นิยามของคำว่า “เจนเนอเรชั่นวาย” (Generation Y) คือกลุ่มคนที่มีอายุ 17-36 ปี เกิดในช่วงปี 1980-2000 (2524-2543) ซึ่งเป็นยุคที่โลกได้เข้าสู่ยุคสารสนเทศ ผนวกกับอิทธิพลของเทคโนโลยีดิจิตอล
และเมื่ออัตราการเกิดของประชากรเริ่มชะลอตัวลง ทำให้เจนวายกลายเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูงในปัจจุบัน และมีแนวโน้มว่าจะยังคงมีขนาดใหญ่กว่าเจนเนอเรชั่นอื่น ๆ ในอนาคตอีกด้วย
จากข้อมูลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2559 จะพบว่า กลุ่มคนเจนวาย ที่บรรลุนิติภาวะแล้ว (อายุ 20-36 ปี) มีจำนวนมากถึง 16.27 ล้านคน คิดเป็น 24.69% ของประชากรทั้งประเทศ
แบ่งออกเป็นเพศชาย 8.21 ล้านคน (คิดเป็น 50.47%) และเพศหญิง 8.06 ล้านคน (คิดเป็น 49.53%)
กลุ่มคนเหล่านี้ถือเป็นกลุ่มคนวัยทำงาน เป็นช่วงเวลาของการสะสมประสบการณ์เมื่อออกจากรั้วมหาวิทยาลัย หรือสถาบันการศึกษา และมักจะมีทัศนคติที่ว่า เมื่อล้มเหลวก็ยังมีโอกาสลุกขึ้นได้ทันท่วงที
จึงกลายเป็นช่วงเวลาของการ “รีบเป็นหนี้” ส่วนหนึ่งเมื่อมีงานทำ มีรายได้เป็นหลักแหล่งก็หันมาก่อหนี้ มีทั้งกู้เงินเรียนต่อเพื่อสร้างอนาคต กู้เงินซื้อบ้านเพื่อความมั่นคงระยะยาว และกู้เงินเพื่อซื้อรถหรืออุปกรณ์เพื่อประกอบอาชีพ
แต่ที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือการก่อหนี้เพื่อการบริโภค หรือเพื่อสร้างความสุขสบายอย่างขาดความมีเหตุผล เช่น เปลี่ยนมือถือบ่อยครั้ง เที่ยวต่างประเทศ ทานอาหารหรูๆ ซื้อเสื้อผ้า เครื่องสำอางแบรนด์เนม
แหล่งก่อหนี้ที่สำคัญคงหนีไม่พ้น “บัตรเครดิต” หรือ “สินเชื่อบุคคล”
หลายสถาบันการเงินมักจะอนุมัติสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล โดยใช้ของแถม เช่น กระเป๋าเดินทาง เพื่อล่อตาล่อใจ บางแห่งให้คนที่เริ่มทำงานใหม่ๆ ยังไม่พ้นช่วงทดลองงาน แต่มีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 15,000 บาทสมัครด้วยซ้ำ
หรือหากคนที่มีรายได้น้อยกว่า 15,000 บาท ก็ยังมีบัตรกดเงินสดหรือผ่อนชำระสินค้า รายได้ประจำเริ่มต้นที่ 5,000 บาทต่อเดือนขึ้นไปก็สมัครและอนุมัติง่ายไม่เกิน 30 นาที แต่ต้องแลกด้วยดอกเบี้ยที่สูงถึง 28% ต่อปี
โดยทั่วไปแล้ว สถาบันการเงินจะอนุมัติบัญชีสินเชื่อที่มีสัดส่วนยอดผ่อนชำระหนี้ต่อเดือนไม่เกิน 40% ของรายได้ เพราะหากมากกว่านั้นอาจมีความเสี่ยงสูงที่ผู้กู้จะไม่สามารถจ่ายคืนหนี้ได้ตามที่ตกลงกันไว้
แต่เมื่อผ่านไปสักระยะหนึ่ง ประมาณปี - สองปี ธนาคารก็จะเพิ่มวงเงิน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้บัตรมากขึ้น เช่น จากเดิม 30,000 บาท ก็อาจจะเพิ่มเป็น 50,000-60,000 บาท ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของธนาคาร
เมื่อกลุ่มเจนวายมีกำลังซื้อสูง พฤติกรรมการจับจ่ายจึงเน้นเพื่อความสุขตามไลฟ์สไตล์สูงกว่ากลุ่มคนวัยอื่นๆ โดยมักจะมีความเชื่อว่า พวกเขาเป็นตัวของตัวเอง สามารถใช้จ่ายตอบสนองความสุขแบบไม่ต้องคิดอะไรมากมาย
