xs
xsm
sm
md
lg

ความไว้วางใจในรัฐบาล

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

อาจจะว่าเป็นปัญหาของการสื่อสารที่ไม่ดี หรือมีบางฝ่ายพยายามบิดเบือนให้เป็นประเด็นก็ไม่รู้ แต่เรื่องที่ไม่น่าจะเป็นเรื่องอย่างการที่ ครม.อนุมัติให้มูลนิธิเอกชนก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร ในงบ 4,600 ล้านบาท โดยการยกเว้นไม่ต้องเปิดประมูลนั้น กลายเป็นประเด็นถูกวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นมา

อาจเพราะตัวเลข 4,600 ล้านบาท ถูกนำไปขยายความด้วยความเข้าใจผิด (หรืออาจจะมีบางฝ่ายเจตนาบิดเบือน) ให้เข้าใจว่าเป็นโครงการของรัฐ หรือมาจากเงินภาษีของประชาชน แล้วเอาไปบริหารจัดการกันโดยไม่ต้องมีการประมูล ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็มีปัญหาในเรื่องของความโปร่งใส

แต่เมื่อเรื่องได้รับการเปิดเผยให้ชัดเจนขึ้นมาอีกว่า หอชมทิวทัศน์ของกรุงเทพฯ นี้ จะเป็นโครงการที่ก่อสร้างโดยทุนของเอกชนทั้งหมด รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินการแล้ว จะมอบให้การกุศล

สรุปว่าเป็นเรื่องที่ทางภาครัฐมีแต่ได้ ส่วนที่ดินที่ให้ใช้ก็มีค่าเช่าตามปกติ

พูดง่ายๆ คือว่า เรื่องนี้ไม่มีอะไร “กระทบกระเทือนกระเป๋าสตางค์” ของรัฐ หรือภาษีประชาชนอะไร รัฐบาลเพียงแค่ “อนุญาต” ให้เอกชนดังกล่าวดำเนินโครงการตามที่เสนอมาเท่านั้น

แต่แค่นี้ก็เกือบจะเป็นเรื่องเสียรังวัดของรัฐบาลไปเสียอย่างนั้น ซึ่งจะเป็นด้วยเหตุผลเพราะอะไรก็ตาม ก็เป็นแสดงให้เห็นถึงความไม่ไว้วางใจในรัฐบาลสำหรับคนส่วนหนึ่งแล้ว ที่ถ้ายอมรับความจริงกันหน่อย คนส่วนหนึ่งที่เริ่มไม่ไว้วางใจรัฐบาลนี้ “ไม่ใช่” พวกขาประจำหน้าเดิมๆ ที่จับจ้องจองกฐินเอากับรัฐบาลเพราะเป็นผู้นิยมชมชอบพรรคการเมืองเก่า หรือเป็นกลุ่มที่ปฏิเสธอำนาจรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหาร

แต่เป็นผู้ไม่ไว้วางใจ “กลุ่มใหม่” ที่เป็นคนทั่วไปซึ่งปกติจะเป็นฝ่ายที่เฉยๆ หรือแม้แต่เคยสนับสนุนรัฐบาลด้วยซ้ำ

รัฐบาลที่มีที่มาจากวิธีการพิเศษเช่นนี้ ไม่มีกระบวนการตรวจสอบความไว้วางใจโดยสภาฯ หรือแม้แต่การนำเสนอของสื่อก็มีข้อจำกัด

แต่สิ่งที่หนีไม่พ้น คือการแสดงความรู้สึกของผู้คนในสังคม ซึ่งปัจจุบันอาจเห็นได้ชัดผ่านการสื่อสารของโลกโซเชียล หรือในวงสนทนาที่ยังอาจจะมีอยู่ของผู้คน

สังเกตได้ว่าคนที่เคยสนับสนุนรัฐบาล เริ่มที่จะ “บ่น” “แซว” หรือ “ตั้งคำถาม” กับรัฐบาลมาขึ้นแล้ว

อาจกล่าวได้ว่า ความไว้วางใจในรัฐบาลนี้ เริ่มจุดชนวนมาจากเรื่อง “รถไฟความเร็วสูงจีน” ที่มีการใช้คำสั่งตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่นั้น ผลักดันเร่งให้เกิดขึ้น โดยยอมยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายหลายๆ ฉบับ

อาจกล่าวได้ว่าเรื่องนี้ก็ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่อธิบายได้ด้วย “การเมืองเชิงความรู้สึก”

ความรู้สึกของผู้คนทั่วไป ที่เริ่มจะรู้สึกว่า รัฐบาลนี้ “เอะอะอะไรก็จีน” หรือมีโครงการจัดซื้อจัดหาอะไรเป็นอันไม่ต้องแทงหวยว่าใครจะได้ “จีนนอนมา” แทบทุกรายการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความร่วมมือ หรือการจัดซื้ออาวุธต่างๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่เป็นเหมือน “แผล” ใหญ่ของรัฐบาลเมื่อไม่กี่เดือนที่แล้ว คือเรื่องการอนุมัติจัดซื้อเรือดำน้ำ “จีน” ที่สร้างกระแสความไม่เห็นด้วยให้สังคมอย่างที่ปฏิเสธได้ยาก

ส่วนเรื่องรถไฟความเร็วสูง “จีน” นี้ก็กระทบต่อ “ความรู้สึก” ของผู้คนว่า “จีน”อีกแล้วหรือนี่

และยิ่งการงดเว้นการบังคับใช้กฎหมายในหลายเรื่อง ก็ยิ่งทำให้เกิด “ความรู้สึก” ซึ่งยิ่งใหญ่กว่า “เหตุผล”

