xs
xsm
sm
md
lg

“กบฏ ร.ศ.๑๓๐” มุ่งปลงพระชนม์ ร.๖! แล้วใครจะกล้าเป็นคนลงมือ! คนจับสลากได้จึงหนาวจนได้เรื่อง!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

นายพลเอก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร
ในปี พ.ศ.๒๔๕๔ ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ขึ้นในประเทศจีน ดร.ซุนยัดเซ็น เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ ทำการยึดอำนาจขจัด กษัตริย์เม่งจู ออกจากราชบัลลังก์ได้สำเร็จ สถาปนาสาธารณรัฐจีนขึ้น

ในปีเดียวกัน นายทหารหนุ่มกลุ่มหนึ่งของเมืองไทย หัวหน้ากลุ่มอายุเพิ่ง ๒๘ ปี สมาชิกบางคนอายุยังไม่ครบ ๒๐ ได้คบคิดกันจะเปลี่ยนแปลงการปกครองบ้าง ถึงขั้นจะปลงพระชนม์ ร.๖ สาเหตุของการก่อกบฏครั้งนี้ นอกจากกระแสประชาธิปไตยจะแพร่ระบาดเข้ามาในกลุ่มประชาชนตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ แล้ว นายทหารกลุ่มนี้ยังมีเหตุขุ่นเคืองใจบางประการ

ในหนังสือ “หมอเหล็ง ศรีจันทร์ ภาคปฏิวัติครั้งแรกของไทย ร.ศ.๑๓๐” ซึ่งบันทึกโดย ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์ และ ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์ ได้กล่าวถึงมูลเหตุที่ทำให้เกิดการคิดปฏิวัติครั้งนี้ไว้ว่า

ในปลายแผ่นดิน ร.๕ ทหารของกรมทหารราบที่ ๒ ซึ่งตั้งอยู่ที่เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ เกิดวิวาทกับมหาดเล็กของ ร.๖ ซึ่งขณะนั้นยังทรงเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช มกุฎราชกุมาร และประทับอยู่ที่วังปารุสกวัน โดยทหารชั้นนายดาบคนหนึ่งแต่งนอกเครื่องแบบออกไปเที่ยวแถวสะพานมัฆวาน แล้วเกิดผิดใจกับมหาดเล็กสมเด็จพระบรมฯ เกี่ยวกับแม่ค้าขายหมาก ถูกมหาดเล็กตีศีรษะ จึงวิ่งไปรายงาน ร้อยเอกโสม ผู้บังคับกองร้อย ขณะเดียวกันมหาดเล็กคนนั้นก็ยังตามไปร้องท้าอยู่หน้ากรม ร.อ.โสมกับนายดาบผู้ถูกตี และยังมีนายร้อยตรีอีกคน จึงออกไปหักกิ่งก้ามปูหน้ากรมไล่ตีมหาดเล็กผู้มาร้องท้า ขณะที่กำลังชุลมุนอยู่นั้นพลทหารอีก ๒ คนมาเห็นเข้าจึงเข้าสมทบด้วย มหาดเล็กสู้ไม่ได้จึงวิ่งหนีเข้าวังปารุสฯไป

สมเด็จพระบรมทรงทราบ รับสั่งให้ผู้บังคับการกรมสอบสวน ร.อ.โสมก็รับสารภาพ องค์มกุฎราชกุมารจึงนำความขึ้นกราบบังคมทูนพระบรมชนกให้ทรงเฆี่ยนหลังทหารเหล่านั้น แต่ ร.๕ ไม่ทรงเห็นชอบ ทั้งเจ้านายผู้ใหญ่หลายพระองค์ เช่นกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระบิดากฎหมายไทย ก็ไม่ทรงเห็นด้วย เพราะการเฆี่ยนหลังเป็นจารีตนครบาลที่เลิกใช้ไปแล้ว ควรใช้กฎหมายอาญาที่ประกาศใช้อยู่ แต่สมเด็จพระบรมฯไม่ยอม ร.๕ จึงจำพระทัยต้องอนุมัติให้เฆี่ยนตามที่ทูลขอ ปรากฏว่าคนถูกเฆี่ยนหลังเลือดอาบ ร.อ.โสมถึงกับสลบคาขื่อ

