xs
xsm
sm
md
lg

“โค้กซีโร่ ชูการ์” : เมื่อน้ำอัดลมกลายเป็น “เครื่องดื่มทางเลือกสุขภาพ”?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


ช่วงนี้ บริษัท ไทยน้ำทิพย์ ผู้ผลิตเครื่องดื่มโค้กในประเทศไทย กำลังวางจำหน่ายเครื่องดื่มปราศจากน้ำตาล “โค้ก ซีโร่ ชูการ์” สูตรใหม่ กระป๋องสีแดงคาดดำอย่างเงียบๆ พร้อมกับโค้ก ซีโร่ และโค้กไลท์ ที่ขายกันอยู่ในปัจจุบัน

ตามโมเดิร์นเทรดอาจจะยังไม่มี แต่ร้านค้าบางแห่งก็มีวางจำหน่ายแล้ว ผู้เขียนไปเห็นในร้านสะดวกซื้อแมกซ์มาร์ท ปั้มน้ำมันพีที ย่านถนนเอกชัย

ต่อมาพบเห็นอีกครั้งในตู้ขายเครื่องดื่มหยอดเหรียญ หน้าห้างแม็คโคร จรัญสนิทวงศ์

รูปแบบกระป๋องสีแดงสด พร้อมกับคาดสีดำด้านบนและข้อความว่า “ZERO SUGAR ซีโร่ น้ำตาล 0%” ทีแรกนึกว่าเป็นการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ใหม่

แต่สะดุดตาตรงเครื่องหมาย “เครื่องดื่มทางเลือกสุขภาพ”

ระหว่างหยิบจากตู้แช่ใส่ตะกร้า ลองสังเกตโดยเปรียบเทียบโค้ก ซีโร่ กระป๋องสีดำที่วางอยู่ติดกัน พบว่าแม้น้ำตาลจะ 0 กรัมทั้งคู่ แต่ปริมาณโซเดียมลดลง

จากเดิม 40 มิลลิกรัม เหลือ 25 มิลลิกรัม หรือลดลงถึง 37.5%

ส่วนรสชาติ ความเห็นส่วนตัวเทียบกับโค้ก ซีโร่ สูตรเดิมแล้ว พบว่าจืดกว่าอย่างเห็นได้ชัด แต่ที่ผ่านมาไม่ชอบดื่มโค้กซีโร่เท่าไหร่

ออกจะปันใจให้กับโค้กไลท์ เพราะคิดว่ารสชาติใกล้เคียงกับโค้กธรรมดามากกว่า

เมื่อตัดสินใจซื้อโค้กอีก 3 รสชาติมาเปรียบเทียบข้อมูลโภชนาการ พบว่าความแตกต่างของโค้กแต่ละรสชาติจะอยู่ที่ปริมาณโซเดียม ซึ่งผันแปรไปตามปริมาณน้ำตาล

โค้กธรรมดาอาจจะโซเดียมน้อยหน่อยเพราะใส่น้ำตาลเยอะ

แต่สูตรที่มีโซเดียมมากที่สุด กลายเป็น “โค้กไลท์” กระป๋องสีเทา มีปริมาณโซเดียมมากถึง 45 มิลลิกรัม ต่อกระป๋อง 325 มิลลิลิตร

คาดว่าที่รสชาติจัดใกล้เคียงโค้กธรรมดา โดยไม่รู้สึกว่ามันจืด อาจเป็นเพราะมีโซเดียมในปริมาณที่มากก็ได้



ปีที่แล้ว โคคา-โคลา เริ่มวางจำหน่ายโค้กสูตรใหม่ ที่เรียกว่า “โคคา-โคลา ซีโร่ ชูการ์” หลังพัฒนาเครื่องดื่มปราศจากน้ำตาลมาตั้งแต่ยุคไดเอ็ดโค้ก ปี ค.ศ. 1982 (พ.ศ. 2525) และโค้ก ซีโร่ ค.ศ. 2006 (พ.ศ.2549)

ชูคุณสมบัติเด่นตรงที่รสชาติใกล้เคียงกับโค้กธรรมดามากที่สุด โดยที่ปราศจากน้ำตาล ใช้เวลาพัฒนาและทดลองสูตรมานานกว่า 5 ปี กระทั่งกลายเป็นผลิตภัณฑ์หลักตัวใหม่ของตระกูลโคคา-โคลา