ที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มคนเหล่านี้มักจะชำระขั้นต่ำ 10% วนไปเรื่อย ๆ โดยยอมเสียดอกเบี้ย 20-28% ต่อปี กลายเป็นการติดกับดักบัตรเครดิต เกิดรายจ่ายมากกว่ารายรับ
พอรู้ตัวอีกทียอดหนี้และดอกเบี้ยก็พุ่งสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว กลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่สร้างภาระให้แก่ตัวเอง และกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม
หากกลุ่มคนเจนวายเกิดหนี้เสียตั้งแต่อายุยังน้อย แม้จะเชื่อว่าล้มแล้วก็ลุกใหม่ได้ แต่ความเป็นจริงในยุคนี้เป็นเรื่องยาก เมื่อมีประวัติในเครดิตบูโร แทบจะหมดอนาคต ไม่สามารถขอสินเชื่อบ้าน หรือสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ได้
ในทางกลับกัน กลุ่มคนเจนวายเหล่านี้มักจะไม่รู้จักเก็บออม แม้ในยุคนี้จะมีผลิตภัณฑ์เงินฝากที่หลากหลายกว่าในอดีต ที่น่าตกใจก็คือ ผลสำรวจคนทำงานเจนวายครึ่งหนึ่งระบุว่า ไม่มีเงินออมแม้แต่บาทเดียว
กลายเป็นประเด็นที่ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องหามาตรการสร้างวินัยทางการเงินให้กับคนยุคเจนวาย หลังก่อนหน้านี้ได้สร้างความรู้ด้านการออมให้แก่ประชาชน แต่ก็ยังไม่ได้ผลตอบรับที่ดีเท่าที่ควร
กระทั่งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา แบงก์ชาติก็ออกมางัดไม้แข็งด้วยการเปลี่ยนวงเงินการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (นันแบงก์)
โดยลดการปล่อยกู้จากเดิมอนุมัติวงเงินรวมสูงสุด 5 เท่า เหลือเพียง 3 เท่าของเงินเดือน รวมทั้งจำกัดการถือบัตรเครดิตตามรายได้และความสามารถในการชำระหนี้
รวมทั้งการผ่อนชำระสินค้า เช่น โปรแกรมผ่อนชำระ 0% จะกำหนดให้อยู่ในกลุ่มที่มีความจำเป็นเท่านั้น เพราะที่ผ่านมามักจะใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าที่เกินคามจำเป็น เช่น สมาร์ทโฟน เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ
แม้ว่าแบงก์ชาติจะแสดงความเป็นห่วงเป็นเรื่องเป็นราว แต่ก็พบว่าธนาคารแทบทุกแห่งยังสวนทาง จัดโปรโมชั่นกระตุ้นการใช้บัตรเครดิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างรายได้จากดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมร้านค้าในยุคที่เศรษฐกิจไทยซบเซา
เดือนมีนาคม 2560 มีจำนวนบัญชีบัตรเครดิตรวมทั้งสิ้น 19,576,694 บัญชี ยอดสินเชื่อคงค้างรวม 333,248.64 ล้านบาท มียอดค้างชำระเกิน 3 เดือนขึ้นไป 9,859.47 ล้านบาท มีการเบิกเงินสดล่วงหน้า 15,798.80 ล้านบาท
สิ่งเหล่านี้เป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ทั้งต่อแบงก์ชาติ ต้องการสร้างเสถียรภาพทางการเงิน ไม่ให้เป็นหนี้ครัวเรือนที่สูงเกินไป รวมทั้งลูกหนี้ที่ต้องหาทางพิชิตหนี้ให้กลายเป็นศูนย์ เพื่อจะได้เป็นอิสระทางการเงิน
แล้วหันมาเปลี่ยนจากหนี้สินเป็นเงินออม เพื่อต่อยอดความฝัน หรือเพื่อใช้ชีวิตอย่างไม่ลำบากในยามเกษียณแทน
