xs
xsm
sm
md
lg

2564 ทีวีดาวเทียมยังไม่ตาย?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

การออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ช่องท็อปนิวส์ (TOP NEWS) เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ถือเป็นการฟื้นสมรภูมิแข่งขันของช่องข่าวทีวีดาวเทียม หลังจากที่ห่างหายไปนาน นับตั้งแต่มีทีวีดิจิทัลเกิดขึ้นมาเมื่อปี 2557

ก่อนหน้านี้ “ช่องวอยซ์ทีวี” คืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัลและยุติออกอากาศเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2562 หันมาออกอากาศผ่านทีวีดาวเทียม พร้อมกับช่องทางออนไลน์ ทั้งเฟซบุ๊กไลฟ์ ยูทูปไลฟ์ และทวิทซ์ (Twitch) แพลตฟอร์มถ่ายทอดสดอี-สปอร์ต

นอกจากจะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ราวกับเป็นฝ่ายค้านนอกสภาแล้ว การชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก และกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า คณะราษฎร 2563 วอยซ์ทีวีถ่ายทอดสดผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ไปด้วย

เพียงแต่ว่าที่มาของช่องท็อปนิวส์ เกิดจาก “ฉาย บุนนาค”ประธานเครือเนชั่น เจ้าของช่องเนชั่นทีวีเปลี่ยนนโยบาย ทำให้กลุ่มของ “สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม” ที่มีทั้งผู้บริหาร ผู้ประกาศข่าว และทีมงานทยอยลาออกในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563

อีกทั้ง กนก รัตน์วงศ์สกุล และ ธีระ ธัญไพบูลย์ ที่อยู่กับเครือเนชั่นมากกว่า 20 ปี ก็ลาออกเช่นกัน ทำให้ทีมงานที่เคยร่วมงานกับกนกทยอยกันลาออก ตั้งแต่ช่างภาพ โปรดิวเซอร์ กราฟฟิก และผู้ประกาศข่าวอย่าง วุฒินันท์ นาฮิม

เมื่อกลุ่มของสนธิญาณลาออก มีความพยายามที่จะหาช่องทางผลิตสถานีข่าวเป็นของตัวเองภายใต้ชื่อ ท็อปทีวี (TOP TV) เริ่มจากเจรจากับช่องนิว 18 ที่เหลืออายุใบอนุญาตทีวีดิจิทัล 8 ปี เพื่อขอซื้อกิจการผ่านเจ้าหนี้อย่างธนาคารกรุงเทพ

รวมไปถึงการเจรจากับ นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เพื่อขอเข้าไปผลิตรายการข่าวที่ชื่อว่าท็อปนิวส์ (TOP NEWS) ในช่องพีพีทีวี แต่การเจรจากับช่องนิว 18 ยาวนานกว่า 3-4 เดือน และช่องพีพีทีวีไม่ประสบความสำเร็จ

ในที่สุด สนธิญาณตัดสินใจนำรายการข่าวลงช่องทีวีดาวเทียม โดยมี “ทรงพล ชัญมาตรกิจ” เจ้าของธุรกิจโฮมชอปปิ้ง “ทีวีไดเร็ค” ให้ใช้อาคารทีวีไดเร็คโมโม่ ย่านวัชรพล พร้อมสตูดิโอออกอากาศขนาดใหญ่

แม้ที่มาระหว่างช่องวอยซ์ทีวี กับช่องท็อปนิวส์ต่างกัน แต่ที่เหมือนกันก็คือ เป็นช่องโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ และใช้วิธีอาศัยเครือข่ายช่องทีวีดาวเทียมที่มีอยู่แล้ว เกี่ยวสัญญาณออกอากาศ โดยไม่ได้เป็นเจ้าของสถานีเอง

ช่องท็อปนิวส์ ใช้วิธีออกอากาศผ่าน ช่องทีวีดี 10 (PSI ช่อง 77) ซึ่งเจ้าของก็ คือ บริษัท ทีวีดี เซอร์วิสเซส จำกัด เป็นคนถือใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์แบบไม่ใช้คลื่นความถี่จาก สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้กับกลุ่มทีวีไดเร็คอีกที

เช่นเดียวกับช่องวอยซ์ทีวี ใช้วิธีออกอากาศผ่านเครือข่าย วีดีโอทูโฮม (V2H) ช่อง V2H2 (PSI ช่อง 51) ของ เอ็มวี เทเลวิชั่น (ไทยแลนด์) หรือ MVTV ที่มี ชัยยุทธ ทวีปวรเดช เป็นเจ้าของ ซึ่งเคยมี “ทีวีเสื้อแดง” ในช่วงการเมืองร้อนแรง ก่อนปี 2557

