xs
xsm
sm
md
lg

เบิ่งศูนย์การค้ายักษ์เวียงจันทน์ จากตลาดเช้าถึงลาวไอเต็ก

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


ไอเต็กมอลล์
กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

นครหลวงเวียงจันทน์ เมืองหลวงของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชานลาว (สปป.ลาว) นอกจากแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมอย่างประตูชัยและธาตุหลวง พบว่าแหล่งช้อปปิ้งประเภทศูนย์การค้าขนาดใหญ่มีเพียงไม่กี่แห่ง

เริ่มจาก “ตลาดเช้ามอลล์” (Talat Sao Mall) ถนนล้านช้าง ใจกลางตลาดเช้า ถือเป็นศูนย์การค้าเก่าแก่ในนครหลวงเวียงจันทน์ เป็นอาคารสูง 4 ชั้น พร้อมที่จอดรถในร่ม ก่อนที่จะมีอีกอาคารหนึ่งสูง 8 ชั้น และชั้นใต้ดิน 1 ชั้นอยู่ติดกัน

เวียงจันทน์เซ็นเตอร์ (ภาพเมื่อเดือนตุลาคม 2562)
ตามมาด้วย “เวียงจันทน์เซ็นเตอร์” (Vientiane Center) ศูนย์การค้าระดับอินเตอร์แบรนด์แห่งแรกในลาว จำหน่ายสินค้าหลากหลายแบรนด์ดัง และโรงภาพยนตร์เมเจอร์ แพลทินัม ซีนีเพล็กซ์ ขนาด 5 โรง บริเวณชั้น 4

อาคารถัดมาจะเป็น “พาร์คสัน” (Parkson) ศูนย์การค้าระดับลักชัวรี จากกลุ่มไลอ้อน กรุ๊ป มาเลเซีย เปิดเมื่อปี 2561 ขณะนี้กำลังตกแต่งแผนกซูเปอร์มาร์เก็ตและศูนย์อาหาร เตรียมเปิดให้บริการในเร็วๆ นี้

พาร์คสัน (ภาพเมื่อเดือนตุลาคม 2562)
นอกจากนี้ ยังมีห้างสรรพสินค้าขนาดเล็ก เช่น “โฮมไอเดียล” (Homeideal) แยกเป็นแผนกดีพาร์ทเมนท์ สโตร์ และแผนกซูเปอร์มาร์เก็ต มีสินค้าหลากหลาย นำเข้าจากไทยและจีน และสินค้าลาวยอดนิยมอย่างกาแฟ ที่มีให้เลือกมากมาย

เข้าไปแล้ว อารมณ์จะคล้ายๆ กับ “ตั้งฮั่วเส็ง บางลำภู” ในประเทศไทย เพราะไม่มีบันไดเลื่อน มีแต่บันไดธรรมดา แต่จะชอบซื้อกาแฟจากลาวที่นั่น โดยเฉพาะ “กาแฟดาวคอฟฟี่” สินค้ายอดนิยมที่โด่งดังมาถึงประเทศไทย

เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีโอกาสมาเยือนเวียงจันทน์อีกครั้ง คราวที่แล้วอ่านแผนที่รถเมล์สะดุดตากับคำว่า “ลาวไอเต็ก” (Lao ITECC) ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมนานาชาติ ซึ่งดูจากวีดีโอคลิปแล้วอลังการพอสมควร

แม้จะอยู่ห่างไกลจากย่านการค้าดั้งเดิมอย่าง “ตลาดเช้า” ราว 5 กิโลเมตร แต่ด้วยความอยากรู้ว่า “ลาวไอเต็ก” จะยิ่งใหญ่ขนาดไหน จึงตัดสินใจนั่งรถเมล์ “เกียวโตบัส” เพื่อไปดูให้เห็นกับตาสักครั้ง

รถเมล์เกียวโตบัส ขนาด 22 ที่นั่ง (คันนี้ไปสนามบินวัดไต คนละคันกับที่ไปลาวไอเต็ก)
จากสถานีขนส่งตลาดเช้า ต้องเดินเลี้ยวซ้ายตรงไฟแดง จะเห็นป้ายรถเมล์ข้างรั้วสังกะสี ใกล้ “ตลาดขัวดิน” ตรงจุดนี้จะเป็นที่จอดรถเมล์สีเขียวอ่อนไปลาวไอเต็ก และรถเมล์ Airport Shuttle ไปสนามบินนานาชาติวัดไต