เรื่องนี้ได้เกิดปฏิกิริยาขึ้นในวงการทหาร นักเรียนนายร้อยทหารบกหยุดเรียน สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสนาธิการทหารบก ต้องพยายามปลอบโยนและไกล่เกลี่ย เรื่องจึงสงบลงได้ แต่ในใจนั้นเป็นความขมขื่นของทหารหลายคน และถือว่าเป็นเรื่องที่ทำให้ทหารเสียเกียรติภูมิ

ต่อมาเมื่อ ร.๖ ขึ้นครองราชย์ ก็ได้ทรงจัดตั้งกองเสือป่าขึ้น ทหารหลายคนก็เห็นว่าเป็นการซ้ำซ้อนกับงานของทหาร เป็นการเสียงบประมาณโดยใช่เหตุ และเป็นการบั่นทอนจิตใจทหาร ทำให้นายทหารบางคนมีปฏิกิริยาไม่ยอมสมัครเข้าร่วมกิจกรรมกับเสือป่า และไม่ยอมไปฝึกซ้อมให้เสือป่า

อีกทั้งได้เห็นแล้วว่า การที่พระมหาจักรพรรดิเมจิของญี่ปุ่นได้พระราชทานรัฐธรรมนูญปกครองประเทศโดยไม่มีการยึดอำนาจมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๑๑ ทำให้ประเทศญี่ปุ่นเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

ผู้ต้นคิดปฏิวัติเปลี่ยนแปลงคนแรกก็คือ ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์ กับ ร.ต.จรูญ ษตะเมษ โดยวางแผนยาวค่อยๆสะสมพรรคพวก รวมทั้งจะอบรมทหารเกณฑ์ให้ได้ ๑๐ รุ่น เพื่อเตรียมทำปฏิวัติใน ๑๐ ปี ทั้งสองคนนี้ประจำการอยู่ที่กรมทหารราบที่ ๑๒ มณฑลนครไชยศรี ต่อมาในต้นปี พ.ศ.๒๔๕๓ ได้ย้ายมาประจำกรมทหารราบที่ ๑๑ รักษาพระองค์ในพระบรมมหาราชวัง และขยายพรรคพวกได้อีกหลายคน จนกระทั้งได้ ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) แพทย์ประจำพระองค์สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ และหม่อมคัธรีน ซึ่งเป็นผู้อาวุโสที่สุดในกลุ่ม จึงได้ยกให้ “หมอเหล็ง” เป็นหัวหน้าคณะ

เมื่อได้พรรคพวกเป็นกลุ่มเป็นก้อน และมีหัวหน้าคณะเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงได้เปิดประชุมอย่างเป็นทางการขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๔๕๔ ที่บ้านถนนสาทรของหัวหน้าคณะ ให้ชื่อกลุ่มว่า “คณะพรรค ร.ศ.๑๓๐” มีผู้เข้าร่วมประชุม ๗ คนคือ

ร้อยเอกขุนหวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์)
ร้อยตรีเหรียญ ศรีจันทร์ แห่งราบ ๑๑ ร.อ.
ร้อยตรีจรูญ ษตะเมษ แห่งราบ ๑๑ ร.อ.
ร้อยตรีเนตร พูนวิวัฒน์ แห่งราบ ๑๑ ร.อ.
ร้อยตรีเปล่ง บูรณโชติ แห่งราบ ๑๑ ร.อ.
ร้อยตรี ม.ร.ว.แช่ รัชนีกร แห่งกอง ร.ร.นายสิบ
ร้อยตรี เขียน อุทัยกุล แห่งกอง ร.ร.นายสิบ

การประชุมครั้งนี้ที่ประชุมยังตัดสินใจไม่ได้ว่า จะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นรูปแบบใด จะใช้ระบบพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญแบบญี่ปุ่น หรือสาธารณรัฐแบบจีน แต่ให้ขยายกลุ่มชักชวนกันต่อไป

