xs
xsm
sm
md
lg

จากโคราชถึงอุบลฯ บนทางรถไฟสายอีสานใต้

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

อุบลราชธานี จังหวัดที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของประเทศ และมีประชากรมากเป็นอันดับ 3 รองจากกรุงเทพมหานคร และนครราชสีมา ถือเป็น 1 ใน 4 หัวเมืองเศรษฐกิจสำคัญของภาคอีสาน นอกเหนือจากโคราช ขอนแก่น และอุดรธานี

ถือเป็นจุดหมายปลายทางของอีสานใต้ มีแม่น้ำโขงไหลผ่าน เชื่อมโยงการค้าชายแดนกับเมืองเศรษฐกิจของลาวใต้อย่าง “เมืองปากเซ” แขวงจำปาสัก เป็นจังหวัดสุดท้ายที่แม่น้ำโขงไหลผ่าน และมีแม่น้ำมูลไหลมาบรรจบกันเป็นแม่น้ำสองสี

เป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญด้านการค้าชายแดน การเกษตร อุตสาหกรรมเกษตร และค้าปลีก-ค้าส่ง ที่มีบริษัทแจ้งเกิดมาจากอุบลราชธานี เช่น อุบลวัสดุ ธุรกิจค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง กลายมาเป็น “ดูโฮม” และจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ


การคมนาคมจากกรุงเทพฯ สู่อุบลราชธานี ถือว่ามาไม่ยากเพราะมีหลายตัวเลือก สะดวกที่สุดคือทางเครื่องบิน ใช้เวลา 1 ชั่วโมงเศษ มีสายการบินให้บริการทั้งนกแอร์ แอร์เอเชีย ไทยสมายล์ ไทยไลอ้อนแอร์ และไทยเวียตเจ็ท

ลงจากเครื่องแล้ว ยังมีรถเมล์ปรับอากาศราคาประหยัดอย่าง “อุบลซิตี้บัส” กับค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ผ่านใจกลางเมืองอย่างทุ่งศรีเมือง ถนนชยางกูร ตลาด 6 เทสโก้โลตัส โรงแรมสุนีย์แกรนด์ บิ๊กซี สิ้นสุดที่สถานีขนส่งอุบลราชธานี

ส่วนทางรถยนต์ พบว่า ถนนโชคชัย-เดชอุดม จาก อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา เป็นถนน 4 เลนตลอดสาย และกำลังขยายถนนสายบ้านจาน-หนองงูเหลือม-สำโรง-วารินชำราบ เป็น 4 เลน ย่นระยะทางได้ 30-40 กิโลเมตร ไม่ต้องไปอ้อมที่ อ.เดชอุดม


ถนนสายหลักที่เข้าเมืองมีอยู่ 3-4 เส้นทาง นอกจาก ถนนสถิตย์นิมานกาล อ.วารินชำราบแล้ว ยังมี ถนนแจ้งสนิท มาจากบ้านไผ่ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร และ ถนนชยางกูร มาจากหนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ

ขณะที่รถโดยสารประจำทาง ปัจจุบันมีให้บริการมากกว่า 10 ราย ทั้งรถหมวด 2 จากกรุงเทพฯ และรถหมวด 3 จากภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย, ภาคตะวันออก จ.ระยอง, ภาคตะวันตก อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และภาคใต้ จ.ภูเก็ต

รถที่มาจากกรุงเทพฯ บางบริษัทอย่าง นครชัยแอร์ ใช้เส้นทางสีคิ้ว-นางรอง-ประโคนชัย-ปราสาท-สังขะ-นาเจริญ-ขุนหาญ-บ้านจาน-บ้านเสียว-เบญจลักษ์-โนนคูณ-สำโรง-วารินชำราบ-อุบลราชธานี ใช้เวลาประมาณ 7-8 ชั่วโมง

