กระทรวงอุตสาหกรรมคลอดมาตรการช่วยเหลือและฟื้นฟูสถานประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชนที่ประสบอุทกภัย หลังน้ำท่วม จ.สกลนครกระทบ 100 แห่ง ยกเว้นค่าธรรมเนียมโรงงาน 3-5 ปี ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต สมอ. ลูกหนี้เดิมโครงการเงินทุนหมุนเวียนฯ กสอ.พักชำระหนี้ 4 เดือน ปลอดหนี้ไม่เกิน 4 เดือน ขณะที่คลังชง ครม.พรุ่งนี้ดึงสินเชื่ออุทกภัยภาคใต้ใช้ได้ทั่วประเทศ
นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากกรณีเกิดสถานการณ์ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย จนทำให้เกิดภาวะน้ำป่าไหลหลากโดยเฉพาะเกิดอุทกภัยใน จ.สกลนครที่ได้รับความเสียหายมากสุด จากการเข้าตรวจสอบพบว่าสถานประกอบการอุตสาหกรรมและวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบประมาณ 100 โรงงาน ส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้ออกมาตรการเร่งด่วนและระยะกลางเพื่อช่วยเหลือด้านสภาพคล่องและการฟื้นฟูสถานประกอบการ
โดยมาตรการเร่งด่วน ได้แก่ 1. กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่โรงงานอุตสาหกรรม 3-5 ปี สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 1 หมื่นบาทต่อราย ค่าการตรวจติดตามทั้งร้านจำหน่ายและผู้ทำในพื้นที่จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย 2. ลูกค้าสินเชื่อโครงการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทยของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ซึ่งเป็นลูกหนี้เดิมให้มีการพักชำระหนี้ 4 เดือน ปลอดหนี้ไม่เกิน 4 เดือน โดยลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือ 1% ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย และวิสาหกิจชุมชน ให้มีเงินทุนหมุนเวียนสำหรับนำไปพัฒนาระบบการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ ฯลฯ
3. การฟื้นฟูสถานประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนโดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเครือข่ายและบริษัทเอกชนใหญ่ในพื้นที่ จะเข้าร่วมทำความสะอาด ตรวจเช็กเครื่องจักร ระบบไฟฟ้า และซ่อมแซมเครื่องจักรอุปกรณ์ภายหลังน้ำลด 4. สำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและพื้นที่เฝ้าระวังเพื่อให้คำแนะนำและแจกคู่มือการป้องกันเครื่องจักรอุปกรณ์ที่จะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 5. มอบหมายศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจภายในศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี (SSRC) ที่อยู่ภายในสำนักงานจังหวัด เพื่อประสานงานช่วยเหลือสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ
สำหรับมาตรการระยะกลาง 1. เชื่อมโยงโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยกระทรวงการคลังจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) 1 ส.ค. เพื่อนำสินเชื่ออุทกภัยภาคใต้วงเงิน 5,000 ล้านบาท ซึ่งดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 ที่ยังเหลือวงเงินอีก 2,000 ล้านบาท มาใช้กับอุทกภัยทั้งหมดของประเทศ โดยเงื่อนไขดังกล่าวได้ผ่อนปรนระยะเวลาชำระหนี้เพิ่มเติมในการฟื้นฟูกิจการรายละไม่เกิน 15 ล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำ (3%) ผ่อนชำระยาวถึง 7 ปี
2. ประสานไปยังผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในพื้นที่จังหวัดที่ไม่ได้รับผลกระทบ (modern trade ทั้งหลาย) ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด และอุตสาหกรรมจังหวัดต่างๆ นำสินค้า มอก. (โดยเฉพาะข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้าน) มาจำหน่ายในราคาพิเศษ