รถเมล์สาย 10 ตลาดเช้า-ลาวไอเต็ก ใช้รถโดยสารขนาดกลางสีเขียวอ่อน 22 ที่นั่ง ค่าโดยสาร 4,000 กีบตลอดสาย (ประมาณ 14 บาท) ผ่านประตูชัย ธาตุหลวง เลี้ยวขวาเข้าถนนกำแพงเมือง ใช้เวลาเดินทาง 30 นาทีก็มาถึง

รถจะจอดส่งผู้โดยสารบริเวณใต้ทางเชื่อมสกายเวย์ (Sky Way) ระหว่างตึกเก่ากับตึกใหม่ มีรถให้บริการวันละ 12 เที่ยว จากตลาดเช้า เที่ยวแรก 09.35 น. เที่ยวสุดท้าย 16.45 น. จากลาวไอเต็ก เที่ยวแรก 07.45 น. เที่ยวสุดท้าย 17.00 น.

หลังจากนี้ ถ้าจะกลับตลาดเช้า ต้องเหมารถสามล้อไปส่ง ซึ่งจอดอยู่ที่ไฟแดงปากทางเข้าลาวไอเต็ก เสียค่าโดยสาร 30,000 กีบ (ประมาณ 103 บาท) แพงกว่ารถเมล์หลายเท่าตัว

ลาวไอเต็ก ตึกเก่า
ที่มาที่ไปของลาวไอเต็ก ต้องย้อนกลับไปปี 2546 ช่วงที่ลาวกำลังจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 10 ที่นครหลวงเวียงจันทน์ แต่ยังขาดศูนย์ประชุมนานาชาติที่จะต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองจากประเทศในภูมิภาคอาเซียน

รัฐบาลลาวจึงได้ไปเชิญนักลงทุนไทยอย่าง “ศักดิ์ชัย วงศ์มาลาสิทธิ์” เจ้าของบริษัท ไทย อกริ ฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตกะทิตราอร่อยดี เข้ามาลงทุนก่อสร้างศูนย์ประชุมแห่งนี้ ในนามบริษัท ลาวเวิลด์ กรุ๊ป

โครงการศูนย์การค้าการแสดงและการประชุมสากล ตั้งอยู่ที่ถนนกำแพงเมือง เชื่อมระหว่างถนนไกสอนพมวิหาน ทางไปวังเวียง กับถนนท่าเดื่อ ทางไปสะพานมิตรภาพไทย-ลาว อยู่ตรงข้ามตลาดหลักทรัพย์ลาว ชายขอบนครหลวงเวียงจันทน์

วางศิลาฤกษ์เมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2546 เป็นอาคาร 2 ชั้น หลังคามุงด้วยแผ่นเมทัลชีท แล้วเสร็จเมื่อเดือนธันวาคม 2546 เซ็นสัญญาระหว่างรัฐบาลลาว กับบริษัท ลาวเวิลด์ กรุ๊ป เรียกว่า “ลาวไอเต็ก” มาถึงปัจจุบัน

ลาวไอเต็ก กลายเป็นสถานที่จัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2547 ก่อนที่จะใช้จัดงานแสดงสินค้าระดับประเทศและระดับนานาชาติ โดยมีภาครัฐและเอกชนมาใช้บริการตลอดทั้งปี

กระทั่งขยับขยาย ก่อสร้างศูนย์การค้าขนาดใหญ่ สูง 8 ชั้น และชั้นใต้ดิน 2 ชั้น บนพื้นที่ 18 เฮกตาร์ (ประมาณ 112 ไร่) ใช้ชื่อว่า “ไอเต็ก มอลล์” (ITECC Mall) หรือเรียกว่า “ตึกใหม่” แล้วเสร็จเปิดให้บริการเมื่อปี 2558

โดยมีแมกเนตหลักคือ “สกาย ซูเปอร์มาร์เก็ต” (SKY Supermarket) บริเวณชั้นใต้ดิน จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศไทย อีกส่วนหนึ่งจะเป็นสินค้าจีน และสินค้าที่ผลิตในประเทศลาวเล็กน้อย

สวนน้ำโอเชียนปาร์ค
ต่อด้วยสวนน้ำ สวนสนุก “โอเชียนปาร์ค” (Ocean Park) ที่จำลองบรรยากาศทะเลและคลื่นน้ำ พร้อมกับสไลด์เดอร์ขนาดใหญ่ เปิดให้บริการในปี 2559