บางบริษัทแวะพักรถที่ บขส. 2 นครราชสีมาก่อน แล้วใช้เส้นทางบุรีรัมย์-สุรินทร์-ศรีสะเกษ-อุบลราชธานี บางบริษัทใช้ถนนมิตรภาพ และถนนแจ้งสนิท อ้อมไปทางบ้านไผ่-มหาสารคาม-ยโสธร-อุบลราชธานี ใช้เวลานานกว่า


ส่วนรถไฟ ระยะทางจากสถานีกรุงเทพ 575 กิโลเมตร ถ้าอย่างดีก็จะเป็นรถด่วนพิเศษอีสานวัตนา (ขบวนที่ 23) รถนอนปรับอากาศชั้น 1 ราคาเริ่มต้นที่ 1,320-1,520 บาท ชั้น 2 ราคาเริ่มต้นที่ 881-981 บาท ใช้เวลาประมาณ 10-11 ชั่วโมง

นอกนั้นจะมีให้เลือกทั้งรถด่วนพิเศษ รถด่วน และรถเร็ว ราคาถูกที่สุดคือรถไฟชั้น 3 ราคา 205 บาท ส่วนรถท้องถิ่นมีแค่นครราชสีมา-อุบลราชธานี ค่าโดยสาร 58 บาท และลำชี-อุบลราชธานี ค่าโดยสาร 33 บาท

ในวันนั้นแวะไปธุระที่ จ.นครราชสีมาก่อน แล้วจึงค่อยไปต่อที่ จ.อุบลราชธานี มีคนแนะนำว่า "ให้เดินทางด้วยรถไฟจะเร็วกว่า"  เพราะถ้าเป็นรถทัวร์จะเป็นรถผ่าน จองตั๋วล่วงหน้าไม่ได้ ต้องลุ้นแบบวันต่อวันว่าผู้โดยสารจากต้นทางจะเต็มไหม

มีเพียงรถเมล์สาย 285 นครราชสีมา-อุบลราชธานี แต่ก็วิ่งอ้อมไปทาง อ.โชคชัย แล้วใช้ถนนโชคชัย-เดชอุดม ผ่านหนองกี่ นางรอง ปราสาท สังขะ ขุขันธ์ กันทรลักษ์ เดชอุดม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ใช้เวลาเดินทางเกือบครึ่งวัน

เราจึงตัดสินใจนั่งรถไฟจากโคราช มาอุบลราชธานีตามคำแนะนำ


ที่ สถานีรถไฟนครราชสีมา มีขบวนรถไปยังปลายทางอุบลราชธานีวันละ 10 ขบวน มีทั้งขบวนรถท้องถิ่น 3 ขบวน เป็นรถชั้น 3 นั่งพัดลม ค่าโดยสารเพียง 58 บาท ใช้เวลาเดินทางประมาณ 6 ชั่วโมงเศษ

เร็วที่สุดคือ รถด่วนพิเศษขบวนที่ 21 กรุงเทพ-อุบลราชธานี ออกจากสถานีนครราชสีมาประมาณ 10 โมงเช้า ถึงอุบลราชธานีบ่ายสองโมง เร็วที่สุดในบรรดาขบวนรถอื่นๆ ค่าโดยสารจากสถานีนครราชสีมา 453 บาท

แต่วันนั้นต้องทำธุระครึ่งวันเช้า จึงจองตั๋วเดินทางที่สถานีนครราชสีมา ทีแรกเลือกขบวนรถเร็วที่ 135 กรุงเทพ-อุบลราชธานี เพราะออกจากที่นี่ตอนเที่ยงเศษ ถึงอุบลราชธานีราว 6 โมงเย็น

พอถึงเวลาซื้อตั๋วจริงถึงกับเหวอเล็กน้อย เพราะพนักงานขายตั๋วบอกว่า ชั้น 2 เป็นรถพัดลม ไม่มีแอร์ ถ้าจะนั่งรถแอร์ก็เป็นรอบบ่ายสองโมงครึ่ง ถึงอุบลราชธานีช่วงค่ำๆ แต่เนื่องจากไม่อยากรอนานเกินไป จึงตัดสินใจเลือกขบวน 135 นี่แหละ