การประชุมครั้งที่ ๒ ในวันอาทิตย์ที่ ๒๐ มกราคม ๒๔๕๔ มีสมาชิกเพิ่มมาอีก ๑๓ คน มีการดื่มเหล้าแช่ลูกปืนสาบานตนก่อนเริ่มประชุม ว่าจะทำเพื่อชาติ และสามัคคีกันให้แน่นแฟ้นเหมือนกอตะไคร้

ผลการประชุมครั้งนี้ ให้เปลี่ยนนโยบายที่จะทำการปฏิวัติใน ๑๐ ปี เป็นให้ทำโดยเร็วที่สุด เพราะหากเนิ่นนานไปจะรักษาความลับไว้ไม่ได้ และให้ทุกคนสละเงินเดือนคนละ ๕ เปอร์เซ็นต์เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน

การประชุมครั้งที่ ๓ ในวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๔๕๔ มีสมาชิกเพิ่มมาอีก ๑๑ คน ที่ประชุมตกลงกำหนดคำขวัญว่า “เสียชีพดีกว่าเสียชาติ” อยู่ในวงล้อมของปืน ร.ศ. เป็นสัญลักษณ์ของคณะปฏิวัติ และกำหนดลงมือในวันถือน้ำพิพัฒน์สัตยาต้นเดือนเมษายน อีก ๒ เดือนเศษข้างหน้า

นอกจากนี้ยังมีการประชุมอีกหลายครั้ง เช่นที่โบสถ์ร้างวัดช่องลม ช่องนนทรี บ้านนายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา ที่ศาลาแดง ซึ่งเป็นสมาชิกคนเดียวที่เป็นพลเรือน รับราชการเป็นล่ามของกระทรวงยุติธรรม

การประชุมแต่ละครั้งจะมีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ จนกล่าวได้ว่านายทหารหน่วยคุมกำลังในพระนครได้เข้าร่วมกับคณะปฏิวัติเกือบหมด ถ้าถึงวันลงมือก็คงควบคุมสถานการณ์ไว้ได้โดยง่าย แต่ความได้แตกเสียก่อนหลังการประชุมครั้งที่ ๘

ในการประชุมครั้งนี้มีการจับสลากว่า ใครจะมีหน้าที่ปลงพระชนม์ ปรากฏว่าผู้ที่จับสลากได้คือ ร้อยเอกหลวงสินาดโยธารักษ์ (ยุทธ คงอยู่) แต่หลวงสินาดฯเกิดความกลัวอย่างหนัก จึงไปปรึกษากับร้อยโททองอยู่ มหาดเล็กคนโปรดของกรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ จนความทราบไปถึงกรมหลวงพิษณุโลกฯ

กรมหลวงพิษณุโลกฯทรงตกพระทัยมาก เพราะผู้ที่คบคิดกันเหล่านี้ล้วนแต่เป็นลูกศิษย์ของพระองค์ทั้งสิ้น จึงนำความไปกราบทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขณะซ้อมรบเสือป่าอยู่ที่พระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม

ในวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๔ เวลา ๙.๐๐ น. กรมหลวงพิษณุโลกฯ เสนาธิการทหารบก รักษาราชการแทนเสนาบดีกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการทหารบก ได้ออกคำสั่ง “ลับด่วนมาก” เรียกประชุมนายทหารระดับผู้บังคับการกรมขึ้นไป ปิดประตูห้องประชุมกระทรวงกลาโหมอยู่ ๒ ชั่วโมง จากนั้นราว ๑๑ โมง นายทหารชั้นผู้ใหญ่ก็แยกย้ายกันนำกำลังเข้าจู่โจมจับผู้ก่อการที่ยังไม่รู้ตัวและมาทำงานตามปกติ ได้ครบตามบัญชีรายชื่อที่ได้มา

ผู้ที่ถูกจับครั้งนี้มีถึง ๙๑ คน ที่ไม่ถูกซัดทอดก็ยังมีรอดพ้นไป ผู้ที่ถูกจับอยู่ในระดับหัวหน้ามี ๑๐ คน คือ ร้อยเอกขุนทวยหาญพิทักษ์ หัวขบวนที่มีอายุ ๒๘ ปี อีกคนคือ ร้อยโทจรูญ ณ บางช้าง นายทหารนอกราชการเป็นเนติบัณฑิต และมีพลเรือนอยู่คนเดียวคือนายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา นอกนั้นเป็นนายทหารประจำการอีก ๗ คน มียศเพียงร้อยตรี ร้อยโท

