xs
xsm
sm
md
lg

ระบบชำระเงิน “Contactless ที่ไม่ Contactless” ช่วงโควิด-19 ระบาด

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ถือเป็นโอกาสที่จะส่งเสริมการชำระเงินผ่านสื่อและช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ แทนการใช้เงินสด แต่ก็พบปัญหาเครื่อง EDC ตามห้างร้านต่างๆ ยังไม่พร้อมรองรับระบบคอนแทคเลสเท่าที่ควร

ก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนว่า เงินสดอาจเป็นสื่อกลางนำเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว เพราะเงินสดทั้งธนบัตรและเหรียญถูกเปลี่ยนมือบ่อย นำพาแบคทีเรียและไวรัสหลายชนิดติดอยู่หลายวัน

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หันมาส่งเสริมให้ใช้ระบบการชำระเงินผ่านมือถือ หรือ โมบาย เพย์เมนท์ (Mobile Payment) ทั้งรูปแบบ Thai QR Payment สำหรับร้านค้าที่มีคิวอาร์โค้ด และโอนเงินผ่านพร้อมเพย์แก่ร้านค้า



แต่ก็พบว่าในความเป็นจริง มีน้อยร้านค้าที่ “เต็มใจ” รับชำระเงินด้วยโมบาย เพย์เมนท์ จะมีก็แต่ร้านค้าที่ใช้โมบายเพย์เมนท์ร่วมกับผู้ให้บริการ ที่มีโปรโมชันและสิทธิพิเศษแก่ลูกค้ามากกว่า อาทิ ทรูมันนี่วอลเลต แรบบิทไลน์เพย์ แอร์เพย์ ฯลฯ

ไม่นับรวมโทรศัพท์มือถือ ก็เป็นแหล่งรวมเชื้อโรคและแบคทีเรียไม่ต่างจากธนบัตร เนื่องจากหน้าจอสัมผัสด้วยมืออยู่บ่อยครั้ง แถมการเข้าสู่ระบบยังยุ่งยาก วันดีคืนดีแอปพลิเคชันธนาคารก็ล่ม ใช้งานไม่ได้ โดยเฉพาะช่วงสิ้นเดือน

ภาพ : สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
ขณะที่ธนาคารหลายแห่งในไทย ต่างออกบัตรเดบิตระบบคอนแทคเลส (Contactless) กันเกือบหมดแล้ว หลังจากที่ประกาศยกเลิกบัตรเอทีเอ็ม และบัตรเดบิตระบบแถบแม่เหล็ก ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2563 เป็นต้นมา

ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เป็นธนาคารแรกที่ออกบัตรเดบิตระบบคอนแทคเลสมาตั้งแต่ปี 2558 ก่อนที่ในปี 2561 จะมีธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี), ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารซิตี้แบงก์

ขณะที่ธนาคารผู้ให้บริการเครื่องรูดบัตร EDC หลายแห่ง ทยอยเปลี่ยนเครื่องรุ่นใหม่ ที่รองรับระบบคิวอาร์โค้ดและคอนแทคเลส พร้อมกับลดค่าธรรมเนียมร้านค้ารับบัตรเดบิตที่ออกในประเทศไทยเหลือ 0.55%


จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ร้านค้าที่ใช้ระบบคอนแทคเลสได้ดีที่สุด คือ “แมคโดนัลด์” เนื่องจากเครื่อง EDC ที่หน้าเคาน์เตอร์รองรับระบบคอนแทคเลส และพนักงานให้ลูกค้าแตะบัตรด้วยตนเอง

นอกจากนี้ แมคโดนัลด์ในบางสาขายังนำตู้สั่งอาหาร “แมค อีซี่ ออเดอร์” (Mc Easy Order) ให้ลูกค้าสั่งอาหารและชำระเงินด้วยตัวเอง ทำรายการง่ายผ่านจอแบบสัมผัสขนาดใหญ่ มีเครื่อง EDC อยู่ด้านล่าง เพียงแตะบัตรก็ทำรายการสำเร็จ

ระบบดังกล่าว เคเอฟซีได้นำมาใช้กับสาขาสามย่านมิตรทาวน์เป็นแห่งแรก โดยติดตั้งตู้สั่งอาหารอัตโนมัติ (Self-Order Kiosk) จำนวน 2 เครื่อง แต่บางสาขาของเซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป (CRG) ก็มีเครื่อง EDC ให้บริการแล้ว


