xs
xsm
sm
md
lg

สถานีลพบุรีกำลังจะแยกร่าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีโอกาสมาเยือนลพบุรี หลังจากไม่ได้มาจังหวัดนี้มานานเกือบ 20 ปี ขาไปนั่งรถตู้จากสถานีเดินรถโดยสารขนาดเล็ก (จตุจักร) ส่วนขากลับจองตั๋วรถไฟด่วนพิเศษขบวน 8 ลงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์

จังหวัดลพบุรี แม้จะเป็นจังหวัดเมืองรองในพื้นที่ภาคกลางของไทย แต่ก็เป็นทั้งเมืองเศรษฐกิจ เมืองท่องเที่ยวและเมืองทหาร ด้วยความที่มีหน่วยงานทหาร ทั้งกองทัพบกและกองทัพอากาศตั้งอยู่ถึง 11 หน่วย

ขณะเดียวกัน ยังเป็นทางผ่านของทางรถไฟสายเหนือ ที่สร้างต่อจากทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ (อยุธยา-นครราชสีมา) เริ่มเดินรถจากสถานีชุมทางบ้านภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา ถึงสถานีลพบุรี

ก่อนจะขยายเส้นทางจากสถานีลพบุรี ไปถึงสถานีปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2448 แล้วก่อสร้างทางรถไฟมาเรื่อยๆ ในที่สุดก็ขยายเส้นทางมาถึงสถานีรถไฟเชียงใหม่ เปิดเดินรถปฐมฤกษ์เมื่อ 1 มกราคม 2464

จากการคมนาคมทางน้ำ ทางรถไฟ ถึงทางรถยนต์ สมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้มีการวางผังเมืองใหม่และตั้งหน่วยทหารขึ้นมาในเมืองลพบุรี และต้องการให้ทางหลวงสายหลักผ่านที่ตั้งของกองทหารสำคัญของประเทศ

จึงได้ตัดถนนพหลโยธิน มาถึงจังหวัดลพบุรี เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2483 จากนั้นจึงขยายเส้นทางผ่านพื้นที่ตาคลี ต่อด้วยจังหวัดชัยนาท นครสวรรค์ กำแพงเพชร ตาก ลำปาง พะเยา สิ้นสุดที่จังหวัดเชียงราย

อย่างไรก็ตาม หลังการเปิดใช้ถนนสายเอเชีย (ทางหลวงหมายเลข 32) เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2515 แม้จะทำให้ตาคลี และชัยนาทกลายเป็นเมืองอับ แต่ตัวเมืองลพบุรียังคงได้รับอานิสงส์จากแหล่งท่องเที่ยวและหน่วยงานทางทหาร




ตัวเมืองลพบุรีมีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ อาทิ พระปรางค์สามยอด ศาลพระกาฬ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สะท้อนถึงความเจริญในอดีต

เมืองลพบุรีในสมัยโบราณเรียกว่า “ละโว้” ก่อตั้งขึ้นโดยพระเจ้ากาฬวรรณดิษ ราชโอรสแห่งพระเจ้ากรุงขอม โดยมีการค้นพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยทวารวดี

กระทั่งสมัยกรุงศรีอยุธยา ลพบุรีอยู่ในฐานะเป็นเมืองลูกหลวง สมัยพระเจ้าอู่ทอง และ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นราชธานีแห่งที่ 2 แต่หลังสมเด็จพระนารายณ์มหาราชสวรรคต เมืองลพบุรีหมดความสำคัญลง

มาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ จึงบูรณะเมืองลพบุรีขึ้นมาอีกครั้ง โปรดเกล้าฯ ให้สร้างที่ประทับในพระราชวังและพระราชทานนามว่า “พระนารายณ์ราชนิเวศน์”

สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้มีการก่อสร้างทางรถไฟสายเหนือ มาถึงสถานีลพบุรี เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2444 ก่อนที่จะขยายเส้นทางไปถึงจังหวัดเชียงใหม่

ปัจจุบัน การคมนาคมสายหลักในตัวเมืองลพบุรี ได้แก่ ถนนพหลโยธิน และทางรถไฟสายเหนือ ที่ให้บริการมากว่า 100 ปี โดยมีขบวนรถไฟให้บริการมากถึงวันละ 34 ขบวน




สถานีรถไฟลพบุรี ตั้งอยู่ใกล้กับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี ซึ่งเป็นโบราณสถานบนเนื้อที่ 20 ไร่ โดยมีถนนหน้าศาลพระกาฬคั่นอยู่ และมีวัดบันไดหิน อยู่ติดกันทางทิศใต้ของสถานี

ลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียว โดยมีโถงตรงกลาง ด้านหน้าสถานีจะเป็นลานจอดรถ มีหัวรถจักรไอน้ำ หมายเลข 161 ตั้งอยู่ เริ่มใช้การตั้งแต่ปี 2456 เลิกใช้การในปี 2510 ส่วนด้านในเป็นห้องจำหน่ายตั๋ว ร้านค้า และที่ทำการสถานี

มีชานชาลารอรถไฟอยู่ 3 ชานชาลา แบ่งเป็นชานชาลาที่ 1 เที่ยวขาขึ้น ชานชาลาที่ 2 และ 3 เที่ยวขาล่อง บริเวณชานชาลายังมีห้องน้ำ ด้านในจะแยกโซนชาย-หญิง โดยมีห้องอาบน้ำอยู่ด้วย ขณะนี้ให้บริการฟรี

แม้จะเป็นห้องน้ำเล็กๆ แต่สะอาด ห้องอาบน้ำพบว่าฝักบัวน้ำไหลแรงดี ช่วงกลางวันใครที่เดินทางด้วยรถไฟแล้วเหนียวตัว ถ้าพกสัมภาระมา แวะอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าที่นี่ก่อนออกไปด้านนอกก็ได้

มีทางรถไฟ 6 ทาง รองรับทั้งขบวนรถสินค้าที่จอดรอขบวนรถโดยสารผ่านไปก่อน และจอดขบวนรถโดยสารต้นทางสถานีลพบุรี โดยมีขบวนรถชานเมืองไปยังสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) และขบวนรถท้องถิ่นไปยังสถานีพิษณุโลก

จากสถานีรถไฟชุมทางบ้านภาชี เป็นรถไฟทางคู่ แต่เมื่อพ้นจากสถานีลพบุรีไปแล้ว ผ่านศาลพระกาฬและพระปรางค์สามยอด ทางรถไฟจะเหลือเพียงทางเดี่ยว มุ่งหน้าไปยังปลายทางสถานีเชียงใหม่ต่อไป




ที่นี่มีขบวนรถไฟให้บริการรวม 34 ขบวนต่อวัน (นับรวมขบวนรถที่งดเดินชั่วคราว) ประกอบด้วย ขบวนรถเชิงพาณิชย์ 18 ขบวน ขบวนรถเชิงสังคม 16 ขบวน มีรถไฟแวะจอดรับ-ส่งผู้โดยสารตลอดทั้งวัน

ในยามค่ำคืน มีขบวนรถด่วนพิเศษ และรถเร็ว เที่ยวขาขึ้น ปลายทางสถานีเชียงใหม่ และสถานีเด่นชัย จังหวัดแพร่ หลังตีสองจะมีขบวนรถเที่ยวขาล่อง ปลายทางสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์แวะส่งผู้โดยสารที่นี่

หน้าสถานีรถไฟ จะมีรถจักรยานยนต์รับจ้าง ใกล้กันเป็น ท่ารถมินิบัสเคโอ สายกรุงเทพฯ-ลพบุรี ใช้เส้นทางบ้านเบิก ออกถนนสายเอเชียที่จังหวัดอ่างทอง ปลายทางสถานีขนส่งหมอชิต 2 เป็นอีกทางเลือกในการเดินทาง

ถัดออกมาจะเป็นโรงแรมเล็กๆ ชื่อว่า โรงแรมสุพรพงษ์ เป็นที่พักราคาถูก เริ่มต้นที่ 100 บาท ถัดจากนั้นจะเป็นร้านสะดวกซื้อแบรนด์ภูธร เอกภาพ ต่อด้วยร้านเซเว่นอีเลฟเว่น

ไม่ห่างมากนักก็จะเห็นศาลพระกาฬ มีลิงวิ่งขวักไขว่เต็มไปหมด แต่น่าเห็นใจที่สภาพอาคารพาณิชย์โดยรอบราวกับเมืองร้าง ช่วงเย็นจรดค่ำ บริเวณหน้าสถานีรถไฟลพบุรี จะเป็นตลาดโต้รุ่งที่เต็มไปด้วยร้านรถเข็นแบบสตรีทฟู้ด




ขากลับเราเดินทางด้วยรถด่วนพิเศษดีเซลราง ขบวน 8 เชียงใหม่-กรุงเทพอภิวัฒน์ แม้ตามกำหนดเวลารถออก 17.28 น. แต่เจอขบวนรถล่าช้าจากการก่อสร้างรถไฟทางคู่ กว่าจะถึงสถานีเวลา 18.33 น.