นายทหารบางคนที่ถูกจับเพิ่งสำเร็จออกมาจากโรงเรียนนายร้อย อายุยังไม่ถึง ๒๐ ก็มี ที่มียศสูงที่สุด ก็คือ พันตรีนายแพทย์หลวงวิฆเนศร์ประสิทธวิทย์ (อัทย์ หะสิตเวช) แพทย์ประกาศนียบัตรชั้น ๑ ของเมืองไทย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในนาม “หมออัทย์”

นายทหารที่ถูกจับถูกควบคุมตัวไว้ในกรมกองที่สังกัด เมื่อได้เขียนคำให้การด้วยตัวเองแล้ว ร้อยตีชอุ่ม แห่งกรมทหารม้า ได้ใช้ปืนสั้นประจำกายยิงตัวตาย ผู้ต้องหาทั้งหมดจึงถูกย้ายไปควบคุมรวมกันที่เรือนจำลหุโทษ ถนนมหาชัย ซึ่งขณะนั้นเรียกกันว่า “คุกใหม่”

ส่วนร้อยเอกหลวงสินาดฯ ผู้เปิดเผยความลับ ถูกส่งตัวไปอยู่ฝรั่งเศส เพื่อลี้ภัยพวกพ้องของกลุ่มก่อการ

มีพะบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ๗ นาย ทั้งทหารบก ทหารเรือ เป็นตุลาการศาลทหารพิจารณาคดีนี้ มี พลเอกเจ้าพระยาบดินทร์เดชานุชิต (ม.ร.ว.อรุณ ฉัตรกุล) ปลัดทูลฉลองกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน

จากการสอบสวนคดีในศาล ผู้ต้องหารับแต่เพียงว่า คณะปฏิวัติจะขอให้พระมหากษัตริย์ทรงลดฐานะอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ถ้าไม่ทรงยินยอมก็จะเลือกเจ้านายพระองค์อื่นขึ้นครองราชย์แทน ซึ่งก็ได้เลือกกันไว้แล้ว คือ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต หรือหากจะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบสาธารณรัฐ ก็จะอัญเชิญกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี

หลังจากที่ศาลพิจารณาคดีไต่สวนมูลฟ้องแล้วก็ลงความเห็นว่า การกระทำของนายทหารกลุ่มนี้ยังไม่ถึงขั้นจะถือว่าเป็นกบฏ เพียง “ก่อการกำเริบ” เท่านั้น แต่ก็เป็นการก่อการกำเริบที่จะต้องลงโทษไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป เพราะผู้ก่อการเป็นนายทหารที่ต้องมีระเบียบวินัย ศาลจึงมีคำพิพากษาในวันที่ ๔ พฤษภาคมต่อมาว่า

“...ผู้ที่ร่วมคิดในสมาคมนี้ มีความเห็นจะเปลี่ยนแปลงการปกครองรีปับลิคบ้าง เป็นลิมิเต็ดมงนากีบ้าง แต่ฝ่ายรีปับลิคชนะโวตในที่ประชุม ส่วนที่จะจัดการอย่างไรจึงจะเปลี่ยนแปลงการปกครองได้นั้น ปรากฏชัดในที่ประชุมถึงการกระทำประทุษร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเรื่องนี้เดิมทีเดียวดูเหมือนสมาคมนี้ตั้งขึ้นเพื่อจะเปลี่ยนแปลงการปกครองบ้านเมือง แต่ครั้นพิจารณาแล้วกลับได้ความชัดว่า สมคบเพื่อความประทุษร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย แม้บางคนจะไม่มี่เจตนาโดยตรงที่จะประทุษร้ายต่อพระเจ้าอยู่หัวก็ดี แต่ได้สมรู้เป็นใจและช่วยปกปิดความ เพราะฉะนั้นตามอัตราความผิดนี้ กระทำต่อกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๙๗ ตอนที่ ๒ ถึงประหารชีวิตด้วยกันทุกคน แต่ครั้นจะวางโทษถึงประหารชีวิตทุกคนไป บางคนกระทำความผิดมาก ไม่สมควรจะลดโทษเลย แต่บางคนกระทำความผิดน้อย ได้ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ในการพิจารณาบ้าง อันเป็นเหตุควรลดโทษฐานปรานีตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๓๗ แล้ว มาตรา ๕๙ จึงให้กำหนดโทษเป็น ๕ ขั้น คือ

