xs
xsm
sm
md
lg

สวะสังคมกับศาลพิเศษ 2482

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: พระบาท นามเมือง

สวะสังคมกับศาลพิเศษ 2482 เป็นเรื่องราวอยู่ในหนังสือที่ดีที่สุดในปีนี้ชื่อ “การเมืองไทยในชีวประวัติ” โดย ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน ซึ่งตีพิมพ์ไม่นานมานี้ รวมเรื่องราวเด็ดถึง 4 เรื่อง คือ ชีวิตที่ลิขิตไว้, ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร, ศาลพิเศษอยุติธรรม 2482 และ กันยา เทียนสว่าง ชีวิตไม่ผิดนวนิยาย หนังสือมีความหนา 486 หน้า ราคาแค่ 330 บาท เพราะจัดจำหน่ายโดยตรงโดยผู้เขียน

ผมสลดใจมากกับเรื่องศาลพิเศษ 2482 เป็นเอกสารถือว่าชั้นต้น เป็นบันทึกคำพิพากษาศาลพิเศษ พุทธศักราช 2482 เรื่องกบฏ ซึ่งกรมโฆษณาการพิมพ์ออกมาจำหน่ายแก่ประชาชนในปีนั้น อัยการศาลพิเศษเป็นโจทก์ จำเลยทั้งหมดรวม 52 คน ศาลนี้ไม่เปิดเผยให้คนนอกฟัง

จำเลยนั้นแม้ใน พ.ร.บ.ศาลพิเศษ ในมาตรา 7 จะให้สิทธิจำเลยที่จะมีทนายความได้โดยมีข้อแม้ว่าหากศาลอนุญาต แต่ปรากฏว่าไม่มีใครได้รับอนุญาตแม้แต่รายเดียว

จำเลยนั้นเป็นบุคคลสำคัญมาก เช่น พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนชัยนาทนเรนทร ซึ่งโดยกล่าวหาว่าร่วมกับพรรคพวกมีในหลวงพระปกเกล้ารัชกาลที่ 7 กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระยาทรงสุรเดช (ทั้งหมดนี้ลี้ภัยอยู่ต่างประเทศแล้ว) โดนกล่าวหาว่าจะล้มล้างการปกครองและจะฟื้นฟูสถาบันใหม่โดยมีพระปกเกล้าฯ เป็นพระมหากษัตริย์ ทั้ง ๆ ที่รู้ดีว่าสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงสละราชสมบัติไปอยู่อังกฤษ และในหนังสือชีวิตเหมือนฝันของหม่อมมณี สิริวรสาร ก็เขียนถึงพระองค์ว่าทรงอยู่ในอังกฤษโดยสงบไม่ยุ่งการเมืองไทยหรือที่ใดทั้งสิ้น อย่าว่าแต่จะหวังมีอำนาจใดๆ เลย

ส่วนพยานฝ่ายโจทก์นั้นก็ช่วยกันปั้นแต่งมาให้การเท็จเป็นตลกปัญญาอ่อน ทั้งๆที่จำเลยเป็นถึงพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดิน โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยไปจ้างคบคิดกับคนระดับคนขับรถและระดมพลถึงปีกว่าได้เพียงทหารเลว 3-4 คน จ่ายค่าจ้างแค่คนละ 100 บาท ถึงขั้นคิดการใหญ่จะยึดอำนาจรัฐ

พยานโจทก์ก็เอาเจ้าของร้านชำเบิกตัวมาว่า คนขับรถของจำเลยมากินเหล้าที่ร้านแล้วคุยโม้เรื่องเจ้านายให้หาคนมาทำการใหญ่ แต่ปิดเป็นความลับ ศาลก็เชื่อ