- แกะรอยหนี้ จาก “เครดิตบูโร”
สุขภาพร่างกายควรหมั่นตรวจเช็กฉันใด สุขภาพทางการเงินก็เช่นกัน
ปัจจุบันมีเครื่องมือในการแกะรอยหนี้สินที่เรามีมาทั้งชีวิต เพื่อวางแผนอนาคตในการปลดหนี้ก็คือ “รายงานข้อมูลเครดิต” ที่จะรายงานทุกความเป็นไปของสินเชื่อที่เรามีอยู่ในชีวิตว่ามีกี่บัญชี ยอดหนี้เท่าไหร่
ปัจจุบัน บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร มีบริการขอรับรายงานข้อมูลเครดิต หรือที่เรียกกันว่า “ตรวจเครดิตบูโร” โดยมีศูนย์ตรวจเครดิตบูโร 4 แห่ง ในเขตกรุงเทพฯ ค่าบริการเพียง 100 บาท รอรับได้ทันที
ได้แก่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ สำนักงานใหญ่ อาคาร 2 ชั้น 2 ถนนพระราม 9, อาคารกลาสเฮ้าส์ ชั้นใต้ดิน สุขุมวิท 25 หรือสาขาที่เปิดทุกวันถึง 6 โมงเย็น ได้แก่ สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ศาลาแดง และห้างเจ-อเวนิว นวนคร ชั้น 4
ส่วนต่างจังหวัด สามารถติดต่อเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงไทย ธนาคารธนชาต ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ทุกสาขา เสียค่าบริการ 150 บาท รอรับทางไปรษณีย์ภายใน 7 วัน
ในวันที่ไปขอข้อมูลเครดิตที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสศาลาแดงเมื่อวันก่อน มีขั้นตอนง่ายๆ เพียงแค่พกเงิน 100 บาท พร้อมบัตรประชาชนตัวจริง เจ้าหน้าที่จะเสียบบัตรประชาชน พิมพ์ใบคำร้องออกมา เซ็นชื่อ พร้อมเบอร์โทรศัพท์มือถือ
สักพัก เจ้าหน้าที่จะพิมพ์ “รายงานข้อมูลเครดิต” จากเครื่องพิมพ์ ขึ้นอยู่กับว่าจะมีบัญชีเงินกู้ หรือสินเชื่อทั้งหมดกี่บัญชี เสร็จแล้ว เจ้าหน้าที่จะพับ 3 ทบ ใส่ซอง แล้วปิดสกอตเทปอย่างรวดเร็ว ส่งมาให้เราพร้อมใบเสร็จรับเงิน
เบ็ดเสร็จถ้าไม่นับรวมต่อคิว ใช้เวลาเพียงแค่ 3 นาทีเท่านั้น
มีคนวิตกกังวลว่า การขอตรวจเครดิตบูโรนั้น จะมีผลต่อการขอสินเชื่อหรือไม่ มีคนไปถามคนที่ทำงานอยู่ที่เครดิตบูโร พบว่า หากเป็นการตรวจด้วยตัวเอง (Self-enquiry) จะไม่มีผลใดๆ กับการขอสินเชื่อ เพราะเป็นคนละส่วนกัน
แต่จะมีผลก็ต่อเมื่อขณะที่เราขอสินเชื่อไว้หลายที่ ทุกครั้งที่สถาบันการเงินรับใบสมัครบัตรเครดิตหรือสินเชื่อจากเรา เมื่อนำไปตรวจสอบกับทางเครดิตบูโร ก็จะมีรายงานขึ้นมา บ่งบอกว่าเราไปขอสินเชื่อมาแล้วกี่แห่ง
โดยทั่วไปหากมีการขอสินเชื่อเกินกว่า 3 แห่งในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ผู้อนุมัติสินเชื่ออาจจะปฏิเสธลูกค้าได้ เพราะมองว่าผู้สมัครร้อนเงิน มีความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อนั่นเอง
เมื่ออ่านรายงานข้อมูลเครดิตของท่าน จะรู้สึกตกใจกับ “สรุปข้อมูลสินเชื่อ” ว่ามีกี่บัญชี และหน้าต่อไปจะอึ้งยิ่งกว่า กับ “รายละเอียดบัญชี” อ่านแล้วคงได้กุมขมับ พอกับผลตรวจสุขภาพว่าน้ำหนักมากเกินไป เสี่ยงต่อโรคร้ายถามหา
