xs
xsm
sm
md
lg

บัญชีเงินฝากดัดนิสัย 24 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


ก้าวสู่วันขึ้นปีใหม่ หลังจากพักผ่อน ชาร์จพลังให้กับชีวิตแล้ว หลายคนก็เริ่มที่จะตั้งเป้าหมายในชีวิตของตัวเอง

... บ้างก็อยากที่จะพัฒนาตัวเอง

... บ้างก็อยากจะทำอะไรตามที่เราคาดหวัง

... บ้างก็อยากจะมองหาความมั่นคงปลอดภัย

แต่สำหรับคนที่อยากจะมีเงินเก็บสักก้อน หลายคนก็คงมีวิธีที่จะเก็บเงินแตกต่างกันไป ตั้งแต่วิธีคลาสสิก คือหยอดกระปุกออมสิน ไปจนถึงลงทุนในรูปแบบอื่น ๆ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนกลับมา

คนที่เก็บเงินเป็นก็ดีอยู่แล้ว ในบทความนี้จะขอพูดถึง “คนที่เก็บเงินไว้ไม่อยู่”

บางคนอาจมองข้ามกับการมีเงินเก็บสักก้อน เวลาที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินขึ้นมา ก็มักจะลงเอยด้วยการกู้เงิน กดเงินสดสักก้อน ซึ่งมาพร้อมกับดอกเบี้ยที่สูง หรือไม่อย่างนั้นก็หยิบยืมเพื่อน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความซื่อสัตย์ของเราเองด้วย

สำหรับคนที่มองข้ามการมีเงินออม ที่ผ่านมามักจะมีสารพัดเหตุผลที่ไม่อยากออมเงิน เช่น เงินเดือนหรือรายรับที่เข้ามา นอกจากจะต้องเคลียร์บิล ใช้หนี้ใช้สินบัตรเครดิต บัตรกดเงินสดกันแล้ว ยังต้องกินต้องใช้กันไปตลอดเดือน

หลายคนสอนเอาไว้ว่า การจะออมเงินต้องเริ่มจาก “ออมก่อนใช้” หมายถึง เวลาเงินเดือนหรือรายรับออกมา ให้หักเงินที่เราต้องการจะออมก่อน แล้วส่วนที่เหลือค่อยใช้

เราคงไม่อยากที่จะอธิบายว่า การจะออมก่อนใช้ได้นั้น ต้องมานั่งคิดกันก่อนว่า ที่ผ่านมาเรามีภาระอะไรอยู่บ้าง อีกทั้งปกติแต่ละเดือนเรากิน เราใช้อยู่เท่าไหร่ เพราะยิ่งคิดเยอะ เรายิ่งจะไม่ได้ทำอะไรเลย

ปัญหาอย่างหนึ่งของคนที่เก็บเงินเอาไว้ไม่อยู่ก็คือ เกิดจะต้องใช้เงินขึ้นมา ไม่ว่าจะด้วยความจำเป็น หรือเพราะความอยากได้ ผลิตภัณฑ์เงินฝากบางอย่าง ยุคนี้ถอนง่ายดายแค่ปลายนิ้ว

กลายเป็นว่าเงินที่เราเก็บมาทั้งหมด ละลายหายไปในพริบตา

เพราะฉะนั้น บัญชีที่มีช่องทางในการถอนไม่สลับซับซ้อน จึงเหมาะสำหรับเป็น “บัญชีพักเงิน” เพื่อรอนำเงินไปทำอย่างอื่น เช่น บัตรเครดิตยังไม่ได้สรุปยอดบัญชี ค่ามือถือยังไม่ได้ตัดรอบบิล ก็พักเงินไว้ก่อน

ผลิตภัณฑ์เงินฝากประเภทหนึ่ง ที่ทุกธนาคารมี แต่มักจะถูกมองข้ามเพราะดอกเบี้ยต่ำ ก็คือ “บัญชีเงินฝากระยะยาว” ที่ฝากเป็นประจำทุกเดือนในจำนวนเงินเท่า ๆ กัน โดยเริ่มต้นที่ 24 เดือน (2 ปี)

เงินฝากประเภทนี้ จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก โดยต้องมีเงินต้นรวมกันเมื่อครบกำหนดไม่เกิน 600,000 บาท และจะต้องไม่ขาดการนำฝากเกินกว่าที่ธนาคารกำหนด เช่น 2 งวด

แต่อย่าไปซีเรียสเรื่องเงินฝาก เราจะมา “ดัดนิสัย” เก็บเงินไว้ไม่อยู่กัน

เงินฝากระยะยาวแต่ละธนาคารมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป ส่วนใหญ่ใช้คำว่า “เงินฝากปลอดภาษี” แต่บางธนาคารก็มีชื่อแปลก ๆ เช่น ธนาคารกสิกรไทย เรียกว่า เงินฝากทวีทรัพย์ ธนาคารกรุงเทพ เรียกว่า เงินฝากสินมัธยะทรัพย์ทวี ฯลฯ