แม้ในปัจจุบันร้านค้าหลายแห่งเริ่มหันมาใช้เครื่อง EDC เพื่อส่งเสริมสังคมไร้เงินสด แต่น้อยครั้งที่พนักงานแคชเชียร์จะรู้จักระบบคอนแทคเลส เพราะแคชเชียร์หลายคนยังคงใช้วิธีนำ “ตัวชิปการ์ดในบัตร” ไปเสียบที่เครื่อง EDC เหมือนเดิม

และเมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ใช้บัตรเดบิตชิปการ์ดมาตรฐานกลางแก่บัตรรุ่นใหม่ ต้องบังคับให้ใส่ PIN 6 หลักผ่านเครื่อง EDC แถมยังต้องเซ็นชื่อบนหน้าจอของเครื่องอีกต่างหาก แทนที่จะสะดวกรวดเร็ว กลับ “ยุ่งยาก” กว่าเดิม


ห้างสรรพสินค้าบางแห่ง เช่น “เทสโก้ โลตัส” แม้ธนาคารกรุงเทพจะติดตั้งเครื่อง EDC รุ่นใหม่ ยี่ห้อ Verifone P400 กว่า 10,000 เครื่องไปเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา แต่พบว่าพนักงานแคชเชียร์ยังใช้ระบบคอนแทคเลสไม่เป็น และอ้างว่าเครื่องเสีย

ทั้งๆ ที่หากจะให้ลูกค้าใช้ระบบคอนแทคเลส เช่น วีซ่าเพย์เวฟ (VISA PayWave) แค่ให้แคชเชียร์กด F1 จากเครื่อง EDC ด้านใน แล้วให้ลูกค้าแตะบัตรที่เครื่องด้านนอกก็พอแล้ว!

แต่บางครั้งก็มีปัญหาเครื่องเสียจริง สาเหตุอาจเกิดจากสายเชื่อมต่อระหว่างเครื่อง EDC ด้านนอก (ฝั่งลูกค้า) กับด้านใน (ฝั่งแคชเชียร์) ขาดหรือหลุด โดยหน้าจอจะขึ้น “P400 Not Connected” ซึ่งก็คงต้องรอซ่อมต่อไป

ส่วน “กลุ่มเดอะมอลล์” แม้ธนาคารไทยพาณิชย์จะติดตั้งเครื่อง EDC รุ่นใหม่ที่รองรับระบบคอนแทคเลส แต่ก็ขึ้นอยู่กับอารมณ์แคชเชียร์ บางคนแตะบัตรที่เครื่องเลย แต่บางคนก็นำตัวชิปการ์ดในบัตรไปเสียบที่เครื่อง EDC ตามความเคยชิน


ขณะที่ “ร้านคาเฟ่ อเมซอน” แม้เครื่อง EDC ของธนาคารกสิกรไทย จะรองรับระบบคอนแทคเลส แต่ปัญหาก็คือ พนักงานคาเฟ่ อเมซอนกดไม่เป็น ส่วน “ร้านสตาร์บัคส์” ที่ใช้เครื่อง EDC แบบพกพาก็ใช้งานไม่ได้เพราะถูกปิดฟังก์ชั่นไว้

จากปัญหาแคชเชียร์ใช้ระบบคอนแทคเลสไม่เป็น ธนาคารผู้ให้บริการเครื่องรูดบัตรทั้งหลาย ควรแจ้งวิธีการชำระเงินแบบคอนแทคเลสแก่ร้านค้าให้มากกว่านี้ เพราะในอนาคตอาจมีรูปแบบการชำระเงินใหม่ๆ เข้ามา เช่น แอปเปิลเพย์

หรืออย่างทุกวันนี้ ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) ก็ออกชิปอันเล็กๆ ที่ชื่อว่า “ทีเอ็มบี เวฟ” (TMB Wave) พร้อมเคสสวมใส่กับนาฬิกาสมาร์ทวอซ สำหรับแตะเพื่อชำระเงินตามเครื่อง EDC ต่างๆ


กล่าวถึง “ทีเอ็มบีเวฟ” มีผู้ใช้งานรายหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เวลานำไปใช้กับรถประจำทาง ขสมก. มักจะมีปัญหาทุกที