ค่าโดยสารขบวนรถเร็วที่ 135 จากสถานีนครราชสีมา ชั้น 2 ราคา 243 บาท ส่วนชั้น 3 ราคา 168 บาท (ราคาต่างกัน 75 บาท) ต่างกันตรงที่ชั้น 2 เป็นที่นั่งแบบเบาะ นั่งตามหมายเลขที่ระบุในตั๋ว ส่วนชั้น 3 เป็นเบาะยาวเหมือนขบวนรถที่เรานั่งทั่วไป


ด้วยความที่ไม่อยากเจอปัญหาไม่มีที่นั่ง จึงเลือกขบวนรถชั้น 2 อย่างน้อยมีที่นั่งแล้วจะได้อุ่นใจ จะบอกว่าตั๋วกระดาษแบบยาวกำลังจะยกเลิกเร็วๆ นี้ เปลี่ยนไปใช้ตั๋วรถไฟ ขนาดเท่านามบัตร พิมพ์ด้วยกระดาษความร้อนเหมือนตั๋วภาพยนตร์

ในวันเดินทาง สถานีแจ้งว่าขบวนรถล่าช้าไป 36 นาที กว่าจะเข้าสู่สถานีก็เกือบบ่ายโมง สาเหตุมาจากการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-คลองขนานจิตร และต้องรอให้ขบวนรถเร็วที่ 136 อุบลราชธานี-กรุงเทพ เข้าสู่ชานชาลาเสียก่อน

จากสถานีนครราชสีมา ผ่านสถานีชุมทางถนนจิระ ก่อนจะแยกกันระหว่างทางคู่ไปหนองคาย กับทางเดี่ยวไปอุบลราชธานี ระยะทางประมาณ 309 กิโลเมตร ผ่าน 5 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

เส้นทางระหว่างชุมทางถนนจิระ ถึงอุบลราชธานี กรมรถไฟหลวงเปิดเดินรถถึงสถานีรถไฟอุบลราชธานี ที่ อ.วารินชำราบ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2473 หรือเมื่อ 90 ปีก่อน กระทั่งได้สร้างทางรถไฟอีกเส้นไปถึงหนองคาย เปิดการเดินรถในปี 2501

เริ่มจากขนานไปกับถนนนครราชสีมา-บุรีรัมย์ ผ่านแม่น้ำมูลก่อนถึงสถานีท่าช้าง อ.เฉลิมพระเกียรติ จากนั้นด้านขวาของขบวนรถจะเป็นป่าหนองเต็งและป่าจักราช จอดสับรางที่สถานีหนองมโนรมย์ให้ขบวน 146 เข้ากรุงเทพฯ ผ่านไปก่อน


จากนั้นจอดรับ-ส่งผู้โดยสารที่สถานีจักราช ออกจากสถานี เส้นทางจะขนานไปกับถนนนครราชสีมา-บุรีรัมย์ บริเวณด้านขวาของขบวนรถ ผ่านบ้านหินดาษ จอดรับ-ส่งผู้โดยสารที่สถานีห้วยแถลง จากนั้นเส้นทางจะเริ่มเห็นทุ่งนาเขียวขจี

เข้าเขตจังหวัดบุรีรัมย์ ทางรถไฟช่วงนี้จะเต็มไปด้วยนาข้าวที่สวยงาม จอดรับ-ส่งผู้โดยสารที่สถานีลำปลายมาศ จากนั้นหลังขบวนรถออกจากสถานี จะได้เห็นหอพระอำเภอลำปลายมาศในช่วงสั้นๆ

ตลอดเส้นทางช่วงนี้จะพบกับนาข้าวเขียวขจี จอดรับ-ส่งผู้โดยสารที่สถานีทะเมนชัย เมื่อผ่านสะพานถนนเลี่ยงเมืองบุรีรัมย์ จึงค่อยๆ เห็นความเจริญทางด้านซ้ายมือ ก่อนจอดรับ-ส่งผู้โดยสารที่สถานีบุรีรัมย์

