xs
xsm
sm
md
lg

ถึงเวลาปัดฝุ่น “พรีเพด ทราเวล การ์ด” บัตรแลกเงินต่างประเทศ

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

บัตรแลกเงินต่างประเทศ (Prepaid Travel Card) เป็นบัตรที่ใช้จ่ายแทนเงินสดตามร้านค้าที่ต่างประเทศ ด้วยสกุลเงินของประเทศนั้นๆ ด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่ต่ำกว่าการแลกเงินปกติ โดยการแลกเงินผ่านแอปพลิเคชันที่ธนาคารกำหนดก่อนใช้งาน ข้อดีคือไม่เสียค่าธรรมเนียมความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (FX Rate) 2.5% เมื่อเทียบกับบัตรเดบิต บัตรเครดิตทั่วไป

สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทย และคนไทยที่ไปเรียนต่อ ทำงาน หรือพำนักที่ต่างประเทศ บัตรแลกเงินเริ่มเป็นที่รู้จักมาตั้งแต่ปี 2561 โดยมีธนาคารกรุงไทย เป็นเจ้าแรกที่ออกบัตร “กรุงไทย ทราเวล การ์ด” (Krungthai Travel Card) กระทั่งนำไปต่อยอดเป็นบัตรเดบิต กรุงไทย ทราเวล การ์ด ยูเนี่ยนเพย์ สำหรับผู้ที่เดินทางหรือพำนักในประเทศจีน

ตามมาด้วย ธนาคารไทยพาณิชย์ ออกบัตร “พลาเน็ต เอสซีบี” (Planet SCB) ส่วนธนาคารกสิกรไทย หันมาร่วมกับ ยู เทคโนโลยี กรุ๊ป สตาร์ทอัพจากสิงคโปร์ ออกบัตร “ยูทริป” (YouTrip) พร้อมแอปพลิเคชันที่แยกออกจาก K PLUS ต่างหาก และรายล่าสุด คือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ออกบัตร “กรุงศรี บอร์ดดิ้ง การ์ด” (Krungsri Broading Card) เมื่อต้นปี 2563


การแข่งขันของบัตรพรีเพด ทราเวล การ์ด โดยเจาะกลุ่มลูกค้าคนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศราวปีละ 11 ล้านคน ทำให้บางธนาคารหันมาพัฒนาบัตรเดบิตให้รูดจ่ายเมืองนอกได้ ไม่เสียค่าธรรมเนียม 2.5% เช่น บัตรเดบิต ทีเอ็มบี ออลล์ ฟรี (TMB All Free) ธนาคารทหารไทย, บัตรเดบิตเจอร์นี่ (Journey) ธนาคารกสิกรไทย รวมทั้งบัตรเดบิตชิลดี ซีไอเอ็มบี ไทย

ธนาคารผู้ออกบัตรจะได้ประโยชน์ตรงที่ เมื่อลูกค้าใช้จ่ายผ่านบัตรออกไป ร้านค้าจะถูกหักค่าธรรมเนียม โดยธนาคารผู้ออกบัตรจะได้รับ "ส่วนแบ่งค่าธรรมเนียม" มากที่สุด รองลงมาคือ ธนาคารเจ้าของเครื่องรูดบัตร และตัวกลางในการชำระเงิน (วีซ่า มาสเตอร์การ์ด ยูเนี่ยนเพย์) แม้จะได้รับส่วนแบ่งน้อยที่สุด แต่ก็เป็นเสือนอนกินเพราะแทบจะไม่ต้องหาร้านค้าหรือลูกค้าเอง

บัตรแลกเงินต่างประเทศของแต่ละธนาคาร ก่อนหน้านี้มีอายุการใช้งาน 2-3 ปี จ่ายเฉพาะค่าธรรมเนียมออกบัตร ไม่มีค่าธรรมเนียมรายปี หรือถ้ามีก็ต่ำกว่าบัตรเดบิตทั่วไป แต่จำกัดคุณสมบัติบางอย่างไว้ เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกับบัตรเดบิต เช่น กดเงินสดที่ตู้เอทีเอ็มในไทยไม่ได้ แต่บางธนาคารใช้จ่ายแทนเงินสดที่ร้านค้าในประเทศไทยได้ หรือช้อปออนไลน์ที่เว็บไซต์ต่างประเทศได้

แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เมื่อต้นปี 2563 ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกหยุดชะงัก นักท่องเที่ยวชาวไทยออกนอกประเทศแทบเป็นศูนย์ ถึงกระนั้น ยังมีผู้ถือบัตรที่ใช้ประโยชน์จากบัตรใบนี้แลกเงินและใช้จ่ายผ่านบัตร เช่น เว็บไซต์อี-คอมเมิร์ชต่างประเทศ


ธนาคารที่ออกบัตรแลกเงินต่างประเทศไปแล้ว หันมาส่งเสริมการใช้บัตรผ่านร้านค้าออนไลน์มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น บัตรกรุงไทย ทราเวล การ์ด ให้ช้อปออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันต่างประเทศด้วยสกุลเงินต่างประเทศ ตั้งแต่ 5,000 บาทขึ้นไปต่อเซลล์สลิป รับเครดิตเงินคืน 120 บาท ตั้งแต่ 15 กรกฎาคม ถึง 14 พฤศจิกายน 2563

บัตรพลาเน็ต เอสซีบี มีโปรโมชันสำหรับผู้ถือบัตรที่เติมเงินและใช้จ่ายผ่านบัตร เช่น แจกรหัสส่วนลดช้อปปิ้งออนไลน์ ช้อปปี้ (Shopee) ลาซาด้า (GRAB) รหัสส่วนลดเรียกรถหรือสั่งอาหารผ่านแกร็บ (GRAB) แจกรหัสส่วนลดสำหรับลูกค้าใหม่ของ 1112 Delivery หรือเดอะ พิซซ่า คัมพานี หรือรับสิทธิ์สมัครสมาชิก Viu Premium แบบรายเดือนในราคา 69 บาทต่อเดือน

บัตรยูทริป จัดโปรโมชันสำหรับลูกค้าเดิม ชวนเพื่อนสมัครและใช้จ่ายครั้งแรกผ่านลิงก์ที่แนะนำ รับเงินโบนัสคนละ 100 บาท สูงสุด 10 คน 1,000 บาท รวมทั้งโปรโมชันจ่ายค่าเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ในเดือนกันยายนและตุลาคม 2563 รับเงินคืน 100 บาท 2 เดือน โดยในเว็บไซต์ยูทริปยังมีบล็อกบทความท่องเที่ยวและสูตรลับของนักเดินทางอีกด้วย

ส่วนบัตรกรุงศรี บอร์ดดิ้ง การ์ด จากเดิมใช้ได้เฉพาะร้านค้าทั้งในและต่างประเทศเพียงอย่างเดียว ตอนนี้สามารถใช้ซื้อของออนไลน์ได้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยเปิดใช้งานการซื้อของออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน KMA เลือกบัญชีส่วนตัว เลือก Krungsri Boarding Card เลือกเมนู “สำหรับซื้อของออนไลน์” เลื่อนปุ่มเพื่อเปิดการซื้อของออนไลน์


ล่าสุด หลังจากที่ธนาคารกรุงไทย อัปเดตแอปพลิเคชัน Krungthai Next เวอร์ชันใหม่ มีเรื่องที่เซอร์ไพร์สกว่านั้น เพราะมีเมนู “ใช้จ่ายในไทยผ่านบัตร Travel Card” โดยการผูกบัญชีเงินฝากกรุงไทย กับบัตรทราเวล การ์ด เพื่อทำรายการในประเทศ ทั้งรูดซื้อสินค้าและบริการทุกร้านที่มีสัญลักษณ์ VISA และถอนเงินสดได้ที่ตู้ ATM

เวลาถอนเงินสดที่ตู้เอทีเอ็มกรุงไทย ถ้าใช้เมนูถอนด่วนตามจำนวนที่ระบุบนหน้าจอ (FASTCASH) ระบบจะถอนเงินออกมาทันที แต่การถอนแบบระบุจำนวน (WITHDRAWAL) ถ้าเลือกประเภทบัญชีในบัตร “ออมทรัพย์” ระบบจะไม่สามารถทำรายการได้ ต้องเลือก “บัตรอิเล็กทรอนิกส์” จึงจะสามารถถอนเงินสดออกมาได้

