รอยเตอร์ - พรรคของนางอองซานซูจี มีคำสั่งห้ามสมาชิกรัฐสภาของพรรคออกจากเมืองหลวง ตามการเปิดเผยของสมาชิกระดับสูงของพรรครายหนึ่ง ที่ก่อให้เกิดการคาดเดาว่าอาจมีการเสนอกฎหมายที่จะเลี่ยงมาตราในรัฐธรรมนูญที่ห้ามอองซานซูจี เป็นประธานาธิบดี
สมาชิกรัฐสภาใหม่ 8 คน จากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) กล่าวว่า คณะกรรมการบริหารส่วนกลาง (CEC) ของพรรคได้บอกให้พวกเขาอยู่แต่ในกรุงเนปีดอ ที่รัฐสภาได้เริ่มต้นการทำงานในสัปดาห์นี้
“เราไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางออกไปไหนจนกว่าจะสิ้นสุดสัปดาห์หน้า หนึ่งในคณะกรรมการบริหารส่วนกลางของพรรคบอกว่า อาจมีเรื่องสำคัญ หรือร่างกฎหมายฉุกเฉินในช่วงสัปดาห์หน้า” สมาชิกรัฐสภาหน้าใหม่จากพรรค NLD กล่าว
คำสั่งดังกล่าวยิ่งเพิ่มการคาดเดาในหมู่สมาชิกสภานิติบัญญัติที่ว่า พรรคอาจออกกฎหมายระงับมาตราที่ขัดขวางอองซานซูจี จากการทำหน้าที่ในตำแหน่งประธานาธิบดี
ด้านสมาชิกอาวุโสของพรรค NLD ได้ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็น และกล่าวว่า ไม่ทราบถึงความเคลื่อนไหวดังกล่าว ความเคลื่อนไหวที่อาจแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ของพรรค และอาจเป็นท่าทีที่แสดงความท้าทายโดยตรงต่อกองทัพ
พรรค NLD ที่ชนะที่นั่งราว 80% ของสภาในการเลือกตั้งเมื่อเดือน พ.ย. ดำเนินการในแนวทางประนีประนอมต่อกองทัพ ที่ปกครองพม่าด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จมานานเกือบ 50 ปี
รัฐบาลเต็งเส่ง ที่กำลังจะหมดวาระลงระบุว่า ความพยายามใดๆ ที่จะหลีกเลี่ยงบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ประเด็นปัญหาคือ มาตรา 59(f) ของรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นในปี 2551 โดยรัฐบาลเผด็จการทหาร ก่อนยกอำนาจให้แก่รัฐบาลกึ่งพลเรือนนำโดยอดีตนายพลในปี 2554 ซึ่งมาตราดังกล่าวห้ามบุคคลใดก็ตามที่มีคู่สมรส หรือทายาทเป็นชาวต่างชาติทำหน้าที่ในตำแหน่งประธานาธิบดี โดยมาตรานี้ถูกมองอย่างกว้างขวางว่ามีเป้าหมายที่จะขัดขวางอองซานซูจี ซึ่งบุตรชายทั้ง 2 คนของเธอเป็นชาวอังกฤษ
ซูจี กล่าวก่อนหน้านี้ว่า เธอจะปกครองอยู่เหนือประธานาธิบดี แต่ไม่ให้รายละเอียดมากนักเกี่ยวกับแผนของเธอ ยิ่งเพิ่มการคาดเดาถึงผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในนาม หรือเครื่องมือทางกฎหมายที่จะช่วยให้ซูจี สามารถนำรัฐบาลชุดใหม่ได้เมื่อกระบวนการเปลี่ยนผ่านที่ยาวนานนั้นเสร็จสมบูรณ์ในปลายเดือน มี.ค.
หนึ่งในเครื่องมือคือการระงับมาตรา 59(f) ชั่วคราว ความเคลื่อนไหวนี้ถูกอ้างถึงครั้งแรกโดย อ่อง โก สมาชิกสภานิติบัญญัติ และอดีตนายพล ที่เป็นเพื่อนสนิทของฉ่วย มาน อดีตประธานสภาซึ่งถูกขับออกจากพรรคสหภาพสามัคคีและการพัฒนา (USDP) เมื่อปีก่อน และในเวลานี้เป็นพันธมิตรสำคัญของซูจี
การระงับมาตรา 59(f) ชั่วคราว อาจทำให้ซูจีกลายเป็นประธานาธิบดีได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จำเป็นต้องได้เสียงโหวตมากกว่า 3 ใน 4 ของสมาชิกรัฐสภา
“ในรัฐธรรมนูญของเราไม่มีบทบัญญัติใดระบุว่า มาตราที่ 59(f) สามารถระงับได้หรือไม่ได้ ซึ่งในกรณีเช่นนี้ กฎหมายสามารถถูกระงับได้” อ่อง โก กล่าวต่อสื่อท้องถิ่นเมื่อเดือน ธ.ค.
โก นี ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายของพรรค NLD รวมทั้ง ญาน วิน เจ้าหน้าที่อาวุโสของ NLD และที่ปรึกษาด้านกฎหมายของซูจี กล่าวว่า พวกเขาคิดว่ารัฐสภาอาจระงับมาตราดังกล่าวด้วยเสียงข้างมาก
“มันมีวิธีที่ไม่เป็นทางการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยการออกกฎหมายพิเศษที่จะระงับบทบัญญัติในมาตรา 59(f) เป็นการชั่วคราว ซึ่งกฎหมายนี้สามารถออกได้ด้วยคะแนนเสียง 51% ในรัฐสภา” โก นี กล่าว
วิน เต็ง อดีตนักโทษการเมือง และหนึ่งในแกนนำพรรคที่มีอิทธิพลมากที่สุด ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็น แต่กล่าวต่อรอยเตอร์ว่า พรรคจะประกาศผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในสัปดาห์หน้า
เย ตุ๊ต รัฐมนตรีกระทรวงข้อมูลและโฆษกของประธานาธิบดีเต็งเส่ง กล่าวว่า มาตราในรัฐธรรมนูญสามารถระงับได้ในเฉพาะสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่อำนาจบริหารจะถูกโอนไปยังผู้บัญชาการทหาร
“หากตอนนี้ NLD จะระงับมาตราในรัฐธรรมนูญ สิ่งที่เกิดขึ้นหลังปี 2563 คือ พรรคอื่นที่เข้ามาก็จะระงับอีกสัก 10 หรือ 12 มาตรา แล้วอะไรจะเกิดขึ้นต่อประเทศของเรา” เย ตุ๊ต กล่าว
หนังสือพิมพ์เมียวดีเดลี่ ที่กองทัพเป็นเจ้าของ ได้กล่าวคัดค้านการแก้ไขเปลี่ยนแปลงใดๆ ต่อรัฐธรรมนูญในบทบรรณาธิการ ที่เกิดขึ้นพร้อมกับการเริ่มต้นรัฐสภาชุดใหม่เมื่อวันจันทร์ (1) ว่า ผู้นำประเทศควรเป็นใครสักคนที่ประชาชนทั้งหมดสามารถไว้วางใจได้โดยไม่มีข้อสงสัยใดๆ ดังนั้น สมาชิกครอบครัวของผู้นำประเทศไม่ควรจะเป็นคนที่ได้รับสิทธิ และสิทธิพิเศษในฐานะชาวต่างชาติ.