ซีไอเอ็มบีไทยเดินหน้าใช้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงใหม่ THOR ต่อเนื่อง พร้อมจัดทีมให้ความรู้ในการใช้แก่ลูกค้า ตั้งเป้ามีมาร์เกตแชร์ 20-30% ยันภาวะตลาดตราสารหนี้เข้าสู่ภาวะปกติ คาดยอดออกตราสารหนี้ทั้งปีเกิน 5 แสนล้าน ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจตลาดเงินยังเติบโตตามเป้าหมายที่ 15-20%
นายเพา จาตกานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจบริหารเงิน ธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด(มหาชน) (CIMBT) เปิดเผยว่า หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เริ่มเผยแพร่การใช้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงใหม่ที่เรียกว่า THOR (Thai Overnight Repurchase Rate) แทนการใช้อัตราดอกเบี้ย LIBOR และ THBFIX มาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 นั้น ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เข้าทำสัญญาอนุพันธ์อ้างอิงอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงตัวใหม่ THOR เป็นธุรกรรมแรกของประเทศ ได้แก่ ธุรกรรมอนุพันธ์ Overnight Index Swap หรือ OIS ร่วมกับธนาคารกสิกรไทย คิดเป็นมูลค่าประมาณ 800 ล้านบาท เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา และจะยังทำต่อไป รวมถึงจะทยอยให้ความรู้แก่ลูกค้าเพื่อให้เปลี่ยนมาใช้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงใหม่ด้วย
ทั้งนี้ ธนาคารได้จัดทีมเพื่อให้ความรู้แก่ลูกค้าในเรื่องดังกล่าว โดยคาดว่าจะมีลูกค้าเริ่มเปลี่ยนใช้อัตราดอกเบี้ยมากขึ้นเรื่อยๆ ก่อนที่จะถึงกำหนดการไม่รับอัตราดอกเบี้ย Libor ทั้งนี้ ข้อดีของการใช้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง THOR ซึ่งเป็นดอกเบี้ยที่คำนวณจากธุรกรรมกู้ยืมระยะข้ามคืนในตลาดซื้อคืนพันธบัตรระหว่างธนาคารจริง จะทำให้อัตราดอกเบี้ยสะท้อนไปตามความเป็นจริง โปร่งใส มีเสถียรภาพ และไม่ผันผวนมากนัก
"หลังจากที่ ธปท.ประกาศจะใช้อัตราดอกเบี้ยตัวใหม่ ธนาคารก็เตรียมความพร้อมและงานหลังบ้านทันที ทั้งความพร้อมฝั่ง Treasury, Risk, Operations, Finance และ Legal โดยขั้นตอนถัดไปธนาคารจะออกไปให้ความรู้เรื่องอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงตัวใหม่ให้ลูกค้ารายต่อรายเพื่อให้มั่นใจว่า ลูกค้าเข้าใจด้วยความที่ THOR เป็นเรื่องใหม่ และเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาตลาดการเงินของไทย เพื่อให้ลูกค้าได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่มีความโปร่งใส และยังสะท้อนสภาพคล่องที่แท้จริงของค่าเงินบาท และสะท้อนอัตราดอกเบี้ยที่ควรจะเป็นอีกด้วย"
พร้อมกันนี้้ ธนาคารมีแผนจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่จะนำเอาอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง THOR มาใช้มากขึ้น เพิ่มเติมจากผลิตภัณฑ์ที่ธนาคารมีอยู่แล้ว ทั้งธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตร หุ้นกู้ ตราสารอนุพันธ์ รวมถึงธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการกู้ยืมเงินที่อ้างอิงกับ THOR โดยในฐานะ Market Maker ธนาคารตั้งเป้าหมายว่า จะมีส่วนแบ่งตลาดที่เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันธนาคารมีส่วนแบ่งตลาดในธุรกรรมที่อ้างอิงโดย THBFIX ประมาณ 20-30% หรือประมาณ 3-4 ล้านล้านบาทต่อปี และคาดว่าจะความพร้อมในการเป็นผู้นำตลาด THOR จะทำให้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 30%
นายเพา กล่าวอีกว่า แนวโน้มตลาดตราสารหนี้ขณะนี้เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติหลังจากช่วงโควิด-19 ที่ถูกเทขายออกมามาก โดยคาดว่าปีนี้จะมีการออกตราสารหนี้ระดมทุนมากว่าปีก่อนที่มีมูลค่า 500,000 ล้านบาท และคาดว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้มีธุรกิจขนาดใหญ่กลุ่มสาธารณูปโภคอีก 2-3 ดีล โดยปีนี้ธนาคารตั้งเป้ารายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจตลาดเงินเติบโต 15-20% ซึ่งปัจจุบันถือว่าทำได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากปัจจัยหนุนที่กลุ่มผู้ประกอบการกลับมาออกหุ้นกู้มากขึ้น หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายทำให้ความผันผวนลดลง และนักลงทุนในตลาดเกิดความมั่นใจมากขึ้น
"ปัจจุบันนี้ตลาดบอนด์ของไทยใหญ่กว่าตลาดหุ้นแล้ว จากเดิมที่กลับกัน เพราะในช่วง หลายปีที่ผ่านมา สภาพคล่องในระบบสูง มีเงินที่ออกมาหาผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้า บลจ. ที่เริ่มกระจายความเสี่ยงมาลงทุนในบอนด์ที่มีสภาพคล่องดีขึ้น ความเสี่ยงต่ำเลยทำให้ตลาดบอนด์ได้รับความนิยมมากขึ้น และมีขนาดใหญ่ขึ้น"