หลายประเทศเริ่มมีการเปลี่ยนโค้ก ซีโร่ กลายเป็น “โคคา-โคลา ชีโร่ ชูการ์”

หรือบางประเทศจะใช้คำว่า “โน ชูการ์” ตามกฎระเบียบท้องถิ่น เกี่ยวกับการแสดงฉลากผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มของแต่ละประเทศ

โคคา-โคลา ซีโร่ ชูการ์ วางจำหน่ายครั้งแรกในอังกฤษเมื่อเดือนเมษายน 2559 ก่อนที่แต่ละประเทศจะเปลี่ยนแปลงตาม

ในเอเชียเพิ่งจะวางจำหน่ายที่สิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา

ออสเตรเลียเป็นประเทศล่าสุดที่วางจำหน่ายในชื่อ “โคคา-โคลา โน ชูการ์” ไปเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ที่ผ่านมา ผ่านผู้แทนจำหน่ายหลักและผู้แทนจำหน่ายอิสระ โดยมีข่าวว่าจะเลิกผลิตโค้ก ซีโร่ เป็นการถาวร

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในไทย แม้จะยังไม่เปิดตัวโค้ก ซีโร่ ชูการ์ อย่างเป็นทางการ

แต่พบว่ามีตราสัญลักษณ์ “เครื่องดื่มทางเลือกสุภาพ” ที่รับผิดชอบโดย มูลนิธิส่งเสริมโภชนาการฯ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล

ด้วยความสงสัยว่า มันทางเลือกสุขภาพยังไง ทั้ง ๆ ที่สังคม รวมทั้งตัวเราเองเชื่อมาตลอดว่าน้ำอัดลมทำลายสุขภาพ แต่ก็ยังดื่มเพื่อดับกระหาย คลายร้อนเพราะอดใจไม่อยู่ ก็เลยไปลองสืบค้นข้อมูลดู

ตราสัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” เป็นโครงการพัฒนาและส่งเสริมการใช้สัญลักษณ์โภชนาการอย่างง่ายสำหรับเป็นข้อมูลการตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์อาหารของผู้บริโภคเพื่อลดการบริโภคน้ำตาล โซเดียมและไขมัน

บริษัทแรกในประเทศไทยที่ได้รับตราสัญลักษณ์นี้ คือ บริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด ส่งผลิตภัณฑ์ซีอิ้ว และน้ำปลาแท้ สูตรลดโซเดียม 40% ได้รับอนุมัติไปเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2558

ทราบมาว่า บริษัท ไทยน้ำทิพย์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ไปขอผ่านการรับรองสัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพ พร้อมกับโค้กไลท์ และได้รับการอนุมัติไปเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา

แต่ไม่ใช่เพียงแค่โค้กเจ้าเดียวที่ได้ตราสัญลักษณ์รับรองนี้ไป

น้ำอัดลมคู่แข่งอย่าง บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ยังได้ขอตราสัญลักษณ์ กับเครื่องดื่มปราศจากน้ำตาลเป๊ปซี่ แมกซ์ เทสต์ อนุมัติไปเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2560

และยังพบว่า เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2560 ยังได้รับอนุมัติตราสัญลักษณ์ กับเครื่องดื่ม มิรินด้า มิกซ์-อิท เครื่องดื่มกลิ่นลิ้นจี่และสตอร์เบอร์รี่ กับ กลิ่นแอปเปิ้ลและกีวี่ อีกด้วย คาดว่าจะวางตลาดเร็วๆ นี้

แต่สำหรับน้ำอัดลมสัญชาติไทย อย่าง บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) กลายเป็นบริษัทแรกๆ ที่ไปขอตราสัญลักษณ์มาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยเริ่มจากเครื่องดื่มปราศจากน้ำตาล เอส อนุมัติไปเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559

เมื่อถึงคราวที่เสริมสุขต้องผลิตเครื่องดื่มเกลือแร่อัดลม ฮันเดรด พลัส หลังได้อานิสงส์จากการที่ไทยเบฟฯ ไปซื้อหุ้นเอฟแอนด์เอ็น ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มในมาเลเซีย