ขั้นที่ ๑ ให้ลงโทษประหารชีวิต ๓ คน
ขั้นที่ ๒ ลดโทษลงเพียงจำคุกตลอดชีวิต ๒๐ คน
ขั้นที่ ๓ ลดโทษลงเพียงจำคุก มีกำหนด ๒๐ ปี ๓๒ คน
ขั้นที่ ๔ลดโทษเพียงจำคุก มีกำหนด ๑๕ ปี ๖ คน
ขั้นที่ ๕ลดโทษเพียงจำคุก มีกำหนด ๑๒ ปี ๓๐ คน

แต่เมื่อคณะตุลาการศาลทหารได้นำคำพิพากษาขึ้นทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ว่า

“...เห็นว่าตุลาการพิจารณาลงโทษพวกนี้ชอบด้วยพระราชกำหนดกฎหมายทุกประการแล้ว แต่ว่าความผิดของพวกเหล่านี้มีข้อสำคัญอยู่ที่จะกระทำร้ายต่อเรา ซึ่งเราไม่ได้มีจิตพยาบาทอาฆาตมาดร้ายต่อพวกนี้ เห็นควรจะลดหย่อนผ่อนโทษโดยฐานกรุณา อันเป็นอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินที่จะยกให้ได้ เพราะฉะนั้นบรรดาผู้ที่มีชื่อ ๓ คน ซึ่งระวางโทษไว้ในคำพิพากษาของกรรมการว่าเป็นโทษขั้นที่ ๑ ให้ประหารชีวิตนั้น ให้ลดลงเป็นโทษขั้นที่ ๒ ให้จำคุกตลอดชีวิต บรรดาผู้มีชื่ออีก ๒๐ คน ซึ่งลงโทษไว้ว่าเป็นโทษขึ้นที่ ๒ ให้จำคุกไว้ตลอดชีวิตนั้น ให้ลดลงเป็นโทษขั้นที่ ๓ คือให้จำคุกมีกำหนด ๒๐ ปี ตั้งแต่วันนี้สืบไป แต่บรรดาผู้ที่มีชื่ออีก ๖๘ คน ซึ่งระวางโทษขั้นที่ ๓ ให้จำคุก ๒๐ ปี ๓๒ คน ระวางโทษขั้นที่ ๔ ให้จำคุก ๑๕ ปี ๖ คน และระวางโทษขั้นที่ ๕ ให้จำคุก ๑๒ ปี ๓๑ คนนั้น ให้รอการลงอาญาไว้ ทำนองอย่างเช่นได้กล่าวในกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๔๑ และ ๔๒ ซึ่งว่าด้วยการรอลงอาญาโทษอย่างน้อยนั้น และอย่าเพิ่งให้ออกจากราชการก่อน แต่ฝ่ายผู้มีชื่อ ๓ คนที่ได้ลงโทษขั้นที่ ๒ กับผู้มีชื่อ ๒๐ คน ที่ได้ลงโทษขั้นที่ ๓ รวม ๒๓ คน ดังกล่าวมาข้างต้นนั้น ให้ถอดตำแหน่งยศถาบรรดาศักดิ์ตามอย่างธรรมเนียมซึ่งเคยมีกับโทษเช่นนั้น...”