การยกเว้นกฎหมาย “ไทย” ในเรื่องเกี่ยวกับการร่วมดำเนินโครงการของรัฐบาลกับเอกชน และกฎหมายที่เกี่ยวกับควบคุมการประกอบการสถาปนิกและวิศวกรให้แก่วิสาหกิจและบุคลากรของจีนที่จะมาจัดสร้างรถไฟความเร็วสูงนั้น มีผลต่อ “การเมืองเชิงความรู้สึก” อย่างรุนแรง
เพราะมันไปกระทบกระเทือนต่อสำนึกเรื่อง “ชาตินิยม” ซึ่งเป็นความรู้สึกอันแรงกล้าของมนุษย์ทั่วไป

การยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายไทย ให้ความรู้สึกในมุมกลับว่าเป็นเหมือนการ “ละอำนาจอธิปไตย” บางส่วนไว้ ให้วิสาหกิจหรือคนต่างชาติ สามารถเข้ามาทำงานในผืนแผ่นดินไทย โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดแรงต้านที่รุนแรง หลายคนมองไปไกลถึงเป็นเหมือนการให้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตไปนั่นเลย

จริงอยู่ว่าเมื่อพิจารณาเรื่องเหตุผลและความจำเป็นแล้วก็อาจจะฟังขึ้นก็ได้ แต่ก็อย่างที่ได้เคยเขียนไว้แล้วว่า เรื่องใดก็ตามถ้ามันแปรไปเป็นเรื่องการเมืองเชิงความรู้สึกเสียแล้ว ความรู้สึกก็เป็นเหตุผลอย่างหนึ่ง ที่ผู้คนฟังมันเชื่อยิ่งกว่าเหตุผลรูปธรรมทั้งหลายอีก

แถมเรื่องเรือดำน้ำ ตามด้วยรถไฟจีน ยังมีตัวเล่นตรงกันคือ “จีน” ที่ทำให้ผู้คนรู้สึกซ้ำลงไปอีกว่า รัฐบาลนี้กำลังเอาใจพญามังกรมากเกินไปหรือไม่

จนอย่างที่บัญชา - คามิน ก็เขียนการ์ตูนล้อไว้หลายครั้งนั่นแหละครับ ว่าตอนนี้เราถูกพญามังกรกลืนกินไปอยู่ในท้องทั้งตัวแล้ว หรืออีกชิ้นหนึ่งที่เขียนไว้เจ็บแสบคมคายว่า เหมือนเราพยายามปลูกถั่วเพื่อไปยังดินแดนของยักษ์ เพื่อให้ยักษ์ปีนลงมาจับคนของเราไปกิน

นี่คือความรู้สึกที่มาจาก “ประชาชน” ส่วนหนึ่งซึ่งเริ่มจะมีมากขึ้นแล้ว และเป็นคนกลุ่มที่ไม่ใช่ฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลมาแต่ก่อนเก่าด้วย

ความรู้สึกไม่ไว้วางใจนี้เอง ที่ทำให้เรื่องที่ไม่น่าจะมีอะไร อย่างเรื่องหอชมวิวกรุงเทพมหานครนั้นกลายเป็นเรื่องที่จุดติดขึ้นมาสั้นๆ ได้

ความรู้สึกไม่ไว้วางใจนี้เองที่ทำให้ท่านนายกฯ ลุงตู่ ถึงกับออกมาประชดว่า เขียนกลอนก็แล้ว แต่งเพลงก็แล้ว ผู้คนยังไม่เข้าใจ ต่อไปจะให้โฆษกไก่อูร้องลิเกให้คนฟังเสียเลย!

อย่างไรก็ดี ยังมีเรื่องน่าคิดว่า ความไว้วางใจที่ว่าลงไปนี้ ยังเป็นความไว้วางใจที่ผู้คนมีให้ “รัฐบาล” ในภาพรวม

แต่ไม่ใช่ความไม่ไว้วางใจใน “ตัวบุคคล” คือท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เห็นได้ว่าจากโพลที่สำรวจออกมา คะแนนนิยมท่านก็ยังไม่ตกลงไปเท่าไร ซ้ำพอถามในเรื่องว่าอยากเห็นใครมาเป็นนายกฯ คนต่อไป ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังตอบว่า “อยากได้คนเดิม”

ในอีกทางหนึ่ง จึงเท่ากับว่า “ความไว้วางใจ” ในตัวนายกฯ เป็นการส่วนตัวนั้น ได้ช่วยแบกรับความ “ไม่ไว้วางใจ” ในตัวรัฐบาลที่เริ่มจะก่อตัวขึ้นอย่างที่เห็นเอาไว้อยู่

แต่จะแบกรับไปได้แค่ไหนนั้น ก็ต้องว่ากันอีกที

ในเวลาที่ยังเหลืออยู่ของรัฐบาลนี้ ก็ไม่รู้ว่าเมื่อถึงเวลาที่รัฐบาลชุดนี้จะต้องพ้นไปตามโรดแมปแล้ว

ถึงตอนนั้น “ความไว้วางใจ” ส่วนตัวของตัวนายกฯ ที่เอามาค้ำยันการันตีรัฐบาลนี้จะเหลืออยู่มากเท่าไร

จะเพียงพอให้ประชาชนเรียกร้องให้ท่านกลับเข้ามาเป็นนายกฯ คนแรกภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่อย่างเต็มตัวหรือไม่

เป็นเรื่องที่เจ้าตัวจะต้องพิจารณาและบริหารจัดการ หากเห็นว่ายังมีความจำเป็นอะไรที่จะต้อง “ไปต่อ” .
กำลังโหลดความคิดเห็น