ส่วนใหญ่มักจะกำหนดเงินฝากขั้นต่ำต่อเดือน 1,000 บาท สูงสุด 25,000 บาท อัตราดอกเบี้ยต่อปีในปัจจุบันไม่หวือหวามาก อยู่ที่ 2.25 – 2.55% แล้วแต่ธนาคารจะกำหนด

ดอกเบี้ยน้อยแบบนี้ อาจจะมีคนค่อนแคะไปว่า เอาเงินโบนัสไปเปิดพอร์ตหุ้นน่าจะผลตอบแทนดีกว่า แต่ถ้าไม่นับเรื่องความเสี่ยงสูงกว่า บทความนี้ขอพูดถึงการออมสำหรับคนที่เก็บเงินไว้ไม่อยู่เท่านั้น

เงื่อนไขสำคัญของบัญชีประเภทนี้ก็คือ ขาดการฝากได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ตลอดระยะเวลาการฝาก หากขาดการฝากตั้งแต่ครั้งที่ 3 เป็นต้นไป ธนาคารจะไม่รับฝากเงินในงวดที่เหลือต่อไป

ที่สำคัญ เวลาถอนเงินนั้น ถอนเพียงบางส่วนไม่ได้ พูดง่าย ๆ ก็คือ ต้องปิดบัญชีอย่างเดียว


ปัญหาก็คือ ถ้าฝากขั้นต่ำต่อเดือน 1,000 บาท คนที่มีรายได้ประจำไม่มาก หรือมีแต่รายจ่ายล้นพ้นตัวอาจมองว่า มันสูงไป มีเงินฝากขั้นต่ำที่น้อยกว่านี้ไหม ขอบอกเลยว่ามีอยู่ 2 ธนาคาร ฝากขั้นต่ำต่อเดือน 500 บาท

คือ เงินฝากทวีทรัพย์ ธนาคารกสิกรไทย และ เงินฝากระยะยาวโบนัส (24 เดือน / 36 เดือน) ธนาคารไทยพาณิชย์

แต่ที่น่าตงิดใจอย่างหนึ่งก็คือ ธนาคารธนชาต บัญชีเงินฝากปลอดภาษี 24 เดือน ระบุในเว็บไซต์ธนาคารว่า จำนวนเงินเปิดบัญชีขั้นต่ำ 300 บาท ซึ่งถือว่าน่าสนใจมาก เพราะไม่มีธนาคารไหนกำหนดต่ำลงเท่านี้

แต่พอจะไปเปิดบัญชีที่สาขาแห่งหนึ่งย่านบางแค กลับได้รับคำตอบจากพนักงานว่า “300 บาทเฉพาะผู้เยาว์เท่านั้น” ถ้าบุคคลธรรมดา ฝากขั้นต่ำจะอยู่ที่ 1,000 บาทขึ้นไป

ก็ขอฝากทางธนาคารก็แล้วกันว่า เวลาจะระบุผลิตภัณฑ์ทางการเงินอะไร ก็ควรจะบอกข้อมูลให้ชัด บางทีข้อมูลที่ระบุอยู่บนเว็บไซต์ก็บอกไม่หมด พอไปสาขากลับพบว่าเงื่อนไขกลายเป็นอีกอย่างหนึ่ง

แต่ก็ไม่ได้เสียความรู้สึกอะไร ถ้าฝากไม่ได้ก็ไม่ต้องฝาก ได้แต่บอกกล่าวกับคุณผู้อ่านในที่นี้นั่นแหละ!

โดยส่วนตัวเคยฝากเงินฝากสินมัธยะทรัพย์ทวี ธนาคารกรุงเทพ เดือนละ 1,000 บาท มาก่อน แต่จำเป็นต้องถอน เพราะตอนนั้นเกิดปัญหาบางอย่างที่ต้องใช้เงิน

จากนั้นเป็นต้นมาจึงไม่ได้ฝากเงินระยะยาวแบบนี้นานมาก และคิดว่าการฝากเงินเดือนละ 1,000 บาท เมื่อเทียบกับเงินเดือนเท่าปริญญาตรีจบใหม่ มันดูเยอะไป!