ทีวีดาวเทียมหลังยุค คสช. ไม่ได้เป็น “ฟรีทูแอร์” เช่นในอดีต แต่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. โดยต้องขออนุญาตประกอบกิจการ มีการเข้ารหัส มีโฆษณาได้ชั่วโมงละไม่เกิน 6 นาที ตลอดทั้งวันเฉลี่ยแล้วต้องไม่เกินชั่วโมงละ 5 นาที

ต่างจากทีวีดิจิทัล โฆษณาได้ชั่วโมงละไม่เกิน 12 นาที 30 วินาที ตลอดทั้งวันเฉลี่ยแล้วต้องไม่เกินชั่วโมงละ 10 นาที แต่ต้องแลกกับใบอนุญาตที่ประมูลในราคาที่สูง และต้องแบกรับต้นทุนจำนวนมหาศาล กระทั่งมีผู้คืนใบอนุญาตไปแล้ว 7 ช่อง

อย่างไรก็ตาม หากนับสมรภูมิรายการข่าวที่มีอยู่ในปัจจุบัน พบว่าหากเป็นทีวีดิจิทัลมักจะแข่งขันกันที่ “ข่าวชาวบ้าน” ที่มีทั้งความแปลก ความผิดปกติ ความลึกลับ ความมีเงื่อนงำ หรือข่าวเร้าอารมณ์ผู้ชม โดยเฉพาะทิศทางข่าวที่มาจากโซเชียลฯ

แม้กระทั่งการนำเสนอข่าวที่มุ่งเน้นไปที่ตัวละครของข่าว เช่น กรณีนำเสนอเรื่องราวชีวิตของ “ลุงพล” หรือ ไชย์พล วิภา หนึ่งในผู้ต้องสงสัยคดีการเสียชีวิตของเด็กหญิงชมพู่ ถูกนำเสนอชีวิตทุกแง่มุม จนคนดูสงสาร กลายมาเป็นซุป’ตาร์

ถึงจะมีคำถามในเชิงจริยธรรมการทำข่าวตามมา แต่เมื่อปฏิเสธไม่ได้ว่าทีวีดิจิทัลหล่อเลี้ยงได้ด้วยตัวเลขเรตติ้ง ทำให้ทีวีดิจิทัลอย่างน้อย 2 ช่อง คือ อมรินทร์ทีวี และ ไทยรัฐทีวี เรตติ้งรายการข่าวแซงหน้าละครบางช่องเรียบร้อยแล้ว

ขณะที่หมวดรายการข่าวและสาระ เหลือเพียงช่องทีเอ็นเอ็น, นิว 18 และ เนชั่นทีวี พบว่าก่อนหน้านี้ช่องเนชั่นทีวีเน้นไปที่ข่าวการเมือง โดยรายการที่มีเรตติ้งสูงที่สุด คือ เนชั่นทันข่าว ดำเนินรายการโดย อัญชะลี ไพรีรัก และ สันติสุข มะโรงศรี

ผู้ประกาศข่าวแม่เหล็กของช่องอย่าง กนก-ธีระ  มีรายการข่าวช่วงเช้าอย่าง เนชั่นคนข่าวเข้ม และ ข่าวข้นคนเนชั่น รวมทั้งรายการที่แยกมาทำเองต่างหาก ซึ่งก็มีแฟนคลับอย่างเหนียวแน่น

แต่อีกด้านหนึ่ง กลุ่มผู้สนับสนุน ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รวมทั้งกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล ไม่พอใจช่องเนชั่นทีวี (ขณะนั้น) ที่นำเสนอข่าวโจมตีมาตลอด นำไปสู่การแบนโฆษณาเนชั่น ระหว่างการชุมนุมขับไล่รัฐบาล

เมื่อกลุ่มสนธิญาณ กับกลุ่มฉายขัดแย้ง ผู้ประกาศข่าวแม่เหล็กหายไป ทำให้เนชั่นทีวีเปลี่ยนรายการข่าว ดึงคนข่าวอย่าง พิภู พุ่มแก้วกล้า กับ อรกานต์ จิวะเกียรติ เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยมี อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ เป็นหัวเรือใหญ่แทน

การเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฝ่ามือ ทำให้แฟนคลับกนก-ธีระ หรือ สันติสุข-อัญชะลี ที่มีอยู่เดิม รอคอยที่จะย้ายไปชมช่องใหม่ ในวันแรกทั้งแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กไลฟ์ และยูทูปไลฟ์ มีผู้ชมพร้อมกันนับหมื่น ไม่นับรวมเคเบิลทีวีและจานดาวเทียม

ถือเป็นการปลุกทีวีดาวเทียมให้ฟื้นขึ้นมาได้ในระดับหนึ่ง จากผู้ชมที่เป็นกลุ่มเฉพาะ หลังจากที่ผ่านมาทีวีดาวเทียมเริ่มล้มหายตายจาก เพราะถูกแทนที่ด้วยทีวีดิจิทัล เฟซบุ๊กไลฟ์ ยูทูป ไลน์ทีวี ไอพีทีวี และวีดีโอออนดีมานด์ เช่น เน็ตฟลิกซ์