และหากนำตัวเลข “ยอดหนี้คงเหลือ” เดือนสุดท้ายมาบวกรวมกันทุกบัญชี จะพบว่าตัวเลขที่ปรากฏ “หลักแสน ถึงหลักล้านบาท” นั้น เป็นหนี้ที่ก่อมาตลอดทั้งชีวิต เกิดความรู้สึกว่า ทำไมเราถึงก่อหนี้ได้มากมายขนาดนี้
ถึงกระนั้น มีคนปลอบใจเราว่า “หนี้สินยังไงก็มีวันหมด อย่าคิดว่ามันเยอะ มันจะเหนื่อย”
- “จ่ายมากกว่าขั้นต่ำ” เอาชนะ “หนี้บัตรเครดิต”
เมื่อเราติดกับดักหนี้ โดยเฉพาะหนี้เพื่อการบริโภคอย่างบัตรเครดิต จนยากที่จะขยับตัวแล้ว การปลดหนี้ก็ยากพอๆ กัน ตัวอย่างที่เราพอจะบอกเล่าได้ กับพนักงานบริษัทรายหนึ่งที่เคยมีประสบการณ์ในการ “ปิดบัตรเครดิต” มาก่อน
เธอเล่าให้เราฟังว่า ก่อนหน้านี้มีบัตรเครดิตรวมกัน 4 ใบ จุดเปลี่ยนที่ตัดสินใจลดจำนวนบัตรลง เพราะต้องการรวมหนี้ไว้กับบัตรเพียงใบเดียว หากถือพร้อมกัน 4 ใบ และไม่สามารถชำระเต็มจำนวนได้ เธอก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยทุกใบ
เธอจึงตัดสินใจทยอยปิดบัตรเครดิตทีละใบ โดยการหมายหัวเลยว่าใบไหนต้องการจะปิด แล้วใช้วิธี “จ่ายให้มากกว่าขั้นต่ำ” โดยที่ใบอื่น ๆ ยังคงจ่ายขั้นต่ำตามปกติ เพราะหากยังคงจ่ายขั้นต่ำ ผ่านไปหนึ่งปีเงินต้นก็ไม่หมด
สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ บัตรเครดิตที่ต้องการจะปิดนั้น เธอต้องหักดิบด้วยการไม่นำไปใช้จ่ายอะไรเลย ต่อให้มีโปรโมชั่นยั่วยวนยังไงก็ตาม เพราะหากยังคงรูดบัตรอยู่ กี่ปีๆ ก็ไม่มีวันหมด
โดยเฉลี่ยแล้วเธอใช้เวลาประมาณครึ่งปี จึงปิดบัญชีบัตรเครดิตได้สำเร็จ และได้ทยอยชำระกระทั่งปิดบัตรเครดิตไปแล้ว 2 ใบ ยังเหลืออีก 2 ใบ ซึ่งเธอตั้งเป้าหมายไว้แล้วว่าจะให้เหลือบัตรเครดิตเพียงใบเดียว
เธอกล่าวว่า อีกวิธีหนึ่งที่เธอได้ยินมาแต่ไม่ได้ทำก็คือ ถ้าไม่มีความสามารถในการจ่ายค่าบัตรเครดิตเกิน 3 เดือน หรือ 90 วัน อาจจะใช้วิธีโทรศัพท์คุยกับทางธนาคารเพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้
ธนาคารจะทำการปรับลดดอกเบี้ยลงมาต่ำที่สุด เหลือเพียงเงินต้น ตัวอย่างเช่น มีลูกค้ารายหนึ่ง จากยอดหนี้คงเหลือประมาณ 30,000 บาท หากปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว อาจจะเหลือแค่ประมาณ 18,000 บาท
แต่ก็ต้องแลกกับการเสียประวัติ ในกรณีที่ถูกบันทึกในข้อมูลเครดิตของเครดิตบูโร “วันที่ปรับปรุงโครงสร้างหนี้” อาจจะทำให้ในอนาคตขอสินเชื่อไม่ผ่าน แต่ก็ต้องด้วยการหักดิบว่า ชาตินี้จะไม่ขอสินเชื่อใดๆ ไม่เป็นหนี้ใครไปตลอดชีวิต
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบัตรเครดิตเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ หากใช้อย่างถูกวิธี การจะปิดบัญชีบัตรเครดิตทั้งหมด น่าจะเป็นคนที่มีประสบการณ์เป็นหนี้ และเข็ดหลาบกับการใช้บัตรเครดิต
อีกส่วนหนึ่ง คือคนที่ต้องการปิดยอดให้วงเงินเหลือเต็มจำนวน แล้วเก็บไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน อาจจะต้องศึกษาเงื่อนไขของบัตรเครดิตว่าจะเสียค่าธรรมเนียมรายปี ในกรณีที่ไม่มีการใช้จ่ายใดๆ ในช่วงที่ผ่านมาเลยหรือไม่