ก่อนหน้านี้ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ส่งมอบเครื่อง EDC แบบพกพาให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) นำไปใช้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แทนระบบอี-ทิคเก็ต ที่ ขสมก. บอกเลิกสัญญาผู้ชนะการประมูล

กระทั่งอัพเกรดคุณสมบัติเครื่อง EDC ให้รองรับการชำระเงินผ่านบัตรเติมเงิน ขสมก., โมบายแบงกิ้ง และบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตที่มีระบบคอนแทคเลสทุกธนาคาร เริ่มใช้ได้ทุกเส้นทางกว่า 3,000 คัน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา


ปรากฎว่าเมื่อนำนาฬิกาที่ติดตั้ง “ทีเอ็มบี เวฟ” ไปขอแตะกับพนักงานเก็บค่าโดยสาร ส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าทำได้ มักจะถูกปฏิเสธและร้องขอบัตรพลาสติกอยู่บ่อยครั้ง เขาต้องค่อยๆ อธิบายพนักงานให้เข้าใจ ซึ่งเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง

ทุกวันนี้เขาใช้วิธีพกทั้งนาฬิกาที่ติดตั้ง “ทีเอ็มบีเวฟ” ที่มือซ้าย มือขวาถือบัตรเดบิตเอาไว้ เวลาพนักงานเก็บค่าโดยสารยื่นเครื่อง EDC ก็จะแตะด้วยนาฬิกา แต่ถ้าเครื่อง EDC ไม่ได้อยู่กับตัวพนักงาน ก็จะยื่นบัตรเดบิตไปให้แตะแล้วส่งคืน

บางครั้งเทคโนโลยีที่มาก่อนกาล ก็ทำให้เกิดความสับสนได้เหมือนกัน


การสร้างสังคมไร้เงินสดเกิดขึ้นไม่ได้ได้ในวันเดียว ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการ ร้านค้า และผู้ใช้งานจริงสร้างประสบการณ์ร่วมกัน หากพบปัญหาก็ต้องร่วมกันแก้ไข และต้องส่งเสริมให้ผู้ใช้งานใช้ได้อย่างต่อเนื่อง

คนไทยรู้จักบัตรเดบิตอย่างจริงจัง นับตั้งแต่ปี 2542 หรือเมื่อ 21 ปีก่อน ธนาคารกสิกรไทย ออกบัตรวีซ่า อิเล็กตรอนเป็นแห่งแรก ทำให้ธนาคารอื่นๆ หันมาออกบัตรเดบิต ทดแทนบัตรเอทีเอ็ม กระทั่งปัจจุบันบัตรเอทีเอ็มเหลือเพียงแค่ไม่กี่แห่ง

แต่ที่ผ่านมาร้านค้ามักปฏิเสธรับบัตรเดบิต เพราะเห็นว่ายุ่งยาก กระทั่งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันผลักดันระบบการชำระเงินแห่งชาติ (National E-Payment) ส่งเสริมการใช้บัตรเดบิตทั้งลุ้นโชค ทั้งคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม 5%


ปัจจุบันแม้จะมีร้านค้ารับบัตรเพิ่มขึ้นจากเมื่อก่อน แต่เทคโนโลยีการชำระเงินเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะระบบคอนแทคเลส ก็มีร้านค้าอีกจำนวนมากที่ใช้งานระบบนี้ไม่เป็น ทำให้ผู้ใช้งานบัตรเสียโอกาสที่จะได้รับความสะดวกในการใช้จ่าย

ในอดีต ผู้ใช้งานบัตรอย่างเราเคยเสียโอกาสในการใช้บัตรเดบิตแทนเงินสดมาแล้ว มายุคนี้เรากลับเสียโอกาสในการใช้งานระบบคอนแทคเลสที่มีอยู่ในบัตรเดบิต ไม่คุ้มกับค่าธรรมเนียมบัตรอย่างน้อยปีละ 200 บาทที่เสียไปในแต่ละปี

ในช่วงโรคโควิด-19 ระบาด จึงเป็นโอกาสที่จะส่งเสริมการใช้ระบบชำระเงินแบบคอนแทคเลสให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่.
กำลังโหลดความคิดเห็น