อย่างไรก็ตาม ลาวไอเต็กถูกเปลี่ยนมือเจ้าของจาก “ศักดิ์ชัย” มาเป็นของ “ทัดนะคอน ทำมะวง” เจ้าของบริษัท ทีเค ซัพพอร์ต (TK Support) ลูกชาย ทองสิง ทำมะวง อดีตนายกรัฐมนตรีลาว โดยเข้ามาเทคโอเวอร์เมื่อปี 2560

นอกจากศูนย์การค้าลาวไอเต็กแล้ว ยังเป็นเจ้าของเดียวกับศูนย์การค้าสะหวันไอเต็ก (Savan ITECC) แขวงสะหวันนะเขต ตรงข้ามจังหวัดมุกดาหารของไทย รวมทั้งศูนย์การค้าทุ่งขันคำ (TKK Mall) ถนนอาเซียน กลางนครหลวงเวียงจันทน์

ที่ผ่านมาลาวไอเต็ก ดึงแมกเนตที่เป็นแบรนด์ระดับอินเตอร์ หนึ่งในนั้นคือ “โรงภาพยนตร์เมเจอร์ แพลทินัม ซีนีเพล็กซ์” บริเวณชั้น 8 จำนวน 4 โรง 900 ที่นั่ง เป็นสาขาที่ 2 ในนครหลวงเวียงจันทน์ ต่อจากศูนย์การค้าเวียงจันทน์ เซ็นเตอร์

เมื่อไม่นานมานี้ อาคารลาวไอเต็ก (ตึกเก่า) เกิดไฟไหม้เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา ทำให้ด้านในอาคารได้รับความเสียหาย แต่ก็ซ่อมแซมและเปิดให้บริการจัดแสดงสินค้าในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2562

แม้ว่าลาวไอเต็ก และไอเต็กมอลล์ จะมีอีเวนต์เข้ามาตลอดทั้งปี แต่สภาพไอเต็กมอลล์ไม่ต่างจากศูนย์การค้าส่วนใหญ่ในเวียงจันทน์ ที่หากเดินขึ้นไปชั้นบนจะพบว่าร้านค้าปิดตัวลง โดยเฉพาะชั้น 5 ร้านค้าปลอดภาษี (Duty Free)

สกาย ซูเปอร์มาร์เก็ต ชั้นใต้ดินไอเต็กมอลล์
ถึงกระนั้น บริเวณชั้นใต้ดินซึ่งเป็น สกาย ซูเปอร์มาร์เก็ต ยังคงเป็นแมกเนตหลักที่ผู้คนต่างเข้าไปจับจ่ายใช้สอย เท่าที่สังเกตส่วนใหญ่จำหน่ายสินค้าไทย โดยเฉพาะอาหารกระป๋อง ขนมขบเคี้ยว ส่วนสินค้าจีนจะมีสุรา เสื้อผ้า ของใช้ในครัวเรือน

ที่นี่ถ้าจะใช้บัตรเครดิต หรือบัตรเดบิต ต้องซื้อสินค้าขั้นต่ำ 50,000 กีบขึ้นไป และต้องเสียค่าธรรมเนียม 3%

ด้านบนตั้งแต่ชั้น 1 เป็นต้นมาเป็นพื้นที่ร้านค้าเช่า มีทั้งธนาคารลาว-ฝรั่ง (BFL) ธนาคารการค้าต่างประเทศลาว (BCEL) ธนาคารพัฒนาลาว (LDB) ธนาคารลาวเวียด (LAOVIET) และร้านค้าเช่าอื่นๆ

ส่วนชั้น 4 จะเป็นสถาบันกวดวิชาต่างๆ ชั้น 6 เป็นเวทีกิจกรรม ศูนย์อาหารฟู้ดการ์เด้น ชั้น 7 เป็นห้องแสดงสินค้า ความจุ 1 หมื่นคน และชั้น 8 โรงภาพยนตร์เมเจอร์ แพลทินัม ซีนีเพล็กซ์

แม้บรรยากาศจะซบเซาในวันธรรมดา แต่ลาวไอเต็กก็มีความพยายามที่จะดึงแมกเนตใหม่ๆ เข้ามาในโครงการ เพื่อดึงลูกค้าเข้ามาใช้บริการในศูนย์การค้ามากขึ้น นอกเหนือจากวันหยุดเสาร์-อาทิตย์

ด้านในไอเต็กมอลล์
เมื่อไม่นานมานี้ บริษัทลาวเวิลด์ เพิ่งจะเซ็นสัญญากับ รัฐวิสาหกิจรถเมล์นครหลวงเวียงจันทน์ (VCSBE) ก่อสร้าง “โครงการสถานีรถเมล์นครหลวงเวียงจันทน์” เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัด รองรับสายรถเมล์ที่จะมีเพิ่มมากขึ้น