สรุปได้ว่า มีผู้ต้องโทษจำคุกในคดีนี้รวม ๒๓ คน ไม่มีใครได้รับโทษถึงตาย ส่วนอีก ๖๘ คน คนซึ่งเดิมลงโทษไว้ ๒๐ ปีถึง ๑๒ ปี ได้รับอภัยโทษทั้งหมด ทั้งยังไม่ถูกไล่ออกถอดยศด้วย

ผู้ที่ถูกจำคุก ๒๓ คนนั้น คือ

โทษจำคุกตลอดชีวิต ลดลงมาจากโทษประหาร มี
ร้อยเอกขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์)
ร้อยโทจรูญ ณ บางช้าง
ร้อยตรีเจือ ศิลาอาสน์
โทษจำคุก ๒๐ ปี ลดลงมาจากโทษตลอดชีวิต มี
ร้อยโทจือ ควกุล
ร้อยโทเขียน อุทัยกุล
ร้อยตรีวาส วาสนา
ร้อยตรี ม.ร.ว.แช่ รัชนีกร
ร้อยตรีถัด รัตนพันธุ์
ร้อยตรีเหรียญ ศรีจันทร์
ร้อยตรีเหรียญ ทิพยรัตน์
ว่าที่ร้อยตรีทวน เธียรพิทักษ์
ร้อยตรีเนตร พูนวิวัฒน์
ร้อยตรีสอน วงษ์โต
ร้อยตรีปลั่ง บูรณโชติ
ร้อยตรีจรูญ ษตะเมษ
ร้อยโททองคำ คล้อยโอภาส
ร้อยตรีบ๋วย บุณยรัตนพันธ์
ว่าที่ร้อยตรีศิริ ชุณห์ประไพ
ร้อยตรีจันทร์ ปานสีดำ
ว่าที่ร้อยตรีโกย วรรณกุล
พันตรีหลวงวิฆเนศร์ประสิทธิ์วิทย์ (อัทย์ หะสัตเวช)
ร้อยตรีบุญ แตงวิเชียร
นายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา

นักโทษเหล่านี้ ทางรัฐบาลถือว่าเป็นคนหนุ่มที่คิดกำเริบเสิบสาน ก็เพราะมีความรักชาติเป็นแรงจูงใจเท่านั้น จึงได้รับสิทธิพิเศษควบคุมไว้ในฐานะนักโทษการเมือง ในส่วนที่เรียกกันว่า “คุกต่างประเทศ” ของเรือนจำ ซึ่งมีความเป็นอยู่เลี้ยงดูดีกว่านักโทษทั่วไป ซึ่งมีไว้สำหรับกักขังนักโทษชาวต่างประเทศที่มีสัมพันธไมตรีกับไทย

แต่อย่างไรก็ตาม นักโทษเหล่านี้ต้องโทษอยู่เพียง ๑๒ ปี ในพระราชพิธีฉัตรมงคลในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๖๗ ซึ่งครบรอบ ๑๕ ปีที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวครองราชย์ ก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ปลดปล่อย “กบฏ ร.ศ.๑๓๐” ทั้งหมด ต่อมายังได้รับนิรโทษกรรม ได้รับการคืนยศหลังเปลี่ยนแปลการปกครองใน พ.ศ.๒๔๗๕

ความคิดจะเปลี่ยนแปลงการปกครองของนายทหารหนุ่มกลุ่มนี้ แม้จะไม่ประสบความสำเร็จ ระดับผู้นำถูกจำคุกอยู่ ๑๒ ปี สร้างความเศร้าหมองแก่อนาคตและครอบครัว แต่ก็ใช่ว่าจะไร้ผลเสียทีเดียว การก่อตัวของ “คณะพรรค ร.ศ.๑๓๐” ได้ปลุกเร้ากระแสความคิดประชาธิปไตยในเมืองไทยให้ตื่นตัวยิ่งขึ้น และความผิดพลาดของคณะนี้ ยังเป็นบทเรียนสำคัญของ “คณะราษฎร” ที่ได้พิถีพิถันในการเลือกสมาชิกผู้ร่วมอุดมการณ์ จนกระทั่งประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕
ส่วนหนึ่งของผู้ต้องโทษกบฏ ร.ศ.๑๓๐ ถ่ายขณะอยู่ในคุก
ส่วนหนึ่งของกบฏ ร.ศ.๑๓๐ ได้รับนิรโทษกรรมใน พ.ศ.๒๔๗๕ และได้รับยศคืน
กำลังโหลดความคิดเห็น