ทำให้คนไทยไม่ต้องดื่มฮันเดรตพลัสนำเข้าจากมาเลเซียอีกต่อไป

พบว่าเสริมสุขยังไปขอสัญลักษณ์ กับเครื่องดื่มกลิ่นซิตรัสและกลิ่นเลมอน ไลม์ และได้รับอนุมัติไปตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2559 ก่อนที่จะได้มาเพิ่ม หลังผลิตเครื่องดื่มกลิ่นเบอร์รี่เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2559

นอกจากนี้ ยังมีเครื่องดื่มอัดก๊าซรสแอปเปิ้ล ตราโฟว์ทีนเดย์ ของ บริษัท กวนอิมริชเช็สริช (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับอนุมัติเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2560

โดยให้บริษัท สากลบอตตลิ่ง จำกัด ผู้ผลิตเครื่องดื่มอาร์ซี โคล่า เป็นผู้ผลิต

ข้อมูลจากโครงการสัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” ระบุว่า มี 75 บริษัท ส่งผลิตภัณฑ์เพื่อขอตราสัญลักษณ์ อนุมัติแล้ว 318 ผลิตภัณฑ์ มากที่สุดคือกลุ่มเครื่องดื่ม มีมากถึง 238 ผลิตภัณฑ์

รองลงมาคือ ผลิตภัณฑ์นม 57 ผลิตภัณฑ์ นอกนั้นจะเป็น เครื่องปรุงรส ขนมขบเคี้ยว ประเภทละ 9 ผลิตภัณฑ์ และ อาหารกึ่งสำเร็จรูป (บะหมี่) 8 ผลิตภัณฑ์ ส่วนที่ไม่ผ่านการรับรองมีเพียงแค่ 35 ผลิตภัณฑ์

เป็นไปได้ว่า การที่ไทยน้ำทิพย์ไปขอตราสัญลักษณ์ “เครื่องดื่มทางเลือกสุขภาพ” อาจเป็นเพราะคู่แข่งอย่างเสริมสุข เป๊ปซี่ หรือเจ้าอื่นๆ ก็ได้ไปขอตราสัญลักษณ์นี้เหมือนกัน สามารถทำการตลาดเจาะกลุ่มผู้รักสุขภาพได้ง่ายขึ้น

เหมือนกับการไปขอการรับรองฮาลาล กับสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (สกอท.) ซึ่งขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้ผลิต แต่สามารถจำหน่ายสินค้ากับกลุ่มผู้บริโภคชาวมุสลิมได้ง่ายขึ้น

แต่สิ่งที่ยังไม่หมดไป “น้ำอัดลม” คือ เครื่องดื่มที่เติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปเพิ่อเพิ่มความซาบซ่า ต่อให้ไม่มีน้ำตาล ออกมาเป็นก๊าซ ขยายตัวแน่นกระเพาะ ทำให้ท้องอืด จุกเสียด แน่นท้อง

อีกทั้งการใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ทำหน้าที่หลอกลิ้นเราว่าหวาน แต่สมองที่ต้องการน้ำตาลจริงไม่ได้รับความหวานตามที่ต้องการ

ก็เกิดการกระตุ้น ทำให้เราอยากกินน้ำตาลมาก ๆ เพื่อให้หายอยากในภายหลัง

ข้อมูลจาก พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล ระบุว่า การบริโภคน้ำตาลเทียมต่อเนื่อง กระตุ้นกลไกในสมอง

ส่งผลให้สมองโหยหาอาหารมากขึ้น หิวเก่งขึ้น และกินมากขึ้นกว่าปกติราว 30% ซึ่งแน่นอนว่า เป็นการกินไปแบบไม่ค่อยรู้ตัว

เมื่อกินน้ำตาลเทียมร่วมกับอาหาร จะส่งผลให้ระดับน้ำตาลและอินซูลินในเลือดขึ้นสูงกว่าการกินอาหารกับน้ำเปล่า

แม้น้ำตาลเทียมจะไม่ใช่น้ำตาล แต่ก็กระตุ้นการตอบสนองของอินซูลินในร่างกาย

แม้โทษของน้ำตาลจะฟังดูแล้วน่ากลัว แต่ชีวิตคนเรานั้นขาดหวานไม่ได้เช่นกัน เพราะแป้งหรือน้ำตาลเป็นอาหารประเภทเดียวกับที่สมองใช้เป็นพลังงาน ถ้าขาดน้ำตาลบ่อย ๆ จะมีผลกระทบต่อการทำงานของสมอง

รศ. พ.ญ. ทิพาพร ธาระวานิช จากสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย แนะนำว่าควรรับประทานน้ำตาลไม่เกิน 25 กรัมต่อวัน

หรือไม่เกิน 6 ช้อนชาในผู้ใหญ่ (ไม่เกิน 4 ช้อนชาในเด็ก) ส่วนเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลไม่ควรเกิน 6 กรัมต่อ 100 ซีซี.

