กระทรวงอุตสาหกรรมขึ้นค่าธรรมเนียมจดทะเบียนเครื่องจักรอีก 20% ในรอบ 28 ปี เพื่อให้สะท้อนเศรษฐกิจและต้นทุนการบริหารที่เหมาะสม หวังดึงเอกชนเข้าร่วมตรวจสอบ แนะนำเอสเอ็มอีผันเครื่องจักรเป็นทุนเติมสภาพคล่อง
นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มีการออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องจักร พ.ศ. 2560 โดยยกเลิกกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องเดิมซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2532 และกำหนดค่าธรรมเนียมใหม่เพิ่มขึ้น20% หลังไม่ได้ปรับมาเป็นเวลา 28 ปี เพื่อให้มีความเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและภาระต้นทุนการให้บริการที่ในอนาคตจะอนุญาตให้เอกชน (เติร์ดปาร์ตี้) เข้ามาช่วยตรวจสอบเครื่องจักร โดยก่อนออกกฎกระทรวงดังกล่าวได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มเรียบร้อยแล้ว
ตัวอย่างค่าธรรมเนียมใหม่ เช่น ค่าจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร สำหรับเครื่องจักรซึ่งมีมูลค่าเกินห้าแสนบาท คิดเครื่องละ 750 บาท ถ้าจดทะเบียนหลายเครื่อง จัดเก็บสูงสุดไม่เกินเพดาน 12,000 บาท (จากเดิมเครื่องละ 500 บาท หลายเครื่องเก็บสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท) ค่าจดทะเบียนการจำนอง หรือขายฝากเครื่องจักร คิดพันละ 1 ของจำนวนเงินที่จำนองหรือขายฝาก สูงสุดไม่เกิน 120,000 บาท (จากเดิม 100,000 บาท) ค่าจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร เครื่องละ 100 บาท หากมีหลายเครื่องในคราวเดียว ไม่เกิน 2,000 บาท (จากเดิมคิดต่อเล่ม เล่มละ 100 บาท) เป็นต้น
“ผู้ประกอบการสามารถแปลงเครื่องจักรเป็นหลักทรัพย์เพื่อนำไปขอกู้เงินจากธนาคารได้ หากมีการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรไว้ โดยสามารถยื่นได้ที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทุกจังหวัด (สอจ.) หรือกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ถ้าเอกสารครบถ้วนกระบวนการจะใช้เวลาไม่เกิน 10 วันทำการเท่านั้นก็จะสามารถนำเอาหลักฐานไปติดต่อกับธนาคารได้ โรงงานในไทยมีเครื่องจักรถึง 10 ล้านเครื่อง ที่ผ่านมาเพิ่งมีการจดทะเบียนจำนองเครื่องจักรไปได้เกือบ 9 แสนเครื่อง โดยมีวงเงินประมาณ 5.8 ล้านล้านบาท ในวงเงินจำนวนนี้เป็นเครื่องจักรของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่จดจำนองคิดเป็นมูลค่า 80% และของเอสเอ็มอีมูลค่า 20%” นายสมชายกล่าว
ทั้งนี้ การให้เอกชนร่วมตรวจสอบ กระทรวงคาดว่าจะประกาศได้ภายในปี 2560 เพื่อเป็นทางเลือกผู้ประกอบการที่ต้องการความรวดเร็ว โดยระหว่างนี้ได้มีการอบรมหลักเกณฑ์ตามกฎกระทรวงฉบับใหม่แล้ว เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้ผู้ตรวจสอบเอกชน จำนวน 120 ราย ซึ่งเมื่อประกาศใช้จะได้ดำเนินการได้ทันที
นอกจากนี้ ต้องการให้เอสเอ็มอีนำเครื่องจักรในโรงงานมาจดทะเบียนเพื่อเป็นหลักทรัพย์ในการขอสินเชื่อ โดยเครื่องจักรยังสามารถประกอบการผลิตได้เหมือนเดิม คิดค่าจดทะเบียนจำนองเพียงพันละ 1 ถูกกว่าการใช้ที่ดินค้ำประกันที่คิดอัตรา 1% ซึ่งกระทรวงโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมมีโครงการแปลงเครื่องจักรเป็นทุน และการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ภายใต้งบประมาณ 13 ล้านบาท ในการช่วยอำนวยความสะดวกเอสเอ็มอีด้วยการเข้าไปตรวจสอบจดทะเบียนเครื่องจักรเพื่อนำไปขอกู้เงินจากแบงก์ ตั้งเป้าหมายให้ได้ปีละ 500 ราย และเปิดรับสมัครให้เอสเอ็มอีที่ต้องการขอกู้นำไปปรับปรุงเครื่องจักรเก่าใน 5 ด้าน ได้แก่ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ประหยัดพลังงาน สามารถใช้พลังงานทดแทน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีนวัตกรรมใหม่ ตั้งเป้าหมายให้ได้ปีละ 1,000 ราย ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559-2561 สนใจติดต่อได้ที่ สอจ. และ กรอ. หรือ โทร. 0-2202-4062-5
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2559 มียอดจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร 1,681 ราย จำนวน 9,402 เครื่อง ยอดจดทะเบียนจำนองเครื่องจักร 892 ราย จำนวน 13,543 เครื่อง โดยมีวงเงินจำนอง 739,962 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2560 ผ่านมา 5 เดือนมียอดจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร 489 ราย จำนวน 2,545 เครื่อง ยอดจดทะเบียนจำนองเครื่องจักร 117 ราย 2,369 เครื่อง วงเงินจำนอง 120,949 ล้านบาท