xs
xsm
sm
md
lg

“บัตรเครดิตแบบค้ำประกันเงินฝาก” ในยุคที่แบงก์ชาติคุมรูดปรื๊ด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกหลักเกณฑ์ควบคุมบัตรเครดิต โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท อนุมัติวงเงินได้สูงสุดแค่ 1.5 เท่า ทำให้ผู้ออกธุรกิจบัตรเครดิต ต่างแสวงหากลยุทธ์เพิ่มยอดลูกค้า

เช่น การออกผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตแบบไม่มีค่าธรรมเนียมรายปีตลอดชีพ เพื่อจูงใจลูกค้า โดยเฉพาะคนที่อยากมีบัตรเครดิตใบแรก โดยลดสิทธิประโยชน์ออกไป เช่น ไม่มีคะแนนสะสม ไม่มีเครดิตเงินคืน

อีกกลยุทธ์หนึ่งที่บางธนาคารนำมาใช้ คือ “บัตรเครดิตแบบค้ำประกันบัญชีเงินฝาก” แม้ว่าจะมีมานานแล้ว แต่พบว่าบางธนาคาร ที่เคยระงับโครงการนี้เมื่อนานมาแล้ว ก็กลับมาให้บริการอีกครั้ง

ลักษณะของการสมัครบัตรแบบนี้ก็คือ ต้องมีเงินไปเปิดบัญชีธนาคาร ตามแต่ละธนาคารจะกำหนด แล้วนำมาวางค้ำประกันโดยทำสัญญากับธนาคาร ก่อนที่จะรับบัตรเครดิตไปใช้

บัญชีเงินฝากที่ค้ำประกันบัตรเครดิต จะถอนเงินออกไปทั้งหมดไม่ได้ แต่ยังคงได้รับดอกเบี้ยตามปกติ

วิธีการนี้ เหมาะสำหรับคนที่ไม่มีรายได้ประจำ หรือไม่มีเอกสารแสดงรายได้ เช่น พ่อค้า แม่ค้า อาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์ แม้กระทั่งนิสิต นักศึกษาที่ยังไม่ได้ทำงานประจำ ก็ยังทำบัตรเครดิตแบบนี้ได้

บางแห่ง เช่น ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ถึงขนาดจัดแคมเปญ “บัตรเครดิตสำหรับนักศึกษา” สำหรับนิสิต-นักศึกษา อายุ 20-25 ปี โดยปรับเงื่อนไขจากปกติเงินฝากขั้นต่ำ 40,000 บาท เหลือเพียงแค่ 10,000 บาทเท่านั้น

แถมหากนิสิต นักศึกษา มีประวัติการใช้บัตรและการชำระเงินที่ดี เมื่อเรียนจบและรับเงินเดือน ในเดือนแรกรับสิทธิการปรับสถานะบัตรและวงเงินอีกด้วย

แต่หากไม่ได้ใช้บัตรติดต่อกัน 12 เดือนขึ้นไป จะเก็บค่าธรรมเนียมรายปี ซึ่งเมื่อดูรายละเอียดแล้วจะพบว่า ต้องเสียค่าธรรมเนียมถึง 750-4,000 บาทเลยทีเดียว ถ้าเราไม่ได้ใช้บัตรตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด

อีกด้านหนึ่ง ธนาคารกสิกรไทย เพิ่งจะเปิดให้ผู้ที่ไม่มีรายได้ประจำ สามารถเปิดบัญชีเงินฝากค้ำประกันตามวงเงินบัตรเครดิต หลังจากก่อนหน้านี้ได้ระงับโครงการ ทำให้มีบัตรเครดิตได้เฉพาะลูกค้าเดอะวิสดอม และเดอะพรีเมียร์

โดยจัดโปรโมชั่นรับเครดิตเงินคืน เมื่อใช้จ่ายผ่านบัตร 5,000 บาทขึ้นไปภายใน 30 วัน หลังบัตรอนุมัติ หรือหากใช้จ่ายผ่านบัตร 50,000 บาทขึ้นไปภายใน 60 วัน รับกระเป๋าล้อลาก 26 นิ้วไปเลยทีเดียว

แต่แคมเปญนี้ จัดโปรโมชั่นเพียงแค่ 30 พฤศจิกายน 2560 เท่านั้น หลังจากนั้นไม่รู้ว่าจะสมัครแบบนี้ได้อีกหรือไม่

ที่ผ่านมามีบางธนาคารได้เปิดโอกาสให้ลูกค้าสมัครบัตรเครดิตด้วยการอายัดบัญชีเงินฝาก โดยไม่จำเป็นต้องใช้เอกสารแสดงรายได้ในการสมัคร ที่ประชาสัมพันธ์ชัดเจน ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และ ธนาคารธนชาต

