xs
xsm
sm
md
lg

พัฒนา “แบบประเมิน EF” ช่วยครูคัดกรองเด็กควบคุมความคิด-อารมณ์-พฤติกรรมไม่ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สวรส. วิจัย “แบบประเมิน EF” ช่วยครู - ผู้ดูแลเด็กเล็ก คัดกรองพัฒนาการเด็กด้าน “ควบคุมความคิด - อารมณ์ - พฤติกรรม” ออกแบบการเรียนการสอนเพื่อแก้ปัญหาได้ ชง สธ. ใช้ร่วมแบบประเมินพัฒนาการเด็กปฐมวัยด้านร่างกาย แก้ปัญหาเด็กไทยพัฒนาการไม่สมวัย

นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาสังคมต้องเริ่มจากวัยเด็ก โดยการพัฒนาการคิดเชิงบริหาร (EF) ตั้งแต่วัยเด็ก จะเป็นแนวทางฝึกการทำหน้าที่ของสมองส่วนหน้าที่ช่วยให้เด็กควบคุมอารมณ์ ความคิด การกระทำได้ เช่น การมีสมาธิจดจ่อกับงานที่ทำไม่วอกแวก ยั้งคิดก่อนท ำไม่หุนหันพลันแล่น ซึ่งหากปล่อยปละละเลยในการพัฒนาส่งเสริม จะส่งผลให้เด็กขาดความพร้อมทางการเรียน และอาจจะล้มเหลวในการเรียนได้ รวมไปถึงการเกิดปัญหาพฤติกรรมและปัญหาสังคมต่างๆ ตามมา

รศ.นวลจันทร์ จุฑาภักดีกุล ศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สวรส. และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้สนับสนุนทุนพัฒนาแบบประเมิน EF ขึ้น 2 แบบ คือ 1. แบบประเมินพัฒนาการด้านการคิดเชิงบริหารในเด็กก่อนวัยเรียน (MU.EF-101) และ 2. แบบประเมินปัญหาพฤติกรรมด้านการคิดเชิงบริหารในเด็กก่อนวัยเรียน (MU.EF-102) ซึ่งจากการทดสอบคุณภาพของแบบประเมิน พบว่า มีคุณภาพเทียบเคียงกับของต่างประเทศ สำหรับแบบประเมินพัฒนาการดังกล่าวใช้ประเมินเด็กอายุ 2 - 6 ขวบ โดยครูผู้ดูแลเด็ก/ครูอนุบาลใช้ประเมินเด็กในชั้นเรียน มีคำถาม 32 ข้อ แบ่งเป็น ประเด็นพัฒนาการด้านการยับยั้งพฤติกรรม การเปลี่ยน หรือยืดหยุ่นทางความคิด การควบคุมอารมณ์ ความจำขณะทำงาน และการวางแผนจัดการ และเมื่อคัดกรองพบปัญหาบกพร่องในเด็กจุดไหน จะทำให้ครูสามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น และสามารถออกแบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็กได้

“ปัจจุบันประเทศไทยมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 19,785 แห่ง สถานรับเลี้ยงเด็กเอกชน 1,576 แห่ง โรงเรียนอนุบาล 27,400 แห่ง ทั้งนี้ ช่วง ต.ค. 2559 คณะวิจัยร่วมกับ สวรส. ทำการพัฒนาคู่มือการใช้แบบประเมินและจัดอบรมวิธีการใช้แบบประเมินให้กับครูปฐมวัยและผู้ดูแลเด็กเล็กที่สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้แก่ เทศบาล และ อบต. ในจังหวัดโดยรอบกรุงเทพฯและปริมณฑลไปแล้ว จำนวน 150 คนแล้ว” รศ.นวลจันทร์ กล่าว

รศ.นวลจันทร์ กล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ใช้แบบประเมินพัฒนาการเด็กปฐมวัย (DSPM) ของกรมอนามัย ซึ่งเป็นแบบประเมินพัฒนาการทางด้านกาย ส่วนแบบประเมินพัฒนาการด้านการคิดเชิงบริหารในเด็กปฐมวัย (EF) ที่พัฒนาขึ้นใหม่ เป็นการประเมินพัฒนาการทางความคิด ซึ่งต้องมีการพัฒนาให้แบบประเมินทั้ง 2 ใช้งานไปด้วยกัน โดยไม่ทำให้การประเมินคัดกรองยุ่งยากหรือเป็นภาระกับผู้ปฏิบัติงานมากจนเกินไป ซึ่งทาง สวรส. จะไปพัฒนาโจทย์การทำงานร่วมกับ สธ. ในระยะต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น