ข้อดีก็คือ สามารถใช้จ่ายในไทยได้โดยไม่ต้องเติมเงิน โดยระบบจะตัดเงินจากบัญชีที่ผูกไว้อัตโนมัติ ซึ่งดูแล้วเหมือนคุณสมบัติบัตรเดบิตไม่มีผิด คนที่ออกบัตรไปเมื่อ 2 ปีก่อน ธนาคารเปิดให้ลูกค้าเก่าที่สมัครบัตรในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงมิถุนายน 2561 ต่ออายุบัตรไป หมดเขตเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา โดยบัตรใหม่ใช้ได้ถึงเดือนกรกฎาคม 2565


ปรากฎว่าธนาคารกรุงไทย หันมาออก บัตรกรุงไทย ทราเวล วีซ่า แพลทินัม การ์ด (Krungthai Travel VISA Platinum Card) แทน จากของเดิมที่เป็นบัตรเติมเงิน (Prepaid) อายุการใช้งาน 5 ปี คิดค่าธรรมเนียมออกบัตร 150 บาท ค่าธรรมเนียมรายปี 450 บาท โดยยกเว้นค่าธรรมเนียม 600 บาทในปีแรก ถึง 31 ธันวาคม 2563

บัตรนี้จะอยู่ในระดับเดียวกับ บัตรเดบิตเจอร์นี่ ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งเป็นวีซ่าแพลทินัมเหมือนกัน ค่าธรรมเนียมรายปี 550 บาท แต่จะได้ใช้ห้องรับรองมิราเคิล เลาจน์ (Miracle Lounge) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง ขาออกในประเทศและระหว่างประเทศ 1 สิทธิ์ต่อปีปฏิทิน เปรียบเหมือนกับเราได้ซื้อดีลเลาจน์ล่วงหน้า รวมทั้งสิทธิประโยชน์อื่นๆ ของธนาคาร

ส่วนบัตรกรุงไทย ทราเวล วีซ่า แพลทินัม การ์ด แม้ค่าธรรมเนียมจะถูกกว่า แต่ได้แค่ประกันอุบัติเหตุจากยานพาหนะสาธารณะ ทั้งในประเทศ (เกินกว่า 100 กิโลเมตรจากที่อยู่อาศัย ยกเว้นการโดยสารเป็นกิจวัตร) และต่างประเทศ สูงสุด 6 ล้านบาท เมื่อใช้บัตรชำระค่าบัตรโดยสารยานพาหนะสาธารณะ รับประกันภัยโดย บริษัท กรุงไทยพานิชประกันภัย (KPI)


คนที่ถือบัตรกรุงไทย ทราเวล การ์ด ก่อนหน้านี้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว และยังต่ออายุบัตรอีกถือว่าโชคดี เพราะเท่ากับว่าได้ "แรร์ไอเท็ม" (Rare Item) ได้ใช้บัตรไปฟรีๆ ถึง 4 ปี ยิ่งให้ผูกบัญชีเพื่อถอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็มในประเทศได้แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องใช้บัตรเดบิตอีก แต่หลังจากกลางปี 2565 คงต้องขึ้นอยู่กับผู้ถือบัตรแล้วว่าจะยอมเปลี่ยนเป็นบัตรแพลทินัม หรือเลิกใช้ไปเลย

แม้การท่องเที่ยวต่างประเทศจะหยุดชะงักจากปัญหาโควิด-19 แต่การแข่งขันของบัตรแลกเงินต่างประเทศยังมีอยู่ ถึงจะทำการตลาดได้แค่ในประเทศก็ตาม สำคัญตรงที่ในยุคสังคมไร้เงินสด ค่าธรรมเนียมและสิทธิประโยชน์มีผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค สิ่งที่ต้องนึกถึงอยู่เสมอก็คือ แม้ในวันนี้จะฟรีค่าธรรมเนียม แต่วันข้างหน้าอาจจะคิดค่าธรรมเนียมก็ได้

การเลือกที่จะถือบัตรก็ขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้บริโภค เช่น ธนาคารที่ใช้เป็นประจำ ประสบการณ์ ความสะดวกในการใช้งาน รวมทั้งค่าธรรมเนียม ระหว่างแบบปีต่อปี หรือจะเหมาจ่ายตามอายุบัตร ถึงตอนนั้นผู้บริโภคในฐานะนักเดินทาง จะตัดสินใจได้เองว่า บัตรใบไหนจะยังคงถือต่อไป ใบไหนจะโยนทิ้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น