ขณะที่โซเดียมนั้น ศูนย์เบาหวานศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แนะนำว่า ความต้องการสูงสุดที่ร่างกายได้รับและไม่ทำให้เกิดอันตราย คือ 2,300 มิลลิกรัมต่อวัน

คิดเป็นเกลือป่น 1 ช้อนชา หรือ 6 กรัม

มีคนสงสัยว่า แล้วจะสังเกตได้จากไหน?

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเกือบทุกยี่ห้อในตลาดจะมี “ข้อมูลโภชนาการ” ที่สามารถดูเพื่อตัดสินใจก่อนซื้อ โดยระบุข้อมูลว่า ต่อหน่วยบริโภคมีน้ำตาลกี่กรัม โซเดียมกี่มิลลิกรัม

จากความกลัวในเรื่องน้ำตาล ทุกวันนี้เวลาเข้าร้านสะดวกซื้อ มักจะใช้เวลาเลือกเครื่องดื่มนานกว่าปกติ เพราะจะต้องดูว่าเครื่องดื่มยี่ห้อนี้มีน้ำตาลกี่กรัม ส่วนโซเดียมนั้นมักจะพบในขนมขบเคี้ยวและอาหารสำเร็จรูป

เอาแค่เวลาจะดื่มอะไร ถ้าน้ำตาลเกินกว่า 25 กรัมขึ้นไปจะเริ่มรู้สึกกลัว และวางสินค้านั้นกลับไป แต่บางครั้งก็เผลอเลือกซื้อกลับไป เพราะคิดว่า “เอาน่า ... แค่วันนี้วันเดียว”

ซึ่งเป็นนิสัยที่ไม่ควรลอกเลียนแบบอย่างยิ่ง

แม้ธุรกิจน้ำอัดลมจะถูกมองจากสังคมว่าเป็นตัวทำลายสุขภาพ ต่อให้ผลิตสูตรที่ใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลก็ยังถูกตำหนิ แต่ก็นับเป็นการดีที่ในยุคนี้ สังคมเริ่มให้ความสำคัญกับการลดบริโภคน้ำตาลบ้างแล้ว

กระทั่งบริษัทผู้ผลิตน้ำอัดลม หรือผู้ผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่ยอมที่จะปรับสูตร หรือ ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบสนองแก่ผู้ที่ต้องการควบคุมการบริโภคน้ำตาล เช่น สูตรน้ำตาลน้อย น้ำตาล 0% เพื่อให้ผู้บริโภคตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

โดยส่วนตัวแม้มองทีแรกว่า น้ำอัดลมจะได้รับตราสัญลักษณ์ “เครื่องดื่มทางเลือกสุขภาพ” เลยเหรอ

ซึ่งนึกสงสัยมาตั้งแต่ยี่ห้ออื่นที่เคยวางตลาดก่อนหน้านั้นแล้ว และคิดว่าเอามาตรฐานอะไรมาวัด

แต่เมื่อผู้ที่ให้การรับรองเป็นสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือ ประกอบกับภาคธุรกิจจำนวนมากส่งผลิตภัณฑ์ไปให้การรับรอง โดยไม่ได้ผูกขาดบริษัทใดบริษัทหนึ่ง

เชื่อว่าน่าจะมีมาตรฐานในการออกตราสัญลักษณ์แบบไม่ซี้ซั้ว

ส่วนผู้บริโภคจะเชื่อถือตราสัญลักษณ์ เชื่อว่าน้ำอัดลมยี่ห้อนี้เป็นทางเลือกของคนรักสุขภาพหรือไม่ สุดแท้แต่จะพิจารณา

แต่ทางที่ดีดื่มให้พอหายอยาก แล้วออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญพลังงานเป็นการทดแทนน่าจะดีไม่น้อย.


กำลังโหลดความคิดเห็น