โดยใช้เวลาก่อสร้าง 18 เดือน แบ่งเป็น 2 อาคาร คาดว่ากลางปี 2564 จะได้เห็นสถานีรถเมล์แห่งใหม่ นอกเหนือจากที่สถานีขนส่งตลาดเช้านครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งลาวไอเต็กคาดหวังว่าจะมีผู้คนมาใช้บริการที่ศูนย์การค้ามากขึ้น

นอกจากนี้ ลาวไอเต็ก อยู่ใกล้กับ “เขตเศรษฐกิจพิเศษบึงธาตุหลวง” ซึ่งเป็นบึงน้ำกว่า 3,000 ไร่ รัฐบาลลาวอนุมัติให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์ของจีน “เซี่ยงไฮ้ วั่นเฟิง” ได้สัมปทานพัฒนาโครงการนานถึง 99 ปี แบ่งรายได้ให้รัฐบาล 50%

มีคนวาดฝันไว้ว่าบึงธาตุหลวงแห่งนี้ จะเป็น “ดูไบแห่งอาเซียน” มีทั้งโรงเรียนนานาชาติ มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล สถาบันการเงิน ศูนย์วัฒนธรรม โรงแรมหรู หอประชุมนานาชาติ แหล่งช้อปปิ้ง คอนโดมิเนียม และบ้านจัดสรร

ปัจจุบันโครงการยังก่อสร้างแบบค่อยเป็นค่อยไป ด้วยงบลงทุนกว่า 1,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 5 หมื่นล้านบาท พร้อมชักชวนนักลงทุนจากไทย จีน และญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในที่แห่งนี้ โดยยังไม่รู้ว่าจะเสร็จสมบูรณ์เมื่อใด

พื้นที่ว่างเปล่าในศูนย์การค้าแห่งหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม เมื่อสำรวจแหล่งช้อปปิ้งนครหลวงเวียงจันทน์ พบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่นิยมจับจ่ายซื้อของตลาดต่างๆ ดั้งเดิม ขณะที่ศูนย์การค้าที่เปิดให้บริการหลายแห่ง กลับมีบรรยากาศซบเซา หากขึ้นไปยังชั้นบนของห้างฯ

สวนทางกับช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ที่ชาวลาวมักจะข้ามฝั่งมาซื้อสินค้าและช้อปปิ้งที่ฝั่งไทย โดยเฉพาะศูนย์การค้าอัศวรรณ ที่มีทั้งเทสโก้ โลตัส และบิ๊กซี ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่รีแบรนด์ดิ้งจากห้างเอ็มเอ็ม เมกามาร์เก็ต ของเสี่ยเจริญเดิม

ขับรถเลยไปอีก 55 กิโลเมตรจะถึงอุดรธานี มีศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา อุดรธานี และคอมมูนิตีมอลล์อย่างยูดีทาวน์ รถยนต์ทะเบียนภาษาลาว “กำแพงนคร” จำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าชาวลาวที่มีฐานะดี นิยมขับรถไปจับจ่ายซื้อของที่นั่น

ที่ผ่านมาทางการลาวต้องใช้วิธีเก็บภาษีนำเข้า 10% ต่อบิลสินค้าที่ซื้อมาจากฝั่งไทยมูลค่า 1,500 บาทขึ้นไป เพื่อกระตุ้นให้ชาวลาวใช้จ่ายในประเทศ แม้จะทำให้ยอดขายสินค้าฝั่งไทยลดลง แต่ชาวลาวยังคงมาเที่ยวที่ฝั่งไทยอย่างไม่ขาดสาย

เมื่อการลงทุนจากต่างชาติ โดยเฉพาะ “ทุนจีน” เข้ามาพัฒนาพื้นที่นครหลวงเวียงจันทน์มากขึ้น อาจจะเป็นโอกาสที่วงการค้าปลีกของลาวจะได้ปรับตัวและพัฒนาอย่างก้าวกระโดด รองรับกับผู้บริโภคชาวลาวและต่างชาติที่มาเยือน

แต่ก็ขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจโลก ในยามที่ลาวยังคงต้องพึ่งพาการลงทุนจากต่างชาติเป็นหลัก ท่ามกลาง “สงครามการค้า” ระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา หลายประเทศบอบช้ำไม่เว้นแม้แต่ประเทศในอาเซียนด้วยกันเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น