หลังออกจากสถานีแล้วผ่านจุดตัดทางรถไฟแล้ว แนวเส้นทางจะเห็นนาข้าวยาวๆ อีกครั้ง แวะรับ-ส่งผู้โดยสารที่สถานีห้วยราช เข้าเขตจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นสถานีใหญ่อีกแห่ง จากนั้นจะเป็นนาข้าว สลับกับขนานไปตามถนนสุรินทร์-ศรีสะเกษ

ระหว่างทางจะผ่านขบวน 426 ไปนครราชสีมา ที่สถานีกระสัง, ขบวน 22 เข้ากรุงเทพฯ ที่สถานีศีขรภูมิ และขบวน 422 ไปลำชี ที่สถานีสำโรงทาบ จากนั้นจะเริ่มทำความเร็ว เข้าเขตจังหวัดศรีสะเกษ จอดรับ-ส่งผู้โดยสารที่สถานีห้วยทับทัน


จากนั้นจะจอดรับ-ส่งผู้โดยสารที่สถานีอุทุมพรพิสัย เข้าสู่ตัวเมืองศรีสะเกษ จอดรับ-ส่งผู้โดยสารที่สถานีศรีสะเกษ แนวเส้นทางจะขนานไปกับถนนศรีสะเกษ-อุบลราชธานี จอดรับ-ส่งผู้โดยสารที่สถานีกันทรารมย์

ช่วงนั้นตะวันตกดินเรื่อยๆ ท้องฟ้าเริ่มมืด ผ่านสะพานข้ามทางรถไฟ ข้ามคลองขะยุง เข้าเขต อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี จอดรับ-ส่งผู้โดยสารที่สถานีห้วยขะยุงเป็นสถานีสุดท้าย ก่อนที่จะทำความเร็วเรื่อยๆ

เมื่อผ่านทางเลี่ยงเมืองอุบลราชธานีไปสักพัก ขบวนรถจะค่อยๆ ลดความเร็วลง ข้ามจุดตัดทางรถไฟถนนเทศบาล 14 ทางรถไฟจะขึ้นสะพานข้ามถนนศรีสะเกษ จอดที่สถานีอุบลราชธานี ซึ่งมีขบวน 420 ไปลำชีจอดอยู่ พร้อมที่จะออกเดินทาง

จากเดิมขบวนที่ 135 ล่าช้าที่สถานีนครราชสีมา 36 นาที หลังผ่านไปได้ 3 ขบวน จึงทำความเร็วมากขึ้นตั้งแต่สถานีสำโรงทาบ จ.สุรินทร์ จึงทำให้ขบวนรถล่าช้าเหลือเพียง 13 นาที


สถานีรถไฟอุบลราชธานีไม่ได้อยู่อำเภอเมือง แต่อยู่ที่อำเภอวารินชำราบ อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำมูล ห่างจากตัวเมืองอุบลราชธานี ไปตามถนนสถิตย์นิมานกาล ข้ามสะพานเสรีประชาธิปไตย 2497 ถึงทุ่งศรีเมือง ประมาณ 4 กิโลเมตร

จากตัวสถานีมีรถสองแถวสีขาวสาย 2 เข้าเมือง ผ่านถนนพรหมราช วัดทุ่งศรีเมือง สถานีตำรวจ ถนนชยางกูร มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี เทสโก้โลตัส โรงแรมสุนีย์แกรนด์ บิ๊กซี สิ้นสุดที่สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดอุบลราชธานี

แต่ถ้าต้องการความรวดเร็วก็มีสามล้อเครื่อง และรถแท็กซี่มิเตอร์เข้ามาให้บริการอย่างต่อเนื่อง เท่าที่ใช้บริการจากสถานีไปยังโรงแรมย่านถนนรอบเมือง แม้มิเตอร์จะเริ่มต้นที่ 40 บาท แต่ระยะทาง 11 กิโลเมตรเศษ ค่าโดยสาร 116 บาท ถือว่าค่าใช้จ่ายพอๆ กับนั่งแท็กซี่ในกรุงเทพฯ