พยานโจทก์ที่ศาลเชื่อแบบหัวปักหัวปำคือคนรถชื่อนายอุ๊ อ้างว่าเป็นเพื่อนของคนขับรถของเสด็จในกรม ซึ่งนายอุ๊เขาเบิกความว่านายเพิ่มบอกกับนายอุ๊ว่าได้รับหน้าที่จากกรมขุนชัยนาทให้หากรรมกรรถยนต์ที่เป็นนักเลงหัวไม้เพื่อมาเป็นกำลัง แล้วตนก็มีโอกาสได้เข้าเฝ้า ทรงบอกนายอุ๊ว่าขอบใจ ถือว่าได้ร่วมมือกันกู้ชาติ

ครับ ศาลเชื่ออย่างมาก แถมนายอุ๊ยังไปเล่าต่อให้ยามของรัฐสภาซึ่งเป็นสายลับของสันติบาล ยามคนนี้ก็รายงานให้ขุนศรีศรากร ต่อมานายอุ๊ก็บอกว่ามีคนรถของกรมขุนชัยนาทว่าท่านจะเสด็จไปเฝ้ากรมพระนครสวรรค์ที่ชวา เพื่อขอทุนมาดำเนินการและจะเลยไปเฝ้าพระปกเกล้าฯ ที่อังกฤษเพื่ออัญเชิญให้กลับมาครองราชย์ หากดำเนินการได้สำเร็จ

นี่แหละครับการเสกสรรปั้นแต่งให้พวกสวะสังคมให้การใส่ร้ายจำเลย และศาลยังจะเชื่อถือหรือว่าพวกกเฬวรากกรรมกรรถยนต์นักเลงหัวไม้กับทหารเลวเพียง 2-3 คน ทั้งหมดอย่างมากไม่เกิน 10 คนด้วยซ้ำจะสามารถเป็นพวกก่อการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศได้ สวะสังคมเหล่านี้อย่าว่าแต่จะทำอะไรได้ แม้แต่ความคิดทางการเมืองก็คงไม่มี

อีกรายคือคดีของพระสิทธิเรืองเดชพล อดีตผู้บัญชาการทหารราบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นนายทหารคนสนิทของพระยาทรงสุรเดช รายนี้จำเลยสามารถหักล้างพยานโจทก์ซึ่งถูกเตี๊ยมเพื่อให้การมั่วๆ มาล่วงหน้าจนเป็นเรื่องตลกขบขันกันในหมู่จำเลย

พยานโจทก์ซึ่งเป็นสวะสังคมคนหนึ่งหลังจากพยายามปรักปรำกล่าวหาจำเลย โดยว่าจำเลยได้เอาเงินไปมอบให้คนนั้นคนนี้ในเวลานั้นเวลานี้อย่างชัดเจน โดยยืนยันให้การต่อศาลว่าจำเลยได้กระทำการในวันดังกล่าวจริง

หลังจากสวะสังคมพูดจบ พระสิทธิฯ ก็นำหนังสือเดินทางมายืนยันว่าวันดังกล่าวที่พยานโจทก์อ้างนั้นตนยังอยู่กับพระยาทรงสุรเดชในประเทศพม่า

ตีแสกหน้าแหกไปแล้วยังไม่ทันหายดี โจทก์ก็แต่งพยานกเฬวรากอีกรายหวังมัดตัวจำเลยให้อยู่หมัด

พยานโจทก์ระบุว่าได้นั่งรถสามล้อไปหาพระสิทธิฯ ที่บ้านราชวัตร ถึงตอนนี้จำเลยก็ให้การต่อศาลทั้งที่ว่าตอนนั้นยังไม่ปรากฏว่านายเลื่อน พงษ์โสภณ ได้สร้างหรือประดิษฐ์รถสามล้อเลย จะนั่งสามล้อไปหาจำเลยได้อย่างไร อีกอย่างที่บอกว่าได้ไปหาจำเลยที่บ้านราชวัตรนั้น บ้านของจำเลยอยู่ที่บางขุนพรหม ส่วนที่ราชวัตรเป็นที่ดินเปล่าๆ แปลงนั้นเข้าหุ้นส่วนร่วมกันซื้อหลายคนและแบ่งโฉนดยังไม่เรียบร้อย

