,000 บาทต่อวัน ซึ่งการที่พิธีกรมากล่าวแบบนี้ คาดว่าอาจมีการสอบถามข้อมูลจากตำรวจบางนาย โดยเป็นอัตราที่ใช้ในปัจจุบันและยังไม่ได้รับการอนุมัติในส่วนของอัตราที่เสนอใหม่ ซึ่งตรงจุดนี้หากมองเจตนาในแง่ดีก็อาจจะพูดไปตามข้อเท็จจริงที่ได้มา ถ้าเจตนาไม่ดีก็อาจจะพูดไปเพื่อให้เกิดความสับสนระหว่างผู้ใต้บังคับบัญชากับนายตำรวจระดับผู้บังคับบัญชา

ด้านกรณีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บอกว่าจะเพิ่มความรุนแรงในการเคลื่อนไหวนั้น พล.ต.ต.สุรพล กล่าวว่า ตอนนี้ทางตำรวจก็ได้มีการเตรียมการเอาไว้ ความจริงวันนี้ถ้าเป็นวันที่มีการลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลก็ประเมินว่าน่าจะมีกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดหรือหลายกลุ่ม ไปกดดันบริเวณหน้ารัฐสภาก็ได้มีการเตรียมกำลังพลไว้เรียบร้อย ในการที่จะดูแลโดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายก็คือจะไม่ให้มีการผู้หนึ่งผู้ใดเข้าไปในบริเวณอาคารรัฐสภา หรือพื้นที่ของรัฐสภาโดยเด็ดขาด เหมือนดังเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต ที่มีกลุ่มบุคคลเข้าไปกดดันประธานรัฐสภาถึงที่ห้องทำงานเลย โดยเหตุการณ์ดังกล่าวจะต้องไม่เกิดขึ้นอีก

ผู้สื่อข่าวถามว่า คราวที่ผ่านมามีการกำชับไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนจากสะพานมัฆวานมาหน้าทำเนียบ แต่ก็สามารถผ่านมาได้ แสดงว่าคราวนี้ต้องมีการเข้มงวดเพิ่มขึ้น พล.ต.ต.สุรพล กล่าวว่า คราวที่แล้วนั้นเป็นการเคลื่อนที่บนถนน ซึ่งแตกต่างจากการจะบุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาลหรือรัฐสภา เพราะอันนี้ถือเป็นเรื่องของการบุกรุก ซึ่งเราไม่ทราบเจตนาที่ชัดเจนของผู้ที่บุกรุก ซึ่งอาจเข้าไปทำความเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของทางราชการ หรืออาจถึงขั้นเผาทำลายทรัพย์สินของทางราชการได้ ซึ่งทางกลุ่มผู้ชุมนุมก็ได้มีการพูดชัดเจนว่า หากมีการบุกรุกเข้าไป ยืนยันว่าไม่ใช่กลุ่มผู้ชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรแน่นอน แต่เป็นมือที่ 3 โดยขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการอย่างเด็ดขาด โดยยืนยันว่าการเข้าไปกับการเคลื่อนที่บนถนนนั้นแตกต่างกัน มาตรการในการรักษาความสงบเรียบร้อยและฐานความผิดก็จะแตกต่างกันด้วย โดยในส่วนหน้ารัฐสภานั้นได้มอบหมายให้ พล.ต.ต.สุชาติ เหมือนแก้ว รอง ผบช.น.เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีมีกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าและนักเรียนที่อยู่บริเวณการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปเจรจา เพราะว่าตอนนี้มีการปิดถนนเป็นเวลานาน ทำให้เกิดความเดือนร้อน พล.ต.ต.สุรพล กล่าวว่า ตอนนี้ทราบข่าวว่าอาจมีการดำเนินการในกลุ่มของประชาชน ในทางกฎหมายต่อไป โดยอาจใช้กฏหมายฉบับอื่นในการคุ้มครองประชาชนในส่วนนั้น ซึ่งเป็นเรื่องของผู้เสียสิทธิ์ที่จะใช้สิทธิ์ในการเรียกร้องทางข้อกฎหมาย ซึ่งอาจมีการฟ้องร้องเพื่อเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นได้ต่อไป

ด้านกรณีดำเนินคดีกับกลุ่มพันธมิตร ที่มีการเคลื่อนขบวนมาจากสะพานมัฆวานฯ แล้วเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจบาดเจ็บ 4 รายนั้น พล.ต.ต.สุรพล กล่าวว่า ในเรื่องของการดำเนินคดี ก็ได้มีการพูดคุยกับ พล.ต.ต.วัจจนนท์ ถิรวัจจน์ รอง ผบช.น. แล้ว โดยขณะนี้ได้สอบปากคำเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บ ในพื้นทีต่างๆ ไว้แล้ว 20 คน อีกส่วนก็ได้มีการสอบสวนปากคำเจ้าหน้าที่ตำรวจที่คุมพื้นที่บริเวณที่มีการใช้อาวุธฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ในลักษณะที่เกินกว่าเหตุ และเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย นอกจากนี้ก็ได้รับข้อมูลบางส่วนในเรื่องของภาพถ่ายจากสื่อมวลชนต่างๆ มาเป็นพยานเพื่อให้ได้รับความยุติธรรมที่สุด โดยตอนนี้อยู่ระหว่างการประสานงานกับผู้ถ่ายภาพ เพื่อขอบันทึกปากคำไว้เล็กน้อย ว่าไปถ่ายที่ไหนอย่างไร เพื่อให้ครบถ้วนตามสำนวนการสอบปากคำ โดยคาดว่าเร็วๆ นี้น่าจะใช้กฎหมายเข้าดำเนินการกับการกระทำความผิดที่เป็นการละเมิดสิทธิของพี่น้องประชาชนในส่วนอื่นๆ ได้อย่างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น