ถึงกระนั้น ค่าโดยสารจากสถานีลพบุรี ถึงสถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ ปรับราคาลงเหลือ 289 บาท จากเดิมค่าโดยสารอยู่ที่ 396 บาท เนื่องจากงดบริการอาหารและเครื่องดื่มชั่วคราว โดยลดค่าโดยสารไป 80 บาท

ด้วยค่าโดยสารที่สูงกว่ารถตู้สายกรุงเทพฯ-ลพบุรี (140 บาท) อาจมีน้อยคนนักที่ใช้บริการขบวนนี้ แต่วันนั้นพบว่ามีผู้โดยสารมาใช้บริการประมาณ 3-4 คน ใช้เวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง ถึงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ 20.15 น.

แต่ขบวนรถนี้ต้องจองล่วงหน้า วันที่ไปลพบุรี จองตั๋วรถไฟเที่ยวกลับขบวนนี้ตอน 7 โมงเช้า ได้ที่นั่งสุดท้ายพอดี เมื่อขึ้นรถไฟให้นำอีเมลที่มีไฟล์ PDF มาแสดงให้เจ้าหน้าที่ดูว่าชื่อตรงกันหรือไม่ก็พอ ไม่ต้องพิมพ์ใส่กระดาษออกมา

ภาพ : โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ

ภาพ : โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ
โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ เริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2561 เป็นต้นมา หนึ่งในนั้นคือการก่อสร้างสถานีลพบุรี 2 ห่างจากสถานีรถไฟลพบุรีเดิม ประมาณ 9 กิโลเมตร

สถานีรถไฟลพบุรี 2 ตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 366 หรือถนนเลี่ยงเมืองลพบุรี บริเวณก่อนถึงแยกสนามไชย ต.โพลาดแก้ว อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี บนโครงสร้างทางรถไฟยกระดับที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ระยะทาง 19 กิโลเมตร

โดยสร้างทางรถไฟเลี่ยงเมือง ระยะทาง 29 กิโลเมตร เริ่มต้นจากสถานีบ้านกลับ อ.หนองโดน จ.สระบุรี สิ้นสุดที่สถานีโคกกะเทียม อ.เมืองฯ จ.ลพบุรี เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบกับพระปรางค์สามยอด และโบราณสถานที่สำคัญ

จากนั้นจะเป็นการก่อสร้างรถไฟทางคู่ตามแนวเส้นทางรถไฟเดิม จากสถานีท่าแค อ.เมืองฯ จ.ลพบุรี สิ้นสุดบริเวณสถานีปากน้ำโพ อ.เมืองฯ จ.นครสวรรค์ รวมระยะทาง 145 กิโลเมตร

โครงการนี้ใช้งบประมาณก่อสร้าง จำนวน 21,467 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 สัญญา แต่ดูแล้วช้ากว่าแผนพอสมควร โดยเฉพาะงานระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม (ST8) คืบหน้าเพียง 32.70% คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2567

มีเรื่องที่น่าคิดอยู่อย่างหนึ่งก็คือ สถานีลพบุรี 2 ตั้งอยู่ห่างไกลจากตัวเมืองลพบุรี อยู่ใจกลางทุ่งนา ไม่มีรถประจำทางผ่าน ห่างไกลสถานศึกษา สถานที่ราชการ และศูนย์กลางการค้า วางแผนอนาคตตรงนี้อย่างไร?

ก่อนหน้านี้การรถไฟฯ ได้จัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นสถานีรถไฟลพบุรี และสถานีรถไฟลพบุรี 2 เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาจัดทำแผนการเดินรถไฟในอนาคต เชื่อว่าคนที่ได้ทราบข่าวคงได้กรอกแบบสอบถามไปแล้ว

หนึ่งในนั้นมีคำถามที่ว่า ถ้าการรถไฟฯ ยกเลิกการให้บริการที่สถานีรถไฟลพบุรีจะเลือกไปใช้บริการสถานีรถไฟลพบุรี 2 หรือไม่ และคิดว่าควรมีบริการขนส่งสาธารณะประเภทใด เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง

รวมทั้งควรมีบริการประเภทใดบริเวณสถานีรถไฟลพบุรี 2 เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้บริการ และควรมีการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟลพบุรี 2 เพิ่มเติมอย่างไร นอกเหนือจากการบริการขนส่งสาธารณะ

ทราบอย่างไม่เป็นทางการว่าจะย้ายเฉพาะขบวนรถเชิงพาณิชย์ ขบวนรถเร็ว รถด่วน และรถด่วนพิเศษ ไปที่สถานีลพบุรี 2 ส่วนขบวนรถเชิงสังคม ทั้งขบวนรถธรรมดา ขบวนรถชานเมือง และขบวนรถท้องถิ่น ยังจอดที่สถานีลพบุรีเดิม

เหมือนกับการย้ายขบวนรถเชิงพาณิชย์จากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ไปยังสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (สถานีกลางบางซื่อ) นับตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2566 เป็นต้นมา

ภาพ : สถานีรถไฟลพบุรี การรถไฟแห่งประเทศไทย




แต่เท่าที่อ่านกำหนดเวลาเดินรถ แล้วลองแยกขบวนรถเชิงพาณิชย์ กับขบวนรถเชิงสังคมออกจากกัน พบว่าสถานีรถไฟลพบุรีเดิม ขบวนรถเชิงสังคม รถออกจากสถานีเที่ยวแรก 04.30 น. กลับถึงสถานีประมาณ 2 ทุ่มเศษ

ส่วนสถานีลพบุรี 2 ขบวนรถเชิงพาณิชย์ พบว่าหลังเที่ยงคืนถึงเช้ามืดจะมีรถด่วนขบวน 51 เที่ยวสุดท้ายของสายเหนือ จากนั้นจะเป็นขบวนรถเที่ยวขาล่อง ขบวน 108, ขบวน 52, ขบวน 14 และขบวน 10 (อุตราวิถี)

จากนั้นช่วงครึ่งวันเช้าจะมีรถไฟเที่ยวขาขึ้นเพียง 2 ขบวน ได้แก่ ขบวน 111 และขบวน 7 ช่วงครึ่งวันบ่ายจะมีรถไฟเที่ยวขาขึ้น ได้แก่ ขบวน 109 และขบวนรถเที่ยวขาล่อง 3 ขบวน ได้แก่ ขบวน 112, ขบวน 8 และขบวน 102

ในช่วงค่ำ หลัง 2 ทุ่มจะมีรถไฟขาขึ้นอีก 3 ขบวน ก่อนรถด่วนขบวนสุดท้าย ได้แก่ ขบวน 9 (อุตราวิถี), ขบวน 13 และขบวน 107 ส่วนขบวนรถที่งดเดินชั่วคราว 4 ขบวน ได้แก่ ขบวน 3/4 และขบวน 105/106

ถ้าเป็นรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ไปห้างโรบินสัน ไลฟ์สไตล์ ลพบุรี ซึ่งห่างจากสถานีรถไฟประมาณ 10 กิโลเมตร ดูจากค่าโดยสารประมาณ 100 บาท ถ้าให้ไปสถานีรถไฟลพบุรี 2 ซึ่งอยู่ไกลปืนเที่ยง ค่าโดยสารจะขนาดไหน

แม้ต่อให้ประสานกับสำนักงานขนส่งจังหวัดลพบุรี จัดให้มีระบบขนส่งสาธารณะ แต่ไม่รู้ว่าจะให้บริการตลอดคืนหรือไม่ โดยเฉพาะคนที่จะขึ้นรถไฟตอนค่ำ และคนที่ลงรถไฟขาล่องจากจังหวัดภาคเหนือ ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนถึงเช้ามืด

แต่คนที่ใช้บริการรถไฟเชิงพาณิชย์ ย่อมมีน้อยกว่าคนที่ใช้บริการรถไฟเชิงสังคม ที่คนลพบุรีใช้บริการในชีวิตประจำวัน หากจัดให้มีระบบขนส่งมวลชนก็ไม่รู้ว่าจะคุ้มทุนหรือไม่ หรือสุดท้ายคงต้องม้วนเสื่อกลับบ้าน

จึงเป็นเรื่องที่น่าขบคิดว่า เมื่อถึงเวลาที่สถานีรถไฟลพบุรีต้องแยกกันให้บริการ ชาวลพบุรีที่ใช้บริการรถไฟในการเดินทางจะปรับตัวอย่างไร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะอำนวยความสะดวกมากน้อยขนาดไหน?
กำลังโหลดความคิดเห็น