แม้ว่าการเดินทางจากโคราช ไปอุบลราชธานีด้วยรถไฟจะรวดเร็วกว่ารถประจำทาง แต่จะรวดเร็วกว่านี้ หากเป็นรถไฟทางคู่ เพราะปัจจุบันทางรถไฟช่วงชุมทางถนนจิระ ถึงอุบลราชธานี ความยาว 309 กิโลเมตร ยังเป็นรถไฟทางเดี่ยว


ก่อนหน้านี้กระทรวงคมนาคม สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ผลักดันโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี มูลค่าโครงการ 37,527.10 ล้านบาท

โดยก่อสร้างทางรถไฟใหม่เพิ่มอีกทางหนึ่ง ก่อสร้างสถานีใหม่ ยกระดับทางรถไฟอีก 3 แห่ง ที่ตัวเมืองบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ พร้อมย่านกองเก็บและขนถ่ายสินค้า (CY) ที่ป้ายหยุดรถบ้านตะโก สถานีบุฤาษี สถานีหนองแวง และสถานีบุ่งหวาย

หลังก่อสร้างแล้วเสร็จ รถไฟจะสามารถทำความเร็วได้สูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพิ่มความเร็วในการเดินขบวนรถ สนับสนุนการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าสู่กลุ่มจังหวัดทางภาคอีสาน ลดอุบัติเหตุทางถนนจากการเปลี่นนจุดตัดทางรถไฟ

โครงการนี้จัดอยู่ในโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 7 โครงการ ระยะทาง 1,483 กิโลเมตร วงเงินรวม 273,000 ล้านบาท แต่น่าเสียดายที่ล่าสุดถูกทบทวนโครงการใหม่ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบ

มีเพียงโครงการรถไฟทางคู่สายขอนแก่น-หนองคาย ที่ยังคงขับเคลื่อนต่อไป เนื่องจากเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ชาติ เชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟของลาว ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2564 โดยเปลี่ยนรูปแบบย่านกองเก็บสินค้าเล็กน้อยเท่านั้น


ปัจจุบัน โครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 1 มีอยู่ 7 เส้นทาง แล้วเสร็จ 2 เส้นทาง คือ ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น กับ ฉะเชิงเทรา-ชุมทางคลองสิบเก้า-แก่งคอย ที่ยังไม่ก่อสร้างก็คือ คลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ ที่จะเปลี่ยนเป็นยกระดับทางรถไฟช่วงตัวเมืองนครราชสีมา

นอกนั้นกำลังทยอยก่อสร้าง อาทิ สายเหนือ ลพบุรี-ปากน้ำโพ, สายอีสาน มาบกะเบา-คลองขนานจิตร พร้อมทางรถไฟยกระดับใน อ.มวกเหล็ก และอุโมงค์รถไฟ, สายใต้ นครปฐม-หัวหิน, หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ และ ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร

เส้นทางชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี อาจจะต้องร้องเพลงรอกันไป จนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวหลังสถานการณ์โควิด-19 ถึงตอนนั้นหากโครงข่ายรถไฟทางคู่สายอีสานเสร็จสมบูรณ์ การเดินรถไฟจะตรงเวลาและรวดเร็วมากขึ้น

จากกรุงเทพฯ ไปอุบลราชธานี เมื่อเดินทางด้วยรถไฟจะมีระยะทาง 575 กิโลเมตร หากเป็นรถไฟทางคู่ทั้งหมด รถด่วนพิเศษจากเดิม 8 ชั่วโมง 15 นาที รถด่วนจากเดิมประมาณ 9-10 ชั่วโมง รถเร็วจากเดิมประมาณ 11-12 ชั่วโมง อาจจะเร็วขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

เป็นเรื่องของอนาคตที่ชาวอีสานใต้ 5 จังหวัดต้องรอลุ้นกันอีกครั้ง




กำลังโหลดความคิดเห็น