ปีที่แล้วเกิดนึกสนุกขึ้นมา ลองฝากเงินระยะยาวบ้าง ตัดสินใจเปิดบัญชีเงินฝากระยะยาวโบนัส ของธนาคารไทยพาณิชย์เอาไว้ ช่วงนั้นมีโปรโมชั่นฝากติดต่อกัน 3 เดือน ได้บัตรชมภาพยนตร์ฟรี ดูวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ก็คุ้มแล้ว

บัญชีนี้ถ้าเปิดผ่านอินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้ง (SCB Easy Net) กำหนดเงินฝากขั้นต่ำ 1,000 บาท เพราะฉะนั้นถ้าจะเปิดขั้นต่ำ 500 บาท แนะนำให้ไปที่สาขาโดยตรง

ตอนนั้นสาขาที่ไปเปิด เป็นสาขาที่ไกลจากบ้าน หรือที่ทำงานอยู่มาก แต่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑลนั่นแหละ เพราะฉะนั้นเกิดอยากจะถอน คิดไปคิดมาเดินทางไกล เจอรถติด ได้ไม่คุ้มเสีย ก็คงไม่มีกะจิตกะใจไปปิดบัญชีแน่ ๆ

หลังเปิดบัญชี เดือนแรกไม่มีปัญหา แต่มาถึงเดือนที่สอง จะฝากผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ อย่างเครื่องฝากเงินสด (CDM) ปรากฏว่าฝากไม่ได้ แม้กระทั่งโอนเงินผ่านเอทีเอ็ม ผ่านแอปพลิเคชั่น SCB Easy ก็ไม่ได้อีก

นอกจากถอนลำบากแล้ว ฝากก็ลำบากอีก!

เพิ่มเติม : สำหรับคนที่ใช้แอปพลิเคชั่น SCB Easy เวอร์ชั่นล่าสุด ทางธนาคารแจ้งว่า ปัจจุบันถ้าเพิ่มบัญชีระยะยาวเข้ามาในระบบ จะสามารถโอนฝากบัญชีระยะยาวได้แล้ว

แต่ตอนที่ไปฝากที่เคาน์เตอร์ไม่จำเป็นต้องพกสมุดบัญชีมาด้วยก็ได้ แค่จดเลขที่บัญชี หรือง่ายที่สุดเพิ่มบัญชีลงในแอปพลิเคชั่น ก็สามารถดูเลขที่บัญชี และยอดเงินในบัญชีเอาได้

แม้จะลำบากตรงที่ต้องฝากเฉพาะวัน และเวลาทำการของธนาคารเท่านั้นก็ตาม แต่ก็พยายามมองโลกในแง่ดี คิดบวกเอาไว้ก่อนว่า บัญชีนี้คงอยากจะสร้างนิสัยให้เรารู้จักออมเงินโดยเข้าหาธนาคารโดยตรง

หลังจากฝากเงินเดือนละ 500 บาทเกือบจะครบปี ก็เกิดความรู้สึกว่า เวลาเงินเดือนออก มีรายได้เข้ามา จะรู้สึกเหมือนเป็นภาระ หรือสัญญาใจว่า ถึงเวลาที่เราต้องฝากเงินแล้วนะ ก็จะต้องไปธนาคารให้ได้

เดือนล่าสุด วันหยุดขึ้นปีใหม่ ธนาคารทุกสาขาหยุดทำการทั้งหมด ไม่เว้นแม้แต่สาขาในห้าง ยังรู้สึกหงุดหงิด คิดว่าเมื่อไหร่ธนาคารจะเปิด ไม่อยากให้ตัวเองขาดตกบกพร่อง

เวลาที่เราฝากเงินเสร็จ ออกจากธนาคาร เปิดแอปพลิเคชั่น เห็นยอดเงินเพิ่มขึ้นมาเดือนละ 500 บาททุกเดือน กลายเป็นเงินหลักพัน ครึ่งหมื่น ก็เริ่มรู้สึกได้ถึงพัฒนาการเงินออมที่มากขึ้น รู้จักความมีวินัยในตัวเองมากขึ้น

เกิดความรู้สึกว่า อะไรที่ได้มาโดยง่ายจะรู้สึกว่าเป็นของตาย แต่อะไรที่ได้มาโดยยากลำบากจะรู้สึกว่ามีค่ามากขึ้น

แม้ไม่รู้ว่าอีกหนึ่งปีที่เหลืออยู่นี้จะเก็บเงินได้ยาวนานแค่ไหน หรือมีความจำเป็นต้องใช้เงินเสียก่อน แต่วิธีการฝากเงินแบบนี้ก็รู้สึกสนุกอย่างหนึ่ง

ใครจะนำวิธีนี้มาใช้ในชีวิตประจำวันบ้าง ก็ไม่สงวนสิทธิ์แต่ประการใด

สิ่งสำคัญก็คือ เวลาวางเป้าหมาย ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม อย่าไปกดดันตัวเอง อย่าไปยึดติดกับกรอบเดิม ๆ หรือสิ่งที่ผู้อื่นกำหนดกันมา

ที่สำคัญ อย่าทำให้ตัวเองต้องลำบาก จะทำให้การเดินทางไปสู่เป้าหมายราบรื่นขึ้น.


กำลังโหลดความคิดเห็น