xs
xsm
sm
md
lg

“ชวน” ห่วงอำนาจมืดล้วงลูกกระบวนการยุติธรรม

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


“ชวน หลีกภัย” ระบุการเมืองที่ไม่เกรงกลัวกฎหมายง่ายต่อการแทรงแซงศาล ห่วงอำนาจมืดเปลี่ยนตัวประธานคณะกรรมการอัยการ จนเป็นเหตุให้เป็นการเปิดช่องเปลี่ยนตัวอัยการสูงสุด แนะนักกฎหมายยึดหลักนิติธรรม “ชวน” ปฏิเสธไม่รู้เรื่อง ทนาย “แม้ว” ยื่นเป็นพยานคดีทุจริตที่ดินรัชดาฯ

วันนี้ (13 มี.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น.ที่ชั้น 7 สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการ ถนนรัชดาภิเษก นายธีระวัฒน์ ภัทรานวัช รองประธานศาลฎีกา เป็นประธานเปิดงานนิติศาสตร์เสวนา เรื่อง “คุณค่าบรรพตุลาการ” เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี ศาสตราจารย์ จิตติ ติงศภัทิย์ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาและครูกฎหมายของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมี นายชวน หลีกภัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายเธียร เจริญวัฒนา ที่ปรึกษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 นายไพโรจน์ วายุภาพ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และ นายกฤษฎา บุณยสมิต อัยการพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุดเข้าร่วมอภิปราย มีผู้พิพากษา นักกฎหมาย และนักศึกษาเข้าร่วมฟังประมาณ 200 คน

นายชวน กล่าวตอนหนึ่งว่า ขณะนี้มีคนกำลังพยายามสร้างความสับสนให้กับสังคม มีการพูดกันว่าการตัดสินบางคดีต้องใช้หลักนิติศาสตร์ บางคดีต้องใช้หลักรัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นคำพูดของคนที่กระทำความผิดแล้วนำเอาหลักรัฐศาสตร์มาอ้าง การพูดอย่างนี้คล้ายกับให้นักกฎหมายหลีกเลี่ยงการใช้กฎหมาย ซึ่งความเชื่อลักษณะนี้กำลังเข้ามาครอบงำ ประกอบกับนักกฎหมายตัวจริงไม่มีใครออกมาโต้ ความจริงแล้วบรรพตุลาการอย่างนายจิตติ สอนให้นักกฎหมายยึดหลักนิติธรรม เมื่อกฎหมายว่าอย่างไรก็ตัดสินไปอย่างนั้น ถ้าวันนี้หากพวกเราไม่ช่วยปรับให้เข้าสู่กระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมาย ท้ายที่สุดการยึดกฎหมายจะขึ้นอยู่กับดุลพินิจตามอำเภอใจ เพราะคิดว่าบางเรื่องต้องยอมเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ดังนั้นบ้านเมืองก็จะขาดหลักยึด

นายชวน กล่าวอีกว่า นักการเมืองที่ไม่กลัวกฎหมายเขาจะเลือกไปตายเอาดาบหน้า เช่น ซื้อเสียงก็ยอมเสี่ยงเพราะอย่างมากโดนใบเหลืองเมื่อเลือกใหม่ก็ได้อีกเพราะมีเงิน และเงินเป็นสิ่งที่น่ากลัวสำหรับศาล เพราะเงินไม่เข้าใครออกใครสามารถซื้อได้หมด อย่างปัจจุบันคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ชี้ขาดบางคดี ถ้าช้าอีกสัปดาห์เดียวเสียงลงมติก็อาจไม่ใช่อย่างที่ออกมา ก่อนหน้าจะเกิดการรัฐประหารเงินแทรกแซงมาได้ถึงอัยการแล้วการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 จึงดีอย่างเดียวคือ สกัดกั้นการเข้ามาแทรกแซงศาลซึ่งขณะนั้นใกล้จะมาถึงศาล เวลานี้จึงเป็นห่วงอัยการอย่าปล่อยให้เขาเปลี่ยนตัวประธานคณะกรรมการอัยการโดยเอาคนของบริษัทมาอยู่แล้วเสนอคนเป็นอัยการสูงสุดได้ตามอำเภอใจ คนมีปัญหาเขาจะหาทางป้องกันตัวด้วยวิธีการเหล่านี้ศาลก็ต้องรู้ให้เท่าทัน

“บางเรื่องมีการเตรียมการมาเป็นปี เช่น การโยกย้ายข้าราชการกรมสรรพากร มีการเตรียมคนไว้ล่วงหน้า เพื่อให้มาดูการเสียภาษีของคนๆ เดียวไม่ให้เสียภาษี มีการนำคดีไปฟ้องศาลปกครองซึ่งศาลปกครองพิพากษาว่าโยกย้ายมิชอบ ดังนั้นจึงขอให้ศาลเป็นที่พึ่ง ถ้าศาลอยู่ได้บ้านเมืองก็อยู่ได้ ถ้าศาลอยู่ไม่ได้บ้านเมืองก็ไม่เหลืออะไร” นายชวน กล่าวตอนท้าย

นอกจากนี้ นายชวน ได้ให้สัมภาษณ์กรณีทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวอ้างให้เป็นพยานในคดีทุจริตซื้อขายที่ดินถนนรัชดาฯ ว่า ยังไม่ทราบเรื่อง เห็นเพียงข่าวที่ปรากฏทางสื่อมวลชน ผู้สื่อข่าวถามว่า ท่านมีสิทธิที่จะปฏิเสธการเป็นพยานได้หรือไม่ นายชวน กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่ทราบอะไรเลย ก็ต้องรอดูว่าเขาอ้างเป็นพยานจริงหรือไม่ และอ้างเพื่ออะไร จึงยังไม่มีการเตรียมประเด็นเกี่ยวกับคำให้การเพราะต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง อย่างไรก็ตามในชั้นการสอบสวนของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้มีการเชิญตนรวมทั้งอดีตนายกรัฐมนตรีทุกคนเข้าให้ข้อมูลแล้ว

เมื่อถามว่า คตส.ได้สอบถามเรื่องหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน ด้วยหรือไม่ นายชวนกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า ทาง คตส.ก็ได้สอบถามหลายเรื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น