แต่ศาลพิเศษนี้ก็ตัดสินว่าทั้งสองเรื่องนี้เป็นเรื่องความจำเสื่อมเล็กน้อย แต่พระสิทธิฯ ก็ยังผิดในประเด็นอื่นๆ อยู่ จึงลงโทษเอาผิดในที่สุด

นี่แหละครับ พยานโจทก์เกือบทุกรายส่วนใหญ่เป็นสวะสังคม เป็นพวกกเฬวราก มีอาชีพเป็นกรรมกร พวกคนรับใช้ คนรถ จิ๊กโก๋ปากซอย พวกหาเช้ากินค่ำ คนเหล่านี้ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกที่จะร่วมมือกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ อดีตข้าราชบริพาร ผู้มีฐานันดร รวมถึงอดีตพระมหากษัตริย์ที่รัฐบาลโดยศาลพิเศษ 2482 จับนักโทษการเมือง 50 กว่าคนมาลงโทษโดยสั่งประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตที่เกาะตะรุเตาหรือเกาะเต่า คนเหล่านี้ถูกคำพิพากษาโดยการอ่านคำพิพากษาว่า

“พระปกเกล้าฯ หาได้สละพระบรมเดชานุภาพโดยเต็มพระทัยไม่ หากเป็นการกระทำชั่วขณะหนึ่งซึ่งหวังว่ามีโอกาสกอบกู้พระราชอำนาจกลับคืนสู่สภาพเดิมในภายหลัง ทั้งนี้โดยปรากฏตามหลักฐานพยานโจทก์ (ส่วนใหญ่เป็นพวกสวะสังคม) ว่าในระหว่างที่พระปกเกล้าฯ เป็นพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมายตามระบอบรัฐธรรมนูญนั้น ได้ร่วมคิดกับพระยามโนปกรณ์นิติธาดากับพวกที่จะกำจัดบั่นทอนผู้ก่อกำเนิดให้มีรัฐธรรมนูญซึ่งบริหารราชการแผ่นดินอยู่ในเวลานั้นให้สูญสิ้นไป เพื่อฟื้นฟูให้พระปกเกล้าฯ กลับมีพระราชอำนาจตามเดิม”

ตลกยังไม่หมดก็คือ ศาลพิเศษระบุว่า “จำเลย (รวมทั้งพระปกเกล้าฯ) กับพวกได้สมคบกันจัดหานักเลงฝีมือมาให้ประหารบุคคลสำคัญในคณะรัฐบาล และข้าราชการที่ควบคุมกำลังทหารหรือตำรวจตามหน่วยสำคัญต่างๆ มีพระยาพหลฯ, หลวงพิบูลฯ, หลวงประดิษฐ์, หลวงอดุลฯ, ขุนศรีศรากร, ขุนปลดปรปักษ์, ... ต่างกรรมต่างวาระ...เป็นเหตุให้บ้านเมืองระส่ำระสาย ในโอกาสนั้นจำเลยกับพวกก็จะได้ใช้กำลังของตนหรือพรรคพวกที่มีอยู่ล้มล้างรัฐบาลได้โดยง่าย

ครับ นักเลงฝีมือและพวกที่โจทก์เห็นว่าเป็นพวกรับจ้างเล็กๆ น้อยๆ มือปืนที่กระจอกว่าจ้างคนละ 100 บาทเท่านั้น นี่หรือจะเป็นเหตุให้บ้านเมืองระส่ำระสายได้ และลอบสังหารผู้นำได้ง่ายๆ นับสิบคน ทั้งๆ ที่ท่านเหล่านั้นต่างก็มีบอดี้การ์ดห้อมล้อมอยู่ทั้งนั้น