แต่กลุ่มผู้ชมท็อปทีวี ล้วนแล้วแต่กลุ่มวัยทำงานและผู้สูงอายุ ที่เคยผ่านประสบการณ์โลกไร้เสาก้างปลา ติดจานดาวเทียม ติดเคเบิลทีวีมาเมื่อ 16 ปีก่อน แต่เมื่อระยะหลังพฤติกรรมคนดูเปลี่ยนไป ทำให้ทีวีดาวเทียมถูกมองข้ามโดยสิ้นเชิง

ขณะที่สนธิญาณ เคยทำทีวีดาวเทียมมาก่อน ในชื่อ ทีนิวส์ทีวี เคยมีผู้ชมจำนวนมากในช่วงชุมนุมทางการเมืองปี 2553 แต่ยุติการออกอากาศเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2559 หลังประสบปัญหาขาดทุนในช่วงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

การออกอากาศผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ และยูทูป คนที่เข้าถึงเทคโนโลยีก็มีโอกาสเข้าถึง แต่ถ้าเป็นกลุ่มคนดูที่เคยชินกับการนั่งแช่ดูทีวี โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ทีวีดาวเทียมหรือเคเบิลทีวีอาจจะตอบโจทย์มากกว่า

บางคนยอมติดตั้งจานดาวเทียม เพราะไม่สะดวกกับการนำยูทูปขึ้นจอทีวีบ่อยครั้งก็มี

ปัจจุบัน ยังมี ช่องนิวส์วัน (PSI ช่อง 211) ของเครือผู้จัดการ ที่ผลิตรายการทีวีดาวเทียมมานานถึง 17 ปี แม้ผู้ก่อตั้งอย่าง สนธิ ลิ้มทองกุล จะหันมาผลิตรายการ คุยทุกเรื่องกับสนธิ ผ่านเฟซบุ๊กและยูทูป รวมทั้งพอตแคสต์ ก็นำมาออกอากาศผ่านช่องนิวส์วันเช่นกัน

ช่องเจเคเอ็นทีวี (PSI ช่อง 86) ของกลุ่มเจเคเอ็น ที่มีรายการข่าวเศรษฐกิจและการลงทุนจาก เจเคเอ็น ซีเอ็นบีซี (JKN CNBC) ที่ซื้อลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ แม้จะไม่ได้ออกอากาศผ่านทีวีดิจิทัลแล้ว แต่ก็ยังมีให้ชมทางช่องเจเคเอ็นทีวี

รวมถึง ช่องฟ้าวันใหม่ (PSI ช่อง 210) ของกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์, ช่องสุวรรณภูมิ (PSI ช่อง 218) ของประชัย เลี่ยวไพรัตน์, ช่องพีชทีวี (PSI ช่อง 214) ของ จตุพร พรหมพันธุ์ อดีตแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง ฯลฯ

มีคนในวงการโทรทัศน์รายหนึ่งเคยกล่าวสั้นๆ ว่า การเข้ามาของท็อปทีวี อาจจะพิสูจน์ให้เห็นว่า ทีวีดาวเทียมยังไม่ตาย เพียงแต่จุดแข็งต้องแข็งจริงๆ ถึงจะมีคนตามไปดู 

แต่สุดท้ายเมื่อกลุ่มผู้ชมที่เป็นผู้สูงอายุทยอยล้มหายตายจาก ตามมาด้วยวัยทำงาน มาถึงยุคคนรุ่นใหม่ ช่องจะอยู่ได้ยืนยาวหรือไม่?

ขณะนี้สิ่งที่ต้องดูกันต่อไปก็คือ ในสถานการณ์การเมืองที่ร้อนแรง ยังมีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาล กับกลุ่มที่ขับไล่รัฐบาล เช่น กลุ่มคณะราษฎร 2563 กลุ่มผู้ชมที่สนับสนุนการเมืองแต่ละฝั่ง จะส่งผลให้ทีวีดาวเทียมเติบโตขึ้นหรือไม่

ขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลด้านเนื้อหาทีวีดาวเทียมอย่าง กสทช. จะรับมือกับการกลับมาของกระแสทีวีดาวเทียมอย่างไร โดยเฉพาะบทเรียนของทีวีดาวเทียมในอดีตที่มีตั้งแต่การใช้คำที่หยาบคาย ไปจนถึงเนื้อหาที่กระทบกับความมั่นคง

แม้การใช้สื่อทางการเมืองยุคนี้ จะเบนเข็มไปที่สื่อโซเชียลฯ มากกว่าทีวีดาวเทียมอย่างในอดีตก็ตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น