ข้อมูลจากศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย คำนวณว่า กรณีที่วงเงินบัตรเครดิต 75,000 บาท ชำระขั้นต่ำ 10% กว่าจะชำระครบถ้วนก็ใช้เวลาประมาณ 43 เดือน หรือเกือบ 4 ปี
ยิ่งชำระเงินคืนไปน้อยเท่าไหร่ ยิ่งลดเงินต้นลงได้น้อยเท่านั้น เพราะจะไปหักดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม หรือหากใช้วิธีชำระมากกว่าครึ่งหนึ่งของยอดเรียกเก็บในแต่ละงวด ก็ต้องใช้เวลากว่า 10 เดือน กว่าจะปลดหนี้หมด
มีคำแนะนำจากหลายแหล่งๆ ในการปลดหนี้บัตรเครดิต พอที่จะสรุปได้ก็คือ เร่งจ่ายหนี้ดอกเบี้ยสูงๆ ให้หมดก่อน ในกรณีที่เป็นดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก เพื่อช่วยประหยัดดอกเบี้ยลง
หรืออีกวิธีหนึ่ง คือ เร่งจ่ายหนี้ที่เหลือยอดหนี้ค้างชำระน้อยที่สุดให้หมดก่อน เพื่อช่วยสร้างกำลังใจในการปลดหนี้ เพราะจำนวนเจ้าหนี้จะลดลงเร็วกว่า
นอกเหนือจากการเร่งจายหนี้แล้ว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก่อนที่จะมีหนี้เกินตัวก็สำคัญ ได้แก่ ปรับพฤติกรรมการใช้จ่าย พยายามลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น รวมทั้งใช้บัตรเดบิตชำระเงินแทน ซึ่งปัจจุบันก็มีสิทธิประโยชน์ทัดเทียมกัน
ที่สำคัญก็คือ หยุดก่อหนี้ใหม่ ทั้งการหยุดใช้บัตรเครดิตทันที หยุดกดเงินสดจากบัตรเครดิตใบหนึ่ง เพื่อไปจ่ายหนี้บัตรอีกใบหนึ่ง เพราะปัญหาจะยิ่งหนักขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งเร่งชำระหนี้ที่มีอยู่ให้หมดเร็วที่สุด และอย่าปล่อยให้เป็นหนี้เสีย
สิ่งหนึ่งที่แฝงมากับการเป็นหนี้ก็คือ ความลำบากที่จะต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานอย่างหนักเพื่อหารายได้มาชำระหนี้ ความกดดัน กลัวว่าจะหาเงินมาจ่ายหนี้ไม่ได้ หรือแม้กระทั่งการถูกทวงหนี้จากเจ้าหนี้เงินกู้ต่าง ๆ
ขณะเดียวกัน ความเชื่อของคนยุคเจนวายอีกอย่างหนึ่งก็คือ รายรับประจำเพียงทางเดียวไม่อาจเพียงพออีกต่อไป ดังวลีที่ว่า “เงินเดือนมีไว้ใช้หนี้ เงินฝิ่นเอาไว้รับประทาน” จึงมีคนอีกจำนวนหนึ่งหางานพิเศษทำควบคู่ไปด้วย
เช่น ขายเครื่องสำอาง เสื้อผ้า อาหารเสริม อุปกรณ์ไอทีผ่านโซเชียลมีเดีย หรือตลาดนัดตอนเย็น เช่น ไนท์บาร์ซา ส่วนคนที่มีฝีมือด้านออกแบบก็รับทำกราฟฟิก แม้กระทั่งคนมีรถก็มาขับอูเบอร์ หรือแกร็บคาร์ เป็นรายได้เสริมก็มี
ขณะที่ความต้องการของคนยุคเจนวายมีได้ไม่สิ้นสุด เพื่อตอบสนองเป้าหมายของตนเอง มาพร้อมกับปัญหาที่ต้องแก้ไขด้วยเงิน และภาษีสังคมเมื่ออยู่ในสังคมเมือง ต่อให้เราพยายามอดออมอย่างถึงที่สุดแล้วก็ตาม
เป็นความท้าทายของคนในยุคเจนวายที่ต้องฝ่าวิกฤตไปให้ได้ ก่อนที่จะต้องเจอกับวิกฤตหนักกว่านี้เมื่อก้าวเข้าสู่ช่วงที่ต้องรับผิดชอบแฟน สร้างครอบครัว ไปจนถึงวัยผู้สูงอายุ ที่ควรจะมีชีวิตอย่างสุขสบาย
หากไม่รู้จักวางแผน ความหวังที่จะมีอิสรภาพทางการเงินในบั้นปลายชีวิตก็คงจะสายเกินไป.