ส่วนเรื่องที่จอมพลป. ถูกลูกน้องหยิบปืนจากรถยนต์นั่งของตนเองมาไล่ยิงบนบ้านของตนเองครั้งหนึ่ง ถูกวางยาพิษซึ่งต่อมากลายเป็นยาระบายอ่อนๆ และถูกยิงกลางเมืองอีกครั้ง แทนที่จะมีผลร้ายกลับกลายเป็นผลดีได้รับความเห็นใจได้คะแนนสงสารส่งให้เป็นนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา

เรื่องนายลี บุญตา ชาวอีสานคนสวนในบ้านของจอมพลป. มา 7 ปีนั้น พันจ่าตรีทองดี จันทนะโลหิต พลขับรถของ รมต.กลาโหมเอาปืนพกมาวางไว้ในรถให้นายเตรียมจะไปงานเลี้ยง นายลี บุญตา ซึ่งมาตามคิวผ่านมาเห็นเข้าเลยหยิบปืนขึ้นไปยิงหลวงพิบูลซึ่งกำลังแต่งตัวอยู่ในห้อง พอยิงนัดแรกหลวงพิบูลก็ร้องตะโกนตามคิวเหมือนกันว่า “ตาลียิงๆ” นายทหารติดตามจึงวิ่งขึ้นบันไดไปและจัดการนายลีได้

เรื่องนายลีนี้แปลกมากไม่ยอมพูดจนโดนประหารชีวิตว่าใครจ้างวาน มีแต่พูดว่าไหนนายว่าจะช่วยให้พ้นผิด ทำไมไม่มา (ตามคิว)

ครับ เรื่องอื่นๆ ในเล่มก็น่าอ่าน ชีวิตที่ลิขิต เป็นเรื่องหญิงเหล็กของคุณหญิงบรรจบพันธุ์ นวรัตน ณ อยุธยา ผู้มีจิตใจเข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว ท่านเป็นภรรยาของ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน เจ้าของบทประพันธ์คลาสสิก “เมืองนิมิต” บิดาของ ม.ล.ชัยนิมิตร คุณหญิงบรรจบพันธุ์ เป็นผู้สร้างโรงเรียนสวนเด็กจากโรงเรียนเล็กๆ เป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในสมัยหนึ่ง ชีวิตท่านผ่านประสบการณ์มามากและมีผลงานมากมายและด้วยผลงานที่เป็นสาระประโยชน์นี้เองที่ส่งผลให้ท่านเป็นคุณหญิงพระราชทานอย่างน่าภาคภูมิใจ

ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดชหนึ่งในสี่เสือคณะราษฎร เรื่องราวของชายชาติทหารที่จอมพลป. พิบูลสงคราม น่าจะกลัวจนหัวหด เหตุที่กลัวก็น่าจะรู้ว่าตัวเองคงเทียบชั้นฝีมือในด้านการทหารและบารมีไม่ได้ เรื่องราวและชะตากรรมยามถูกลี้ภัยทำให้นึกถึงคำกล่าวที่ว่า หลังปฏิวัติ 2475 พวกคณะปฏิวัติกวาดล้างทรยศหักหลังกันเองอย่างเลือดเย็น และการปฏิวัติ 2475 ไม่นองเลือดก็ไม่จริง เพราะภายหลังก็มีการพยายามเป็นกบฏ และมีการกวาดล้างปรปักษ์ทางการเมืองแบบเกสตาโปและตั้งศาลพิเศษขจัดศัตรูทางการเมือง

เรื่องสุดท้าย กันยา เทียนสว่าง ชีวิตไม่ผิดนวนิยาย อ่านเหมือนนิยายชีวิตสบายๆ พบกับกลิ่นไอของยุคที่สยามยังอยู่ในยามสงบและผู้คนกำลังยังสามัคคีกัน

หนังสือการเมืองในชีวประวัติ ผู้เขียนขายเอง ติดต่อที่ Facebook ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน หรืออี-เมล Navarat@gmail.com .
กำลังโหลดความคิดเห็น