xs
xsm
sm
md
lg

ไม่อยากเป็นอัลไซเมอร์! ต้องมาลอง “ฟิตเนสฝึกสมองผู้สูงวัย” รพ.จุฬาฯ ช่วยชะลอสมองเสื่อม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รพ.จุฬาฯ เปิด “ฟิตเนส” ฝึกสมองผู้สูงอายุ ช่วยชะลอโรคสมองเสื่อม เผย คอร์สฝึกสมอง 1 สัปดาห์ มี 15 กิจกรรมช่วยกระตุ้นสมรรถภาพสมอง ฝึกสมาธิ การรับรู้ การคิด การตัดสินใจ การเข้าสังคม ฉายหนังเดือนละ 1 เรื่อง ช่วยสร้างสังคมผู้สูงอายุ

ผศ.นพ.สุขเจริญ ตั้งวงษ์ไชย หัวหน้าศูนย์ฝึกสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ผู้สูงอายุที่เกษียณจากการทำงานแล้วอยู่ติดบ้าน ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น จะเกิดอาการเฉา หรือซึมเศร้า และหลงลืมได้ง่าย ทั้งนี้ กลุ่มอาการสมองเสื่อม คือ การเสื่อมถอยของการรู้คิด (Cognition) ซึ่งเป็นกระบวนการของสมองที่จะรับรู้ จัดการข้อมูล และตอบสนองต่อข้อมูลนั้นได้อย่างเหมาะสม สำหรับ “ภาวะสมองเสื่อม” และ “โรคสมองเสื่อม” นั้น มีสาเหตุที่แตกต่างกัน เช่น ผู้สูงอายุที่เป็นโรคภูมิแพ้ เมื่อรับประทานยาแก้แพ้บางชนิด ก็อาจเกิดผลข้างเคียงจากตัวยาที่มีฤทธิ์ทำให้ประสิทธิภาพในการจดจำลดลง แต่หากหยุดรับประทานยา ภาวะสมองเสื่อมก็จะหายไป แต่สำหรับกลุ่มโรคสมองเสื่อมนั้นมักจะเกิดจากความชรา หรือความเสื่อมถอยของระบบประสาท ซึ่งอาการที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้ป่วยกลุ่มนี้ ได้แก่ โรคอัลไซเมอร์ รองลงมาคือ โรคหลอดเลือดสมอง

ผศ.นพ.สุขเจริญ กล่าวว่า สำหรับการป้องกันโรคนี้ ในความเป็นจริงแล้วความเสี่ยงบางประการที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคสมองเสื่อมเร็วกว่าวัยนั้น สามารถป้องกันหรือชะลอระยะเวลาการเกิดอาการดังกล่าวได้ ศูนย์ฝึกสมอง รพ.จุฬาฯ จึงตั้ง “ฟิตเนสฝึกสมองผู้สูงอายุ” (Cognitive Fitness Center) ให้การดูแลกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อโรคสมองเสื่อมในอนาคต ผู้เข้ามารับบริการจึงมี 2 กลุ่มใหญ่ คือ 1. ผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปี ขึ้นไป ซึ่งยังไม่ได้เป็นโรคสมองเสื่อม สามารถเดินทางไปกลับเองได้ ไม่ต้องมีผู้ดูแล เพราะการมาทำกิจกรรมต่างๆ นอกสถานที่เช่นนี้ อาจจะเกิดความเสี่ยงในการหกล้ม การหลงทาง หรือหายออกจากบ้านไป และ 2. กลุ่มที่เริ่มมีความเสี่ยงแต่ยังไม่เป็นโรคสมองเสื่อม ซึ่งเป็นการรู้คิดหรือสมรรถภาพสมองเสื่อมเล็กน้อย ในทางการแพทย์เราเรียกกลุ่มนี้ว่า กลุ่มผู้ป่วย Mild Cognitive Impairment หรือ MCI

“สำหรับกิจกรรมแต่ละวันที่ให้บริการจะแบ่งออกเป็นช่วงเช้า 2 กิจกรรม เริ่มตั้งแต่เวลา 9.00 น. ช่วงบ่ายอีก 1 กิจกรรม กิจกรรมละ 1 ชั่วโมง ซึ่งจะเสร็จสิ้นในเวลา 14.00 น. ดังนั้น ในหนึ่งสัปดาห์จะมีทั้งสิ้น 15 กิจกรรมที่ไม่ซ้ำกัน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่กระตุ้นสมรรถภาพสมองทั้งทางตรง และทางอ้อมเนื่องจากหน้าที่ของสมองมีความซับซ้อนมาก ดังนั้น การฝึกสมองจึงไม่ได้ฝึกเรื่องความจำเท่านั้น แต่กิจกรรมต่างๆ ยังต้องช่วยในการฝึกสมาธิ ฝึกการรับรู้ ฝึกการคิด การวางแผนการตัดสินใจ รวมไปถึงการเข้าสังคมด้วย ยกตัวอย่าง ดนตรีบำบัด การฝึกร้องเพลง งานศิลปะ การออกกำลังกาย การฝึกโยคะหรือชี่กง เป็นต้น และยังมีกิจกรรมแบบกลุ่ม ได้แก่ Creative Movement Therapy เป็นการเคลื่อนไหวร่างกายโดยได้รับความร่วมมือจากกลุ่มคนทำละครเวทีที่เข้ามาช่วยออกแบบกิจกรรมที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งจะมีกิจกรรมที่หลากหลาย ผู้สูงอายุสามารถเลือกกิจกรรมที่จะเข้าร่วมตามความชอบได้ด้วย” ผศ.นพ.สุขเจริญ กล่าว

ผศ.นพ.สุขเจริญ กล่าวว่า อีกหนึ่งกิจกรรมที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ คือ Movie Club หรือโครงการภาพยนตร์เพื่อผู้สูงอายุ ฉายภาพยนตร์เดือนละ 1 เรื่อง เมื่อผู้สูงอายุมาชมภาพยนตร์นอกจากจะได้รับความบันเทิงและข้อคิดกลับบ้านไปแล้ว สำคัญคือ กิจกรรมนี้ทำให้ได้ออกจากบ้านมาเจอเพื่อนเหมือนสมัยวัยรุ่น ที่เคยชวนไปดูหนัง ดังนั้น การฉายภาพยนต์จึงเปรียบเสมือนการนัดพบกันอย่างหนึ่ง สำหรับเรื่องอาหารการกินที่หลายๆ คนพยายามหายาอายุวัฒนะขนานต่างๆ มารับประทาน เพื่อชะลอการเสื่อมของระบบการทำงานของสมองนั้น การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม ลดอาหารจำพวกไขมัน และอาหารรสจัด รวมถึงการเสริมสร้างโปรตีนให้กับร่างกาย ก็เรียกได้ว่าเป็นการบำรุงสมองเช่นกัน




กำลังโหลดความคิดเห็น