ส่วน ธนาคารไทยพาณิชย์ และ บริษัท บัตรกรุงไทย (เคทีซี) แม้จะไม่ได้ลงรายละเอียดอย่างชัดเจน แต่ก็ใช้ช่องทางอย่างเว็บไซต์พันทิป ในการตอบกระทู้แนะนำลูกค้า ซึ่งผู้ออกบัตรทั้งสองแห่งยืนยันว่าสามารถสมัครได้เช่นกัน

แต่สำหรับ ธนาคารกรุงเทพ ก่อนหน้านี้เคยประชาสัมพันธ์ผ่านทางเฟซบุ๊ก ว่า สามารถนำบัญชีเงินฝากค้ำประกันบัตรเครดิตได้เช่นกัน เมื่อลองถามเพื่อนที่ทำงานธนาคารกรุงเทพ ล่าสุดได้รับคำตอบว่า “มีคนรับทำให้อยู่”

อย่างไรก็ตาม การสมัครบัตรเครดิตแบบนี้ ขึ้นอยู่กับผู้ออกบัตรจะให้สมัครบัตรแบบใด เพราะบางแห่งสมัครได้เฉพาะบัตรที่ทางธนาคารกำหนดเท่านั้น ส่วนบัตรเครดิตร่วมสมัครไม่ได้
บัตรเครดิตสำหรับนักศึกษา ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
สิ่งหนึ่งที่ควรคำนึงสำหรับผู้สมัครบัตรเครดิตโดยใช้เงินฝากค้ำประกันก็คือ ระยะเวลาในการสมัคร เนื่องจากจะใช้ระยะเวลาและตรวจสอบคุณสมบัตินานกว่า 2 สัปดาห์ เมื่อเทียบกับการสมัครแบบเอกสารแสดงรายได้

ที่สำคัญ บัตรเครดิตโดยใช้เงินฝากค้ำประกัน จะกำหนดวงเงินในบัตรตายตัว เพราะฉะนั้นผู้ออกบัตรจะไม่มีทางเพิ่มวงเงินให้ผู้ถือบัตรได้มากกว่านี้ รวมไปถึงการขออนุมัติวงเงินฉุกเฉินชั่วคราวก็ไม่สามารถทำได้

หากต้องการเพิ่มวงเงินจะต้องยื่นเอกสารแสดงรายได้เพื่อพิจารณาอนุมัติ ตามหลักเกณฑ์ของธนาคาร เหมือนผู้สมัครแบบมีรายได้ประจำหรือเจ้าของกิจการ หากผ่านการอนุมัติก็สามารถถอนเงินและปิดบัญชีเงินฝากค้ำประกันได้

ในทางกลับกัน วงเงินในบัตรไม่ขยายไปมากกว่านี้ก็เป็นผลดี เพราะผ่านไประยะเวลาหนึ่งเมื่อผู้ออกบัตรพิจารณาขยายวงเงินให้ ซึ่งบางครั้งมากกว่าวงเงินเดิม 2-3 เท่า หรือหากวัดจากเงินเดือนหรือรายได้ก็ประมาณ 5 เท่า

เมื่อได้วงเงินมากขึ้น ประกอบกับความต้องการแต่ละคนไม่มีที่สิ้นสุด เราอาจจะมองเห็นความจำเป็นที่จะใช้วงเงินตรงนี้จนหมด แล้วสุดท้ายก็มานั่งกุมขมับกับยอดค้างชำระ พร้อมดอกเบี้ยที่ทำงานแบบไม่มีวันหยุด

บัตรเครดิตโดยใช้เงินฝากค้ำประกัน จึงเป็นข้อดีที่ทำให้เราฝึกวางแผนใช้จ่ายว่าทำยังไงถึงจะไม่ให้เกินวงเงินที่เราได้รับ และควรระลึกเสมอว่า วงเงินที่ได้รับส่วนหนึ่ง เอาไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน จำเป็นต้องใช้เงินแบบคาดไม่ถึง
โบร์ชัวร์สมัครบัตรเครดิตธนาคารกสิกรไทย แบบเปิดบัญชีเงินฝากค้ำประกัน
สิ่งที่ไม่ต่างกันก็คือ ปัจจุบันบัตรเครดิตทุกประเภท ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมรวมกันไม่เกิน 18% ต่อปี (จากเดิม 20% ต่อปี) มีผลตั้งแต่ 1 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา

นอกนั้นการเลือกบัตรเครดิตที่เหมาะสมกับผู้ถือบัตร ก็คงไม่ต่างไปจากการสมัครบัตรเครดิตทั่วไป แม้ตัวเลือกบัตรจะมีน้อยไปหน่อยก็ตาม เนื่องจากผู้ออกบัตรบางแห่งกำหนดให้สมัครได้เฉพาะบัตรที่กำหนดเท่านั้น

สิ่งแรกที่ควรคำนึงถึงก็คือ “ค่าธรรมเนียมรายปี” ควรพิจารณาว่าแต่ละแห่งคิดเงินอย่างไร ส่วนมากจะฟรีค่าธรรมเนียมแรกเข้า และรายปีเฉพาะปีแรก ปีต่อไปจะต้องใช้จ่ายผ่านบัตรเท่าไหร่ จึงจะยกเว้นให้ในปีถัดไป

เพราะค่าธรรมเนียมรายปีบัตรเครดิต “แพงมาก” ยิ่งเป็นบัตรประเภทแพลทินัม ยิ่งสูงถึงหลักพันบาท

สิ่งที่ควรนึกถึงอันดับรองลงมา คือ ควรเลือกบัตรเครดิตที่สอดคล้องกับชีวิตประจำวัน เช่น มีโปรโมชั่นร้านอาหาร สำหรับสังสรรค์กับเพื่อน หรือส่วนลด เครดิตเงินคืนจากห้างสรรพสินค้าที่เราซื้อของเป็นประจำ

แม้ผู้ออกบัตรส่วนใหญ่จะมีโปรแกรมสะสมคะแนน (Rewards) แต่สำหรับคนที่ไม่ค่อยได้ช้อปคราวละมากๆ จะมีบัตรเครดิตประเภทเงินคืน (Cash Back) โดยจะได้รับเงินคืนเข้าบัญชีเงินฝาก หรือบัญชีบัตรเครดิต

ปัจจุบันสำหรับซื้อของชิ้นใหญ่ หลักพันบาทขึ้นไป บางรายการสามารถขอธนาคารแบ่งจ่ายรายเดือนได้ เริ่มต้นที่ 0% หรือดอกเบี้ยที่ต่ำ ไม่ถึง 1% ทำให้เราสามารถวางแผนการใช้จ่ายและการหาเงินมาใช้คืนได้อีกด้วย

และแม้บัตรเครดิตทุกธนาคารจะสามารถช้อปออนไลน์ได้ แต่ก็มีบัตรเครดิตบางธนาคาร ที่ผ่อนชำระจากการช้อปออนไลน์ได้ด้วย เช่น Apple Store ให้เฉพาะบัตรเครดิต 8 ธนาคารผ่อนดอกเบี้ย 0% ถึง 0.69% นานสูงสุด 10 เดือน

สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ ควรเลือกบัตรเครดิตที่มีช่องทางชำระยอดบัตรที่สะดวก หากเราเลือกผู้ออกบัตรที่หาช่องทางชำระเงินลำบาก อาจจะทำให้เราผิดนัดชำระ นำไปสู่การคิดดอกเบี้ยและค่าปรับต่างๆ ตามมา

แม้หลายคนอาจจะรู้สึกขยาดกับการใช้บัตรเครดิต เนื่องจากเป็นการ “เอาเงินอนาคต” มาใช้ แต่เมื่อพลิกมุมมองอีกด้านหนึ่ง หากเลือกที่จะจ่ายเต็มจำนวนทุกเดือน ไม่ว่าธนาคารไหนไม่มีโอกาสได้ดอกเบี้ยจากเรา

นอกเสียจากการชำระขั้นต่ำ ซึ่งผู้ถือบัตรหลายคนหลวมตัวในยามที่เงินไม่พอใช้ วิธีนี้จะเสียนิสัยจากดอกเบี้ยบัตรเครดิต ยิ่งจ่ายทีละน้อย ดอกเบี้ยยิ่งบานขึ้น จนเกิดอาการชำระไม่ไหว แล้วมีปัญหาต่อเนื่องจากการค้างชำระตามมา

ไม่ว่าจะสมัครบัตรเครดิตแบบไหน จะใช้เอกสารแสดงรายได้ หรือใช้บัญชีเงินฝากค้ำประกัน สิ่งสำคัญที่สุดเมื่อได้รับบัตรเครดิตก็คือ “การมีวินัยทางการเงิน”

เราอาจจะชื่นใจที่ได้บัตรเครดิตลายสวยๆ มีชื่อของเราบนบัตร นำไปช้อปกันเพลินๆ แต่หากใช้บัตรเครดิตเกินตัว ใบแจ้งยอดบัญชีมาถึงมือ อาจจะต้องนั่งกุมขมับกับยอดค้างชำระที่กลืนไม่เข้า คายไม่ออกก็ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น