xs
xsm
sm
md
lg

มธ.ผุดแอปฯ ตรวจ “อัลไซเมอร์” จากคำพูด แม่นยำสูง เริ่มใช้แล้วใน รพ.จุฬาฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


มธ. ร่วมจิตแพทย์จุฬาฯ พัฒนาแอปพลิเคชันตรวจคัดกรอง “อัลไซเมอร์” ด้วยเสียงพูด ใช้งานได้ผ่านสมาร์ทโฟน ทราบผลภายในครึ่งชั่วโมง แม่นยำ 99% เผยใช้งานจริงแล้วใน รพ.จุฬาฯ ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายผู้ป่วยและโรงพยาบาล คว้ารางวัลเหรียญทองเกียรติยศ จากการประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับโลก

รศ.ดร.จาตุรงค์ ตันติบัณฑิต อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ โดยจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ทำการสำรวจผู้สูงอายุมาแล้ว 5 ครั้ง ผลการสำรวจที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นรวดเร็วอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งการสำรวจครั้งล่าสุดในปี 2557 พบว่า ประเทศไทยมีประชากรทั้งหมดประมาณ 66 ล้านคน มีสัดส่วนผู้สูงอายุร้อยละ 14.9 ของประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 10 ล้านคน สอดคล้องกับมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทยที่ให้ข้อมูลเมื่อปี 2558 โดยคาดการณ์ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือในปี 2564 สัดส่วนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 20 ซึ่งหมายความว่าประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ และในอีกไม่ถึง 20 ปีจะกลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (super-aged society) โดยผู้สูงอายุจะมีสัดส่วนถึงร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด

รศ.ดร.จาตุรงค์ กล่าวว่า สำหรับผู้สูงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป พบว่า ร้อยละ 50 - 70 กำลังเผชิญกับโรคอัลไซเมอร์ สาเหตุของภาวะสมองเสื่อม บางรายไม่รู้ตัว ส่วนบางรายรู้ตัวช้าและต้องพบว่ารักษาไม่ได้แล้วอันเกิดจากการตายของเซลล์สมองเร็วกว่าวัยอันควร ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลงและเป็นภาระต่อผู้ใกล้ชิดมากขึ้น ประกอบกับการคัดกรองโรคใช้เวลานานและค่าใช้จ่ายสูงตลอดจนการขาดแคลนของบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลห่างไกล ทั้งนี้ ตนได้ร่วมกับ พญ.โสฬพัทธ์ เหมรัญชโรจน์ อาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.จุฑามณี อ่อนสุวรรณภาควิชาภาษาอังกฤษและภาษาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มธ. และ ดร.กฤษณ์ โกสวัสดิ์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) พัฒนาแอปพลิเคชัน “การตรวจคัดกรองโรคอัลไซเมอร์และการรู้คิดบกพร่องเล็กน้อยอย่างอัตโนมัติด้วยเสียงพูด” โดยผู้ที่เข้ารับการคัดกรองโรค แค่ทำการตอบคำถาม 21 ข้อ ใช้เวลาประมาณ 20 นาที ซึ่งคำถามดังกล่าวถูกสร้างขึ้นโดยเฉพาะสำหรับภาษาไทย เหมาะสมกับบริบทของคนไทย ครอบคลุมทุกแง่มุม

“ยกตัวอย่าง คำถามด้านการรับรู้สภาวะรอบตัว (Orientation) เช่น ถามคำถามเรื่องเวลาและสถานที่ ณ ขณะนั้น, ด้านความตั้งใจและการคำนวณ เช่น การลบเลขทีถอยหลังทีละ 7, ด้านความจำ (Memory) เช่น บอกที่อยู่ บอกชื่อบุคคล, ด้านภาษา (Language) เช่น การบอกชื่อของสิ่งของ, ด้านความสามารถในการใช้ภาษาในการพูดอธิบาย (Verbal description ability) การเล่าเรื่องหรืออธิบายสถานการณ์จากภาพ เป็นต้น เมื่อตอบคำถามครบ เสียงพูดของผู้เข้ารับการคัดกรองจะถูกนำไปวิเคราะห์ ทั้งคุณลักษณะทางสัญญาณ เช่น ความถี่มูลฐาน, ความเข้ม, การหยุด, จังหวะในการพูด และวิเคราะห์คุณลักษณะการใช้คำประเภทของคำต่างๆ ในภาษาเช่น คำนาม, คำสรรพนาม, คำกริยา, คำวิเศษณ์ เป็นต้น จากนั้นปัญญาประดิษฐ์จะประมวลผลออกมา 3 ระดับ คือ ผู้มีภาวะปกติ, ผู้มีภาวะความจำบกพร่องเล็กน้อยและผู้ป่วยอัลไซเมอร์” รศ.ดร.จาตุรงค์ กล่าว

รศ.ดร.จาตุรงค์ กล่าวว่า แอปพลิเคชันดังกล่าวสามารถประหยัดเวลาได้มาก จากเดิมใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง และมีความถูกต้องเพียงร้อยละ 70 - 90 ที่สำคัญสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการตรวจและประหยัดงบประมาณของโรงพยาบาลจากการซื้อเครื่องตรวจ ตลอดจนระยะเวลาในการตรวจที่กินเวลาประมาณครึ่งชั่วโมง ทำให้ทางคณะผู้วิจัยกำลังพัฒนาให้ระบบมีการประมวลผลที่รวดเร็วและรองรับภาษาอื่นมากยิ่งขึ้นเพื่อให้การใช้งานมีความครอบคลุมและขยายผลสู่ผู้ป่วยกลุ่มอื่น ทั้งนี้ แอปพลิเคชันนี้สามารถใช้งานได้ผ่านสมาร์ทโฟนและมีความแม่นยำถึงร้อยละ 99 โดยได้มีการใช้งานคัดกรองโรคให้ผู้ป่วยจริงในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นอกจากนี้ ผลงานดังกล่าวยังได้รับรางวัลเหรียญทองเกียรติยศ จากการประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับโลกจากงาน International Exhibition of Inventions of Geneva ครั้งที่ 45 ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เมื่อเร็วๆ นี้

กำลังโหลดความคิดเห็น